มวยคาดเชือก หรือ มวยโบราณ เป็นการชกมวยไทยในสมัยโบราณที่ใช้เชือกพันที่หมัดทั้ง 2 ข้างแทนการใช้นวมเหมือนมวยไทยปัจจุบัน

มวยคาดเชือก
ประเทศต้นกำเนิดไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
ผู้มีชื่อเสียงจา พนม
Descendant artsมวยไทย, มวยลาว
กีฬาโอลิมปิกไม่บรรจุ

การแข่งขัน แก้

นักมวยที่จะขึ้นชกจะพันหมัดด้วยเชือกจนแข็ง ผูกเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับการตกลงกันก่อนชก ก่อนชกกันนักมวยต้องมาซ้อมให้นายสนามดูก่อน ถ้ามีฝีมือใกล้เคียงกัน และทั้งคู่พอใจจะชกกันจึงถือว่าได้คู่ การต่อสู้จะชกกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้หรือลุกไม่ขึ้น มิฉะนั้นถือว่าเสมอกัน ซึ่งอาจจะชกกันใหม่ในคราวต่อไปถ้ายังไม่หายข้องใจ การชกมวยแบบนี้จะเน้นชั้นเชิงมากกว่าพละกำลัง

สนามแข่งขันเป็นสนามหญ้าหรือลานวัด มีเชือกกั้น 1 เส้น มีกรรมการห้ามเพื่อจับผู้ล้มขึ้นมาชกใหม่ และห้ามไม่ให้ซ้ำเติมคนล้ม ในงานเผาศพผู้มีฐานะในสมัยก่อน นิยมให้มีมวยชกด้วย 7 - 8 คู่[1]

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แมค เศียรเสวี) เริ่มจัดแข่งขันมวยไทยอาชีพครั้งแรกที่สนามมวยสวนกุหลาบ ต่อมาจึงเกิดสนามมวยอื่นๆอีกมากมาย เช่น สนามมวยท่าช้าง หลักเมือง สวนเจ้าเชตุ เสือป่า สวนสนุก เจ้านายสมัยนั้นโปรดการเลี้ยงนักมวยและเสาะหานักมวยฝีมือดีมาเข้าสังกัด จึงมีนักมวยจากหัวเมืองเข้ามาขกในกรุงเทพฯมาก ตัวอย่างเช่น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีนักมวยเอกคือ หมื่นชงัดเชิงชก กับ โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ ม.ร.ว. มานพ ลดาวัลย์ มีนักมวยเอกคือบังสะเล็บ ศรไขว้ ในครั้งนั้นยังมีการคัดเลือกนักมวยเอกขึ้นชกหน้าพระที่นั่งและมีนักมวยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เช่น หลวงไชยโชกชกชนะ, หมื่นมวยมีชื่อ, หมื่นมือแม่นหมัด และหมื่นชงัดเชิงชก[2][3]

เลิกคาดเชือก แก้

การเปลี่ยนจากการคาดเชือกมาเป็นการสวมนวมแทนนั้นเพราะมีการชกกันถึงตาย ครั้งนั้น นายเจียร์ นักมวยชาวเขมรจากพระตะบองซึ่งมีชื่อเสียงในด้านคงกระพันชาตรี เคยชกคนตายมาแล้ว เข้ามาเปรียบมวยในกรุงเทพฯ พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์จึงเสนอนายแพ เลี้ยงประเสริฐขึ้นชกด้วย การชกมีขึ้นที่สนามหลักเมืองของพระยาเทพหัสดินทร์เมื่อ24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471[4] เมื่อถึงยกที่ 3 นายแพใช้หมัดคู่หรือแม่ไม้ "หนุมานถวายแหวน"ของสำนักบ้านท่าเสา ชกนายเจียร์จนชะงักและเข้าซ้ำจนนายเจียร์ทรุดลงกับพื้นและไม่ลุกขึ้นมาอีกเลย จนสิ้นใจขณะนำส่งโรงพยาบาล แม้ว่าในครั้งนั้น นายแพไม่มีความผิดตามกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งนั้นระบุว่า การตายที่เกิดขึ้นจากการชกมวยที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจมาชกกันเองนั้น ถือว่าไม่มีความผิด ดังที่เคยทีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงว่า[5]

ชนทั้งสองเป็นเอกจิตเอกฉันท์ตีมวยด้วยกัน และผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดหักโข้นถึงแก่มรณภาพ ท่านว่าหาโทษมิได้ ตลอดจนผู้ยุยงตกรางวัล เพราะเหตุจะได้มีจิตเจตนาให้สิ้นชีวิตก็หามิได้ เป็นกรรมของผู้ถึงมรณภาพเองแล

แต่ก็เป็นเหตุให้กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการชกแบบคาดเชือกรุนแรงเกินไป จึงประกาศห้ามชกมวยคาดเชือกทั่วราชอาณาจักร ให้สวมนวมตามแบบมวยสากลแทน และสวมถุงเท้าด้วย การชกมวยคู่แรกที่ชกแบบสวมนวมคือการชกระหว่างคำเหมย เมืองยศจากลำปางกับนพ ชมศีเมฆนักมวยจากพระนคร[4] แต่การสวมถุงเท้าทำให้เตะไม่สะดวก นักมวยมักลื่นล้ม จึงเลิกไป แต่ยังมีการสวมนวมจนถึงปัจจุบัน[3]

มวยคาดเชือกในปัจจุบัน แก้

 
การใช้เข่าโจมตี

ปัจจุบันการชกแบบคาดเชือกยังมีชกกันอยู่ในประเทศพม่า ในประเทศไทยมีเพียงการแสดงและมีการชกในบางเทศกาล เช่น การชกมวยคาดเชือกประเพณีไทย-พม่า ในเทศกาลสงกรานต์ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อย่างไรก็ดี ในการชกนั้นใช้กติกาแบบพม่า ไม่ได้ใช้กติกาแบบมวยไทยแต่ประการใด

นักมวยเอกในยุคคาดเชือก แก้

มวยคาดเชือกในวัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์มวยคาดเชือก เช่น คาดเชือก ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 กำกับโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล และภาพยนตร์เรื่อง ไชยา ออกฉายในปี พ.ศ. 2550 รวมถึง ธีรวิทย์ โฆคิน กับ อากาศ แจ่มใส จากการ์ตูนญี่ปุ่น เคนอิจิ ลูกแกะพันธุ์เสือ ซึ่งเป็นตัวละครที่ใช้วิชามวยไทยโบราณ

อ้างอิง แก้

  1. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. บัว วัดอิ่ม อดีตยอดมวยรัตนโกสินทร์ นักชก 5 แผ่นดินนามอุโฆษ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 4(3). มกราคม 2526. หน้า 84 - 89
  2. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. หมื่นชงัดเชิงชก ยอดมวยบรรดาศักดิ์. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5(3). มกราคม 2527. หน้า 98 - 105
  3. 3.0 3.1 สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5(11). กันยายน 2527. หน้า 44 - 53
  4. 4.0 4.1 สมพงษ์ แจ้งเร็ว. ตำนานมวยมุสลิม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 หน้า 138 - 155
  5. เขตร, 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้