หม่อมเจ้าสง่างาม สุประดิษฐ์
อำมาตย์โท หม่อมเจ้าสง่างาม (พ.ศ. 2400 – 23 เมษายน พ.ศ. 2460) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ประสูติแต่หม่อมแช่ม สุประดิษฐ ณ อยุธยา และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หม่อมเจ้าสง่างาม | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 4 | |
ไฟล์:สง่างาม สุประดิษฐ.jpg | |
ประสูติ | พ.ศ. 2400 |
สิ้นชีพตักษัย | 23 เมษายน พ.ศ. 2460 |
หม่อม | 6 คน |
พระบุตร | 15 คน |
ราชสกุล | สุประดิษฐ์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร |
พระมารดา | หม่อมแช่ม สุประดิษฐ ณ อยุธยา |
หม่อมเจ้าสง่างาม ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2400 เมื่อเจริญชันษาก็ได้เข้ารับราชการ ทรงสมัครเข้าเป็นนายเสือป่าตั้งแต่แรกตั้งกองเสือป่าในปี พ.ศ. 2454 และได้รับพระราชทานธงประจำตัวนายหมู่เสือป่าเป็นธงพื้นสีขาว (เพราะประสูติวันจันทร์) ลายกลางเป็นภาพพราหมณ์แต่งตัว ซึ่งตรงกับพระนามสง่างาม และได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีนบุรี โดยมีประกาศแต่งตั้งดังนี้
หม่อมเจ้าสง่างาม ทรงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมีนบุรี องค์แรกและองค์เดียว[1] ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 จังหวัดมีนบุรีได้ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร เพื่อประหยัดงบประมาณราชการ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
หม่อมเจ้าสง่างามเป็นข้าราชการส่วนกลางมาตลอด 25 ปี ไม่เคยต้องไปประทับแรมที่ใด ทรงปฏิบัติงานเรียบร้อยเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยกระทั่งในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้น โดยให้รวมพื้นที่อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอเจียรดับ และอำเภอหนองจอก ขึ้นเป็นจังหวัดมีนบุรี แล้วแต่งตั้งหม่อมเจ้าสง่างาม ข้าราชการชั้นเอก ซึ่งทรงรู้จักท้องถิ่นชานเมืองเป็นอย่างดีให้มาปกครองท้องที่แถบตะวันออกของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ท่านจึงเป็นเจ้าเมืองมีนบุรีองค์แรกและองค์เดียว ก่อนที่เมืองนี้จะถูกยุบรวมกับจังหวัดพระนครในปี พ.ศ. 2474
หม่อมเจ้าสง่างามในวัยที่พ้นจากราชการแล้ว ได้ประทับที่วังข้างวัดตรีทศเทพวรวิหาร โดยมีหม่อมแช่ม หม่อมมี หม่อมละม้าย (น้องสาวของหม่อมมี) หม่อมเยื้อน หม่อมเขียน และหม่อมพลู สตรีชาวมีนบุรี ซึ่งเป็นหม่อมคนสุดท้าย อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน บั้นปลายได้ประชวรด้วยพระโรคภูมิแพ้และโรคบาดพิศม์ และสิ้นชีพตักษัยเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2460 สิริชันษา 60 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2462[2]
พระยศ
แก้พระยศเสือป่า
แก้- – นายหมู่โท
- 3 มกราคม 2456 – นายหมู่เอก[3]
โอรส-ธิดา
แก้หม่อมเจ้าสง่างาม มีหม่อม 6 คน มีโอรสธิดา 15 คน ดังนี้
- หม่อมราชวงศ์หญิงมลิ สุประดิษฐ์ (เกิด 10 เมษายน พ.ศ. 2424)
- หลวงสมุทรโคจร (หม่อมราชวงศ์เล็ก สุประดิษฐ์) (เกิด 20 มกราคม พ.ศ. 2425)
- หม่อมราชวงศ์หญิงสอาด สุประดิษฐ์ (เกิด 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426)
- หม่อมราชวงศ์หญิงลมุล ทวีวงศ์ เสกสมรสกับหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ ทวีวงศ์ (เกิด 3 สิงหาคม พ.ศ. 2431)
- หม่อมราชวงศ์เจริญ สุประดิษฐ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2432)
- หม่อมราชวงศ์ประวัติ สุประดิษฐ์ (เกิด 23 มิถุนายน พ.ศ. 2433)
- หม่อมราชวงศ์หญิงสงวน ธนพิธพิศาล สมรสกับพระยาธนพิธพิศาล (ตง วัชรเสถียร)
- หม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สุประดิษฐ์ (เกิด 4 ธันวาคม พ.ศ. 2446)
- หม่อมราชวงศ์ไศลรัตน์ สุประดิษฐ์ (เกิด 25 มิถุนายน พ.ศ. 2447)
- หม่อมราชวงศ์หญิงลดา ยุคล เสกสมรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (เกิด 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447)
- หม่อมราชวงศ์มีน สุประดิษฐ์ (เกิด 2 มีนาคม พ.ศ. 2449)
- หม่อมราชวงศ์หญิงเลื่อน สุประดิษฐ์ (เกิด 2 มิถุนายน พ.ศ. 2451)
- หม่อมราชวงศ์สนั่น สุประดิษฐ์ (เกิด 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2454)
- หม่อมราชวงศ์หญิงสรัท สุประดิษฐ์ (เกิด 19 ธันวาคม พ.ศ. 2454)
- หม่อมราชวงศ์สง่า สุประดิษฐ์ (เกิด 2 สิงหาคม พ.ศ. 2456)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2455 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[4]
- พ.ศ. 2451 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[5]
- พ.ศ. 2457 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 5 (ม.ป.ร.5)[7]
- พ.ศ. 2425 – เหรียญสตพรรษมาลา (ส.ม.)
- พ.ศ. 2436 – เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา (ร.ศ.)
- พ.ศ. 2440 – เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)
- พ.ศ. 2440 – เหรียญราชินี (ส.ผ.)
- พ.ศ. 2446 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
- พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
อ้างอิง
แก้- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมือง. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, พ.ศ. 2515. 100 หน้า.
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- ↑ เลื่อนและตั้งยศนายกองนายหมู่เสือป่า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๒๒, ๒๒ มกราคม ๑๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๒๙ หน้า ๘๓๐, ๑๘ ตุลาคม ๑๒๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๑๑๕, ๒๓ สิงหาคม ๒๔๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔[ลิงก์เสีย], เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๓๒ หน้า ๕๖๘, ๖ พฤศจิกายน ๑๒๓