ระหัด
ระหัด (อังกฤษ: Rahat หรือ Chain Pump) เป็นเครื่องชักน้ำหรือวิดน้ำ ประกอบด้วย โครงราง เพลา(กงระหัด) ใบระหัดหรือโซ่ระหัด (คล้ายสายพาน โซ่จักรยาน) โดยทั่วไปรางและใบระหัดทำจากไม้ ใช้มือหมุน ใช้ถีบด้วยเท้า หรือใช้แรงสัตว์ หรือใช้แรงกลแปลงจากกระแสน้ำหรือลม ใช้ในการชลประทานเพื่อการกสิกรรมทั่วไปที่ต้องอาศัยน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำนาต้องดึงน้ำขังต้นข้าวจนกระทั่งก่อนข้าวออกรวงจึงดึงน้ำออก ชาวนาจะปลูกข้าวในฤดูฝนปีละครั้ง เรียกว่า ข้าวนาปี แต่เมื่อมีการชลประทานดีขึ้นจะปลูกข้าวนอกฤดูฝนอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า นาปรัง การใช้ระหัดวิดน้ำมีความสำคัญต่อการทำนาในสมัยก่อนมาก
ประวัติ
แก้สำหรับการเพาะปลูกในช่วงที่ยังไม่มีเครื่องยนต์ที่ใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร ชาวนาจะใช้โพงหรือระหัดวิดน้ำเข้าแปลงนา การใช้โพง (หรืิอเรียก ชงโลง ที่ทําด้วยไม้ขุด หรือสานด้วยไม้ไผ่ให้มีรูปร่างคล้ายช้อนมี ด้ามยาว)[1] วิดน้ำได้ครั้งละไม่มากนัก และต้องออกแรงมากเนืื่องจากต้องวิดน้ำและเหวี่ยงข้ามคันนาไปอีกข้างหนึ่ง เพื่อประหยัดแรงจึงได้คิดวิธีวิดน้ำหรือชักน้ำ โดยการใช้เครื่องจักรกลแบบชักน้ำอย่างต่อเนื่องอย่างระหัดขึ้นแทน ในระยะแรกใช้แรงมือหมุน ต่อมาการชักน้ำด้วยมือไม่เพียงพอกับการทำไร่นามีขนาดใหญ่ ต้องเปลี่ยนมาใช้การทุ่นแรงโดยปรับเพลาหมุนที่แปลงแรงถีบของคนหลายคน หรือแรงสัตว์แทน หรืออาจใช้แรงกลจากกังหันซึ่งสามารถชักน้ำได้เป็นเวลานานกว่าและต่อเนื่องโดยไม่ต้องเฝ้าดูแลตลอดเวลา
สันนิษฐานว่าระหัดถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน[2] (เรืยก 水转翻车 Shuǐ zhuǎn fānchē) หรือ อินเดีย โดยอาจพัฒนาแนวคิดในการประดิษฐ์ระหัดมาจาก “กังหันวิดน้ำ” ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหัด กังหันน้ำเป็นเครื่องวิดน้ำหรือเครื่องชักน้ำคล้ายกับระหัด ใช้ตักน้ำหรือชักน้ำที่อยู่ในระดับต่ำขึ้นมายังที่สูง โดยใช้กระแสน้ำหมุนวงล้อขนาดใหญ่ที่ทําด้วยไม้ มักจะตั้งไว้ริมตลิ่งที่มีน้ำไหล ให้ขนาดของวงล้อใหญ่สูงกว่าระดับตลิ่งเพื่อให้น้ำไหลลงไปตามรางรับน้ำที่ทอดไปสู่บริเวณที่ต้องการน้ำ บนขอบของวงล้อมีภาชนะสําหรับตักน้ำ ซึ่งมีหลักฐานว่าเริ่มจากในอียิปต์โบราณ อาหรับ หรือเปอร์เซีย[3] (เรืยก Noria) กังหันวิดน้ำนี้ในประเทศไทยอาจเรียกว่า ระหัดวง หรือ หลุก[4][5]
ในประเทศอินเดีย ระหัดมีชื่อเรียกในภาษาฮินดีและอูรดูว่า Rahat (ราหัท)[6][7] หรือ Rehat เป็นเครื่องชักน้ำคล้ายระหัดคือมีสายโซ่ที่เรียงด้วยกระบอกน้ำหลายใบ แต่ไม่มีราง ใช้ชักน้ำด้วยแรงคนหรือสัตว์ในแนวดิ่งจากบ่อน้ำที่มีความลึกค่อนข้างมาก [8]
ในประเทศไทยไม่มีหลักฐานที่จะค้นคว้าหรืออ้างอิงได้แน่นอนว่า คนไทยใช้ระหัดหรือได้รับการแนะนำให้รู้จักในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงรวมทั้งประเทศไทยตั้งแต่สมัยใด คําว่า “ระหัด” ที่ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของ ดร.แดนนิช แบรดเลย์ หรือหมอบรัดเลย์ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 เขียนว่า “ระหัศ อย่างหนึ่ง เป็นของเครื่องใช้บีบเยื่อฝ้ายให้เล็ดออกเสีย นั้น, อย่างหนึ่งเป็นเครื่องวิดน้ำเข้านา” [1] จากหลักฐานดังกล่าวนี้แสดงว่า ระหัดเป็นเครื่องวิดน้ำที่คนไทยใช้กันมาอย่างน้อยร้อยปีเศษแล้ว
ลักษณะ
แก้ระหัดในประเทศไทยมักทำด้วยไม้สักเนื่องจากทนน้ำ[5][9][10] ระหัดมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ รางน้ำ ใบระหัด และกงระหัด
โครงรางน้ำ โดยมากใช้ไม้สักทำเป็นโครง มีความยาวประมาณ 3 – 6 เมตร ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ตีประกบทั้ง 2 ข้าง ให้รางน้ำซีกข้างบนโปร่ง ด้านล่างตีไม้ทึบ รางน้ำมีความสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร รางเป็นชั้นเดียว หรือสองชั้นหากรางมีความยาวมากซึ่งต้องแยกใบระหัดทั้งสองทางออกจากกัน
ใบระหัด โซ่ระหัด หรือลูกระหัด เป็นไม้แผ่นบางแบนเพื่อดันน้ำเข้าไปตามราง[1] เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 30 – 40 ใบ กว้างประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร เข้าเดือยใบระหัดแต่ละใบโดยใช้สลักตอกให้แกนใบยึดซึ่งกันและกัน ใบระหัดยึดคล้องกันแบบลูกโซ่ มีความยาวประมาณ 2 เท่า ของรางน้ำ ระหัดวิดน้ำอาจมีขนาดสั้นและยาวตามความต้องการของผู้ใช้
เพลา หรือกงระหัด หรือจักรระหัด มี 2 ชิ้นหัวและท้ายราง เป็นท่อนไม้วงกลมใช้ไม้หรือเหล็กเป็นแกน เจาะรูหลวม ๆ ให้หมุนได้สะดวก มีลักษณะคล้ายฟันเฟือง 6 หรือ 8 ซึ่ หมุนสับกันเป็นวง ทำหน้าที่ชักดึงให้ใบระหัดเคลื่อนหมุนได้ด้วยแรงหมุน แรงที่หมุนเพลานี้อาจต่อเข้ากับมือหมุน 2 ข้างจะทำเป็นแกนมีที่จับ เจาะรูยึดกับแกนเพลา ใช้หมุนโดยการดึงสลับข้างกัน มือหมุนอาจต่อกับไม้ชักอีกทีเพื่อทุ่นแรง (คล้ายการถีบจักรยาน) ข้อจํากัดของระหัดมือที่ คือ ต้องใช้แรงคนซึ่งไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงพัฒนาโดยต่อการฉุดเพลาเข้ากับแรงอื่น ได้แก่ เท้าถีบ หรือเพลาเดิน หรือใช้แรงสัตว์เทียมกับล้อเพลาที่มีฟันเฟืองผ่านแรง หรือใช้แรงกลแปลงจากกระแสน้ำหรือลม หรือเครื่องยนต์เป็นตัวฉุด และมีรางขนาดใหญ่ขึ้น[1]
เวลาใช้จะวางระหัดด้านปลายจุ่มไปในน้ำให้เอียงทอดไปบนคันนา ซึ่งมีความลาดชันไม่มากเกิน ดึงมือหมุนทีละข้างสลับกันไปเรื่อย ๆ แกนเพลาเมื่อหมุนแล้วจะทำให้ฟันเฟืองและใบระหัดหมุนตาม ใบระหัดจะพุ้ยน้ำหรือตักน้ำขึ้นมาในรางและไหลออกตรงช่องมือหมุน การวิดระหัดอาจใช้คนเดียวหรือ 2 คน ช่วยกันหมุน ซึ่งทำให้ผ่อนแรงได้มากการใช้ระหัดวิดน้ำนอกจากใช้เพื่อการเพาะปลูกแล้ว ยังใช้วิดน้ำหาปลาได้อีกด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทยไม่นิยมใช้ระหัดวิดน้ำในการกสิกรรมแล้ว โดยส่วนมากเกษตรกรหันมาใช้เครื่องสูบน้ำเข้ามาแทน แต่อาจพบเห็นได้ในนาเกลือซึ่งเป็นระหัดที่ีใช้แรงกลแปลงจากกระแสลม
ส่วนประกอบสำคัญของระหัดฉุดน้ำแบบกังหันลม
แก้- ส่วนของใบพัด ก้านใบทำจากไม้ยึดติดกับแกนหมุน ใบรับลมทำจากเสื่อ ลำแพน หรือ ผ้าใบ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้แผ่นพลาสติก มีจำนวน 6 ใบ แกนหมุนตั้งในแนวนอนอยู่บนเสาไม้
- เสาของกังหันลม ทำจากไม้จำนวน 2 ต้น ปักไว้เป็นคู่เพื่อรองรับแกนหมุน
- สายพานขับแกนเพลา ทำจากเชือกที่มีความเหนียวและทนต่อแรงเสียดสี ทำหน้าที่ถ่ายแรงจากการหมุนของแกนหมุนไปยังแกนเพลาให้หมุนตามเพื่อใช้ฉุดระหัดไม้
- แกนเพลา ทำจากเหล็กหรือไม้กลม วางอยู่บนเสาไม้คู่เหนือพื้นดินที่พอเหมาะ มีซี่ไม้ลักษณะคล้ายเฟืองยึดติดกลางแกนเพลาเพื่อขับหมุนฉุดแผ่นระหัด
- ส่วนของรางน้ำและระหัด ทำจากไม้ ลักษณะรางน้ำเป็นกล่องรางไม้ตัว บ. (ตัวยู u) เป็นร่องน้ำเปิดโปร่ง พาดเฉียงระหว่างท้องน้ำ กับพื้นนาเกลือแล้วใช้ไม้แผ่นขนาดเท่าหน้าตัดของกล่องรางน้ำทำระหัดเรียงต่อกันเป็นซี่ ๆ ด้วย เชือก หรือ โซ่ห่างกันพอประมาณเพื่อกักเก็บและฉุดน้ำเคลื่อนตัวจากที่ต่ำขึ้นที่สูง
อ้างอิง
แก้- กังหันลมแบบระหัดฉุดน้ำของคนไทยโบราณ เก็บถาวร 2009-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ศิลปวัฒนธรรม. ระหัด เครื่องวิดน้ำภูมิปัญญาพื้นบ้าน 2 กันยายน พ.ศ. 2562.
- ↑ 钦定古今图书集成/经济汇编/考工典/第244卷
- ↑ Srikantaiah Vishwanath. The Persian Wheel in India. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
- ↑ https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=skit&month=10-2009&date=28&group=8&gblog=27
- ↑ 5.0 5.1 วารสารสิ่งแวดล้อม ระหัดวิดน้ำ : การจัดการทรัพยากรน้ำตามภูมินิเวศน์ของชุมชนลุ่มน้ำลำตะคอง สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 19 เมษายน 2562.
- ↑ The Tribune India. ‘Rahat’: A farmers’ companion of olden days สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
- ↑ India Culture. RAHAT- A Traditional Irrigation Technique, Madhya Pradesh สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
- ↑ S.Vishwanath, Amitangshu Acharya. Persian wheel : The water lifting device in Kolar, Karnataka India Water Portal.
- ↑ บริษัท โรงเลื่อยจักรเสริมวงศ์ จำกัด ข้อดีของการใช้ไม้สักมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
- ↑ ไม้ที่ใช้ทำเรือ เก็บถาวร 2020-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.