วัดอีก้าง

วัดร้างในจังหวัดเชียงใหม่

วัดอีก้าง หรือ วัดอีค่าง เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว ตั้งอยู่ในเขตกึ่งกลางของเวียงกุมกาม ห่างจากวัดปู่เปี้ยออกมาทางทิศตะวันออกประมาณ 250 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางตะวันออกประมาณ 700 เมตร ในตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

วัดอีก้าง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอีก้าง, วัดอีค่าง
ที่ตั้งตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทโบราณสถานร้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

คำว่า อีค่าง หรือ อีก้าง ในภาษาถิ่นเหนือ มีความหมายว่า ลิง หรือ ค่าง เพราะในอดีตเคยมีฝูงลิงหรือค่างอาศัยบริเวณโบราณสถานร้างแห่งนี้[1] ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดอีก้าง นอกจากนี้ยังปรากฏเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า มีนางค่างตัวหนึ่งทำประโยชน์แก่พระราชามาก เมื่อนางค่างตายลงพระราชาจึงสร้างจึงสร้างวัดนี้ให้แก่นางค่างตัวนี้ วัดอีก้างได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542

โบราณสถานและโบราณวัตถุ แก้

โบราณสถานวัดอีก้าง ประกอบด้วยกำแพงแก้ว เจดีย์ วิหาร แท่นบูชารอบเจดีย์ 3 ด้าน และอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจดีย์มีลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมผสมทรงกลม คือ เรือนธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงกลม เป็นศิลปะล้านนา สภาพทั่วไปมีวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศเหนือตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินปัจจุบันประมาณ 2 เมตร

วิหารโถงกว้าง 20 เมตร ยาว 13.50 เมตร[2] ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังวิหารมีห้องคูหา (คันธกุฎี) อยู่ด้านหลังห้องประธาน ซึ่งภายในห้องคูหามีแท่นฐานชุกชี 1 แท่น มีบันไดสู่ฐานประทักษิณทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ภายในมีฐานเสาวิหาร 8 คู่ พื้นวิหารปูด้วยอิฐ ฉาบปูนขาว มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง บันไดหลักเป็นแบบบันไดนาค เนื่องจากได้พบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปเกล็ดนาคบริเวณฐานวิหารด้านหน้า และอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งขนานกับแนวฐานวิหาร มีสภาพพังทลายคงเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน สันนิษฐานว่าอาจเป็นอุโบสถ จากการศึกษาชั้นดินพบว่าอาคารหลังนี้มีการสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย โดยในสมัยแรกน่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับวิหารและเจดีย์ และสร้างซ้อนทับอาคารหลังแรกในสมัยต่อมา

นอกจากนั้นยังพบโบราณวัตถุ ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปแก้ว ยอดสถูปจำลองทำจากแก้วส่วนยอดบุทองคำ พระพิมพ์ดินเผา แผ่นฉลุลายสำริด แผ่นโลหะสำริดสำหรับประดับปล้องไฉน และส่วนประกอบฉัตรสำริดปิดทอง ลายปูนปั้นที่มีรอยไหม้ดำและเศษสำริดไหม้ละลายติดแผ่นกระเบื้องดินขอ บริเวณฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานและรอบฐานวิหาร ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น เม็ดพระศกปูนปั้น และแผ่นอิฐที่มีรอยสลักรูปสัตว์คล้ายลิงอีกด้วย รวมถึงพบภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง เตาวังเหนือ และเตาสุโขทัย รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน และพบแผ่นอิฐจารึกอักษรฝักขามและอักษรธรรมล้านนา ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20–21 จำนวน 7 ชิ้น[3]

ภาพมุมกว้าง

อ้างอิง แก้

  1. "วัดอีก้าง(ร้าง)". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดอีก้าง (E Khang Temple)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-11-07.
  3. "วัดอีก้าง(อีค่าง)". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.