วัดศาลาครืน
วัดศาลาครืน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางหว้า ในแขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
วัดศาลาครืน | |
---|---|
อุโบสถวัดศาลาครืน | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 102 ซอยวุฒากาศ 42 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่อสี่เข่า |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดศาลาครืนตั้งเป็นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2374 เดิมเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมากลายเป็นวัดร้างทำให้ไม่ทราบชื่อดั้งเดิม สำหรับชื่อศาลาครืน สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งหลังคาอุโบสถและศาลาการเปรียญได้พังครืนลงมาจนทำให้เห็นพระประธาน ทำให้เรียกวัดร้างนี้ต่อ ๆ กันมาว่า "วัดศาลาครืน" จนปี พ.ศ. 2375 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ตามแบบพระราชนิยม คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นและกระเบื้องเคลือบ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาควบคุมงานด้วยพระองค์เอง และพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2378 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2526[1]
อุโบสถมีเพิงยื่นออกหน้าหลังเสา รับเพิงเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บัวหัวเสากลีบยาว สมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัยที่มีฝ่าพระบาทซ้อนกันถึงสี่พระบาท สร้างในสมัยสุโขทัย มีหน้าตักกว้าง 4 ศอก 39 นิ้ว สูง 4.50 เมตร นามว่า หลวงพ่อสี่เข่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถเข้าใจว่าเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ ที่บานหน้าต่างมีรูปชายหญิงเป็นคู่ ๆ ทั้งไทย จีน ลาว มอญ ฝรั่ง พราหมณ์ ฯลฯ หมู่กุฏิเป็นแบบเรือนยอดและเรือนมะลิลา ศาลาการเปรียญหลังเก่ามีธรรมาสน์สมัยอยุธยาทรงยาวหรือทรงบุษบก แกะสลักอย่างสวยงาม[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-12.
- ↑ "หนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเขตจอมทอง". p. 50–51.