สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ

สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ (เขมร: សាកលវិទ្យាល័យភូមិន្ទភ្នំពេញ สากลวิทฺยาลัยภูมินฺทภฺนํเพญ; อังกฤษ: Royal University of Phnom Penh หรือ RUPP ) เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุด มหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 12,000 คน ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และยังเป็นสมาชิกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน นอกจากหลักสูตรระดับปริญญาที่ครอบคลุมในสาขาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แล้วมหาวิทยาลัยยังมีหลักสูตรวิชาชีพ เปิดสอนในสาขา เทคโนโลยีสารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ จิตวิทยา และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ยังมีหลักสูตรทางภาษาต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เปิดสอนในสถาบันภาษาต่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ
សាកលវិទ្យាល័យភូមិន្ទភ្នំពេញ
คติพจน์Building Human Resources For The Nation ("สร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อชาติ")
ประเภทมหาวิทยาลัยแห่งชาติ
สถาปนาค.ศ. 1960
ประธานProf.Lav Chhiv Eav
ผู้ศึกษา12,000 คน
ที่ตั้ง,
11°34′08″N 104°53′29″E / 11.569°N 104.8914°E / 11.569; 104.8914พิกัดภูมิศาสตร์: 11°34′08″N 104°53′29″E / 11.569°N 104.8914°E / 11.569; 104.8914
เพลงประจำสถาบัน"បុប្ផាភូមិន្ទ"
("บุปผาภูมินท์")[1]
เครือข่ายAUN, GMSARN
เว็บไซต์เว็บไซด์ทางการของสากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ
ทางเข้าสากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ
สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ 2

สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ มีเจ้าหน้าที่เต็มเวลาอยู่ 420 คน คณาจารย์ 294 คน ซึ่งมีวุฒิระดับปริญญาเอก 15 คน ปริญญาโท 132 คน เจ้าหน้าที่ทางด้านธุรการและซ่อมบำรุง 140 คน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังเป็นจุดเชือมต่อกันระหว่างบุคลากรจากองค์การพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งในและต่างประเทศ, ระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และ กระทรวงต่าง ๆ จึงทำให้มหาวิทยาลัยมีบุคลากรแบบไม่เต็มเวลาจากองค์กรเหล่านี้อีกเป็นจำนวนมาก[2] สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญมีค่าเล่าเรียนแต่ละหลักสูตรระดับปริญญาตรีอยู่ที 250 ถึง 450 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี แล้วแต่หลักสูตร[3]

ประวัติ[4] แก้

สมัยพระราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2497–2513) แก้

 
ตราประจำมหาวิทยาลัยสังคมราษฎรนิยมในช่วงการปกครองของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ เดิมมีชื่อว่า สากลวิทยาลัยสังคมราษฎรนิยม ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1960 โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งกำลังทรงปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้นได้ดำเนินนโยบายสังคมราษฎรนิยม พระองค์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการศึกษาซึ่งสามารถทำให้พระราชอาณาจักรกัมพูชาเจริญรุ่งเรืองได้ จึงทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัยสังคมราษฎรนิยมขึ้นและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยใช้ตรา "รูปฉลองพระองค์ครุยคลุมพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์และเครื่องหมายอุณาโลมภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมี ประคองโดยคชสีห์และราชสีห์" เป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัย ต่อมามหาวิทยาลัยได้มีการขยายอย่างรวดเร็วโดยรวมเอา สถาบันนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Institute of Judicial and Economic Studies), โรงเรียนแพทย์หลวง (Royal School of Medicine), วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์แห่งชาติ (National School of Commerce), สถาบันครุศาสตร์แห่งชาติ (National Pedagogical Institute), คณะอักษรศาสตร์และมานุษยวิทยา (Faculty of Letters and Human Sciences), คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Faculty of Science and Technology) โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส

สมัยสาธารณรัฐเขมร แก้

ในสมัยของ สาธารณรัฐเขมร (Khmer Republic) ในปี ค.ศ. 1970 มหาวิทยาลัยสังคมราษฎรนิยมถูกเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยพนมเปญ และเปลี่ยนเป็น สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1965 ถึง ค.ศ. 1975 มหาวิทยาลัยมีคณะต่าง ๆ คือ วิทยาลัยครูชั้นสูง (ฝรั่งเศส: École Normale Supérieure; อังกฤษ: Higher Normal College), คณะอักษรศาสตร์และมานุษยวิทยา (Letters and Humanities), วิทยาศาสตร์ (Science), เภสัชศาสตร์ (Pharmacy), นิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics), แพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ (Medicine and Dentistry), พาณิชยศาสตร์ (Commerce), ครุศาสตร์ (Pedagogy), สถาบันภาษา (Languages Institute)

สมัยเขมรแดง แก้

ในยุคกัมพูชาประชาธิปไตย ในช่วงปี ค.ศ. 1975 - ค.ศ. 1979 รัฐบาลเขมรแดงมองว่าการเรียนในรูปแบบปรกติเป็นภัยต่ออุดมการณ์ของรัฐบาล จึงได้มีการกวาดล้างทำลายระบบการเรียนการสอนในรูปแบบปรกติครั้งใหญ่ ทำให้ระบบการศึกษาของกัมพูชาหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง ในช่วงนี้เองที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในกัมพูชารวมถึงมหาวิทยาลัยพนมเปญถูกสั่งปิด การมีศึกษาถือว่าเป็นภัยและขัดต่ออุดมการณ์ของรัฐบาลเขมรแดง ทำให้มีการสังหารบุคลากรที่มีการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนเหล่านั้นรวมไปถึงคณาจารย์เกือบทั้งหมดของมหาวิทยาลัยพนมเปญด้วย ผู้มีการศึกษาบางส่วนที่รอดชีวิตก็มีเพียงไม่กี่คนที่กลับกัมพูชาหลังจากที่ชายแดนเปิด เหตุการณ์ในช่วงห้าปีนี้จึงนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

ยุคฟื้นฟูและปัจจุบัน แก้

ในปี ค.ศ. 1980 วิทยาลัยครูชั้นสูง ได้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นการสอนใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ในปี ค.ศ. 1981 สถาบันภาษาต่าประเทศเปิดทำการสอน โดยเริ่มจากการผลิตครูสอนภาษาเวียดนามและภาษารัสเซีย ในปี ค.ศ. 1988 วิทยาลัยและสถาบันภาษารวมกันเป็นมหาวิทยาลัยพนมเปญ และในปี ค.ศ. 1996 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ

ในทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รวมคณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา และสถาบันภาษาต่างประเทศ และในปี ค.ศ. 2001 มหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรและปริญญาโทในสาขาการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัย

คณะที่เปิดสอน[2] แก้

 
สถาบันภาษาต่างประเทศ (Institute of Foreign Languages (IFL) เป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในมหาวิทยาลัย
  • หลักสูตรปรับพื้นฐานสำหรับนักศึกษาใหม่ (Department of Foundation Studies)[5]
  • คณะวิทยาศาสตร์ (Faculty Of Science)
    • ภาควิชาชีววิทยา (Biology)
    • ภาควิชาเคมี (Chemistry)
      • เคมี
      • ชีวเคมี
      • เทคโนโลยีอาหาร
    • ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
    • ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Science)
    • ภาควิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics)
    • ภาควิชาฟิสิกส์ (Physics)
  • คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Faculty of Social Science and Humanities)
    • ภาควิชาภูมิศาสตร์ (Geography)
    • ภาควิชาประวัติศาสตร์ (History)
    • ภาควิชาวรรณกรรมเขมร (Khmer Literature)
    • ภาควิชาบริการสังคม (Social Work)
    • ภาควิชาภาษาศาสตร์ (Linguistics)
    • ภาควิชานิเทศศาสตร์ (Media and Communication)
    • ภาควิชาปรัชญา (Philosophy)
    • ภาควิชาจิตวิทยา (Psychology)
    • ภาควิชาสังคมศาสตร์ (Sociology)
    • ภาควิชาการท่องเที่ยว (Tourism)
  • สถาบันภาษาต่างประเทศ (Institute of Foreign Languages (IFL) )
    • ภาควิชาภาษาอังกฤษ (Department of English)
    • ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส (Department of French)
    • ภาควิชาภาษาญี่ปุ่น (Department of Japanese)
    • ภาควิชาภาษาเกาหลี (Department of Korean)
    • หลักสูตรภาษาเขมรสำหรับชาวต่างชาติ (Khmer for Foreigners)
    • หลักสูตรภาษาไทย (Thai Language Course)
    • หลักสูตรภาษาจีน (Chinese Language Course)
  • หลักสูตรปริญญาโท (master program)
    • วิศวกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Engineering)
    • ศึกษาศาสตร์ (Master of Education)
    • การพัฒนาการศึกษา (Development Studies)
    • การบริการสังคม (Social Work)
    • ภาษาศาสตร์ (Linguistics)
    • สังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา (Sociology-Anthropology)
    • หลักสูตรการสอนภาษาระดับสูง (TESOL)[6]
    • หลักสูตรการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Conservation)[7]
    • เคมี (Chemistry)
    • คณิตศาสตร์ (Mathematics)
    • หลักสูตรการแปลระดับสูง (เน้นที่ ภาษาเขมร อังกฤษ และ ฝรั่งเศส) (Translation Science)[8]
    • จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology)

ความร่วมมือกับรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา แก้

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของมหาวิทยาลัยในทุกหลักสูตร รวมไปถึงค่าไฟฟ้า ค่าดำเนินการ เงินเดือนพนักงาน (ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน) และทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ ล้วนได้มาจากรัฐบาลกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงศึกษาธิการและการกีฬา (MOEYS) นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและตัวแทนรัฐบาลยังให้ความสำคัญในการเข้าร่วมในพีธีมอบปริญญาบัตร พิธีเปิด และ พิธีต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. เพลงประจำสถาบันสากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ที่ยูทูบ
  2. 2.0 2.1 เว็บไซด์ทางการของสากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ
  3. "ค่าเล่าเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-08-23.
  4. ประวัติสากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ
  5. "หลักสูตรปรับพื้นฐานสำหรับนักศึกษาใหม่ (Department of Foundation Studies)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-26. สืบค้นเมื่อ 2011-08-23.
  6. "หลักสูตรการสอนภาษาระดับสูง (TESOL)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-28. สืบค้นเมื่อ 2011-08-23.
  7. "หลักสูตรการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Conservation)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-19. สืบค้นเมื่อ 2011-08-23.
  8. "หลักสูตรการแปลระดับสูง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-06. สืบค้นเมื่อ 2011-08-23.