ฮาง ทุน ฮัก (เขมร: ហង្ស ធុន ហាក់ Hang Thun Hak) เป็นนักการเมือง นักเขียนบทละคร และนักวิชาการฝ่ายซ้ายในกัมพูชา เกิดเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกำปงจาม[1] ฮักเรียนวิชาโขนละครที่โรงเรียนนาฏกรรมสาราแบรณาที่ปารีส ทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงซึ่งต่อมาจะกลายเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ฮักกลับมาในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2494 และเคยเข้าร่วมกับกลุ่มของเซิง งอกทัญซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านฝรั่งเศสในเขตป่าของจังหวัดเสียมราฐ และกลับเข้าสู่เมืองเมื่อ พ.ศ. 2496 ในช่วงเวลาก่อนที่กัมพูชาจะได้รับเอกราชไม่นาน

ฮาง ทุน ฮัก
นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเขมร
ดำรงตำแหน่ง
17 ตุลาคม พ.ศ. 2515 – 17 เมษายน พ.ศ. 2516
ก่อนหน้า เซิง งอกทัญ
ถัดไป ลอง โบเรต
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 21 สิงหาคม พ.ศ. 2469
เสียชีวิต 17 เมษายน พ.ศ. 2518
พนมเปญ ประเทศกัมพูชา
พรรค กรมประชาชน
พรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม
ถูกเขมรแดงสังหารหลังพนมเปญแตก พ.ศ. 2518

ภายใต้ระบอบสังคมของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ฮักสอนที่โรงเรียนการละครแห่งชาติ งานของเขาเน้นที่การพัฒนาละครพูดยุคใหม่ของกัมพูชา เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพระสีสุวัตถิ์ เจ้ากรมละครแห่งชาติและเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลปะ ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2508 - 2513[2] ฮักได้แปลบทละครจากยุโรปหลายเรื่องเป็นภาษาเขมรและแต่งขึ้นมาเองหลายเรื่อง ละครของเขาหลายเรื่อง เช่น Thma Raom (ทมอ รำ) Kanya Chareya (กัญญา จริยา) มุ่งโจมตีการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล ฮักมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระนางสีสุวัตถิ์ กุสุมะ พระมารดาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งช่วยปกป้องงานของเขา

รัฐประหาร พ.ศ. 2513 นำโดยนายพลลน นล ทำให้อำนาจของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สิ้นสุดลง และจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรขึ้นมาแทน ในครั้งแรก ฮักเข้าไปผู้นำของกรมประชาชน พรรคที่มีแนวคิดทางด้านสังคมนิยมที่เขาเคยเป็นสมาชิกมาก่อน ต่อจากนั้น ฮักเข้าร่วมกับพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมที่นำโดยลน นล ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอภิวัฒน์สหคมน์และเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง 17 ตุลาคม พ.ศ. 2515 – 17 เมษายน พ.ศ. 2516

ในช่วงเวลานั้น สาธารณรัฐเขมรอ่อนแอลงเนื่องจากการทำสงครามกับฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรสหภาพแห่งชาติกัมพูชาซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเจ้าสีหนุกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา สหรัฐอเมริกายุติการให้ความช่วยเหลือ และการที่สีหนุปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย ฮักเป็นตัวกลางในการพยายามติดต่อเพื่อเจาจรากับฝ่ายเขมรแดงผ่านทางฮู ยวน[3] และส่งพระนางสีสุวัตถิ์ กุสุมะ ไปลี้ภัยยังประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2516 หลังจากลน นล ลี้ภัยออกจากกัมพูชาเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2518 ฮักได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลที่จะเจรจากับเขมรแดง เขาหายสาบสูญไปหลังจากพนมเปญแตกเมื่อ 17 เมษายน เชื่อว่าเขาถูกประหารชีวิตไปพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายสาธารณรัฐเขมรที่ถูกเขมรแดงจับได้ทั้งหมด

อ้างอิงแก้ไข

  1. บัญญัติ สาลี. 2551. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาติการพิมพ์. หน้า 76 - 77
  2. Cody, G. and Sprinchorn, E. (eds), The Columbia encyclopedia of modern drama, Volume 1, p.583
  3. Clymer, K. The United States and Cambodia, 1969-2000: a troubled relationship, 2004, p.95