วัดจามเทวี

วัดในจังหวัดลำพูน
(เปลี่ยนทางจาก วัดกู่กุด)

วัดจามเทวี หรือเดิมชื่อ วัดกู่กุด ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี หมู่ 5 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระสุวรรณจังโกฏเจดีย์ เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระนางจามเทวี

วัดจามเทวี
พระสุวรรณจังโกฏเจดีย์และวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดจามเทวี
ที่ตั้งจังหวัดลำพูน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
จุดสนใจพระสุวรรณจังโกฏเจดีย์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดจามเทวี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478[1]

ประวัติ แก้

เมื่อปี พ.ศ. 1298 พระนางจามเทวีนำช่างละโว้ (ปัจจุบันคือ จังหวัดลพบุรี) ไปสร้างพระเจดีย์สุวรรณจังโกฎ เป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย ทุก ๆ ด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรศิลปกรรมของลพบุรีมีพระพุทธรูปยืนอยู่ในซุ้มพระทั้งสี่ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ ภายในบรรจุอัฐของพระนางจามเทวี

ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี เดิมมียอดพระเจดีย์หุ้มด้วยทองคำ

ปี พ.ศ. 1184 มีพระฤๅษีไปพบทารกหญิง ถูกพญานกคาบมาทิ้งไว้บนใบบัวหลวง จึงเลี้ยงดูและสอนสรรพวิทยาการต่าง ๆ ให้

เมื่อพระนางจามเทวี เจริญวัยได้ 13 พรรษา พระฤๅษีจึงต่อนาวายนต์พร้อมด้วยฝูงวานรเป็นบริวารลอยล่องไปตามลำน้ำ ถึงยังท่าน้ำวัดชัยมงคล

เมื่อพระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีพบเห็น จึงได้นำกุมารีน้อยนั้นเข้าสู่พระราชวัง และตั้งให้เป็นพระราชธิดา นามว่า "จามเทวีกุมารี" และให้ศึกษาศิลปวิทยาการตำราพิชัยสงคราม และดนตรีทุกอย่าง

พ.ศ. 1198 พระนางจามเทวีมีพระชนม์ 14 พรรษา ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายราม แห่งนครรามบุรี

พ.ศ. 1204 พระนามจามเทวีมีพระชนม์ 20 พรรษา เป็นกษัตรีย์วงศ์จามเทวีแห่งนครหริภุญชัย โดยพระนางเจ้าได้อัญเชิญพระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) จากเมืองละโว้ เมื่อปี 700 ขึ้นมา เพื่อประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง (ปัจจุบัน พระเสตังคมณีองค์นี้ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่)

พระนางจามเทวี มีพระโอรส 2 องค์ องค์พี่มีนามว่ามหายศ (มหันตยศ) องค์น้องมีนามว่าอินทวร (อนันตยศ) โดยพระเจ้ามหายศ ได้ขึ้นเสวยครองเมืองหริภุญชัยนคร แทนพระมารดา ส่วนพระองค์น้องพระเจ้าอินทวรไปครองเมืองเขลางค์นคร ที่มหาพรหมฤๅษี และสุพรหมฤๅษีร่วมกันสร้างขึ้นใหม่ให้พระองค์โดยเฉพาะ

ส่วนพระนางจามเทวีมีพระชนม์ได้ 60 พรรษา ได้สละราชสมบัติทุกอย่าง ให้พระโอรสทั้งสอง โดยพระนางออกบวชชีบำเพ็ญพรตอยู่ที่วัดจามเทวีแห่งนี้

พ.ศ. 1276 พระนางจามเทวีได้ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดแห่งนี้ พระชนม์ครบ 92 พรรษา พระนางจึงได้สวรรคต ซึ่งทางพระมหันตยศ และพระอนันตยศ ก็ได้จัดถวายพระเพลิงภายในวัดดังกล่าวอย่างสมพระเกียรติ และได้สร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมบรรจุพระอัฐิของพระนางไว้ ณ ที่นี้ โดยให้ชื่อเจดีย์ว่า สุวรรณจังโกฎเจดีย์ ที่ได้เป็นต้นแบบของเจดีย์ในแถบล้านนา

ต่อมานานนับพันปี “สุวรรณจังโกฎเจดีย์” ชำรุดผุพัง ยอดพระเจดีย์ได้หัก และหายไป กลายเป็นวัดร้าง และชาวบ้านได้เรียกวัดนี้ว่า “วัดกู่กุด” (กู่กุด เป็นภาษาล้านนา แปลว่า เจดีย์ยอดด้วน)

พ.ศ. 2469 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยี่ยมวัดแห่งนี้ จึงได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจาก วัดกู่กุด เป็น วัดจามเทวี เช่นเดิม

พ.ศ. 2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนได้ไปนิมนต์ท่านครูบาศรีวิชัย ช่วยบูรณะวัดจามเทวีอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมาวัดจามเทวี ก็เจริญรุ่งเรือง

ส่วนรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนบนสุวรรณจังโกฎเจดีย์ ได้กลายเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ประประเมินค่าไม่ได้

พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในแต่ละชั้นของเจดีย์แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธา และการเข้าถึงพระพุทธศาสนาของพระนางจามเทวี โดยสุวรรณจังโกฎเจดีย์เป็นต้นแบบของเจดีย์ทั้งหลาย ซึ่งบางครั้งเรียกเจดีย์ทรงนี้ว่า เจดีย์ทรงขัตติยะนารี

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตลาดหนองดอก สร้างเป็นอนุสรณ์แก่พระนางจามเทวี เป็นปฐมกกษัตริย์แห่งหริภุญชัย เป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม มีความสามารถ กล้าหาญ ได้นำพระพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่จนมีความรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

เจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบหริภัญชัย แก้

 
เจดีย์กู่กุด

พระสุวรรณจังโกฏเจดีย์ หรือชื่อเรียกที่รู้จักกันดีคือ เจดีย์กู่กุด หรือ เจดีย์กู่กุฎ[2] หรือ เจดีย์มหาพล[3] ที่เรียกกู่กุด เพราะมีส่วนยอดหลุดหรือหัก[4] ส่วนมหาพลเป็นชื่อดีตที่ตั้งของวัดนี้ เอามาตั้งเป็นชื่อเจดีย์[5]

เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัยองค์นี้เคยมียอด จึงเรียกทรงปราสาทยอดได้ด้วย มีลักษณะแปลกแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงปราสาทในศิลปะล้านนาและศิลปะขอม คือ นับจากส่วนฐานทรงสี่เหลี่ยมมาเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมเช่นกัน ตั้งซ้อนกันลดขนาดเป็นลำดับขึ้นไป 5 ขั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ประดับทิศทั้งสี่ และด้านทั้งสี่ของแต่ละชั้น มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ และยอดแหลมที่หักหายคงเป็นกรวยเหลี่ยม

เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัยอีกแบบองค์ มีทรงแปดเหลี่ยม จึงนิยมเรียกตามทรงว่า เจดีย์แปดเหลี่ยม[6] เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ด้านทั้งแปดของเรือนธาตุเจดีย์องค์นี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนไว้ในซุ้มจระนำ เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นรับทรงระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นยอดซึ่งหักหายแล้ว เจดีย์ลักษณะนี้ได้พบแพร่หลายทางภาคกลางด้วย เช่น วัดพระแก้ว จังหวัดชัยนาท วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี และสืบเนื่องมาจนถึงตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา[7]

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
  2. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 16
  3. พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์ ล 2528. หน้า 125
  4. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 16
  5. พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์ ล 2528. หน้า 125
  6. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 19
  7. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 25-26