ออสการ์ (แมวพยาบาล)

ออสการ์ (อังกฤษ: Oscar เกิดปี พ.ศ. 2548) เป็นแมวพยาบาลที่อาศัยอยู่ในศูนย์พยาบาลและฟื้นฟูสเตียร์เฮาส์ (อังกฤษ: Steere House Nursing and Rehabilitation Center) ในเมืองพรอวิเดนซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการรู้จักถึงออสการ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 เมื่อนายแพทย์เดวิด โดซ่า ผู้เป็นแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุและผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเจ้าแมวเผยแพร่ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ คือได้เขียนว่า ออสการ์ดูเหมือนจะสามารถพยากรณ์ความตายของของคนไข้ระยะสุดท้ายได้ ซึ่งผู้อื่นให้คำอธิบายต่าง ๆ กันรวมทั้งความนิ่งไม่เคลื่อนไหวของคนไข้ หรือว่ามีกลิ่นของคีโทนซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่หลั่งออกโดยเซลล์ที่กำลังจะตาย[1] น.พ.โดซ่าได้เขียนถึงออสการ์อีกในหนังสือที่วางตลาดในปี พ.ศ. 2553 คือ Making Rounds With Oscar: The Extraordinary Gift of an Ordinary Cat (ไปเทียวเยี่ยมคนไข้กับออสการ์: พรสวรรค์ของแมวธรรมดา ๆ)[2]

พื้นเพความหลัง แก้

มีการรับออสการ์มาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวจากศูนย์กักสัตว์ และออสการ์โตขึ้นในหน่วยคนไข้สมองเสื่อมระยะสุดท้าย ที่ศูนย์พยาบาลและฟื้นฟูสเตียร์เฮาส์ในเมืองพรอวิเดนซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยพยาบาลที่รับคนไข้ได้ 41 คนนี้รักษาคนไข้โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน และโรคอื่น ๆ โดยมากเป็นคนไข้ระยะสุดท้ายที่ปกติหมดความรู้สึกตัวแล้ว

ออสการ์เป็นแมวตัวหนึ่งในหกตัวที่ศูนย์รับมาเลี้ยงหลังจากแมวรักษาตัวเดิมของศูนย์ตาย เป็นศูนย์ที่มีการโฆษณาว่า ไม่รังเกียจสัตว์เลี้ยง เพราะมีสัตว์เลี้ยงที่มาเยี่ยมและที่อยู่อาศัยที่ศูนย์[3]

การพยากรณ์ความตาย แก้

หลังจากได้รับออสการ์มาเลี้ยงอยู่ประมาณ 6 เดือน เจ้าหน้าที่เริ่มสังเกตเห็นว่า ออสการ์ทำตัวเหมือนแพทย์และพยาบาลในการไปเทียวเยี่ยมคนไข้ เจ้าแมวจะเดินดมและสังเกตคนไข้ แล้วก็จะขดตัวนอนอยู่ใกล้ ๆ กับคนไข้บางคน ผู้ซึ่งมักจะถึงความเสียชีวิตภายใน 2-3 ช.ม. หลังจากออสการ์มา มีคนไข้คนหนึ่งในตอนต้น ๆ ที่มีลิ่มเลือดในขาทำให้ขาเย็นมากในขณะนั้น ซึ่งออสการ์ก็ได้ขดตัวพันรอบขาของคนไข้ แล้วอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งหญิงผู้นั้นเสียชีวิต[4] ในอีกกรณีหนึ่ง แพทย์ได้วินิจฉัยโดยอาการแล้วว่าคนไข้คนหนึ่งใกล้จะเสียชีวิต แต่ออสการ์กลับเดินหนีไป ทำให้คุณหมอเชื่อว่าการวินิจฉัยตรงกับอาการของออสการ์ ที่ถูกต้องสืบกันมาถึง 12 ครั้งกำลังจะสิ้นสุดไป แต่าปรากฏว่า การวินิจฉัยของคุณหมอจริง ๆ แล้ว เร็วเกินไปถึง 10 ช.ม. และออสการ์ตอนหลังก็มาเยี่ยมคนไข้และคนไข้ก็ถึงแก่กรรม 2 ช.ม. หลังจากนั้น[5]

ความแม่นยำของออสการ์ (ซึ่งถูกต้องสืบเนื่องกันกว่า 25 ครั้งเมื่อคุณหมอโดซ่าเขียนบทความในวารสารแพทย์) ทำให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนขั้นตอนการทำงานใหม่ที่ไม่เหมือนใคร คือเมื่อพบออสการ์นอนอยู่กับคนไข้ เจ้าหน้าที่จะติดต่อครอบครัวของคนไข้เพื่อแจ้งว่าคนไข้ใกล้จะเสียชีวิต[5]

โดยมากแล้ว ครอบครัวของคนไข้ไม่มีปัญหาอะไรกับออสการ์ที่มาอยู่ใกล้ ๆ แต่ว่าในกรณีที่ครอบครัวของคนไข้ขอให้นำออสการ์ออกไปจากห้อง ออสการ์ก็ไม่ยอมไปไกล กลับเดินกลับไปกลับมาอยู่หน้าห้องพร้อมกับร้องทำเสียงประท้วง แต่เมื่อได้อยู่กับคนไข้ ออสการ์จะอยู่จนกระทั่งคนไข้เสียชีวิต แล้วหลังจากนั้นจะจากไปอย่างเงียบ ๆ

คุณหมอโดซ่าเรียกออสการ์ว่า มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่[6] คุณหมอได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งในบทความ คือ เมื่อหญิงชราผู้หนึ่งเดินมาโดยใช้ไม้เท้า ผ่านออสการ์ในเวลาที่เขากำลังเทียวเยี่ยมคนไข้ ออสการ์กลับทำเสียงขู่เหมือนกับงูเหมือนกับจะบอกว่า อย่ามาอยู่ใกล้ ๆ ฉัน[5]

โดยถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ออสการ์ได้พยากรณ์การเสียชีวิตของคนไข้อย่างถูกต้องถึง 50 ราย[2]

คำอธิบาย แก้

น.พ. โจน เทโน ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางสุขภาพชุมชน ที่วิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัยบราวน์ ผู้ดูแลคนไข้ที่ศูนย์สเตียร์เฮาส์และพบเจอกับออสการ์เป็นประจำได้กล่าวไว้ว่า

ไม่ใช่ว่าเจ้าแมวนี่จะเป็นคน (ตัว)แรกที่ไปถึง (เพื่อเฝ้าคนไข้) แต่ว่าเจ้าแมวจะทำการปรากฏตัวทุก ๆ ครั้ง และดูเหมือนจะเป็นภายในสองชั่วโมงสุดท้าย[7]

คุณหมอโดซ่า (ผู้ทำงานอยู่กับวิทยาลัยแพทย์เดียวกัน) ได้พรรณนาถึงปรากฏการณ์นี้ในบทความวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ของวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ไว้ว่า " (ออสการ์) มักจะไม่ค่อยพลาด มันดูเหมือนจะเข้าใจว่าเมื่อไรคนไข้ใกล้จะเสียชีวิต" โดยสันนิษฐานว่า "เจ้าแมวอาจจะได้กลิ่นอะไรโดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับความตาย" ส่วนคุณหมอเทโนสนับสนุนความคิดนี้ว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่า มีสารอะไรบางอย่างที่ปล่อยออกมาเมื่อเรากำลังจะตาย และเจ้าแมวก็ได้กลิ่นรับรู้สารเหล่านั้น"[4]

ส่วนผู้เชี่ยวชาญทางพฤติกรรมสัตว์บางคน เห็นด้วยกับคำอธิบายว่าออสการ์ได้กลิ่นเกี่ยวเนื่องกับความตาย คือ สัตว์แพทย์มาร์จี เชอร์กผู้เป็นประธานสมาคมแพทย์รักษาแมวอเมริกัน (American Association of Feline Practitioners) ณ กรุงแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาได้กล่าวไว้ว่า "ดิฉันคิดว่า เขาได้กลิ่นสารเคมีอะไรบางอย่างที่ปล่อยออกก่อนจะเสียชีวิต (เพราะว่า) แมวสามารถได้กลิ่นอะไรหลายอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถ และแมวสามารถที่จะตรวจจับความเจ็บไข้ได้อย่างแน่นอน" ส่วนคุณหมอจิลล์ โกลด์แมน ผู้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ในเมืองลากูนาบีช ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "แมวมีประสาททางจมูกที่ยอดเยี่ยมมาก" และเสนอว่า การอยู่เป็นเพื่อนกับคนไข้ที่ใกล้จะเสียชีวิตน่าจะเป็นพฤติกรรมเกิดจากการเรียนรู้ "มีโอกาสมากมายที่ออสการ์จะสัมพันธ์กลิ่นนั่น (กับความตาย)"[4] (คือเจ้าแมวใช้ชีวิตของมันเกือบทั้งหมด ในหน่วยคนไข้สมองเสื่อมระยะสุดท้าย ณ ศูนย์สเตียร์เฮาส์ ที่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นเป็นประจำ)

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเกี่ยวกับกลิ่นเป็นเพียงแค่แนวคิดหนึ่ง คือ คุณหมอแดเนียล เอสเต็ป ผู้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ในเมืองลิ๊ตเติลตัน รัฐโคโลราโด เสนอว่า "สิ่งหนึ่งที่เกิดกับผู้ใกล้จะเสียชีวิตก็คือจะไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก บางทีเจ้าแมวอาจจะจับได้ว่า คนไข้ที่นอนอยู่บนเตียงอาจจะนิ่งมาก นี่อาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นของกลิ่นหรือเสียง แต่อาจจะประเด็นเกี่ยวกับการไม่มีการเคลื่อนไหว"[4]

ส่วนคุณหมอโทมัส เกรฟส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแมวที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าวกับนักข่าวของบีบีซีว่า "แมวมักจะมีความรู้สึกเมื่อเจ้าของป่วยหรือว่าสัตว์อื่นป่วย สามารถมีความรู้สึกว่าภูมิอากาศจะเปลี่ยนสภาพ เป็นสัตว์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า ไวต่อการรับรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับแผ่นดินไหว"[8]

ในปี ค.ศ. 2009 นักวิจัยพิตลิกใช้เรื่องของออสการ์เป็นอุปมาอุปไมยสำหรับคนไข้ที่ติดเชื้อโรค Klebsiella pneumoniae ที่ดื้อยา คือ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเชื้อโรคชนิดนี้ทำให้ถึงเสียชีวิตได้ และการติดเชื้อโรคนี้ก็ไม่ได้เป็นเหตุความตายของคนไข้ (ที่ผลงานวิจัยกล่าวถึง) แต่เชื้อโรคเป็นเพียงแต่ตัวพยากรณ์ว่า คนไข้มีอาการย่ำแย่ (เหมือนกับออสการ์ไม่ได้เป็นเหตุให้คนไข้เสียชีวิต แต่เป็นตัวพยากรณ์ความตายของคนไข้)[9]

คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แก้

ส่วนพวกนักวิมตินิยมทางวิทยาศาสตร์ ถือเรื่องการศึกษาความสามารถของออสการ์ว่า เป็นวิทยาศาสตร์เทียม[10][11] คือ คุณหมอโดซ่าฝืนกฏทางวิมตินิยมว่า "อย่าพยายามอธิบายปรากฏการณ์อย่างหนึ่งนอกจากจะมั่นใจว่ามีปรากฏการณ์ (นั้นจริง ๆ) ที่ควรจะอธิบาย"[10] คือ ไม่มีหลักฐานทางการทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งที่แสดงว่า ออสการ์มีความสามารถรับรู้เหนือประสาทสัมผัส (เช่นอ่านใจได้) และหลักฐานโดยมากที่คุณหมอโดซ่ากล่าวถึง เช่นกรณีศึกษาที่ออสการ์ไปนอนอยู่ใกล้ ๆ คนไข้ใกล้จะตาย เป็นเพียงแต่เรื่องเล่าเท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว ความสามารถของออสการ์ก็เจอเป็นครั้งแรกโดยหัวหน้าพยาบาล ผู้กล่าวถึงตนเองว่า ต้องการให้คนอื่นเชื่อว่าออสการ์มีอำนาจพิเศษ และได้พยายามสืบหาหลักฐานที่จะสนับสนุนความเห็นนี้ โดยไม่มีความเป็นกลาง[10][5] แม้แต่งานตีพิมพ์ของคุณหมอเองก็ปรากฏว่า มีการเลือกสรรค์หลักฐานที่ไม่เป็นกลางอีกด้วย คือ หนังสือที่คุณหมอเขียนเกี่ยวกับออสการ์ไม่ได้กล่าวถึงกรณีที่ออสการ์ทำการผิดพลาด แม้ว่าจะมีหลักฐานคำบอกเล่าที่ใช้สนับสนุนความสามารถของออสการ์นั่นแหละ (ที่ปรากฏในแหล่งอื่น ๆ แต่คุณหมอไม่ได้กล่าวถึงในหนังสือ) ที่บอกด้วยว่าออสการ์ได้ทำการผิดพลาดมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น มีกรณีที่พยาบาลนำออสการ์เข้ามาในห้องของผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต แล้วบังคับให้ออสการ์ขึ้นไปบนเตียง แต่ว่าออสการ์พยายามขัดขืน[10]

งานของคุณหมอโดซ่ายังปรากฏว่ามีเหตุผลวิบัติเชิงตรรกะอีกด้วย คือ หลักฐานโดยคำบอกเล่าที่ใช้มักจะมีการดัดแปลงเพื่อให้สะดวกในการอ่าน ในขณะที่ไม่ใส่ใจในหลักฐานที่คัดค้าน[10] ซึ่งเป็นเหตุผลวิบัติเชิงตรรกะโดยเสนอแต่กรณีที่เข้ากันกับประเด็นที่เป็นสมมุติฐาน (ดูความเอนเอียงเพื่อยืนยัน)[12] คุณหมอยังใช้วิธีการอุธรณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ (appeal to authority) คือกล่าวว่า "ผู้เชี่ยวชาญ" ได้ถกประเด็นเรื่องนี้แล้วสรุปว่า เป็นความสามารถของออสการ์[13] และโดยสรุปผิด ๆ ว่า "เกิดหลังจากสิ่งนี้ ดังนั้น จึงเกิดเพราะสิ่งนี้" (post hoc ergo propter hoc) คือ แม้จะเป็นความจริงว่า ออสการ์จะไปนอนอยู่บนเตียงคนไข้ก่อนที่จะเสียชีวิต แต่อาจจะมีตัวแปรอื่นที่สามารถอธิบายพฤติกรรมนี้ได้ดีกว่าหรือได้ดีเท่า ๆ กัน

นักวิมตินิยมอีกคนหนึ่งได้กล่าวถึงเหตุอื่น ๆ ที่ผลงานของคุณหมอเป็นวิทยาศาสตร์เทียมไว้ว่า[14]

  • ไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่า ออสการ์นอนที่เตียงคนไข้ไหน เมื่อไร นานเท่าไร กี่ครั้งต่อวัน
  • ไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่า เมื่อออสการ์นอนที่เตียงคนไข้แล้ว คนไข้ยังมีชีวิตต่อไปอีกกี่นาที/ช.ม./วัน/อาทิตย์
  • ไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนคำอธิบายว่า ออสการ์สามารถรับรู้สัญญาณ (ที่อาจปรากฏโดยไม่ได้ตั้งใจ) จากคุณหมอและคุณพยาบาลเกี่ยวกับอาการของคนไข้ คล้ายกับในเรื่องของม้าคเลเวอร์แฮนส์

ในสื่อ แก้

ละครชุดโทรทัศน์เรื่องเฮาส์ เอ็ม.ดี.ซีซั่นที่ 5 ตอน 18 เรื่อง "Here Kitty" มีเรื่องเกี่ยวกับแมวที่พยากรณ์การเสียชีวิตของคนไข้หลายกรณีโดยเข้าไปนอนอยู่ใกล้ ๆ

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. Leonard, Tom (2010-02-01). "Cat predicts 50 deaths in RI nursing home". telegraph.
  2. 2.0 2.1 Henry, Ray (2010-01-31). "Just-Released Book Profiles Feline Angel of Death". Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-20. สืบค้นเมื่อ 2015-02-20.
  3. "Pet therapy". Steere House website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-05. สืบค้นเมื่อ 2009-03-20.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "Cat's "Sixth Sense" Predicting Death?". CBS News. 2007-07-25. สืบค้นเมื่อ 2009-03-20.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Dosa, DM (2007). "A day in the life of Oscar the cat". New England Journal of Medicine. 357 (4): 328–9. doi:10.1056/NEJMp078108. PMID 17652647.
  6. "Oscar the Cat Predicts Nursing Home Deaths". Associated Press. FOX News. 2007-07-26. สืบค้นเมื่อ 2009-03-20.
  7. "Cat senses impending death". The Register. 2007-07-26.
  8. "US cat 'predicts patient deaths'". BBC News. 2007-07-26.
  9. Pitlik, Silvio Daniel (May 2009). "Oscar the cat, carbapenem-resistant Klebsiella pneumoniae, and attributable mortality". Infection Control and Hospital Epidemiology. 30 (5): 500–501. doi:10.1086/596733. ISSN 1559-6834. PMID 19344272.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Nickell, Joe. "Oscar, the Death-Predicting Cat". Skeptical Inquirer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-10. สืบค้นเมื่อ 2012-11-23.
  11. Emery, David. "Oscar Death Cat- Urban Legends". About.com. สืบค้นเมื่อ 2012-11-23.
  12. Hudson, William. "Logical Fallacies". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-23. สืบค้นเมื่อ 2012-11-23.
  13. Dosa, David. "Oscar FAQs". daviddosa.com. สืบค้นเมื่อ 23 November 2012.
  14. "Oscar the "psychic" cat". Skeptic's Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2012-05-22.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้