วัดชัยพระเกียรติ
วัดชัยพระเกียรติ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดชัยพระเกียรติ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | พระเจ้าห้าตื้อ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดชัยพระเกียรติ เดิมชื่อ วัดไชยปราเกียร หรือ วัดไชยผาเกียร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2088 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2400[1] แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า มีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากวัดนี้ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญชัย ที่แต่งเมื่อ พ.ศ. 2060[2] [3] ความว่า
๏ ทุงยูศรีเกิดใกล้ | ปราเกียร | |
สามสี่อาวาเจียน | จิ่มไหว้ | |
กุศลพี่ทำเพียร | นพราช เดียวเอ่ | |
มิใช่จงห้องใต้ | แต่พื้นรสาดล | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
ประเสริฐ ณ นคร ระบุว่า คำว่า "ปราเกียร" ซึ่งชาวบ้านเรียก ปราเกี๋ยน อาจตรงกับวัดชัยพระเกียรติ หรือมิฉะนั้นก็อาจแปลได้ว่า ปราการ คือกำแพง[4] วิจิตร ยอดสุวรรณ ระบุว่า วัดชัยพระเกียรติคงสร้างมาก่อนสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ เพราะปรากฏในโคลงนิราศหริภุญชัย กวีได้แต่งเรื่องนี้ก่อนที่จะถึงสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ แล้วมาได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าเมกุฎสุทธิวงศ์[5]
พ.ศ. 2060 "...เจ้า" และเจ้าพันจ่าพวกเรือของพระมหาเทวีเจ้า (สันนิษฐานว่าพระมหาเทวีเจ้าคือพระนางสิริยศวดีเทวี) ได้เป็นประธานในการหล่อพระพุทธรูปในอุโบสถของวัด[6] (ปัจจุบันทางวัดเก็บรักษาในบริเวณอื่น)
พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าเสด็จยกทัพมาเมืองเชียงใหม่ ตั้งทัพอยู่ที่ยางพรัง พระแม่กุนิมนต์สมเด็จเจ้าศรีนันทะ วัดพระสิงห์, มหาสังฆราชาไชยประเกียรรัตนปัญญา, แม่กิมหาพุทธิมาหมื่นน้อง, มหาแม่หมากเลิก และเจ้าพญาแขกพุทธิมา, เจ้าแสนทวนญาณเสถียร, หมื่นล่ามแขกซ้าย, วชิรประหญา เป็นคณะทูตออกไปเจรจาความเมืองกับพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าบุเรงนองตรัสกับคณะทูตให้พระแม่กุออกมานั่งร่วมอาสนา ก่อนที่จะออกทัพเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ จนอาณาจักรล้านนาเสียเอกราชให้กับพระองค์ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า
เจ้าฟ้าหงสาลวดยกริพลตามหลังแขกมารอดเมืองเชียงใหม่ เดือน ๗ ออก ๙ ฅ่ำ ตั้งทับอยู่ยังยางพรังที่น้ำบ่อกัณณิการ์ พระเปนเจ้าแม่กุจิ่งนิมนต์สมเด็จเจ้าสรีนันทะพระสิงห์ แลมหาสังฆราชาไชยประเกียรรัตตนปัญญา แม่กิมหาพุทธิมาหมื่นน้อง มหาแม่หมากเลิก แลเจ้าพระญาแขกพุทธิมา ๑ เจ้าแสนทวนญาณเสถียร ๑ หมื่นล่ามแขกซ้าย ๑ วชิรประหญา ๑ ไพไหว้เจ้าฟ้าหงสา เจ้าฟ้าหงสาว่าหื้อพระเปนเจ้าเมืองพิงเชียงใหม่ออกมานั่งร่วมอาสสนาเราเทิอะ ว่าฉันนี้ คันบัวรบัตฉันนี้ ค็จักเปนสุขแก่รัฏฐปัชชานราฏฐ์ทังมวลชะแล ว่าอั้น
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
พระพุทธเมืองรายเจ้า
แก้พ.ศ. 2108 สมัยพระนางวิสุทธิเทวี เจ้าทัพไชยพญาจ่าบ้าน (สังราม) ขุนนางล้านนา ร่วมกับพระนางวิสุทธิเทวี เสนาอามาตย์ และราษฎรทั้งหลาย ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่ชำรุด มาหล่อรวมกันเป็นพระพุทธรูปองค์เดียว มีน้ำหนัก 2,000,000 ทอง เฉลิมพระนามว่า พระพุทธเมืองรายเจ้า นอกจากนี้ยังสร้างรั้วลงชาด ปิดทองคำล้อมพระมหาเจดีย์ และอธิษฐานขอให้ตนได้ไปเกิดในสวรรค์ ทันยุคพระศรีอาริยเมไตรย และถึงแก่นิพพาน[8]
พระพุทธเมืองรายเจ้า หรือ พระเจ้าห้าตื้อ สร้างโดยเจ้าทัพไชยพญาจ่าบ้าน (สังราม) เมื่อ พ.ศ. 2108 เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด หนักประมาณ 5,000 กิโลกรัม ประทับอยู่ในซุ้มโขงภายในวิหาร บริเวณฐานมีจารึกอักษรพม่าและอักษรธรรมล้านนา ดังนี้
ကောဇာသက္ကရာဇ် ၉၂၇ ခုနှစ်၊ ပြာသိုလဆန်း တစ်ဆယ့်သုံးရက်ဗုဒ္ဓဟူးနေ့၊ နေလွဲအင်္ဂါသခါနက္ခတ် လေးလုံးတတ္ထိ တစ်ဆယ့်တစ်ရက်၊ ကျိုင်းမယ် ဟူသော ပြည်ကြီးအလယ်၌ မင်းတကာထက် အလွန်မြတ်တော်မူသော အရှင်ဘဝရှင်မင်းတရားကြီး၊ ရွှေနန်းသခင်ဆင်ဖြူရှင်၊ အမတ်တော်မင်းဇေယျသရံပညာစာပန်၊ ဘုရားသာသနာတော် ၅၀၀၀ တည်သည်။ လူနတ်ဗြဟ္မာတို့၏ ကိုးကွယ်ရာ ဖြစ်စေလို၍၊ ဘုရားဆင်းတုပျက်စီးသည်များလို...၊ သဗ္ဗညုဘုရားရုပ်တုတော်...သည်၊ ကြေးအပိဿာ ....။[9] (แปล) ศักราช 927 วันพุธ ขึ้น 13 คํ่า เดือนบุษย ตอนบ่าย อังคารและศุกร์อยู่ในนักษัตร์ฤกษ์ที่ 4 ติถี 11 เจ้าไชยยะสรํพญาจาผัน ณ มหานครชื่อว่าเชียงใหม่ ผู้เป็นข้าหลวงในพระเจ้าช้างเผือกเจ้าหอคำมหาธรรมราชเจ้าชีวิตเหนือเจ้าเมืองทั้งปวง (พระเจ้าบุเรงนอง) มีความประสงค์ว่าควรจะให้มีสิ่งสักการะสำหรับคนเทวดาและพราหมณ์(ตลอด) 5,000 (พรรษาของพระศาสนา) อันศักดิ์สิทธิ์จึงได้รวบรวม (?) บรรดาพระพุทธรูปที่แตกหักและนำมาหล่อ (?) รูปพระพุทธสัพพัญญูเป็นทองสัมฤทธิ์มีนํ้าหนัก 5,000 (?) วิส จบ
ศรีศุภมัสตุ จุลศักราชได้ 927 ตัว ในปีฉลูสนำกัมโพชพิสัย ไทยว่าปีดับเป้า เข้าในกัตติกามาส ศุกลปักษ์พิสัย ไทยว่าเดือนยี่ ออก 3 คํ่า พรํ่าได้วันศุกร์มิสงสัย ไทยว่าวันรวายยี ยามกลองแลง แลเป็นศุภวารวันดีอันยิ่ง จึงเจ้าทัพไชยสังรามจ่าบ้าน ผู้เป็นข้าอโนชิตแห่งสมเด็จพระธรรมิกราชาธิราชเจ้า เจ้าช้างเผือกหอคำตนประเสริฐ ลาเลิศอุตตมกว่าท้าวพระยาทั้งหลาย หมายแต่งไว้ให้อยู่รักษาพุทธศาสนาแลประชาราษฎร์ทั้งหลายในนพบุรีศรีมหานครเวียงพิงค์เชียงใหม่ยิ่ง จึงรำเพิงเถิงคุณพุทธศาสนา ใคร่หื้อพระพุทธจำเริญจึงจัด......หมายบุญราศีทั้งมวลแก่สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าตนเป็นเหง้า (พระนางวิสุทธิเทวี) ในนพบุรีแลท้าวพระยาเสนาอามาตย์ สมณประชาราษฎร์ทั้งหลายก็หมายมีสมานฉันท์อันยิ่ง จึงจักสรุปเอายังพุทธรูปทั้งหลายหมู่เป็นจลาจลอันตรายแตกบ่หื้อย่อนเสีย? รอมเอามาหื้อเป็นพุทธรูปไว้ดังเก่าเล่า จึงจักวางกรรมการไว้แก่หมื่นหลวงเหล็ก หมื่นหลวงจ่าบ้าน หมื่นหนังสือ แลชาวจ่าบ้าน แลขุนอังวะ (ขุน)หงสาทั้งหลาย แรกตั้งไว้ในวันอัน......... นี้ไซร้เถิงเดือนบุษยมาส ไทยว่าเดือนสี่ ออกสิบสามคํ่า เม็ง...4 ไทยวันกาบเส็ด ยามตูดซ้าย ได้หล่อพุทธรูปองค์นี้ มีคณนานํ้าหนักมีพอ ๒๐๐๐๐๐๐ ทอง ลวดฉลองเบิกพระนามพระองค์นี้ ชื่อพระพุทธเมืองรายเจ้าไว้ เพื่อหื้อเป็นที่ไหว้แก่คนแลเทพดาต่อเท้าห้าพันพระวัสสาแล ด้วยเตชกุศลเจตนาอันได้สร้างพระพุทธเมืองรายองค์นี้ กับได้สร้างลำเจียงหางไสคำเป็นลำแวดพระมหาเจดีย์เจ้านี้ไซร้ เจ้าทัพไชยสังรามจ่าบ้านก็ยังตั้งปรารถนาไว้ว่า ในอัตภาวะอันนี้หื้อมีชีวิตอันยืนตามเขตแล้ว ครั้นจุติก็หื้อเกิดในสวรรค์เทวโลกเป็นต้นดาวดึงสาแลดุสิตา หื้ออยู่ตามอายุเวียงแก้ว เมื่ออริยเมไตรยาลงมาเป็นพระ หื้อข้าเกิดร่วมวันทันยาม หื้อเกิดในกระกูลอันประเสริฐคือท้าวพระยา.........ใหญ่? เมื่อใดพระตรัสสัพพัญญูแล้วขอหื้อบวชข้าด้วย ว่าเอหิภิกขุในสำนักพระเมไตรย แลรอดนิพพานกับพระพุทธเจ้าเทอญ
อาคารเสนาสนะ
แก้วิหารหลังใหม่ สร้างแทนของเดิมที่ผุพังไป หน้าบันลวดลายพรรณพฤกษาและเทพนม ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ทำเป็นรูปพญานาค ประตูลงรักปิดทองทำเป็นรูปเทวดายืน ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธเมืองรายเจ้า มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติตอนตรัสรู้และเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ฝีมือบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์
เจดีย์ทรงลังกา มีฐานเขียงสี่เหลี่ยม ฐานบัวลูกแก้วสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ชั้นมาลัยเถาเหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น องค์ระฆังทรงกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม ปล้องไฉน ปลียอด และฉัตร[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดชัยพระเกียรติ". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ https://www.matichonweekly.com/column/article_73951
- ↑ https://www.matichonweekly.com/culture/article_486455
- ↑ 4.0 4.1 "โคลงนิราศหริภุญชัย". วัชรญาณ.
- ↑ "คำอธิบายประกอบของ นายวิจิตร ยอดสุวรรณ". วชิรญาณ.
- ↑ ฮันส์ เพนธ์. คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2519.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1701
- ↑ https://www.facebook.com/allaboutmyanmar/posts/105705238410060
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/26694
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/26695
- ↑ "วัดชัยพระเกียรติ อ.เมืองเชียงใหม่". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-23. สืบค้นเมื่อ 2021-10-23.