มาเลศ

(เปลี่ยนทางจาก สีสวาด)

แมวโคราช หรือ แมวมาเลศ ต้นกำเนิดพบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันในนามว่าโคราช มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1350-1767 หรือประมาณ พ.ศ. 1893-2310 ในบันทึกได้กล่าวถึงแมวที่ให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย รวมถึงแมวโคราชด้วย ปัจจุบันสมุดข่อยนี้ถูกเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

มาเลศ

แมวเพศผู้มีสีเหมือนดอกเลา จึงเรียก แมวสีดอกเลา โดยจะต้องมีขนเรียบ ที่โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ในขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน เป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว หรือเหมือนคนผมหงอก

ชื่อแมวโคราช เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[1] โดยใช้แหล่งกำเนิดของแมวเป็นชื่อเรียกพันธุ์แมว มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าไหร่จะมีโชคลาภมากเท่านั้น (แม้ว่าลักษณะหางหงิกงอไม่ใช่มาตรฐานพันธุ์ตามหลักของ CFA ก็ตาม) แต่คนไทยบางกลุ่มจะเรียกแมวโคราชว่า แมวสีสวาด เนื่องจากขนของแมวโคราชมีสีเหมือนเมล็ดของต้นสวาดนั่นเอง

แมวโคราชได้ถูกนำไปเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกโดย Cedar Glen Cattery ในรัฐออริกอน โดยได้รับมาจากพี่น้องชื่อ นารา (Nara) และ ดารา (Darra) ในวันที่ 12 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2502 ประมาณเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2509 นักผสมพันธุ์แมวโคราชและแมวไทย (วิเชียรมาศ) ชาวรัฐแมริแลนด์ ได้นำแมวโคราชประกวดในงานประจำปีและ ได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นที่รู้จัก

ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้แมวโคราชขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทย ในปี พ.ศ. 2552[2]

ลักษณะโดยทั่วไป แก้

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น แก้

  • ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีสวาด (silver blue) ทั่วทั้งตัวและเป็นสีสวาดตั้งแต่เกิดจนตาย
  • ลักษณะของส่วนหัว : หัวเมื่อดูจากด้านหน้าจะเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน หูตั้ง ในแมวตัวผู้หน้าผากมีรอยหยักทำให้เป็นรูปหัวใจเด่นชัดมากขึ้น หูใหญ่ตั้ง ปลายหูมน โคนหูใหญ่ ผิวหนังที่บริเวณจมูกและริมฝีปากสีเงิน หรือม่วงอ่อน
  • ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีเขียวสดใสเป็นประกาย หรือสีเหลืองอำพัน ขณะยังเป็นลูกแมวตาจะเป็นสีฟ้า เมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด และเมื่อเติบโตเต็มที่ตาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวใบไม้ หรือสีเหลืองอำพัน
  • ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อย ๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว

คนสมัยโบราณมีความเชื่อว่า แมวสีสวาดเป็นแมวนำโชคลาภของคนโคราช และคนเลี้ยงทั่ว ๆ ไป จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิมงคลแก่ผู้เลี้ยง แมวสีสวาดเคยประกวดชนะเลิศในระดับโลกมาแล้วในปี พ.ศ. 2503 ที่สหรัฐอเมริกา เป็นแมวตัวเมียชื่อว่าสุนัน และเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก จึงนับว่าแมวไทยได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย แก้

ขนยาวเกินไป มีสีอื่นปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี

บทกวีที่กล่าวถึงแมวมาเลศ แก้

วิลามาเลศพื้น พรรณกาย
ขนดังดอกเลาราย เรียบร้อย
โคนขนเมฆมอปลาย ปลอมเสวตร
ตาดั่งน้ำค้างย้อย หยาดต้องสัตบง

แมสคอท แก้

แมวมาเลศได้ถูกใช้เป็นแมสคอทประจำการแข่งขันกีฬาซีเกมส์มาแล้วถึง 2 ครั้ง ได้แก่ ซีเกมส์ 1985 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ และ ซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพ โดยแมวมาเลศตัวนี้มีชื่อว่า "แคน" (Can) อันเนื่องจากแมวมาเลศมีถิ่นกำเนิดที่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมานั่นเอง

และยังใช้เป็นทั้งสัญลักษณ์และฉายาของสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา ในชื่อ "สวาดแคท"


อ้างอิง แก้

  1. "ดันแมวสีสวาดแมวประจำชาติหลังใกล้สูญพันธุ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-15. สืบค้นเมื่อ 2010-03-01.
  2. รายงานพิเศษ:แมวสีสวาด สัตว์ประจำชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้