เก๋า..เก๋า
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เก๋า..เก๋า เป็นภาพยนตร์ไทยแนวตลกและดนตรี ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2549 กำกับโดย วิทยา ทองอยู่ยง แสดงนำโดย โจอี้ บอย (อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต) เป็นผู้นำวงดนตรีแนวสตริงคอมโบในปี พ.ศ. 2512 โดยเขาและสมาชิกในวงถูกนำตัวมาสู่โลกยุคปัจจุบันด้วยเครื่องย้อนเวลาที่มีลักษณะคล้ายไมโครโฟน วงดิพอสซิเบิ้ลในภาพยนตร์ ดัดแปลงจากวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล
เก๋า..เก๋า | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | วิทยา ทองอยู่ยง |
บทภาพยนตร์ | |
อำนวยการสร้าง | |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | ประภพ ดวงพิกุล |
ตัดต่อ | วิชชา โกจิ๋ว |
ดนตรีประกอบ | สุนทร ยอดศรีทอง |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | จีทีเอช บีบีทีวี โปรดัคชันส์ |
วันฉาย | 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 |
ความยาว | 113 นาที |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 35 ล้านบาท |
โครงเรื่อง
แก้ในปี พ.ศ. 2512 วงสตริงคอมโบชื่อพอสซิเบิ้ล (Possible) สมาชิกประกอบด้วยต๋อย นักร้องนำ, โบ้ มือกีตาร์, สอง เบบี้ มือเบส, เบ๊ มือกลอง, น็อต แซมบ้า มือคีย์บอร์ด รวมถึงแก๊งเครื่องเป่าประกอบด้วยจ๊อด มือเป่าแซ็กโซโฟน, อเนก มือเป่าทรอมโบน และอำนวย มือเป่าทรัมเป็ต เป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงเวลานั้น แต่ด้วยชื่อเสียงที่ได้รับทำให้พวกเขาล้วนมีอัตตาสูง หยิ่งยโส ขาดความรับผิดชอบและไม่สนใจแฟนเพลง
สตรอว์เบอรี่ แอร์โฮสเตสซึ่งเป็นแฟนสาวของต๋อยได้เดินทางมาหาวงพอสซิเบิ้ลที่ห้องอัดเสียงเนื่องจากต๋อยไม่ได้ไปรับเธอที่สนามบินตามที่สัญญาไว้ และพบว่าต๋อยได้พาสาวฝรั่งเข้ามาด้วย ทำให้เธอเสียความรู้สึกเป็นอย่างมากเนื่องจากต๋อยทำให้เธอเสียใจหลายครั้ง ในระหว่างการเดินทางของวงพอสซิเบิ้ลไปยังคาเฟ่แห่งหนึ่ง พวกเขาได้สำรวจของขวัญที่ได้รับจากแฟนเพลงบนรถตู้โดยหนึ่งในของขวัญนั้นคือไมโครโฟนของเล่นสีชมพูที่มีชื่อว่าฮิตเทสเตอร์ (Hit Tester) ในคาเฟ่นั้นวงพอสซิเบิ้ลได้พบกับวงดนตรีที่ใช้ชื่อว่าดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossibles) ซึ่งสมาชิกวงพอสซิเบิ้ลไม่พอใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นวงเลียนแบบ ซึ่งต๋อยได้ใช้ไมโครโฟนสีชมพูที่หยิบติดมือมาร้องเพลงล้อเลียนเพลง "เป็นไปไม่ได้" โดยเปลี่ยนเนื้อร้องในเชิงลบ ซึ่งวงดิอิมพอสซิเบิ้ลไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย
ในการแสดงดนตรีที่โรงภาพยนตร์พระโขนง ซีเนม่า วงพอสซิเบิ้ลได้แสดงดนตรีโดยต๋อยได้นำไมโครโฟนสีชมพูมาใช้อีกครั้ง ซึ่งในระหว่างการเล่นดนตรีสมาชิกเครื่องเป่าทั้งสามล้วนอยู่ในสภาพมึนเมาจนทำให้พลัดตกจากเวทีอีกทั้งไมโครโฟนสีชมพูได้ติดแสงไฟเป็นระยะจนเกิดแสงสว่างจ้าทำให้ต๋อยและสมาชิกวงที่เหลืออยู่หายไปจากเวทีและโผล่ขึ้นมาอีกครั้งในเวทีเดิมซึ่งมีสภาพเก่าทรุดโทรมและกำลังฉายภาพยนตร์ลามก พวกเขาต่างตกใจและถูกผู้ชมโห่ไล่ออกจากโรงภาพยนตร์
เมื่อออกมาข้างนอก พวกเขาได้พบกับกรุงเทพที่มีสภาพแตกต่างจากก่อนที่เข้ามาแสดงดนตรีไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า การจราจรที่ติดขัดและเต็มไปด้วยมลพิษ สมาชิกวงยังได้รับรู้ว่าพวกเขากำลังอยู่ในปี พ.ศ. 2549 ต๋อยได้ตระหนักว่าไมโครโฟนน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเดินทางข้ามเวลามายังอนาคตเป็นเวลากว่า 37 ปี พวกเขายังได้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพนักงานร้านก๋วยเตี๋ยวหลังจากรับประทานบะหมี่เนื่องจากตกใจกับราคาที่สูงกว่าอดีตและไม่สามารถใช้เงินตรารุ่นเก่าที่มีอยู่จ่ายได้ ทำให้พวกเขาถูกจับขังที่โรงพัก เมื่อชายวัยกลางคนชื่ออู๋มาทำธุระที่โรงพัก เขาเจอกับสมาชิกวงพอสซิเบิ้ลโดยบังเอิญและจำพวกเขาทั้งหมดได้เนื่องจากในอดีตอู๋เคยเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงพอสซิเบิ้ลมาก่อน อู๋จึงได้ประกันตัวสมาชิกวงทุกคนออกมาจากโรงพัก
ในระหว่างที่ตั้งหลักอยู่ที่บ้านของอู๋ สมาชิกวงได้ทราบถึงวงดิอิมพอสซิเบิ้ลที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันและพยายามที่จะหาวิธีการให้ไมโครโฟนพาพวกเขากลับสู่อดีตอีกครั้ง ในที่สุดพวกเขาจึงตัดสินใจว่าต้องจัดการแสดงดนตรีขึ้นอีกครั้ง พวกเขาพบว่าเพลงแนวสตริงคอมโบไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบันและวงยังขาดสมาชิกเครื่องเป่า เมื่อล้มเหลวในการรับสมัครสมาชิกใหม่ พวกเขาตัดสินใจตามหาสมาชิกเครื่องเป่าที่ยังเหลือ โดยสามารถตามตัวเอนกที่บวชเป็นพระสงฆ์และจ๊อดที่อยู่ในวัยชราซึ่งยินดีกลับมาช่วยพวกเขาได้ เว้นแต่อำนวยที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังและทิ้งลูกสาวชื่อหนูมาลีไว้เพียงลำพัง โดยเธอปฏิเสธที่จะเชื่อว่าวงพอสซิเบิ้ลได้เดินทางข้ามเวลามา
ในขณะที่อู๋พาสมาชิกวงพอสซิเบิ้ลเข้าชมการแสดงดนตรีของวงบอดี้แสลม ต๋อยเผลอทำไมโครโฟนหลุดมือโดยตูน นักร้องนำของวงบอดี้แสลมสามารถรับไมโครโฟนไว้ได้ทำให้สมาชิกวงบอดี้แสลมเกิดการเดินทางข้ามเวลาแต่สามารถกลับมายังที่เดิมได้ในไม่กี่วินาที สมาชิกวงพอสซิเบิ้ลพยายามแย่งไมโครโฟนจนเกิดเหตุชุลมุนแต่ในท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้รับไมโครโฟนคืนกลับมาและวงบอดี้แสลมไม่ได้เอาผิดแต่อย่างใด แต่เหตุการณ์นี้ทำให้พวกเขาพวกเขารู้ว่าไมโคโฟนแสดงเลขปี พ.ศ. และพวกเขาสามารถที่จะย้อนอดีตได้หากปรับ พ.ศ. ให้ตรงตามปีที่พวกเขาจากมา ขณะเดียวกันหนูมาลีได้ดูภาพถ่ายเก่าของอำนวยจึงตระหนักได้ว่าสมาชิกวงพอสซิเบิ้ลมาจากอดีตจริงและได้ยินดีเข้ามาช่วยเหลือวงอีกคน
วงพอสซิเบิ้ลได้ซ้อมและตระเวนเล่นดนตรีตามที่ต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชมเข้ามาชมการแสดงดนตรีใหญ่ที่จะจัดในโรงภาพยนตร์ที่พวกเขาข้ามเวลามาอีกครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมาอู๋ได้พาสมาชิกวงไปยังผับแห่งหนึ่งซึ่งพวกเขาได้พบกับวงดิอิมพอสซิเบิ้ลที่เล่นดนตรีก่อนหน้า สมาชิกวงเกิดความไม่พอใจและขณะที่ขึ้นแสดงดนตรีต่อ ต๋อยได้ร้องเพลงแปลงล้อเลียนเพลงของวงดิอิมพอสซิเบิ้ลเช่นเดียวกับเมื่อครั้งอดีต ทำให้ได้รับเสียงโห่ไล่จากผู้ฟัง เมื่อต้อย นักร้องนำของวงดิอิมพอสซิเบิ้ลได้รู้ว่านี้คือวงพอสซิเบิ้ล จึงได้ตกใจและสลบล้มลงในจังหวะที่ต๋อยผลักอกของต้อยพอดี ทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เข้าใจผิดว่าต๋อยทำรายต้อย (ต๋อยต่อยต้อย) หลักจากนั้นต๋อยได้ทะเลาะกับอู๋อย่างรุนแรงและพาลใส่สมาชิกวงคนอื่น ๆ ซึ่งเริ่มยอมรับในความสามารถของวงดิอิมพอสซิเบิ้ลและข้อบกพร่องของวงพอสซิเบิ้ลเอง
ต๋อยได้เดินทางมาหาสตรอว์เบอรี่ซึ่งเธอตกใจกับการปรากฏตัวของต๋อยจนสลบลง ต๋อยได้ติดโปสเตอร์ชวนสตรอว์เบอรี่มาดูการแสดงดนตรีและกลับไปขอโทษกับสมาชิกวงรวมถึงอู๋ เมื่อทุกคนเดินทางไปแสดงดนตรีที่โรงภาพยนตร์ ทางวงพบว่าที่ผู้คนที่มาฟังการแสดงดนตรีนั้นตั้งใจมาเพื่อที่จะรับแผ่นซีดีที่มีภาพยนตร์ลามกอันเป็นแผนของอู๋ ต๋อยเลือกที่ให้อภัยอู๋แต่อู๋นั้นถูกตำรวจจับกุมตัว ก่อนขึ้นแสดงดนตรีต๋อยและสมาชิกวงได้เจอกับต้อยซึ่งได้ปรับความเข้าใจกัน
การแสดงดนตรีของวงพอสซิเบิ้ลประสบความสำเร็จและไมโครโฟนสามารถนำพวกเขากลับมายังปี พ.ศ. 2512 ได้ในท้ายที่สุด และพวกเขาก็ได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของวงตนเองเพื่อสร้างชื่อเสียงในฐานะตำนานของสตริงคอมโบไทยอีกครั้ง
นักแสดง
แก้- โจอี้ บอย : อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต รับบท ต๋อย (นักร้องนำวง Possible)
- รถเมล์ : คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์ รับบท สตรอว์เบอรี่ (แฟนของต๋อย)
- โป้ โยคีเพลย์บอย : ปิยะ ศาสตรวาหา รับบท โบ้ (มือกีตาร์วง Possible)
- สอง Paradox : จักรพงษ์ สิริริน รับบท สอง เบบี้ (มือเบสวง Possible)
- โบ : ธนากร ชินกูล รับบท เบ๊ (มือกลองวง Possible)
- น็อต : ยุทธนา ธุวะประดิษฐ์ : น็อต แซมบ้า (มือคีย์บอร์ดวง Possible)
- เกรียง พันธมิตร : เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง รับบท อู๋
- โฟกัส : โฟกัส จีระกุล รับบท หนูมาลี
- แจ๊ค แฟนฉัน : เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ รับบท เพื่อนของหนูมาลี
- นักแสดงรับเชิญ
- เก้ง : จิระ มะลิกุล : คนดูหนังโป๊ (ชุดคาวบอย)
- สิน : ยงยุทธ ทองกองทุน : เจ้าขอวร้านข้าวต้ม
- ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์ รับบท นายห้าง
- กร๋อย : กิตติพงษ์ ทุมวิภาต : คนดูหนังโป๊
- ชิงกำ แช่ล่ำ รับบท อาแปะ (เจ้าของโรงหนัง)
- บุญถิ่น ทวยแก้ว รับบท ดาบแหลม
- อดิเรก วัฎลีลา รับบท หมวดผึ้ง
- ธนากร ชมภูหลงกุลเดช รับบท อู๋ (ตอนเด็ก)
- มงคล รื่นเริง รับบท โกโก้
- กบ TAXI : รหัส ราชคำ รับบท กบ TAXI
- ปู BACKHEAD : อานนท์ สายแสงจันทร์ รับบท ปู BACKHEAD
- เสริมเวช ช่วงยรรยง รับบท พิธีกรคอนเสิร์ต Possible
- อุ๋ย นที เอกวิจิตร, เอ็ม กิตติพงษ์ คำสาตร์, โต้ง สุรนันต์ ชุ่มธาราธร บุดด้า เบลส รับบท คนขายบะหมี่
- วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล (วัยรุ่น)
- บอล : วิทยา ทองอยู่ยง
- ปิ๊ง : อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
- ต้น : นิธิวัฒน์ ธราธร
- ย้ง : ทรงยศ สุขมากอนันต์
- เดียว : วิชชพัชร์ โกจิ๋ว
- เอส : คมกฤษ ตรีวิมล
- วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล (ปัจจุบัน)
- ต้อย : เศรษฐา ศิระฉายา
- ต๋อย : วินัย พันธุรักษ์
- แก๊งตันโจ
- เต๋อ : ฉันทวิชช์ ธนะเสวี
- เมษ : เมษ ธราธร
- แก๊งเครื่องเป่าขี้เมา
- วิฑูรย์ ลิ่วลักษณ์ รับบท จ๊อด (วัยรุ่น)
- สัณหณัฐ มาตุเรศ รับบท อเนก (วัยรุ่น)
- นนรัณย์พัชร ศรีทองมาศ รับบท อำนวย (วัยรุ่น)
- วิโรจน์ สายะวัฒนะ รับบท จ๊อด (ปัจจุบัน)
- พนม ศิริสุวรรณ รับบท เอนก (ปัจจุบัน)
เพลงประกอบภาพยนตร์
แก้- ไอ้บ้า ไอ้บี้ ไอ้โบ้ ไอ้เบ้ - แปลงมาจากเพลง A-Ba-Ni-Bi ของ Izhar Cohen & Alphabeta ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดเพลงยูโรวิชันปี 1978
- โทร - แปลงมาจากเพลง Go ของ Tina Charles ปี 1978
- ดวงใจยังมีรัก - แปลงมาจากเพลง Bad Time ของวง Grand Funk Railroad ปี 1975
- กางเกงลิงลอยฟ้า - แปลงมาจากเพลง Ring My Bell ของ Anita Ward ปี 1979
- รินมา - แปลงมาจากเพลง Linda Linda ของวง Tee Set ปี 1979 [1]
- วันเกิด - แปลงมาจากเพลง runaway ของ Gary Allan
- รักอลังการ
- เก๋า แปลงมาจากเพลง เหงา ของ พีซเมกเกอร์ ปี พ.ศ. 2546
- ขมิบตูด - แปลงมาจากเพลง เป็นไปไม่ได้ ของ ดิอิมพอสซิเบิ้ล ปี พ.ศ. 2515
รางวัล
แก้ปี | รายการ | รางวัล/สาขา | ผู้ได้รับการเสนอชื่อ | ผล |
---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2549 | รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2549 | ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง | เสนอชื่อเข้าชิง |
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม | เอกศิษฏ์ มีประเสริฐกุล | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
พ.ศ. 2550 | รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 16 | ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง | เสนอชื่อเข้าชิง |
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม | เอกศิษฏ์ มีประเสริฐกุล | ชนะ | ||
พ.ศ. 2550 | รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 15 | ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง | เสนอชื่อเข้าชิง |
พ.ศ. 2550 | รางวัลสตาร์เอนเตอเทนเมนท์ ครั้งที่ 4 | ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม | เอกศิษฏ์ มีประเสริฐกุล | ชนะ |
พ.ศ. 2550 | รางวัลสตาร์พิคส์ ครั้งที่ 4 | ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง | ชนะ |
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-22. สืบค้นเมื่อ 2007-08-13.