สนามกีฬาชังลิมิทัง

สนามกีฬาชังลิมิทัง (อังกฤษ: Changlimithang Stadium) เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ในกรุงทิมพู ประเทศภูฏาน และสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศภูฏาน สนามกีฬาแห่งนี้เป็นสนามเหย้าของฟุตบอลทีมชาติภูฏานและสโมสรฟุตบอลอีกหลายสโมสรในกรุงทิมพู นอกจากนี้ยังใช้แข่งขันยิงธนูและวอลเลย์บอลด้วย สนามแห่งนี้สร้างเมื่อ ค.ศ. 1974 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่สี่แห่งราชอาณาจักรภูฏาน และปรับปรุงใหม่ใน ค.ศ. 2007 สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ห้า หลังจากนั้นใน ค.ศ. 2009 ได้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่ม[1] และใน ค.ศ. 2012 สนามนี้ได้เปลี่ยนมาใช้พื้นหญ้าเทียมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับลีกระดับสูงสุดใหม่[2]

สนามกีฬาชังลิมิทัง
ที่ตั้งทิมพู ประเทศภูฏาน
พิกัด27°28′17.1″N 89°38′27.8″E / 27.471417°N 89.641056°E / 27.471417; 89.641056พิกัดภูมิศาสตร์: 27°28′17.1″N 89°38′27.8″E / 27.471417°N 89.641056°E / 27.471417; 89.641056
เจ้าของคณะกรรมการโอลิมปิกภูฏาน
ผู้ดำเนินการสหพันธ์ฟุตบอลภูฏาน (BFF)
ความจุ45,000
ขนาดสนาม122 × 76 หลา
(102.4 × 69.4 เมตร)
รูปร่างสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า
พื้นผิวหญ้าเทียม
ป้ายแสดงคะแนนมี
การก่อสร้าง
ลงเสาเข็ม1974
เปิดใช้สนาม1974
ปรับปรุง2007–2019
การใช้งาน
ภูฏานพรีเมียร์ลีก (สโมสรจากทิมพู)
ภูฏานซูเปอร์ลีก (บางนัด)
ภูฏานดิสตริกต์ลีก
ฟุตบอลชิงถ้วยพระบรมราชานุสรณ์
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จี วังชุก
(บางนัด)
ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์แห่งชาติภูฏาน (บางนัด)
วีเมนส์ทิมพูลีก
ฟุตบอลทีมชาติภูฏาน
ฟุตบอลหญิงทีมชาติภูฏาน
สโมสรเยาวชนในประเทศภูฏาน

สนามกีฬาชังลิมิทังตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,300 เมตร (7,500 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นสนามที่อยู่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้เป็นที่ถกเถียงว่าสนามกีฬาแห่งนี้อาจจะทำให้สโมสรเหย้าได้เปรียบเนื่องจากคุ้นเคยกับระดับความสูงและสภาพบรรยากาศออกซิเจนต่ำมากกว่า

สนามกีฬาชังลิมิทังแห่งเดิม (ค.ศ. 1974 – 2008) แก้

 
สนามกีฬาชังลิมิทังในภาพยนตร์สารคดีดิอาเทอร์ไฟนอล ค.ศ. 2002 ซึ่งบันทึกการแข่งขันระหว่างทีมชาติภูฏานและทีมชาติมอนต์เซอร์รัต

สนามกีฬาชังลิมิทังตั้งอยู่บนพื้นที่สมรภูมิสำคัญในประวัติศาสตร์ภูฏานเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีอุกเยน วังชุกทรงนำทัพต่อสู้ในสงครามกลางเมืองและรวบรวมชาติภูฏานเป็นผลสำเร็จใน ค.ศ. 1885[3][4] สนามแห่งเดิมก่อสร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1974 ซึ่งเสร็จทันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก โดยในขณะนั้นสนามมีพื้นที่ประมาณ 11 เฮกตาร์ (110,000 ตารางเมตร) และรองรับผู้เข้าชมได้ประมาณ 10,000 คน[4] สนามกีฬาแห่งนี้ใช้เป็นสนามเหย้าของฟุตบอลทีมชาติภูฏาน ใช้จัดการแข่งขันยิงธนูระดับประเทศ มีสนามแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ได้แก่เทนนิส สควอช และบิลเลียดเปิดให้บริการ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกภูฏาน[4]

สนามกีฬาชังลิมิทังปัจจุบัน แก้

 
การแข่งขันกีฬายิงธนูที่สนามกีฬาชังลิมิทัง

สนามกีฬาชังลิมิทังปิดปรับปรุงและเปิดให้บริการอีกครั้งใน ค.ศ. 2008 สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระราชพิธีสมโภช 100 ปี ราชวงศ์วังชุกและการรวมชาติภูฏาน[5] อัฒจันทร์เดิมซึ่งมีที่นั่ง 6 แถวและมีความจุประมาณ 10,000 คนถูกรื้อออก และแทนที่โดยอัฒจันทร์ใหม่จำนวน 21 แถว[5] นอกจากนี้ยังมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่นสนามแข่งขันเทเบิลเทนนิสและยิงปืน สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกภูฏานแห่งใหม่ มีการขยายพระตำหนักให้รองรับพระอาคันตุกะจำนวนมากขึ้น และสวนสาธารณะใหม่อีกสองแห่ง[5] ประมาณการว่างบประมาณทั้งหมดในการปรับปรุงสนามกีฬาแห่งชาติมีมูลค่าประมาณ 230,000,000 งุลตรัม[3] เจ้าชายจิกเยล อุกเยน วังชุกเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการ[3]

อ้างอิง แก้

  1. "Floodlighting at Changlimithang". drukgreen.bt. Druk Green. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-08. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.
  2. Yeshey, Lobzang (9 March 2012). "FIFA to help Bhutan's football". bhutanobserver.bt. Bhutan Observer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Historic Changlimithang stadium inaugurated". bbs.com.bt. Bhutan Broadcasting Service. 13 October 2011. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 "K2: Changlingmethang ground". kuenselonline.com. Kuensel Online. 9 June 2008. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 5.2 Dorji, Kinley (2006). "Thimphu: A face-lift for Changlingmethang". raonline.com. RA Online / Kuensel. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.