อาการล้าเรื้อรัง

อาการล้าเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome, CFS) คือกลุ่มอาการอิดโรยเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุ มีความผิดปกติหลากหลายระบบทั่วร่างกาย ทั้งทางกายภาพ (physical) ทางจิตและจิตประสาท (neuropsychological) มีอาการอิดโรย เหนื่อยล้า อ่อนแรง เป็นหลัก อีกทั้งมีอาการไม่เฉพาะเจาะจงอีกมากมายหลายอย่าง

กลุ่มอาการล้าเรื้อรัง
(chronic fatigue syndrome)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10G93.3
ICD-9780.71
DiseasesDB1645
MedlinePlus001244
eMedicinemed/3392 ped/2795
MeSHD015673

จากการศึกษารายงานทางการแพทย์ย้อนหลัง พบว่ามีรายงานโรคที่น่าจะเข้าได้กับกลุ่มอาการที่ปัจจุบันเรียกว่า chronic fatigue syndrome มานานกว่า 3 ศตวรรษแล้ว โดยถูกวินิจฉัยเป็นโรคต่างๆ เช่น

  • ภาวะเลือดมีกลูโคสน้อย (hypoglycemia)
  • โรคคิดว่าตนป่วย (vapors หรือ hypochondriasis) - เป็นโรคอุปาทานที่มีความหวาดระแวงกลัวว่าจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ วิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ
  • ภาวะประสาทเปลี้ย (neurasthenia) - โรคทางประสาทที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เหนื่อย อ่อนแรง อ่อนใจ จิตซึม เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ
  • อาการประสาทและระบบไหลเวียนอ่อนเปลี้ย (effort syndrome หรือ neurocirculatory asthenia)
  • ภาวะระบายลมหายใจเกิน (hyperventilation) - อาการทางจิตประสาทที่ทำให้หายใจหอบ
  • โรคบรูเซลโลซิสเรื้อรัง (chronic brucellosis) - เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบรูเซลลาเรื้อรัง (เชื้อโรคชนิดนี้โดยปกติแล้วก่อโรคในหมู่สัตว์ทำให้สัตว์แท้งลูก สามารถติดต่อมาสู่คนได้ ทำให้คนไข้มีอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ต่างจากการเกิดโรคในสัตว์ที่ทำให้แท้งเป็นอาจิณ การเกิดโรคในคน จะไม่สามารถแพร่ไปสู่คนด้วยกัน
  • โรคกล้ามเนื้อประสาทอ่อนเปลี้ย (epidemic neuromyasthenia) มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากอารมณ์หรือจิตใจ
  • อาการปวดกล้ามเนื้อเหตุสมองและไขสันหลังอักเสบ (myalgic encephalomyelitis)
  • อาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด (fibromyalgia)
  • กลุ่มอาการตอบสนองต่อสารเคมีไวเกิน (multiple chemical hypersensitivity syndrome)
  • โรคราแคนดิดาเรื้อรัง (chronic candidiasis)
  • โรคโมโนนิวคลีโอซิสเรื้อรัง (chronic mononucleosis หรือ chronic Ebstein-Barr virus infection) - เป็นโรคที่เกิดจาการติดเชื้อไวรัสเอบสไตน์บาร์เรื้อรัง
  • อาการล้าหลังติดเชื้อไวรัส (post viral fatigue syndrome)

พยาธิกำเนิดของอาการนี้ยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัด จากการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงตามระบบต่างๆหลายระบบ แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เฉพาะเจาะจงและไม่ได้เป็นแบบเดียวกันในผู้ป่วยทุกราย ทำให้ไม่สามารถสรุปสมุฏฐานของโรคได้ ดูจากหลักฐานและรายงานต่างๆ พบความเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆดังนี้

ระบบภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อบางชนิด แก้

  • พบอาการเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ และตรวจพบภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสหลายชนิดในเลือด
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน คือภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคออกไปจากร่างกาย โดยตรวจพบแอนติเจนของไวรัสในเลือด เป็นเหตุให้เกิดโรคเรื้อรัง
  • มีการลดลงของระดับโปรตีนที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันโรค (immunoglobulin) บางชนิด
  • มีความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ (cellular immunity) และ การทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคของ natural-killer cell ลดลง

ระบบต่อมไร้ท่อที่ควบคุมโดยสมองส่วน hypothalamus (HPA-axis) แก้

  • มีการลดลงของ corticotropin-releasing hormone (CRH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากสมองส่วน hypothalamus
  • ระดับ adrenocorticotropic hormone (ACTH) ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง (pituitary gland) สูงขึ้น
  • ระดับ cortisol ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต (adrenal gland) ต่ำกว่าปกติ

จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ระบบประสาทต่อมไร้ท่อ (neuroendocrine) น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของพลกำลังและอารมณ์ของผู้ป่วยที่มีอาการนี้

นอกจากนี้ยังพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลาง จึงมีความเชื่อว่าเบื้องต้นของอาการนี้คือโรคทางจิตนำมาก่อน แล้วจึงเกิดความผิดปกติของของระบบประสาทต่อมไร้ท่อและระบบภูมิคุ้มกันตามมา

มีปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุ มีอาการหลากหลาย และมีการอธิบายโดยอาศัยสมมุติฐานและทฤษฎีต่างๆมากมายตามหลักฐานที่พบ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

จากรายงานทางการแพทย์ในอดีตพบอุบัติการณ์ประมาณ 2-8 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ต่อมาเมื่อมีการศึกษาเพิ่มขึ้น บางรายงานพบอุบัติการณ์มากถึงกว่า 200 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยพบในเพศหญิงมากกว่าชายประมาณ 2 เท่า และพบบ่อยช่วงอายุ 25-45 ปี แต่พบน้อยในเด็กและวัยกลางคน

อาการแสดงและการดำเนินโรคที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือผู้ป่วยมักเป็นผู้ที่สุขภาพดีมาก่อน ระยะแรกมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หรือมีความเครียดที่รุนแรงนำมาก่อน (เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด CFS) ตามมาด้วยอาการล้าสิ้นแรงที่สุดทานทน อาจมีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ เจ็บต่อมน้ำเหลือง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว ทำให้สันนิษฐานว่า CFS อาจเกิดจากโรคติดเชื้อ อาการต่างๆเหล่านี้ค่อยๆทุเลาลงในเวลาหลายสัปดาห์ ตามมาด้วยความผิดปกติของการนอน สมาธิไม่ดี ซึมเศร้า

จากอาการและการแสดงที่คลุมเครือยากแก่การวินิจฉัยเหล่านี้ เป็นเหตุให้มีการประชุมเพื่อระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (The U.S. Centers for Disease Control and Prevention) ซึ่งย่อว่า CDC ได้สรุปเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเมื่อ ค.ศ. 1988 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้งหลังจากนั้น จนได้ข้อสรุปดังนี้

ผู้ป่วยต้องมีอาการทั้ง 2 ข้อต่อไปนี้อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป

1. อิดโรย อ่อนเพลีย เหนื่อยล้ามากผิดปกติที่เป็นตลอดเวลาหรือทุเลาสลับกับทรุดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการอิดโรยอย่างมากนี้ไม่ได้เกิดตามหลังการออกกำลังกายหนักอย่างต่อเนื่อง และไม่บรรเทาหลังพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะพักนานเพียงไรก็ไม่ทุเลา อีกทั้งได้แยกโรคต่างๆที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกันออกไปแล้ว อาการอ่อนเพลียนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการงาน การศึกษา สังคม กิจกรรมส่วนตัว

2. มีอาการต่างๆตามหลังความอ่อนเพลียอย่างน้อย 4 อย่าง จากรายการต่อไปนี้

  • มีความบกพร่องของความจำระยะสั้น หรือสมาธิไม่ดี
  • เจ็บคอ
  • เจ็บต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อต่างๆหลายข้อโดยไม่มีการอักเสบ คือ บวม แดง ร้อน
  • ปวดศีรษะที่มีลักษณะการปวดและความรุนแรงต่างจากที่เคยเป็นมาก่อน
  • นอนหลับไม่สนิท นอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น (unrefreshing sleep)
  • อ่อนเพลียไม่สบายตัวหลังออกแรง เป็นเวลานานเกิน 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆได้อีกหลายอย่าง เช่น ไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายไข้หวัด ภูมิแพ้ เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก ไอเรื้อรัง อาการทางจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล กระวนกระวาย ปวดเกร็งที่ท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย น้ำหนักขึ้นหรือลด ผื่นขึ้นตามตัว ชีพจรเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เวียนศีรษะ ปากแห้ง ตาแห้ง ปวดหู เหงื่อออกกลางคืน ตอบสนองไวต่อกลิ่น เสียง แสงจ้า ความเย็น ยา อาหารบางชนิด แอลกอฮอล์ ฯลฯ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวิธีทางห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการวินิจฉัยโดยเฉพาะ สามารถวินิจฉัยจากอาการต่างๆดังกล่าวข้างต้น และแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกันออกไปก่อน

อาการที่แตกต่างกันเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางตามอาการเด่นและความเชื่อของตนเอง เช่น แพทย์เฉพาะทาง โรคภูมิแพ้ โรคข้อ โรคติดเชื้อ จิตแพทย์ หรือแพทย์ทางเลือกอื่น เช่น ทางสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร homeopaths ฯลฯ ผลสุดท้ายการรักษาวิธีต่างๆล้วนไม่ช่วยให้หายเป็นปกติ และอาจเกิดผลเสียตามมา

เมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้นแล้ว อาการต่างๆมักดีขึ้นหรือเลวลงตามๆกันไป นั่นคือช่วงที่มีอาการอ่อนเพลียมากที่สุด อาการอื่นๆพลอยรุนแรงไปด้วย เช่น ปวดรุนแรง สมาธิไม่ดี จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ความเครียดทางกายภาพและทางอารมณ์มักเป็นเป็นเหตุให้อาการทรุดลง

การดำเนินโรค แก้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก และอาการไม่เลวลง ส่วนใหญ่ค่อยๆดีขึ้น แม้ไม่หายเป็นปกติ ก็ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ดังเดิม สิ่งที่บกพร่องก่อนคือความสามารถในการทำงานที่ต้องใช้ความคิดใตร่ตรอง รอบคอบ อาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะตึงเครียดทั้งทางกายและทางจิต มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการมาก คือแยกตัว ทำงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ อาจต้องออกจากงาน และต้องการผู้ดูแลใกล้ชิด น้อยรายเท่านั้นที่หายเป็นปกติได้เอง

การรักษา แก้

ก่อนอื่นต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่รักษาได้ออกไปก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยต้องเข้าใจธรรมชาติของอาการนี้ว่า เป็นเรื้อรัง และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต และอาการเหล่านี้รบกวนชีวิตความเป็นอยู่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นอย่างมาก หากเข้าใจและยอมรับได้ ก็ช่วยให้ไม่เครียดจนเกินไปนัก อาการจะได้ไม่กำเริบจากความเครียด การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด

การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง สามารถช่วยโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง ช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้[1]

ผู้ป่วยเหล่านี้ค่อนข้างตอบสนองไวต่อสิ่งแวดล้อมและสารต่างๆ จึงต้องระมัดระวังในการรักษาเป็นพิเศษ โดยเริ่มกินยาขนาดน้อยๆก่อน แล้วค่อยๆปรับยาตามการตอบสนองต่อการรักษา

  • ยาต้านอักเสบ (NSAIDs) สำหรับอาการไข้และปวด ระวังฤทธิ์ข้างเคียงที่ทำให้เลือดออกจากเยื่อบุกระเพาะอาหาร
  • ยาต้านฮิสตามีน และยาแก้คัดจมูก สำหรับเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ
  • ยาต้านเศร้าขนาดต่ำๆสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า ควรกินยาขนาดน้อย เพราะอาจทำให้อ่อนเพลียมากขึ้น

การดูแลตนเอง แก้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ไม่มากเกินไป คือไม่นอนอยู่กับเตียง (total rest) เพราะยิ่งทำให้หมดสภาพเร็วขึ้น กลายเป็นบุคคลไร้ค่า
  • ทำใจให้ยอมรับความเจ็บป่วยโดยมีญาติมิตรคอยให้กำลังใจ หลีกเลี่ยงความเครียด
  • งดอาหารหนัก สุราเมรัย คาเฟอีนก่อนนอน เพราะทำให้หลับยาก เป็นเหตุให้อ่อนเพลียมากขึ้น
  • ออกกำลังกายแต่พอควร เริ่มจากเบาๆแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายหนักเพราะอาจกระตุ้นให้อาการทรุดลง
  • ไม่ควรทดลองรักษาด้วยวิธีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผล เพราะผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งต่างๆไวกว่าคนปกติ

ข้อมูลการรักษาทางเลือก แก้

  • การสวนล้างลำไส้ใหญ่ (high colonic enemas) ไม่พบว่าใช้รักษา CFS ได้ แต่อาจทำให้อาการทางลำไส้ทรุดลง
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplements) ผลิตภัณฑ์จากพืช ยังไม่มีการศึกษาว่ารักษาได้ ความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติปลอดภัยนั้น ไม่จริงสำหรับผู้ป่วยเสมอไป เพราะอาจมีฤทธิ์ข้างเคียง และมีปฏิกิริยากับยาได้
  • วิตามิน coenzymes แร่ธาตุ ชนิดต่างๆ ไม่พบว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วย
  • สมุนไพร (herbal preparations) ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าได้ผล สมุนไพรมีปริมาณของสารที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ไม่แน่นอน อาจเป็นอันตรายได้ หากขาดความระมัดระวัง สมุนไพรบางชนิด หากใช้ในขนาดสูงอาจเป็นผลเสียกับผู้ป่วย


บทความจากนิตยสาร health today โดย พญ.สมศรี ประยูรวิวัฒน์

  1. โรคอ่อนเพลียเรื้อรังรักษาได้ด้วยอาหารที่ถูกต้อง