หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์
มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ (15 มกราคม พ.ศ. 2401 — 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2471) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ประสูติแต่หม่อมบาง และเป็นพระราชนัดดารุ่นใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 4 | |
ประสูติ | 15 มกราคม พ.ศ. 2401 |
สิ้นชีพิตักษัย | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 (70 ปี) |
พระบุตร | หม่อมราชวงศ์ศิริวรรณ สุประดิษฐ์ |
ราชสกุล | สุประดิษฐ์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร |
พระมารดา | หม่อมบาง |
หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2400 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2401) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มียศเป็น "มหาอำมาตย์โท" ทรงเริ่มรับราชการตำแหน่งเสมียนเอกกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แล้วเป็นนายเวร ต่อมาเป็นผู้ช่วยตรวจบัญชีกลาง เลขานุการเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ อธิบดีกรมสรรพภาษี อธิบดีกรมเก็บ และตำแหน่งสุดท้ายในราชการคือ ปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี พ.ศ. 2460 กราบถวายบังคมออกรับพระราชทานบำนาญ
หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถเป็นคนกลุ่มแรกในสยามที่เลี้ยงกล้วยไม้ ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช[1]
หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถได้รับสมบัติจากพระบิดาคือ พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าที่พบเฉพาะในนิกายมหายาน ซึ่งมีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศจีนและทิเบต องค์พระหล่อด้วยสำริด สร้างขึ้นในศิลปะลพบุรี (ศิลปะแบบเขมรในประเทศไทย) เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง สวมศิราภรณ์ทรงเทริด ขนาดหน้าตักกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 62 เซนติเมตร ต่อมาหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถทรงขายให้กรมศิลปากร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ มีโอรสเพียงคนเดียว คือ หม่อมราชวงศ์ศิริวรรณ สุประดิษฐ์
หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ ประชวรโรคชรา ถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 สิริชันษา 70 ปี พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2473[2] [3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2455 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2451 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[5]
- พ.ศ. 2449 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[6]
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 5 (ม.ป.ร.5)[7]
- พ.ศ. 2425 – เหรียญสตพรรษมาลา (ส.ม.)
- พ.ศ. 2436 – เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา (ร.ศ.)
- พ.ศ. 2440 – เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)
- พ.ศ. 2440 – เหรียญราชินี (ส.ผ.)
- พ.ศ. 2446 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
- พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
อ้างอิง
แก้- ↑ กล้วยไม้[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์ oknation.net สืบค้นเมื่อ 25-03-57
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- ↑ 688.PDF
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๒๔, ๒๒ มกราคม ๑๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๗๕๖, ๒๗ กันยายน ๑๒๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๘๙๓, ๒๕ พฤศจิกายน ๑๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔, เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๓๒ หน้า ๕๖๘, ๖ พฤศจิกายน ๑๒๓