วัดแหลมพ้อ

วัดในจังหวัดสงขลา

วัดแหลมพ้อ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

วัดแหลมพ้อ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดแหลมพ้อ, วัดพระนอนแหลมพ้อ
ที่ตั้งตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดแหลมพ้อ หรือ วัดพระนอนแหลมพ้อ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยมีพระครูทิพวาสี (พรหมแก้ว) จากวัดท้ายยอมาดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหลมยื่นออกไปและมีต้นพ้ออยู่จำนวนมากจึงเรียกชื่อวัดกันต่อมาว่า "วัดแหลมพ้อ"

ในพระนิพนธ์เรื่อง ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ 7 โดยสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ในพระนิพนธ์ว่า วัดแหลมภอ และได้กล่าวถึงวัดว่า "วัดแหลมภอนั้นตั้งอยู่ที่แหลมภอมีโบสถ์เสาเฉลียงก่อเป็นคูหาและมีศาลาการเปรียญราษฎรสร้างใหม่ก่ออิฐสงขลาไว้ฝีมืออย่างดีไม่ถือปูนก่อเป็นคูหามีศาลาริมน้ำเป็นที่พักแห่งหนึ่งพื้นวัดเตียนสะอาดร่มรื่นด้วยต้นไม้"[1]

วัดแหลมพ้อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดแหลมพ้อ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเล่ม 114 ตอนพิเศษ 8ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2545 หน้า 6 ว่าพื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

 
อุโบสถตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 3

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ ตั้งอยู่บริเวณกลางลานวัดริมทะเลสาบสงขลา อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนอยู่ในกำแพงแก้ว อุโบสถมีกว้างประมาณ 12 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร มีบันไดอยู่ทางทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตก ราวบันไดประดับด้วยลูกกรงเซรามิค อุโบสถมีระเบียงโดยรอบ หลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันหลังคาทางด้านหน้าประดับปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หน้าบันด้านหลังประดับปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนหน้าบันช่องหน้าต่างและประตูมีปูนปั้นรูปเทพพนมอยู่ท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษา ใบเสมารอบอุโบสถลักษณะก่ออิฐถือปูน ฐานรูปกรวยเป็นชั้น ๆ อุโบสถมีรูปแบบศิลปกรรมตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

หอระฆัง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ เป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน แผนผังของฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 4 x 4 เมตร ตัวหอเป็นทรงสี่เหลี่ยมยอดปิรามิด ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป มีบันไดทางขึ้นด้านข้าง 2 ทาง ขอบบนเจาะเป็นช่องลูกกรง ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องกรุสีเขียวอยู่โดยรอบ ส่วนยอดหอระฆังประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ลายพรรณพฤกษา ส่วนเจดีย์ ตั้งอยู่ทิศเหนือของอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาด 9x9 เมตร มุมขอบประดับด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๆ 4 องค์ องค์ระฆังของเจดีย์ประธานตั้งอยู่ฐานปัทม์ต่อกันเป็นชั้น ๆ ด้านล่างฐานเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น

ปูชนียวัตถุ แก้

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระนอนแหลมพ้อ เป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2537 มีพระพุทธรูปลักษณะบรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา ส่วนของพระบาทจะมีลวดลายภาพศิลปะของภาพมงคล 108 ประการ และมีพระสมเด็จเจ้าเกาะยอ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย[3]

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ชีวิวัฒน์ เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ 7 (.ม.ป.ท. โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2511),49.
  2. "วัดพระนอนแหลมพ้อ". ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ.
  3. "วัดแหลมพ้อ (Wat Laempho)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.