วัดเจ้าอาม

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดเจ้าอาม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ตั้งวัด 12 ไร่ เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับพระสนมเอกที่มีนามว่า อาม หรือ เจ้าอาม ที่ถูกพระองค์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเข้าใจผิดว่ามีการคบชู้สู่ชาย พร้อมกับได้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งเพื่อบรรจุอัฐิพระสนมอาม

วัดเจ้าอาม
พระปรางค์วัดเจ้าอาม บรรจุอัฐิพระสนมอาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเจ้าอาม
ที่ตั้งถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูนิวิฐสาธุวัตร (ทองล่ำ ยโสธโร ป.ธ.5)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดสร้างขึ้นปี พ.ศ. 2322 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อแรกสร้าง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับพระสนมเอกที่มีนามว่า อาม หรือ เจ้าอาม ที่ถูกพระองค์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเข้าใจผิดว่ามีการคบชู้สู่ชาย พร้อมกับได้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งเพื่อบรรจุอัฐิพระสนมอาม การก่อสร้างยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปปราบปรามชุมนุมข้าศึกต่าง ๆ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี การก่อสร้างวัดจึงได้ร้างมาเป็นเวลานานปี ต่อมาระยะหลัง ชาวบ้านได้ช่วยกันก่อสร้างวัด แต่เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ได้ก่อสร้างมาเป็นเวลานานปี ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงได้ชำรุดทรุดโทรมผุพังไปตามสภาพ อีกทั้งการคมนาคมไม่สะดวก จึงไม่ค่อยมีผู้ที่รู้จัก พระภิกษุสามเณร ไม่ค่อยมาจำพรรษาอยู่

ต่อมาปี พ.ศ. 2512 ในสมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น พร้อมด้วยท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายพลเรือน ทหารและตำรวจ ได้นำกลองขนาดใหญ่มาถวายที่วัดเจ้าอาม พร้อมทั้งนำต้นศรีมหาโพธิ์, ต้นสาระ ที่เอกอัครราชทูตแห่งอินเดีย นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย มาปลูกที่วัดเจ้าอามนี้ และยังได้เป็นเจ้าภาพบริจาคทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์ ได้ทาสีพระปรางค์องค์ขาวทั้งองค์ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ยอดพระปรางค์ด้วย แต่ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้การก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดได้ล้มเลิกไป ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์สาธารณสุขตั้งอยู่ในที่วัดอีกด้วย[1]

ระยะหลังในสมัยท่านพระครูนิวิฐสาธุวัตร ได้พยายามเร่งพัฒนาวัดเจ้าอาม โดยการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ

อาคารเสนาสนะ แก้

อาคารเสนาสนะ ประกอบไปด้วยอุโบสถ 1 หลัง ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตัก 3 ศอกเศษ หล่อด้วยโลหะ เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง[2] ยังมีหลวงพ่อโตในวิหารเป็นศิลาแลงปางมารวิชัย หน้าตัก 3 ศอกเศษ ปรางค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่สวยยอดซุ้มปรางค์ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ 3 ศอกทั้งสี่ทิศ มีพัทธสีมารอบอุโบสถเป็นพัทธเสมาคู่ (ปกติจะมีเฉพาะพระอารามหลวงเท่านั้น) วัดมีวิหาร 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง สร้างใน พ.ศ. 2520 และกุฏิสงฆ์จำนวน 16 หลัง

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอธิการเฉย (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
  • พระอธิการเทศ (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
  • พระอธิการยัง (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
  • พระอธิการไปล่ ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ. 2511
  • พระครูนิวิฐสาธุวัตร (ทองล่ำ ยโสธโร ป.ธ.5) ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "วัดเจ้าอาม" (PDF).[ลิงก์เสีย]
  2. ""บางขุนนนท์" แหล่งของกิน ถิ่นวัดเก่า". ผู้จัดการออนไลน์. 21 พฤศจิกายน 2557.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้