สงครามบาร์บารีครั้งที่หนึ่ง
สงครามบาร์บารีครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1801-1805) หรือสงครามชายฝั่งบาร์บารี หรือสงครามทริโปลีตัน คือสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกา (และกองเรือสวีเดนที่เข้ามาร่วมด้วยในระยะเวลาหนึ่ง) กับกลุ่มรัฐทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นที่รู้จักในนามว่า กลุ่มรัฐบาร์บารี ซึ่งประกอบด้วยรัฐสุลต่านโมร็อกโคและดินแดนอัลเจียร์ส, ตูนิสและทริโปลีที่มีผู้แทนจากจักรวรรดิออตโตมานเป็นผู้สำเร็จราชการในนาม แต่มีสถานะเป็นรัฐเอกราชโดยพฤตินัย
สงครามบาร์บารี | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
เรือฟรีเกตฟิลาเดลเฟียถูกวางเพลิง ที่ท่าเรือในทริโปลี | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
สหรัฐอเมริกา สวีเดน (จนถึง ค.ศ. 1802) ราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง | กลุ่มรัฐบาร์บารี (รัฐใต้อาณัติของจักรวรรดิออตโตมาน) | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ริชาร์ด เดล วิลเลียม อีตัน เอ็ดเวิร์ด พรีเบิล รูดอล์ฟ ซีเดอร์สตรอม | ยูซุฟ คารามันลี | ||||||
กำลัง | |||||||
สหรัฐอเมริกา เรือรบ 7 ลำ นาวิกโยธินสหรัฐฯ 7 นาย ทหารรับจ้างชาวกรีกและชาวอาหรับประมาณ 500 นาย สวีเดน เรือฟรีเกต 3 ลำ | โจรสลัด 4,000 นาย | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
สหรัฐอเมริกา เสียชีวิต 35 นาย บาดเจ็บ 64 นาย ไม่ทราบจำนวนทหารรับจ้างที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต | เสียชีวิต 800 นาย บาดเจ็บ 1,200 นาย |
สงครามมีสาเหตุมาจากการที่โจรสลัดบาร์บารีโจมตีเรือพาณิชย์อเมริกัน เพื่อจับลูกเรือมาเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ และเรียกร้องบรรณาการเป็นค่าคุ้มครองไม่ให้เกิดการโจมตีขึ้นอีก ไม่ต่างจากที่ปฏิบัติต่อเรือพาณิชย์ของชาติยุโรปอื่นๆ[1]
ภูมิหลังและภาพรวมของสงคราม
แก้อัลเจียร์ส, ตูนิสและทริโปลีถือเป็นรัฐมุสลิมที่เป็นเอกราชมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แม้ว่าจะต้องอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิออตโตมานก็ตาม ส่วนสุลต่านของโมร็อกโคซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลมาตั้งแต่ ค.ศ. 1666 เป็นที่รู้กันดีว่า พระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนโจรสลัดอย่างเปิดเผย แต่เมื่อลงนามและยอมรับในสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาแล้วใน ค.ศ. 1777 ก็ไม่เคยทำการล่วงละเมิดเรือของอเมริกาแต่อย่างใด โมร็อกโคนั้นไม่ได้เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามบาร์บารีเฉกเช่นรัฐอื่นๆ ในแอฟริกาเหนือ
แม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น แต่ทั้งคู่ได้ทำการตกลงร่วมไว้โดยมีแนวคิดและนโยบายที่ตรงกันในการจัดการกับโจรสลัด โดยรวมพลกำลังด้านการทหาร, การทูตและกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายให้กับโจรสลัดเป็นค่าคุ้มครอง ทำให้เรือภายใต้ธงชาติสหราชอาณาจักรและธงไตรรงค์ฝรั่งเศสปลอดภัยกว่าเรือของชาติอื่นๆ ไม่มากก็น้อย ขณะที่อเมริกายังมีสถานะเป็นอาณานิคมภายใต้อาณัติของสหราชอาณาจักรอยู่นั้น เรือพาณิชย์สมุทรของอเมริกายังคงได้รับการอารักขาจากกองทัพเรืออังกฤษ และในระหว่างการปฏิวัติอเมริกา ก็ยังมีกองเรือฝรั่งเศสคุ้มครองเรือของอเมริกา เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญาพันธมิตรไว้ในปี ค.ศ. 1778
แต่เมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1783 สหรัฐอเมริกาจำต้องแบกรับความรับผิดชอบในสวัสดิภาพของพลเรือนของตนแต่เพียงผู้เดียว และในเมื่อสหรัฐฯ เองยังไม่ได้ก่อตั้งกองทัพเรือขึ้นมา จึงไม่มีกองเรือที่จะปกป้องเรือพาณิชย์ของตนเองในน่านน้ำเมดิเตอร์เรเนียน นำไปสู่การยึดเรือพาณิชย์อเมริกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สงครามปฏิวัติสิ้นสุดลง เมื่อโจรสลัดชาวโมร็อกโคยึดเรือใบสองเสากระโดงเบ็ตซี ในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1784[2] เหตุการณ์ถูกโจรสลัดปล้นเป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ จบลงด้วยดีเมื่อรัฐบาลสเปนดำเนินการเจรจากับโจรสลัด ทำให้ทั้งลูกเรือและเรือถูกปล่อยให้เป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม สเปนแนะให้สหรัฐฯ เสนอบรรณาการให้กับโจรสลัดเพื่อป้องกันการโจมตีเรือพาณิชย์ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงเป็นประเทศเกิดใหม่จึงต้องยอมประนีประนอมให้กับโจรสลัด โดยในปี ค.ศ. 1784 รัฐสภาอเมริกันได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นบรรณาการให้กับโจรสลัดบาร์บารี และออกคำสั่งให้เอกอัคราชทูตประจำประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส (ได้แก่นายจอห์น แอดัมส์และนายทอมัส เจฟเฟอร์สันตามลำดับ) หาโอกาสในการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับชนชาติบาร์บารี นายโทมัส เจฟเฟอร์สันเห็นโอกาสสมควร จึงส่งผู้แทนทูตไปยังโมร็อกโคและอัลจีเรีย เพื่อใช้เงินโน้มน้าวให้ชนชาติบาร์บารียอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ และปลดปล่อยกะลาสีที่ถูกคุมขังอยู่ในอัลจีเรีย[3] สหรัฐฯ ตกลงทำสนธิสัญญากับโมร็อกโคเป็นชาติแรก โดยลงนามในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1786 สนธิสัญญาประกอบไปด้วยข้อตกลงยุติการโจมตีของโจรสลัดต่อผลประโยชน์ทางพาณิชย์สมุทรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในมาตราที่ 6 ของสนธิสัญญาซึ่งระบุไว้ว่า "ชาวอเมริกันผู้ใดที่ถูกจับกุมตัวโดยชาวโมร็อกโคหรือโดยชาติบาร์บารีอื่นใดที่มีเรือเทียบท่าอยู่ในเมืองของโมร็อกโค ชาวอเมริกันผู้นั้นจะต้องถูกปล่อยตัวและอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลโมร็อกโค"[4]
ในขณะเดียวกัน การเจรจาทางการทูตกับอัลจีเรีย และชนชาติบาร์บารีอื่นๆ นั้นไม่ราบรื่นนัก อัลจีเรียเริ่มปฏิบัติการโจรสลัดกับสหรัฐฯ ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1785 ด้วยการยึดเรือใบมาเรีย และอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา ก็ยึดเรือดูฟอง ไว้เช่นกัน[5] เงินที่ทางชนชาติบาร์บารีเรียกร้องเพื่อที่จะทำสนธิสัญญาสันติภาพนั้น โดยชนชาติทั้งสี่เรียกร้องเงินทั้งหมด $660,000 ซึ่งเกินงบประมาณ $40,000 ที่ทางรัฐสภาอนุมัติอยู่มากทีเดียว[6] การเจรจาทางการทูตคืบหน้าไปเพียงเล็กน้อย ในเรื่องของการตกลงค่าไถ่ของเชลยและตั้งเงินบรรณาการที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ทำให้ลูกเรือของเรือทั้งสองลำต้องตกเป็นเชลยกว่าสิบปี จำนวนเชลยอเมริกันนั้นเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อโจรสลัดบาร์บารีได้ยึดเรือพาณิชย์อเมริกันลำอื่นๆ[7] ในปี 1795 อัลจีเรียจึงสามารถตกลงกับสหรัฐฯ ที่จะปล่อยตัวกะลาสีจำนวน 115 นายที่ควบคุมตัวอยู่ เพื่อแลกกับเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับกว่าหนึ่งในหกของงบประมาณประจำปีของสหรัฐฯ ในเวลานั้น[8] ซึ่งอัลจีเรียถือเป็นบรรณาการรับรองมิให้โจรสลัดบาร์บารีโจมตีเรือพาณิชย์อเมริกัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวนำไปสู่การก่อตั้งกรมทหารเรือสหรัฐอเมริกาในปี 1798[9] โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีโดยโจรสลัดต่อกิจการพาณิชย์สมุทรของสหรัฐฯ และเพื่อยุติการจ่ายบรรณาการที่แพงลิ่วให้กับรัฐบาร์บารี
จดหมายและคำให้การจำนวนมากจากกะลาสีที่ถูกจับเป็นเชลยระบุว่าสภาพการเป็นเชลยของพวกเขานั้น คล้ายกับการเป็นทาส แม้ว่าลักษณะการจองจำนักโทษของรัฐบาร์บารีจะแตกต่างจากการปฏิบัติต่อทาสในสหรัฐฯ และมหาอำนาจยุโรปก็ตาม นักโทษในรัฐบาร์บารีสามารถครอบครองทรัพย์และถือครองสมบัติได้ และยังสามารถเพิ่มสถานะของตนเองให้เป็นได้มากกว่าทาสได้อีกด้วย อย่างเช่นนายเจมส์ ลีแอนเดอร์ แคธคาร์ท ที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสูงสุดที่ทาสชาวคริสเตียนสามารถเป็นได้ในอัลจีเรีย คือการเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์หรือ เดย์แห่งอัลจีเรีย[10] ถึงกระนั้น เชลยส่วนใหญ่จะถูกบังคับทำงานอย่างหนักเพื่อรับใช้โจรสลัดบาร์บารี และมักจะต้องดิ้นรน ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ สุ่มเสี่ยงต่อภัยจากสัตว์อันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อข่าวเกี่ยวกับสภาพของเชลยไปถึงแผ่นดินสหรัฐฯ ผ่านจดหมายและคำบอกเล่าของเชลยที่ถูกปล่อยตัว พลเมืองอเมริกันจึงเริ่มที่จะผลักดันให้รัฐบาลจัดการกับเรื่องนี้โดยตรง เพื่อยุติการโจมตีเรือพาณิชย์อเมริกันของโจรสลัดบาร์บารี
ทอมัส เจฟเฟอร์สันและจอห์น แอดัมส์เดินทางไปเจรกับเอกอัครราชทูตซีดิ ฮาจิ อับดรามาห์น (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "ซีดิ ฮาจิ อับดุล ราห์มาน อัดจา) ผู้แทนจากทริโปลี ณ กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1786 เมื่อสอบถามผู้แทนจากทริโปลีว่าเหตุใดจึงต้องสร้างเงื่อนไขในการทำสงครามกับชาติที่ไม่เคยมุ่งปองร้ายต่อกันมาก่อน ท่านทูตจึงตอบว่า
มีการระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า ทุกชนชาติที่ไม่ยอมรับในองค์พระศาสนทูตถือว่าเป็นคนบาป ซึ่งเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมและเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาที่จะทำการปล้นและทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นทาส และชาวมุสลิมทุกคนที่ถูกสังหารไปในการรบครั้งนี้ย่อมไปสู่สรวงสวรรค์อย่างแน่แท้ เขายังกล่าวอีกว่าชายที่สามารถขึ้นไปบนเรือที่พวกของตนปล้นเป็นคนแรกนั้น จะมีสิทธิ์ในการจับเชลยมาเป็นทาสได้มากกว่าคนอื่นๆ และเมื่อพวกเขาขึ้นไปยังดาดฟ้าเรือของศัตรู กะลาสีทุกคนล้วนถือดาบสั้นไว้ในมือทั้งสองมือ ทั้งยังคาบดาบอีกเล่มไว้ในปากอีกด้วย ซึ่งทำให้พวกเขาตระหนกตกใจเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ต้องร้องขอการเจรจาอยู่เสียทุกครั้งไป
เจฟเฟอร์สันรายงานการสนทนานี้ให้กับจอห์น เจย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รายงานความเห็นนี้ไปยังรัฐสภาอีกที เจฟเฟอร์สันออกความเห็นว่าการออกบรรณาการให้กับโจรสลัดเหล่านี้จะสนับสนุนให้ชนชาติบาร์บารีเหิมเกริมและโจมตีกองเรือสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ในขณะที่นายจอห์น แอดัมส์เห็นด้วยกับคำกล่าวของเจฟเฟอร์สัน เขาเชื่อว่าด้วยสภาวการณ์ของสหรัฐฯ ในเวลานั้น จำต้องออกบรรณาการให้กับโจรสลัดจนกว่ากองทัพเรือที่มีกำลังเพียงพอจะถูกก่อตั้งขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ เพิ่งเสร็จจากสงครามที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในหนี้สินจำนวนมาก พรรคเฟเดอราลิสโต้เถียงกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะตั้งกองทัพเรือขึ้นมาเมื่อคำนึงถึงความต้องการรายได้ของประเทศเปรียบเทียบกับภาระของการจ่ายภาษีเพื่อสมทบเป็นบรรณาการให้กับโจรสลัด ในขณะที่พรรคเดโมแครต-ริพับลิกันของเจฟเฟอร์สันเอง และพวกที่ต่อต้านการเดินสมุทรต่างเชื่อว่าอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับการขยายอาณาเขตไปยังทิศตะวันตก มากกว่าการค้าขายในน่านน้ำแอตแลนติกที่ทำให้สูญเสียทั้งกำลังทรัพย์และกำลังคนไปกับการทำสงครามในโลกเก่าที่อยู่ไกลโพ้น[12] สหรัฐอเมริกาจึงยินยอมจ่ายค่าไถ่ตัวประกันให้กับอัลเจียร์ส และยังยินยอมที่จะจ่ายเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่องวดเป็นเวลา 15 ปี เพื่อแลกกับการเดินทางโดยสวัสดิภาพของเรืออเมริกัน โดยการออกเงินค่าไถ่และบรรณาการให้กับรัฐดังกล่าวกินเงินรายได้ต่อปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ใน ค.ศ. 1800 ถึง 20% เลยทีเดียว
เจฟเฟอร์สันยังคงประท้วงให้หยุดการออกบรรณาการต่อไป ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ จากจอร์จ วอชิงตัน และคนอื่นๆ หลังจากที่กองทัพเรือที่สหรัฐฯ ถูกตั้งขึ้นมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1794 เป็นผลให้สหรัฐฯ มีอำนาจทางทะเลมากขึ้น และทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจที่จะปฏิเสธการออกบรรณาการมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การยินยอมประนีประนอมกับรัฐที่ให้การสนับสนุนโจรสลัดได้กลายเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงยากไปเสียแล้ว
การประกาศสงครามและการปิดล้อมท่าเรือ
แก้เมื่อเจฟเฟอร์สันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1801 ยุสซิฟ คารามันลี ปาชา (บรรดาศักดิ์เทียบเท่าลอร์ดแห่งขุนนางอังกฤษ) แห่งทริโปลีได้ทำการเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ออกบรรณาการให้กับรัฐทริโปลีเป็นเงิน 225,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ในเวลานั้น รายได้ต่อปีของรัฐบาลกลางอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านเหรียญเท่านั้น) แต่ในเมื่อเจฟเฟอร์สันไม่เห็นด้วยกับการออกบรรณาการมาตั้งแต่แรก จึงปฏิเสธข้อเรียกร้องไป ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1801 ปาชาจึงประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา โดยมิได้ใช้เอกสารในการประกาศถ้อยแถลง หากแต่ได้ทำการตัดเสาธงหน้าสถานกงสุลแห่งสหรัฐอเมริกาลงมา ในเวลาต่อมาไม่นาน อัลเจียร์และตูนิสก็เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทริโปลีด้วย
เพื่อเป็นการตอบโต้ เจฟเฟอร์สันจึงส่งกองเรือฟรีเกตไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน และได้แจ้งให้รัฐสภาทราบ แม้ว่าทางรัฐสภาจะไม่เคยลงคะแนนให้ทำการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ได้อนุญาตให้ประธานาธิบดีมีสิทธิ์สั่งผู้บัญชาการกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ยึดเรือและสินค้าทั้งหมดที่เป็นของปาชาแห่งทริโปลี และยังอนุญาตให้กระทำการใดๆ เพื่อทำการระวังภัย หรือทำอันตรายต่อศัตรู ตราบเท่าที่ทำได้ในสภาวะสงคราม
เรือใบรบ ยูเอสเอส เอ็นเทอร์ไพร์ซ สามารถเอาชนะเรือโจรสลัด ทริโปลี ได้ในยุทธนาวีอันดุเดือด แต่ก็ค่อนข้างเด็ดขาดในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1801 หลังจากนั้นกองทัพเรืออเมริกันก็สามารถครองน่านน้ำในบริเวณนั้นโดยไม่มีผู้ต่อกรใดๆ แต่เมื่อยังไม่มีข้อสรุปใดๆ สำหรับสงคราม เจฟเฟอร์สันจึงได้สั่งให้เพิ่มกำลังพล และส่งเรือรบที่ดีที่สุดเข้าไปประจำการในภูมิภาคตลอดปี ค.ศ. 1802 เรือรบ ยูเอสเอส อาร์กัส, ยูเอสเอส เชสพีค, ยูเอสเอส คอนสเตลเลชั่น, ยูเอสเอส คอนสติติวชั่น, ยูเอสเอส เอ็นเทอร์ไพร์ซ, ยูเอสเอส อินเทรพิด, ยูเอสเอส ฟิลาเดลเฟีย และยูเอสเอส ไซเรน ล้วนทำหน้าที่ในสงครามนี้โดยได้รับการบังคับบัญชาจากนาวาเอกพิเศษเอ็ดเวิร์ด พรีเบิล โดยตลอดปี ค.ศ. 1803 พรีเบิลได้สั่งให้ทำการปิดล้อมท่าเรือของรัฐบาร์บารี และปฏิบัติภารกิจโจมตีกองเรือรบที่ป้องกันเมืองอยู่
การรบ
แก้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1803 กองเรือของทริโปลีสามารถยึดเรือรบ ยูเอสเอส ฟิลาเดลเฟีย ไว้ได้เมื่อเรือเกยตื้นขณะที่กำลังลาดตะเวนอยู่บริเวณท่าเรือในเมืองของทริโปลี ความพยายามที่จะช่วยเรือออกมาของกองกำลังอเมริกันล้มเหลว หลังจากที่ถูกระดมยิงจากกองปืนใหญ่บนฝั่ง และกองเรือของทริโปลี นอกจากเรือที่ถูกยึดแล้ว กัปตันเรือ วิลเลียม เบนบริดจ์ รวมทั้งนายทหารและลูกเรือทั้งหมดยังถูกจับเป็นตัวประกัน ส่วนเรือฟิลาเดลเฟียถูกทอดสมอเทียบท่า และปืนใหญ่ของเรือถูกใช้เพื่อโจมตีใส่พวกเดียวกันเอง
ในคืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1804 ร้อยโทสตีเฟ่น ดีคาเทอร์ จูเนียร์ได้นำหมู่นาวิกโยธินบุกยึดเรือใบเล็กของทริโปลี แล้วตั้งชื่อให้ใหม่เป็นเรือรบ ยูเอสเอส อินเทรพิด เพื่อลวงยามรักษาการณ์บนเรือฟิลาเดลเฟีย แล้วนำเรือเข้าไปเทียบเรือที่ถูกยึดไว้ จากนั้นคนของดีคาเทอร์ก็บุกขึ้นไปบนเรือ และเอาชนะกะลาสีทริโปลีตันที่กำลังรักษาการณ์อยู่ แล้วจึงจุดไฟเผาเรือฟิลาเดลเฟียโดยมีเรือรบอเมริกันคอยสนับสนุน ทำให้ศัตรูไม่สามารถนำเรือไปใช้ได้ และยังยกพลขึ้นบกเพื่อยึดเมืองของทริโปลีเอาไว้
ต่อมาพรีเบิลทำการโจมตีเมืองของทริโปลีอย่างเต็มตัว ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1804 และทำการรบที่ไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงครั้งหนึ่งที่กัปตันริชาร์ด ซอมเมอร์ส นำเรือเพลิง ยูเอสเอส อินเทรพิด ที่บรรทุกวัตถุระเบิดไว้เต็มลำ จะนำเรือเข้าไปในท่าเรือทริโปลีเพื่อทำลายตัวเองและกองเรือของศัตรู แต่ถูกปืนใหญ่ของศัตรูทำลายเสียก่อน ทำให้ทั้งซอมเมอร์และลูกเรือเสียชีวิต
จุดเปลี่ยนของสงครามคือยุทธการเดอร์นา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมในปี ค.ศ. 1805 พลเอกวิลเลียม อีตัน (ผู้เคยเป็นอดีตกงสุล) และร้อยโทเพรสลี โอแบนนอนแห่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ นำกองกำลังผสมซึ่งประกอบไปด้วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ 8 นาย และทหารรับจ้างชาวกรีก, อาหรับและเบอร์เบอร์จำนวน 500 นาย เดินทัพข้ามทะเลทรายไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์เพื่อยึดเมืองเดอร์นาของทริโปลี
สนธิสัญญาสันติภาพและผลลัพธ์ที่ตามมา
แก้ความกังวลของยุสซิฟ คารามันลีจากการปิดล้อมท่าเรือและการบุกปล้นเรือ อีกทั้งภัยคุกคามต่อตำแหน่งผู้ปกครองทริโปลีของตนเอง เมื่อสหรัฐฯ บุกประชิดเข้ามาเรื่อยๆ โดยมีแผนที่จะให้ฮาเม็ต คารามันลี พี่ชายที่ตัวเองปลดออกจากตำแหน่งผู้ปกครองแล้วเนรเทศออกไป เข้ามาแทนที่ ทำให้ยุสซิฟจำต้องยินยอมลงนามในสนธิสัญญายุติความเป็นศัตรูต่อกันในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1805 โดยถึงแม้ว่ารัฐสภาจะยังไม่เห็นชอบต่อสนธิสัญญาดังกล่าวจนกระทั่งปีต่อมา แต่ก็ทำให้สงครามบาร์บารีครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง
มาตราที่ 2 ของสนธิสัญญาระบุว่า:
ปาชาแห่งทริโปลีจะนำตัวประกันชาวอเมริกันออกมาจากทริโปลี รวมถึงทรัพย์สมบัติทุกอย่างคืนให้กับอเมริกา และราษฎรในปาชาแห่งทริโปลีที่อยู่ในอำนาจของสหรัฐอเมริกาจะถูกส่งคืนให้กับพระองค์ และในเมื่อปาชาแห่งทริโปลีครอบครองชาวอเมริกันจำนวนสามร้อยคน ในขณะที่อเมริกามีอำนาจในราษฎรทริโปลิโนประมาณหนึ่งร้อยคน ปาชาแห่งทริโปลีจึงต้องรับเงินจำนวนหกหมื่นดอลลาร์จากสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยผลต่างระหว่างจำนวนเชลยดดังที่ระบุไว้ข้างต้น
รัฐบาลของเจฟเฟอร์สันจึงจ่ายเงินจำนวน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไถ่ตัวเชลยชาวอเมริกัน โดยระบุถึงข้อแตกต่างระหว่างการออกบรรณาการและการจ่ายค่าไถ่ ในเวลานั้นส่วนหนึ่งเห็นว่าการไถ่ตัวกะลาสีอเมริกันออกจากการเป็นทาสเป็นการต่อรองที่ยุติธรรมดีแล้ว อย่างไรก็ตามวิลเลียม อีตันเห็นว่าความพยายามของเขาสูญเปล่า ภายใต้การเจรจาของโทไบอัส เลียร์ นักการทูตจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ทั้งนั้น อีตันยังเชื่อว่าศักดิ์ศรีของสหรัฐฯ นั้นเสียไปเมื่อรัฐบาลไม่รักษาสัญญาที่ให้กับฮาเม็ต คารามันลี ไว้ว่าจะคืนตำแหน่งผู้ปกครองทริโปลีให้ แต่ความไม่พอใจของอีตันไม่ได้รับการสนใจเมื่อความสนใจในเวลานั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังตึงเครียด และจะนำไปสู่สงครามปี 1812 ในที่สุด
สงครามบาร์บารีครั้งที่หนึ่งถือเป็นโอกาสให้สหรัฐอเมริกาได้แสดงศักยภาพทางทหารเป็นครั้งแรก เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอเมริกาสามารถทำสงครามไกลบ้านได้ และทำให้เห็นว่าทหารอเมริกันสามารถร่วมมือร่วมใจได้ในฐานะชาวอเมริกัน มิใช่ในฐานะชาวจอร์เจียหรือชาวนิวยอร์ก สงครามครั้งนี้ทำให้กองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐฯ กลายเป็นส่วนสำคัญในรัฐบาลอเมริกันและประวัติศาสตร์อเมริกันอย่างถาวร นอกจากนี้ดีคาเทอร์กลายเป็นวีรบุรุษสงครามคนแรกตั้งแต่สงครามปฏิวัติของชาวอเมริกันสิ้นสุดลง เมื่อเขาเดินทางกลับมายังประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1807 อัลเจียร์สกลับมายึดเรืออเมริกัน และยึดจับลูกเรือเป็นตัวประกันอีกครั้ง แต่เนื่องจากในขณะนั้นกำลังจะเกิดสงครามปี 1812 ขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถตอบโต้ได้จนกระทั่ง ค.ศ. 1815 ในสงครามบาร์บารีครั้งที่สอง
อ้างอิง
แก้- ↑ Rojas, Martha Elena. ""Insults Unpunished" Barbary Captives, American Slaves, and the Negotiation of Liberty." Early American Studies: An Interdisciplinary Journal. 1.2 (2003): 159–86.
- ↑ Battistini, Robert. "Glimpses of the Other before Orientalism: The Muslim World in Early American Periodicals, 1785–1800." Early American Studies: An Interdisciplinary Journal. 8.2 (2010): 446–74.
- ↑ Parton, James. "Jefferson, American Minister in France." Atlantic Monthly. 30.180 (1872): 405–24.
- ↑ Miller, Hunter. United States. Barbary Treaties 1786–1816: Treaty with Morocco June 28 and July 15, 1786. The Avalon Project, Yale Law School.
- ↑ Battistini, 450
- ↑ Parton, 413
- ↑ Rojas, 176
- ↑ Rojas, 165.
- ↑ Blum, Hester. "Pirated Tars, Piratical Texts Barbary Captivity and American Sea Narratives." Early American Studies: An Interdisciplinary Journal. 1.2 (2003): 133–58.
- ↑ Rojas, 163
- ↑ "American Peace Commissioners to John Jay," March 28, 1786, "Thomas Jefferson Papers," Series 1. General Correspondence. 1651-1827, Library of Congress. LoC: March 28, 1786 (handwritten).
^ Making of America Project; Philip Gengembre Hubert (1872). The Atlantic monthly. Atlantic Monthly Co.. p. 413 (typeset). - ↑ London 2005, pp. 40, 41 .