สะพานเทพหัสดิน

สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง

สะพานเทพหัสดิน (อังกฤษ: Thephasadin Bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนเทพรัตน (ทางหลวงหมายเลข 34) ขนาด 10 ช่องจราจร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง[1]

สะพานเทพหัสดิน
พิกัด13°29′10″N 101°00′14″E / 13.4862°N 101.0039°E / 13.4862; 101.0039
เส้นทาง ถนนเทพรัตน กม. 50+500
ข้ามแม่น้ำบางปะกง
ที่ตั้งตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ชื่อทางการสะพานเทพหัสดิน
ชื่ออื่นสะพานบางปะกง
ตั้งชื่อตามพระยาเทพหัสดิน
เหนือน้ำสะพานทางหลวงพิเศษหมายเลข
ท้ายน้ำอ่าวไทย
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภท • สะพานหมุน (Swing Bridge) (สะพานเดิมและสะพานใหม่ 1)
 • สะพานแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัวไอ (ทั้ง 4 สะพานปัจจุบัน)
วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก
ความยาว340 เมตร (สะพานเดิม)
417 เมตร (สะพานใหม่ 1)
ความกว้าง6.08 เมตร (สะพานเดิม)
ประวัติ
ผู้สร้างบริษัท สง่าพาณิชย์ (สะพานเดิม)
วันเริ่มสร้าง28 ตุลาคม พ.ศ. 2492
งบก่อสร้าง6.124 ล้านบาท
วันเปิด12 เมษายน พ.ศ. 2494
สร้างใหม่ • กันยายน พ.ศ. 2512 (สะพานที่ 1)
 • พ.ศ. 253X (สะพานที่ 2)
 • 1 เมษายน พ.ศ. 2539 (สะพานที่ 3)
 • พ.ศ. 2542-2543 (สะพานที่ 4)
ที่ตั้ง
แผนที่

ประวัติ แก้

สะพานเทพหัสดิน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของถนนสุขุมวิท ตามนโยบายการสร้างทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออกเข้าถึงกัน ใน “แผนการทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2479” ซึ่งถนนสุขุมวิทนั้นอยู่ภายใน "โครงการตัดถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก" มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2479 - 2497 ระยะเวลารวม 18 ปี เริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถึงปลายทางคืออำเภอเมืองตราดที่กิโลเมตรที่ 400 โดยกำหนดให้สะพานเทพหัสดินนั้นอยู่ในกิโลเมตรที่ 80[2]

สะพานเดิม แก้

ช่วงก่อนที่จะสร้างสะพานเทพหัสดิน วิธีสัญจรข้ามแม่น้ำบางปะกงช่วงถนนสุขุมวิทในอดีตนั้นใช้การโดยสารแพขนานยนต์ในการขนส่งยานพาหนะข้ามทั้งสองฝั่งของเส้นทาง หรืออ้อมไปใช้เส้นทางบริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทราซึ่งใช้ระยะทางในการข้ามแม่น้ำที่ใกล้กว่า โดยสะพานเทพหัสดินเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท สง่าพาณิชย์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 6,124,000 บาท มีความยาว 340 เมตร ช่องจราจรกว้าง 6 เมตร ประกอบกับทางเท้า 2 ข้าง กว้างข้างละ 0.04 เมตร ความกว้างรวม 6.08 เมตร และมีตอม่อรองรับสะพาน 25 ตัน โครงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา[3] ตรงกลางสะพานมีแกนหมุนสามารถเปิดให้เรือสามารถสัญจรผ่านได้ในรูปแบบของสะพานหมุน[4] (Swing bridge) เปิดใช้งานในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2494[5] และตั้งชื่อว่าสะพานเทพหัสดิน เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อก่อสร้างสะพาน คือ พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยของรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงครามในขณะนั้น[3][6]

 
กลไกการทำงานของสะพานเทพหัสดินเดิม (พ.ศ. 2494) และสะพานเทพหัสดินที่สร้างใหม่สะพานที่ 1 (พ.ศ. 2512)

หลังจากเปิดใช้งานมาได้ระยะหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนการสร้างสะพานที่สูงมากในขณะนั้น จึงมีการตั้งด่านเก็บค่าผ่านทางเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานสะพานเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2498 และยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อปี พ.ศ. 2504 หลังจากคุ้มค่ากับงบประมาณค่าก่อสร้างแล้ว[3][7]

ปัจจุบันตัวสะพานเทพหัสดินเดิมถูกใช้งานเป็นท่าเรือในการขึ้นลงเรือของชาวประมง และผู้ที่ชื่นชอบการตกปลามักจะมาใช้ตัวสะพานที่เหลือดังกล่าวในการตกปลา ตัวโครงสร้างนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลท่าข้าม ซึ่งจากอายุการใช้งานที่ยาวนานจึงมีการทรุดตัว อาจมีการพิจารณางดใช้งานและรื้อถอน เนื่องจากในอนาคตกระทรวงคมนาคมมีโครงการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงอีกเส้นทางในบริเวณดังกล่าว[8]

สะพานสร้างใหม่ แก้

หลังจากสร้างสะพานเทพหัสดินเดิมไประยะหนึ่ง ได้มีการสร้างสะพานขึ้นมาคู่ขนานกับสะพานเทพหัสดินเดิม[4] เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งสะพานเดิมชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถใช้งานได้ จึงได้นำชื่อมาใช้กับสะพานที่ก่อสร้างขึ้นมาใช้งานในภายหลัง ประกอบไปด้วย

  • สะพานที่ 1 ขาออกมุ่งหน้าชลบุรี ช่องทางหลัก 2 ช่องจราจร เดิมสามารถหมุนแกนเปิดให้เรือแล่นผ่านได้ (Swing bridge) แบบเดียวกับสะพานดั้งเดิม ประกอบทางหลวงสายกรุงเทพฯ - ศรีราชา (บางนา - ตราด ปัจจุบัน) สร้างขึ้นมาข้างสะพานเทพหัสดินเดิม มีความยาว 417 เมตร โดยตรงกลางของสะพานสามารถหมุนเพื่อเปิดให้เรือใหญ่สามารถแล่นผ่านสะพานได้ เปิดใช้งานเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2512[4] หลังการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของทางหลวงสายกรุงเทพฯ - ศรีราชาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2512[3]
  • สะพานที่ 2 ขาเข้ามุ่งหน้ากรุงเทพฯ ช่องทางคู่ขนาน 2 ช่องจราจร เดิมสามารถเปิดให้เรือแล่นผ่านได้ คาดว่าสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 253X
  • สะพานที่ 3 ขาออกมุ่งหน้าชลบุรี ช่องทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจร มีข้อความระบุไว้บนราวสาะพานว่า 1 เมษายน พ.ศ. 2539
  • สะพานที่ 4 ขาเข้ามุ่งหน้ากรุงเทพฯ ช่องทางหลัก 3 ช่องจราจร สร้างขึ้นพร้อมกับทางพิเศษบูรพาวิถีในช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ. 2542 - 2543 ดังที่ปรากฎในภาพระหว่างการก่อสร้างช่วงดังกล่าว ยังมีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงเพียง 3 สะพาน[9] โดยตัวสะพานอยู่ในช่วงที่ 7 บางปะกง - ชลบุรี ของทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543[10]

ปัจจุบัน แก้

ในปัจจุบัน สะพานเทพหัสดินนั้นเป็นสะพานสำหรับถนนเทพรัตน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34) โครงสร้างปัจจุบันถูกปรับปรุงให้ไม่สามารถหมุนเปิดให้เรือผ่านได้แล้ว โดยเป็นสะพานในรูปแบบของคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัวไอ (I Girder)[11] รองรับช่องทางจราจรจำนวน 10 ช่องจราจร จากทั้ง 4 สะพาน ขนาบกันไป แบ่งเป็น

  • ขาออกมุ่งหน้าชลบุรี
    • ช่องทางหลัก 2 ช่องจราจร
    • ช่องทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจร
  • ขาเขามุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร
    • ช่องทางหลัก 3 ช่องจราจร
    • ช่องทางคู่ขนาน 2 ช่องจราจร

โดยมีทางพิเศษบูรพาวิถีซ้อนอยู่ด้านบนบริเวณเกาะกลางถนน

การสัญจรทางน้ำนั้น ปัจจุบันสะพานที่ 1 และ 2 ไม่สามารถหมุนเปิดให้เรือผ่านได้แล้ว แต่ยังคงมีการสัญจรทางน้ำผ่านใต้สะพานอยู่ในช่วงเวลาน้ำลงโดยเรือโป๊ะลำเลียงสินค้า เพื่อเข้าไปรับส่งสินค้าระหว่างอ่าวกรุงเทพและท่าเรือบ้านโพธิ์[1] ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นท่าเรือของเอกชน[12]

โทรมาตร แก้

สะพานเทพหัสดิน มีการติดตั้งระบบโทรมาตรโดยกรมชลประทาน ชื่อว่า สถานีโทรมาตรพานทอง[13] ซึ่งเป็นหนึ่งในโทรมาตรของลุ่มน้ำบางปะกง สามารถตรวจวัดระดับน้ำ ค่าความเค็ม[14] ค่าออกซิเจน ค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่า ORP ได้[15] เป็นการติดตั้งเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อใช้เตือนภัยและใช้พยากรณ์น้ำในลุ่มน้ำบางปะกง[13]

ความเชื่อ แก้

สะพานเทพหัสดิน ถูกพูดถึงในอีกแง่มุมว่าเป็นสะพานที่มีอาถรรพ เนื่องจากมีคนมักจะมากระโดดสะพานเพื่อฆ่าตัวตายลงไปในแม่น้ำบางปะกง โดยหลายคนทั้งผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ผู้ถูกช่วยเหลือ และผู้รอดชีวิตจากการกระโดดสะพานเล่าตรงกันว่าพบเห็นหญิงสาว บ้างบอกว่าชุดสีแดง[16][17] บ้างบอกว่าชุดสีขาว[18] นั่งอยู่บนราวสะพาน หรือยืนอยู่บริเวณสะพาน และกวักมือเรียกให้ตนตามไป ก่อนจะมีพลเมืองดีมาช่วยเหลือหรือรู้สึกตัวเมื่อจมลงไปในแม่น้ำแล้ว[18] ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครกู้ภัยระบุว่าบริเวณสะพานดังกล่าวมีผู้มาฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง[18][19] จนกระทั่งมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีต่าง ๆ ตามความเชื่อ[20]

นอกจากนี้ยังมีการนำประเด็นความเชื่อดังกล่าวไปพูดคุยในรายการโหนกระแส ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และเชิญพระสงฆ์ คนในพื้นที่และอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่เข้ามาร่วมพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว[21]

ในขณะเดียวกันได้มีผู้ที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณสะพานเทพหัสดินได้ออกมาโต้แย้งถึงความเชื่อดังกล่าว ว่าตนอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมาเกือบ 24 ปี ไม่เคยพบเห็นเหตุการณ์อย่างที่มีการบอกเล่า รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่มาอยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงและใต้สะพาน รวมถึงตำนานต่าง ๆ ทั้งผีชุดแดง และการให้ผีมาช่วยสร้างสะพานในสงครามโลกครั้งที่ 2[22] ซึ่งสะพานสร้างขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามหลายปีแล้ว โดยผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงและชอบมาตกปลาอยู่เป็นประจำบนสะพานก็ได้ให้ความเห็นว่าตนตกปลาอยู่บริเวณนี้มา 30 ปี อาจจะมีคนมาคิดฆ่าตัวตายที่นี่บ่อยก็จริง แต่ไม่เคยประสบหรือพบเรื่องราวลี้ลับตามที่มีการบอกเล่ากันเลยสักครั้ง[23]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "เรือโป๊ะชนเสาตอม่อหวั่นกระทบโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง". สำนักข่าวไทย อสมท (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-05-11.
  2. เสมียนนารี (2022-09-21). "ที่มาถนนสุขุมวิท ทางหลวงสำคัญสู่ภาคตะวันออก ที่จอมพล ป.ใช้หนีการรัฐประหาร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 2023-02-16.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "เรื่องเล่าสะพานเทพหัสดิน ถนนบางนา-ตราด และถนนเทพรัตน". mgronline.com. 2021-12-20.
  4. 4.0 4.1 4.2 กรมประชาสัมพันธ์. (2513). เหตุการณ์สำคัญ Thailand Illustrated[ลิงก์เสีย], (172), 20
  5. กรมทางหลวง. (2552). วารสารทางหลวง, 46(1),
  6. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่. เล่มที่ 67 ตอน 67 ง, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493
  7. "เปิดตำนาน "ถนนสายเอเชีย" บางปะอิน-นครสวรรค์ ยุคที่เก็บค่าผ่านทางด่านละ 3 บาท". mgronline.com. 2017-10-29.
  8. "กำนัน ต.ท่าข้าม บางปะกง เตือน "สะพานเทพหัสดิน" ทรุดตัว". สยามรัฐ. 2022-03-12.
  9. "Bilfinger Berger - Der Bang Na Expressway (1999)". Baumaschinen & Bau Forum - Bauforum24 (ภาษาเยอรมัน).
  10. ทางพิเศษบูรพาวิถี – การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (exat.co.th)
  11. บัญชีสะพานในระบบบบริหารงานบำรุงสะพาน bmms เก็บถาวร 2023-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (doh.go.th)
  12. "ศาลปกครองชี้ใบอนุญาตท่าเรือบ้านโพธิ์ชอบด้วยกฎหมาย ยกฟ้องกลุ่มปกป้องแม่น้ำบางประกง". prachatai.com.
  13. 13.0 13.1 "โครงการศึกษาวางระบบและติดตั้งระบบโทรมาตร เพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำบางปะกง". progress.co.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. ธรรมนูญ รัศมีมาสเมือง และคณะ. (2565). การศึกษาภาคสนามลักษณะรูปแบบของการรุกของน้ำเค็มเข้ามาสู่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง วิศวกรรมสารฉบับวิจัยและพัฒนา, 33(2), 9-24
  15. "สถานการณ์น้ำจากโทรมาตรลุ่มน้ำบางปะกง (ราย15นาที)". tiwrm.hii.or.th.
  16. "หนุ่มโรงงานเมา จะโดดสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง อ้างผีชุดแดงเรียกให้ช่วย". www.thairath.co.th. 2019-07-27.
  17. "หนุ่มคลั่ง หลอนผีสาวชุดแดง ทำครอบครัวแตกแยก ตร.จับเป่าพบเมาเกินลิมิต". www.thairath.co.th. 2019-08-30.
  18. 18.0 18.1 18.2 "เฮี้ยนจริง ตัวตายตัวแทน! สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง มีคดีคนคิดสั้นโดดเพียบ". www.thairath.co.th. 2018-03-03.
  19. "หนุ่มโรงงานหนี้พนันท่วม โดดสะพานบางปะกง ไม่ต้องงมรอศพลอย เดือนเดียวเป็นรายที่ 3". www.thairath.co.th. 2022-11-30.
  20. "คนเจอถี่! นิมนต์พระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณที่สะพานบางปะกง". www.thairath.co.th. 2018-06-24.
  21. 7 (2019-08-28). "ตำนาน อาถรรพ์สะพานบางปะกง นับร้อยชีวิตดับ ครูบาลั่น จะไม่มีตัวตายตัวแทนอีก". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  22. ""เรนนี่" โป๊ะแตก! อ้างผีทหารโผล่สะพานบางปะกง ชาวบ้านโวยสร้างหลังสงครามจบ (คลิป)". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2021-02-16.
  23. "ไม่มีผีที่สะพานบางปะกง ความเชื่อที่หลงผิดตามแรงปั่นของนักสร้างกระแส - 77 ข่าวเด็ด". 2021-02-17.
สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานทางหลวงพิเศษหมายเลข 7
 
สะพานเทพหัสดิน
 
ท้ายน้ำ
อ่าวกรุงเทพ