สงกรานต์ จิตสุทธิภากร

สงกรานต์ จิตสุทธิภากร (เกิด 13 เมษายน พ.ศ. 2506) เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[1]อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย

สงกรานต์ จิตสุทธิภากร
สงกรานต์ ใน พ.ศ. 2555
กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
เริ่มดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(0 ปี 201 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 เมษายน พ.ศ. 2506 (61 ปี)
อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2538–ปัจจุบัน)

ประวัติ

แก้

นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2506 ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นลูกชายคนที่หกของนายเดชชัยและนางโบ้ตัว จิตสุทธิภากร เจ้าของโรงหล่อเหล็กขนาดเล็ก ๆ ในตลาดปากน้ำโพ สำเร็จการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนลาซาลโชติรวี นครสวรรค์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเข้าเรียนที่คณะบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโทเลโด รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 2 ปี

การทำงาน

แก้

เมื่อศึกษาจบแล้ว นายสงกรานต์ได้ออกมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะไปศึกษาระดับปริญญาโท หลังจากกลับมาเมืองไทย จึงสอบคัดเลือกเข้าเป็นข้าราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคม ในตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ระดับ 4 ได้เพียงหนึ่งเดือนก่อนมีการรัฐประหารโดย รสช.ในปี พ.ศ. 2534 จึงถูกยืมตัวไปทำงานเป็นคณะทำงานของนายสาริน สกุลรัตนะ ซึ่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยที่นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน รับราชการอยู่ประมาณ 5 ปี ก่อนจะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวให้กับครอบครัว ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นผู้จัดการ บริษัท เดชชัยรับเบอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตลูกยางสีข้าว สำหรับใช้ในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศเกือบสิบประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้แปลหนังสือเล่มต่าง ๆ จากภาษาอังกฤษเป็นไทยอีกจำนวน 8 เล่ม ในช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2550 โดยเริ่มต้นจาก The 7 Habits of Highly Effective People หรือในชื่อภาษาไทยว่า 7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง จากการที่ส่วนตัวเป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะแนวบุคลิกบุคคล, การบริหาร หรือการพัฒนาตนเอง[2] และในส่วนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ Men are from Mars, Women are from Venus หรือในชื่อภาษาไทยว่า ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ของจอห์น เกรย์ โดยทั้งหมดเป็นการใช้ชื่อและนามสกุลจริง ไม่ใช้นามปากกา [3]

งานการเมือง

แก้

นายสงกรานต์เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยไม่เคยเปลี่ยนพรรคเลย จนมาประสบความสำเร็จ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รวมทั้งหมด 2 สมัย

ในระหว่างที่ทำงานในฐานะ ส.ส. สมัยแรก (ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554) ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

  • กรรมาธิการและเลขานุการ คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร
  • กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร
  • กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม (ICT) สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานกลุ่มมิตรภาพ ไทย-ฟิลิปปินส์
  • ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ICT กรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553

ขณะทำหน้าที่ ส.ส. สมัยที่สอง ได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ ประธานกลุ่มมิตรภาพ ไทย-ฟิลิปปินส์ รัฐสภา รองประธาน คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. เช็กมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุกตำแหน่งที่นี่
  2. "Big Picture คิดต่างระหว่างบรรทัด 31 05 61 เบรก 1". ฟ้าวันใหม่. 2018-05-31.
  3. "ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์". ซีเอ๊ดบุ๊คเซ็นเตอร์.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖ เก็บถาวร 2013-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๑๓, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๖๑, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓