วัดทุ่งกล้วย (จังหวัดพะเยา)

วัดในจังหวัดพะเยา

วัดทุ่งกล้วย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2 ไร่

วัดทุ่งกล้วย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดทุ่งกล้วยตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2441 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2500[1] เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 30 เมตร มีเจ้าอาวาสรูปแรกชื่อว่า พระครูบาเจ้ากั๋ญไจย

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารกว้าง 12.4 เมตร ยาว 35.3 เมตร วิหารหลังนี้เป็นวิหารหลังที่สามของวัด มีงานปอยหลวงฉลองวิหารที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ถึง 1 มกราคม พ.ศ. 2558[2] ศาลาการเปรียญ กว้าง 14 เมตร ยาว 22.4 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2533 หอระฆัง กว้าง 4.60 เมตร ยาว 6.30 เมตร มีความสูง 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 กุฏิทรงล้านนาประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างเป็นปูนชั้นบนเป็นไม้ ยอดหลังหลังคาเป็นทรงจัตุรมุข กว้าง 20 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 และศาลาพระพุทธปิมปาสารูปเจ้าพระเจ้าทันใจสะหรี๋ศรีทุ่งกล้วยมหาบารมีบันดาลโภคทรัพย์ ศาลามีความกว้าง 2 เมตร มีความยาว 8 เมตร เป็นทรงล้านนาประยุกต์

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความสูง 3 เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูน เป็นพระประธานในวิหาร พระพุทธรูปไม้สักทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี มีความสูงประมาณ 1 เมตร พระสิงห์สอง เป็นพระพุทธรูปเนื้อเงิน มีความสูงประมาณ 1 ฟุต มีอายุหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งพระสิงห์สองนี้มีมาก่อนที่จะสร้างวัดขึ้นมาแล้ว พระบรมสารีริกธาตุ และ พระพุทธปิมปาสารูปเจ้าพระเจ้าทันใจสะหรี๋ศรีทุ่งกล้วยมหาบารมีบันดาลโภคทรัพย์ องค์พระเป็นลักษณะคล้ายพระสิงห์หนึ่ง เป็นศิลปะเมืองน่าน หน้าตัก กว้าง 1 เมตร 50 สูง 1 เมตร 30 องค์สร้างด้วยอิฐถือปูนข้างในองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระครูบาเจ้ากั๋ญไจย   เริ่มสร้างวัด
  • พระอานันท์ใจ พ.ศ. 2437–2449
  • พะองค์ พ.ศ. 2450–2457
  • พระกันทา พ.ศ. 2458–2471
  • พระวิชัย พ.ศ. 2487–2501
  • พระนวล พ.ศ. 2509–2510
  • พระเปลี่ยน พ.ศ. 2510–2516
  • พระสายชล พ.ศ. 2516–2523
  • พระสมฤทธิ์ พ.ศ. 2523–2526
  • พระสุทธิกานต์ พ.ศ. 2527–2535
  • พระอธิการสุวรรณ พ.ศ. 2536–2540
  • พระอธิการศรสุรินทร์ พ.ศ. 2542–

อ้างอิง แก้

  1. "วัดทุ่งกล้วย". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "ตีฆ้องร้องป่าว". ผู้จัดการออนไลน์.