มะเร็งกล่องเสียง

มะเร็งกล่องเสียง (อังกฤษ: laryngeal cancer, cancer of the larynx, laryngeal carcinoma) เป็นมะเร็งของ squamous cell ซึ่งเป็นเซลล์เยื่อบุผิวในร่างกายอย่างหนึ่งในสามอย่าง[A] โดยมะเร็งอาจเกิดที่ส่วนไหนก็ได้ของกล่องเสียง และความสำเร็จในการรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง ในการจัดระยะโรค กล่องเสียงจะแบ่งตามกายวิภาคออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • ชุดสายเสียง (glottis) รวมสายเสียงแท้ แนวเชื่อม (commissure) ทั้งด้านหน้าด้านหลัง
  • เหนือชุดสายเสียง (supraglottis) รวมทั้งฝากล่องเสียง, arytenoids, aryepiglottic folds, และสายเสียงไม่แท้
  • ใต้ชุดสายเสียง (subglottis)
มะเร็งกล่องเสียง
(Laryngeal cancer)
ภาพส่องกล้องของมะเร็งกล่องเสียง
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10C32.c
ICD-9161
NCIมะเร็งกล่องเสียง
MeSHD007822

มะเร็งกล่องเสียงโดยมากจะเกิดที่ชุดสายเสียง ตามด้วยมะเร็งเหนือชุดสายเสียง และท้ายสุด มะเร็งใต้ชุดสายเสียง

มะเร็งกล่องเสียงอาจกระจายต่อไปยังโครงสร้างใกล้ ๆ แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ ที่คอ หรือแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปที่ไกล ๆ การแพร่กระจายแบบไกลไปยังปอดจะสามัญที่สุด ในปี 2013 มันทำให้คนไข้เสียชีวิต 88,000 รายโดยเพิ่มจาก 76,000 รายในปี 1990[1] อัตราการรอดชีวิตหลัง 5 ปีในสหรัฐอยู่ที่ 60%[2]

อาการ แก้

อาการของมะเร็งกล่องเสียงจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง อาการอาจรวม[3][4]

  • เสียงแหบและการเปลี่ยนแปลงเสียงอื่น ๆ
  • มีก้อนที่คอ
  • เจ็บคอหรือรู้สึกว่ามีอะไรติดอยู่ที่คอ
  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจมีเสียงฮื๊ดเป็นเสียงแหลมที่แสดงว่า ทางเดินลมแคบลงหรือถูกขัดขวาง
  • ลมหายใจเหม็น
  • เจ็บหู (เป็นอาการปวดต่างที่)
  • กลืนลำบาก

การรักษาอาจทำให้ลักษณะภายนอกเปลี่ยนไปในภายหลัง ทานอาหารลำบาก และไม่มีเสียงซึ่งทำให้ต้องหัดพูดโดยวิธีอื่น[5]

ปัจจัยเสี่ยง แก้

การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับโรคนี้ ผู้สูบบุหรี่จัดมีโอกาสเสียชีวิตเพราะโรค 20 เท่าเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่[6] การติดสุราก็มีผลสำคัญ และถ้ามีปัจจัยทั้งสอง ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงยิ่งกว่าถ้าเพียงแค่ทั้งสองร่วมกัน และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อ้างจริง ๆ ก็อาจเนื่องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นระยะยาว รวมทั้งทางฐานะทางสังคม-เศรษฐกิจต่ำ เพศชาย และอายุมากกว่า 55 ปี

ผู้ที่มีประวัติมะเร็งที่ศีรษะและคอก็มีความเสี่ยงสูงกว่า (ประมาณ 25%) ในการมีมะเร็งอีกที่ศีรษะ คอ หรือปอด โดยหลักก็เพราะในคนไข้โดยมาก เนื้อเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-ลมหายใจและของปอดจะได้รับผลก่อมะเร็งของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ในกรณีนี้ เนื้อเยื่อบุผิวอาจจะเจริญผิดปกติ (dysplasia) อย่างกระจายไปทั่ว ทำให้อ่อนแอในการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้าย แต่ก็อาจลดความเสี่ยงนี้ได้โดยหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหยุดสูบบุหรี่

การวินิจฉัย แก้

แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้อาศัยประวัติคนไข้ การตรวจร่างกาย และวิธีการตรวจอื่น ๆ รวมทั้งเอ็กซ์เรย์หน้าอก เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ และการตัดเนื้อออกตรวจ การตรวจกล่องเสียงอาจต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทาง

การตรวจร่างกายรวมการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปและการสืบหาสภาพต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับโรคและมะเร็งที่ได้กระจายแล้ว แพทย์จะคลำคอเหนือกระดูกไหปลาร้าเพื่อตรวจโรคต่อม ก้อนอื่น ๆ และเสียงกรอบแกรบที่กล่องเสียง ส่องดูช่องปากและคอหอยที่มองเห็นได้โดยตรง ส่วนกล่องเสียงสามารถส่องดูโดยใช้กระจกเล็ก ๆ ที่ติดเป็นมุมกับด้ามยาว (indirect laryngoscopy) คล้ายกับที่ทันตแพทย์ใช้บวกกับแสงสว่าง ซึ่งสามารถมีประสิทธิผลดี แต่แพทย์จะต้องมีฝีมือเพื่อให้ได้ผลที่คงเส้นคงวา เพราะเหตุนี้ แพทย์เฉพาะทางจำนวนหนึ่งปัจจุบันจึงใช้กล้องส่องติดเส้นใยนำแสงชนิดอ่อนงอได้ ซึ่งสอดผ่านจมูกเพื่อให้เห็นคอหอยและกล่องเสียงได้อย่างชัดเจน เป็นหัตถการที่ทำได้ง่ายและเร็วในห้องตรวจ โดยอาจใช้ยาชาเฉพาะที่

ถ้าแพทย์สงสัยว่าอาจมีมะเร็ง ก็จะต้องตัดเนื้อออกตรวจ โดยปกติจะให้ยาสลบ ซึ่งจะเป็นข้อยืนยันทางมิญชวิทยาว่า เป็นมะเร็งประเภทใดและเป็นแค่ไหน และถ้ารอยโรคดูจะเล็กและอยู่เฉพาะที่ แพทย์อาจจะตัดเนื้องอกทั้งหมดออกเมื่อตัดเนื้อออกตรวจในคราวเดียวกัน ในกรณีนี้ พยาธิแพทย์จะไม่เพียงแต่ยืนยันวินิจฉัย แต่สามารถแสดงความเห็นว่า ได้ตัดเนื้องอกออกทั้งหมดแล้วหรือไม่ ในช่วงตัดเนื้องอกออกตรวจ บ่อยครั้งแพทย์จะส่องดูกล่องเสียง ท่อลม และหลอดอาหารทั้งหมด

สำหรับเนื้องอกเล็ก ๆ ที่กล่องเสียง การส่องดูอีกอาจไม่จำเป็น ในกรณีโดยมาก การตรวจระยะของมะเร็งจะทำโดยตรวจดูบริเวณศีรษะและคอทั้งหมด เพื่อดูขนาดของเนื้องอกและต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอที่โตขึ้นผิดปกติ

แผนการรักษาขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ระยะ (ขนาดเนื้องอก การแพร่กระจายทั้งไกลและใกล้) และประเภทเนื้อเยื่อ โดยพิจารณาสุขภาพและความต้องการของคนไข้ด้วย การแยกแยะโรคแบบ prognostic multigene classifier อาจมีประโยชน์เพื่อแยกแยะมะเร็งกล่องเสียงว่า มีโอกาสเกิดอีกมากหรือน้อย ซึ่งอาจมีผลต่อทางเลือกในการรักษาในอนาคต[7]

ระยะ แก้

เนื้องอกเนื้อเยื่อบุผิวอาจจัดระยะตามแนวทางขององค์กรสหภาพเพื่อควบคุมมะเร็งสากล (UICC)[8] โดยมีเกณฑ์ 3 อย่างคือ ขนาด (T) การแพร่กระจายเฉพาะพื้นที่ (N) และการแพร่กระจายไปในที่ไกล ๆ (M)

ขนาด: T แก้

หมวดนี้พิจารณาขนาดของก้อนเนื้องอกหลัก

เหนือชุดสายเสียง แก้
  • T1 - มีเนื้องอกข้างหนึ่งเหนือชุดสายเสียงโดยสายเสียงยังขยับได้ปกติ
  • T2 - เนื้องอกที่สายเสียงโดยยังไม่ยึดกับกล่องเสียง
  • T3 - เนื้องอกที่กล่องเสียงโดยยึดกับสายเสียง และ/หรือการกระจายเข้าไปยัง postcricoid area ไปยังเนื้อเยื่อก่อนฝากล่องเสียง (preepiglottic) หรือกินเข้าไปในกระดูกอ่อนไทรอยด์
  • T4
    • a - กระจายผ่านกระดูกอ่อนไทรอยด์เข้าไปยังท่อลมและเนื้อเยื่ออ่อนที่คอ/ลิ้น
    • b - กระจายเข้าไปในช่องหน้ากระดูกสันหลัง ไปยังโครงสร้างตรงกลาง หรือไปยังหลอดเลือดแดงแครอทิด
ที่ชุดสายเสียง แก้
  • T1 - สายเสียงยังขยับได้ตามปกติ
    • a - เนื้องอกที่สายเสียงเดียว
    • b - เนื้องอกที่สายเสียงทั้งสอง
  • T2 - เนื้องอกขึ้นไปเหนือหรือใต้ชุดสายเสียง และ/หรือขยับสายเสียงได้อย่างพิการ
  • T3 - เนื้องอกที่กล่องเสียงโดยยึดกับสายเสียง หรือยื่นเข้าไปในช่องข้าง ๆ สายเสียง หรือกินเข้าไปในกระดูกอ่อนไทรอยด์
  • T4
    • a - กระจายผ่านกระดูกอ่อนไทรอยด์เข้าไปยังท่อลมและเนื้อเยื่ออ่อนที่คอ/ลิ้น
    • b - กระจายเข้าไปในช่องหน้ากระดูกสันหลัง ไปยังโครงสร้างตรงกลาง หรือไปยังหลอดเลือดแดงแครอทิด
ใต้ชุดสายเสียง แก้

มีน้อย

การแพร่กระจายเฉพาะพื้นที่ (N) แก้

หมวดนี้พิจารณาการแพร่กระจายเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองที่คอใกล้ ๆ กำหนดโดยเส้นผ่าศูนย์กลางที่กว้างสุด

  • N0 - ไม่แพร่กระจาย
  • N1 - แพร่กระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวกันต่อมเดียวโดยมีขนาด ≤ 3 ซม.
  • N2
    • a - แพร่กระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวกันต่อมเดียวโดยมีขนาด > 3 ซม. และ ≤ 6 ซม.
    • b - แพร่กระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวกันหลายต่อมโดยมีขนาด ≤ 6 ซม.
    • c - แพร่กระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองทั้งสองข้างหรือในข้างตรงกันข้ามโดยมีขนาด ≤ 6 ซม.
  • N3 - แพร่กระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองโดยมีขนาด > 6 ซม.

การแพร่กระจายไปในที่ไกล ๆ (M) แก้

หมวดนี้พิจารณาระยะการแพร่กระจายจากเนื้องอกหลัก

  • M0 - แพร่กระจายไปที่ใกล้ ๆ
  • M1 - แพร่กระจายไปที่ไกล

การรักษา แก้

การรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ชนิด และระยะของเนื้องอก ซึ่งอาจรวมการผ่าตัด รังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด ไม่ว่าจะเดี่ยว ๆ หรือร่วมกัน ซึ่งอาจต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ รวมทั้งหมอหูคอจมูกและหมอโรคมะเร็ง คนไข้ที่มีอาการรุนแรงอาจต้องตัดกล่องเสียง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด[9]

ในสหรัฐอเมริกา แก้

อุบัติการณ์ของโรคในสหรัฐอยู่ที่ 5 รายต่อประชากรแสนคน หรือมีคนไข้ใหม่ 12,500 คนทุกปี[10]สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ACS) ประเมินว่าชาย 7,700 คนและหญิง 1,810 คน (รวม 9,510 คน) จะได้วินิจฉัยว่าเป็นโรค และ 3,740 คนจะเสียชีวิตเพราะโรคในปี 2006

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (NIH) จัดมะเร็งกล่องเสียงว่าเป็นโรคที่มีน้อย คือมีประชากรน้อยกว่า 200,000 คนที่เป็นโรคในสหรัฐ[11]

เชิงอรรถ แก้

  1. เยื่อบุผิวมีเซลล์รูปร่างต่าง ๆ โดยหลัก 3 อย่าง คือ squamous cell, columnar cell, และ cuboidal cell

อ้างอิง แก้

  1. Naghavi M, Wang H, Lozano R, Davis A, Liang X, Zhou M, และคณะ (GBD 2013 Mortality and Causes of Death Collaborators) (January 2015). "Global, regional, and national age-sex specific all-cause and cause-specific mortality for 240 causes of death, 1990–2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013". Lancet. 385 (9963): 117–171. doi:10.1016/S0140-6736(14)61682-2. PMC 4340604. PMID 25530442.
  2. "SEER Stat Fact Sheets: Larynx Cancer". NCI. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
  3. "Laryngeal cancer". Mount Sinai Hospital. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-09.
  4. DeVita, Vincent (Jr.) T; Lawrence, Theodore S; Rosenberg, Steven A, บ.ก. (2014). DeVita, Hellman, and Rosenberg's Cancer: Principles & Practice of Oncology (10th ed.). ISBN 9781451192940.
  5. "Cancer of the Larynx - Causes, Symptoms, Treatment, Diagnosis - MedBroadcast.com" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-01-25.
  6. Ridge, JA; Glisson, BS; Lango, MN; และคณะ (2008). Pazdur, R; Wagman, LD; Camphausen, KA; Hoskins, WJ (บ.ก.). Head and Neck Tumors. Cancer Management: A Multidisciplinary Approach (11th ed.). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-20. สืบค้นเมื่อ 2018-08-28.
  7. Mirisola, V; Mora, R; Esposito, AI; Guastini, L; Tabacchiera, F; Paleari, L; Amaro, A; Angelini, G; Dellepiane, M; Pfeffer, U; Salami, A (August 2011). "A prognostic multigene classifier for squamous cell carcinomas of the larynx". Cancer Letters. 307 (1): 37–46. doi:10.1016/j.canlet.2011.03.013. PMID 21481529.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  8. "Staging of laryngeal cancer". oncolex.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-25. สืบค้นเมื่อ 2018-01-25.
  9. "Cancer - throat or larynx". MedlinePlus Medical Encyclopedia.
  10. Samuel W. Beenken, MD. "Laryngeal Cancer (Cancer of the larynx)". Laryngeal Cancer (Cancer of the larynx). Armenian Health Network, Health.am. สืบค้นเมื่อ 2007-03-22.
  11. "Annual Report on the Rare Diseases and Conditions Research". National Institutes of Health. สืบค้นเมื่อ 2007-03-22.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้