ภาวะเสียการระลึกรู้

ภาวะเสียการระลึกรู้ หรือ ภาวะไม่รู้ (อังกฤษ: Agnosia มาจากภาษากรีกโบราณว่า ἀγνωσία ซึ่งแปลว่า ความไม่รู้ หรือ ความปราศจากความรู้, คำว่า gnosis ที่ไม่มี a ข้างหน้า แปลว่า ความรู้ความเข้าใจในเรื่องลี้ลับเช่นจิตวิญญาณเป็นต้น)[2] เป็นการสูญเสียความสามารถในการรู้จำวัตถุ บุคคล เสียง รูปร่าง หรือกลิ่น ในขณะที่การรับรู้ทางประสาทเฉพาะอย่างๆ ไม่มีความเสียหาย และไม่มีการสูญเสียความทรงจำเป็นสำคัญ[3] เป็นภาวะที่ปกติมีความเกี่ยวข้องกับความบาดเจ็บทางสมองที่เกิดขึ้น หรือโรคทางประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเกิดความเสียหายใน เขตบร็อดแมนน์ 37 คือช่วงต่อระหว่างสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบขมับ (occipitotemporal area) ซึ่งเป็นส่วนของทางสัญญาณด้านล่างของระบบการเห็น[4]

ภาวะเสียการระลึกรู้ (Agnosia)
ภาวะเสียการระลึกรู้เป็นเหตุให้คนไข้เสียความสามารถในการรู้จำหรือเข้าใจความหมายของวัตถุ แม้ว่าประสาทรับความรู้สึกจะเป็นปกติ[1]
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F80.2, F88.0 and R48.1
ICD-9784.69
eMedicineagnosia/
MeSHD000377
รูปแสดงทางสัญญาณด้านหลัง (สีเขียว) และทางสัญญาณด้านล่าง (สีม่วง) ทางสัญญาณทั้งสองนั้นเริ่มต้นมาจากที่เดียวกันในคอร์เทกซ์สายตา ภาวะเสียการระลึกรู้เกิดจากความเสียหายของทางสัญญาณด้านล่าง

ภาวะไม่รู้จะมีผลกับการรับรู้ทางประสาทอย่างเดียวเท่านั้น[5] เช่นการเห็นหรือการได้ยิน[6]

ประเภท แก้

ชื่อ คำอธิบาย
ภาวะบอดความเคลื่อนไหว (Akinetopsia) หรือรู้จักกันว่า ภาวะบอดความเคลื่อนไหวเหตุสมอง (Cerebral akinetopsia) เป็นความไม่สามารถเห็นความเคลื่อนไหว เหตุอย่างหนึ่งของภาวะนี้คือรอยโรคในคอร์เทกซ์สายตานอกคอร์เทกซ์ลาย[7]
ภาวะเสียสำนึกความพิการ (Anosognosia) เป็นภาวะที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลป้อนกลับ (feedback) เกี่ยวกับภาวะของตน และบางครั้งสับสนกับความไม่มีความเข้าใจ แต่ความจริงเกิดขึ้นจากปัญหาในกลไกเกี่ยวกับข้อมูลป้อนกลับในสมอง เกิดขึ้นจากความเสียหายทางประสาท และสามารถเกิดขึ้นร่วมกับความบกพร่องทางประสาทอย่างอื่นๆ โดยมากแล้ว ตรวจพบในคนไข้ที่ส่งไปหาแพทย์ในกรณีอัมพาตเพราะโรคลมปัจจุบัน (stroke) ผู้มีภาวะนี้พร้อมกับความบกพร่องอย่างอื่นๆ อาจจะรับรู้ความบกพร่องบางอย่างของตน แต่ไม่สามารถรับรู้ความบกพร่องทุกอย่างโดยสิ้นเชิง
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบวิสัญชาน (apperceptive visual agnosia) คือคนไข้ไม่สามารถจำแนกรูปร่างต่างๆ ทางตา และมีปัญหาในการรู้จำ การลอกแบบรูปภาพ และการแยกแยะระหว่างตัวกระตุ้นต่างๆ ทางตา โดยที่ต่างจากคนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบสัมพันธ์ (associative visual agnosia) คนไข้แบบวิสัญชานไม่สามารถลอกแบบรูปภาพต่างๆ ได้เลย[8]
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบสัมพันธ์ (associative visual agnosia) คือคนไข้สามารถพรรณนาถึงทัศนียภาพทางตาและประเภทต่างๆ ของวัตถุได้ แต่ไม่สามารถรู้จำวัตถุเหล่านั้นได้ (คือไม่รู้ว่าเป็นอะไร) ตัวอย่างเช่น คนไข้อาจจะรู้ว่าซ่อมนั้นเอาไว้ใช้ทานอาหาร แต่อาจจะสับสนซ่อมโดยเห็นว่าเป็นช้อน คนไข้มีภาวะนี้สามารถลอกแบบรูปภาพได้
Astereognosis หรือรู้จักกันว่า ภาวะเสียการระลึกรู้ความรู้สึกทางกาย (Somatosensory agnosia) เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกสัมผัส คนไข้อาจจะมีปัญหาในการรู้จำวัตถุโดยการสัมผัสที่ใช้เพื่อจะรู้เนื้อของวัตถุ (texture) ขนาด และน้ำหนัก แต่ว่า อาจจะสามารถพรรณนาถึงวัตถุโดยคำพูด หรือรู้จำวัตถุนั้นโดยภาพ และสามารถวาดรูปวัตถุนั้นได้ มีการสันนิษฐานว่า เป็นภาวะเกิดจากรอยโรคหรือความเสียหายในคอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกาย (somatosensory cortex)
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางหู
(Auditory agnosia)
เป็นภาวะที่รู้จักกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877[9] คนไข้ภาวะนี้มีปัญหาในการแยกแยะเสียงในสิ่งแวดล้อมและคำพูด รวมทั้งปัญหาการแยกแยะเสียงพูดและเสียงที่ไม่ใช่คำพูดแม้ว่าการได้ยินจะเป็นปกติ ภาวะนี้มี 2 ประเภท คือ แบบสัมพันธ์ความหมาย (semantic associative) และแบบแยกแยะ (discriminative) แบบสัมพันธ์ความหมาย มีความเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองซีกซ้าย เปรียบเทียบกับ แบบแยกแยะซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองซีกขวา[10]
ภาวะเสียการระลึกรู้ศัพท์ทางหู
(Auditory verbal agnosia)
หรือรู้จักกันว่า ภาวะหนวกคำล้วนๆ (Pure Word Deafness) เป็นภาวะที่มีความหนวกในความหมายของคำ คือ การได้ยินไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาอย่างสำคัญในการรู้จำคำพูดว่ามีความหมายอะไร
Autotopagnosia เกี่ยวกับความไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของอวัยวะในร่างกาย และมักเกิดขึ้นเพราะรอยโรคในสมองกลีบข้าง
ภาวะบอดสีเหตุสมอง (Cerebral achromatopsia) หรือรู้จักกันอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะเสียการระลึกสี (Color agnosia) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแยกประเภทของสีด้วย เกี่ยวกับการรู้จำสีด้วย ภาวะนี้มักจะเกิดเพราะความเสียหายทางประสาท[11][12] มีเขต 2 เขตในสมองที่มีกิจเฉพาะในการรู้จำสี คือเขตสายตา V4 และเขตสายตา V8 ถ้ามีรอยโรคข้างเดียวในเขต V4 ก็จะเกิดการสูญเสียการรับรู้สีซึ่งเรียกว่า hemiachromatopsia (ภาวะบอดสีข้างเดียว)[5]
ภาวะหนวกเหตุสมอง (Cortical deafness) หมายถึงคนไข้ผู้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทางหู แม้ว่าอวัยวะคือหูจะไม่ปรากฏว่ามีปัญหา
ภาวะไม่รู้สิ่งแวดล้อม (Environmental Agnosia) เป็นความไม่สามารถบ่งบอกตำแหน่งของห้องหรืออาคารที่มีความคุ้นเคย และความไม่สามารถบอกเส้นทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง คนไข้ภาวะนี้มีปัญหาในการเรียนรู้เส้นทาง มักเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองทั้งสองซีกหรือซีกขวาซีกเดียวทางด้านหลัง และยังมีความเกี่ยวข้องกับภาวะบอดใบหน้า (prosopagnosia) และโรคพาร์กินสัน[5]
ภาวะไม่รู้นิ้ว
(Finger agnosia)
เป็นความไม่สามารถที่จะแยกแยะนิ้วมือทั้งของตนและของผู้อื่นได้ มีเหตุคือรอยโรคในสมองกลีบข้างในด้านซีกสมองที่เป็นใหญ่ (คือคนถนัดขวาจะมีสมองซีกซ้ายเป็นใหญ่) และเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของ Gerstmann syndrome
ภาวะไม่รู้รูปร่าง
(Form agnosia)
คนไข้รับรู้ได้แต่รายละเอียดเป็นส่วนๆ แต่ไม่สามารถรับรู้วัตถุโดยองค์รวมทั้งวัตถุได้
Integrative agnosia โดยปกติแล้วคนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้มักจะเป็นแบบสัมพันธ์ (associative) หรือแบบวิสัญชาน (appreceptive) แต่ว่าในแบบ integrative คนไข้มีความสามารถระดับที่อยู่ในระหว่างแบบสัมพันธ์ และแบบวิสัญชาน คือามารถรู้จำองค์ประกอบของวัตถุได้ แต่ไม่สามารถประสานองค์ประกอบเหล่านั้นให้เป็นวัตถุโดยองค์รวมเพื่อที่จะรู้จำได้
ภาวะเสียการระลึกรู้ความเจ็บปวด (Pain agnosia) บางครั้งเรียกว่า Analgesia คนไข้มีปัญหาในการรับรู้และประมวลผลเกี่ยวกับความเจ็บปวด มีสันนิษฐานว่า เป็นภาวะที่เป็นมูลฐานของการทำร้ายตัวเองบางประเภท
Phonagnosia เป็นความไม่สามารถรู้จำเสียงที่คุ้นเคยได้ แม้ว่าผู้ฟังจะสามารถเข้าใจคำที่พูดได้[13]
ภาวะบอดใบหน้า (Prosopagnosia) คนไข้ไม่สามารถรู้จำใบหน้าที่คุ้นเคยได้ด้วยจิตใต้สำนึก และในบางกรณีแม้แต่จะเป็นใบหน้าของตน บางครั้งสับสนกับความไม่สามารถจำชื่อ
ภาวะเสียการอ่านล้วน (Pure alexia) เป็นความไม่สามารถในการรู้จำหนังสือ คนไข้ภาวะนี้บ่อยครั้งมีความเสียหายใน corpus callosum และต่อเขตสายตาสัมพันธ์ของสมองซีกซ้าย[5] ภาวะนี้เป็นความไม่สามารถในการอ่านหนังสือ แต่ยังเขียนหนังสือได้ คนไข้มักจะอ่านคำในหนังสือทีละอักษร[14] แต่ว่า ความปรากฏบ่อยๆ ของคำ มีผลต่อการอ่าน คนไข้สามารถอ่านคำที่ปรากฏบ่อยได้ดีกว่าและเร็วกว่าคำที่เกิดขึ้นไม่บ่อย[15]
ภาวะเสียการระลึกรู้ความหมาย (Semantic agnosia) คนไข้ภาวะนี้ "บอดวัตถุ" คือไม่เข้าใจว่าวัตถุที่เห็นคืออะไร มีประโยชน์อะไร และต้องใช้ระบบประสาทอื่นๆ นอกจากการเห็นเพื่อจะรู้จำวัตถุ ตัวอย่างเช่นต้องลูบคลำ แตะเบาๆ ดมกลิ่น หรือเขย่าวัตถุนั้น ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจวัตถุนั้นว่าคืออะไร[16]
Social-Emotional Agnosia บางครั้งเรียกว่า Expressive Agnosia เป็นภาวะเสียการระลึกรู้ประเภทที่คนไข้ไม่สามารถรับรู้สีหน้า ภาษากาย และน้ำเสียง ทำให้ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นที่ไม่ได้สื่อโดยคำพูดได้ กีดกันคนไข้จากการเข้าสังคมเพราะเหตุนั้น
Simultagnosia คือความไม่สามารถในการประมวลข้อมูลทางสายตาให้เป็นองค์รวม แทนที่จะทำอย่างนั้นได้ คนไข้ประมวลใบหน้า ร่างกาย วัตถุ ห้อง สถานที่ และรูปภาพทีละอย่างๆ[17] เมื่อมองดูภาพ คนไข้สามารถกล่าวถึงส่วนต่างๆ ของภาพนั้น แต่มีความยากลำบากในการเข้าใจภาพโดยองค์รวม ภาวะนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Bálint syndrome[18] แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะความบาดเจ็บในสมอง
ภาวะเสียการระลึกรู้โดยสัมผัส (Tactile agnosia) เป็นความเสียหายในความสามารถที่จะรู้จำวัตถุโดยการจับต้องเพียงอย่างเดียว[19]
ภาวะเสียการระลึกรู้เวลา (Time agnosia) คือการสูญเสียความเข้าใจในลำดับและช่วงเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ
Topographical disorientation
(ภาวะงุนงนสับสนภูมิประเทศ)
รู้จักอีกอย่างหนึ่งว่า Topographical agnosia (ภาวะเสียการระลึกรู้ภูมิประเทศ) หรือ Topographagnosia ซึ่งเป็นภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบหนึ่งที่คนไข้ไม่สามารถอาศัยสิ่งที่เห็นทางตาเพื่อจะนำทางไปได้ เนื่องจากความไม่สามารถที่จะรู้จำวัตถุ แต่ว่า คนไข้อาจจะมีความสามารถที่เยี่ยมในการพรรณนาถึงแผนผังของสถานที่เดียวกัน คนไข้ภาวะนี้มีความสามารถในการอ่านแผนที่ แต่จะหลงทางแม้ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย[20]
Visuospatial dysgnosia เป็นการสูญเสียความรู้สึกว่า "อยู่ที่ไหน" เกี่ยวกับตำแหน่งของตัวเองกับสิ่งแวดล้อม หรือของวัตถุกับวัตถุ[21] ภาวะนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับ Topographical disorientation
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (Visual agnosia) เป็นภาวะที่สัมพันธ์กับรอยโรคในสมองกลีบท้ายทอยซีกซ้ายและสมองกลีบขมับ ภาวะนี้มีหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับความไม่สามารถในการรู้จำวัตถุ[22]

ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา แก้

ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (Visual agnosia) เป็นกลุ่มของภาวะต่างๆ ที่คนไข้มีความบกพร่องในการรู้จำวัตถุทางตา ภาวะนี้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อย 2 อย่างคือ แบบวิสัญชาน (apperceptive visual agnosia) และแบบสัมพันธ์ (associative visual agnosia)[23]

คนไข้แบบวิสัญชานสามารถเห็นเส้นรูปร่างของวัตถุ แต่มีปัญหาถ้าต้องแยกประเภทวัตถุ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายในสมองซีกหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนหลังของซีกขวา[23] เปรียบเทียบกับคนไข้แบบสัมพันธ์ ผู้มีปัญหาในการบอกชื่อของวัตถุและมีความเสียหายในทั้งสมองซีกซ้ายทั้งซีกขวา ที่จุดเชื่อมของสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบขมับ.[23]

รูปแบบอย่างหนึ่งของแบบสัมพันธ์ก็คือ ภาวะบอดใบหน้า (Prosopagnosia) ซึ่งเป็นความไม่สามารถรู้จำใบหน้า ยกตัวอย่างเช่น คนไข้อาจมีปัญหาในการรู้จำเพื่อนๆ สมาชิกในครอบครัว และเพื่อนร่วมทำงาน[23] ถึงอย่างนั้น คนไข้ภาวะนี้ยังสามารถรู้จำวัตถุอื่นๆ ทางตาได้[24]

การตรวจโรค แก้

เพื่อจะตรวจว่าคนไข้มีภาวะนี้หรือไม่ ต้องตรวจว่า คนไข้ไม่ได้มีการสูญเสียความรู้สึกทางประสาท และว่า ทั้งความสามารถต่างๆ ในเรื่องภาษาและในเชาวน์ปัญญา ไม่มีความเสียหาย เพื่อจะวินิจฉัยว่ามีภาวะเสียการระลึกรู้ คนไข้ต้องมีความบกพร่องในประสาททางเดียว (มีทางตาหรือหูเป็นต้น)

แยกแยะระหว่างแบบวิสัญชานกับแบบสัมพันธ์ แก้

เพื่อจะทำการวินิจฉัย ต้องแยกว่า เป็นภาวะแบบวิสัญชานหรือแบบสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้โดยให้คนไข้ทำข้อทดสอบในการลอกรูปแบบและจับคู่รูปแบบ ถ้าคนไข้มีภาวะแบบวิสัญชาน ก็จะไม่สามารถจับคู่รูปแบบที่เหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน คนไข้มีภาวะแบบสัมพันธ์ ก็จะไม่สามารถจับคู่ตัวกระตุ้นตัวเดียวกันที่ปรากฏต่างๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้ทางตาอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถจับคู่รูปของโน้ตบุ๊กที่เปิดอยู่กับที่ปิดอยู่ได้[5]

วินิจฉัยภาวะบอดใบหน้า แก้

คนไข้ภาวะบอดใบหน้า มักจะรับการตรวจสอบโดยแสดงรูปของใบหน้ามนุษย์ที่มีความคุ้นเคย เช่นของดารา นักร้อง นักการเมืองที่มีชื่อเสียง และของสมาชิกในครอบครัว รูปที่ใช้จะเป็นรูปที่เหมาะสมต่อวัยและวัฒนธรรม คนตรวจจะถามคนไข้ให้บอกชื่อของแต่ละใบหน้า ถ้าคนไข้ไม่สามารถบอกชื่อของใบหน้าในรูปภาพ คนตรวจอาจจะถามคำถามที่ช่วยในการรู้จำใบหน้าในรูปภาพ[5]

เหตุ แก้

ภาวะเสียการระลึกรู้อาจจะเกิดจากโรคลมปัจจุบัน ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคทางประสาทอย่างอื่นๆ และก็อาจจะเกิดจากความบาดเจ็บที่ศีรษะ การอักเสบในสมอง หรือพันธุกรรม นอกจากนั้นแล้ว ประเภทบางอย่างของภาวะนี้ อาจจะเกิดจากโรคในช่วงพัฒนาการ (developmental disorder)[6] ความเสียหายที่จะทำให้เกิดภาวะนี้ได้ มักจะเกิดที่สมองกลีบท้ายทอยหรือสมองกลีบข้าง แม้ว่าการระลึกรู้ทางประสาททางหนึ่งอาจจะมีปัญหา (เช่นทางตา) แต่ว่าความสามารถในการรับรู้ต่างๆ อย่างอื่นจะไม่มีปัญหา[6]

พบว่า คนไข้ที่ได้คืนการเห็นจากความบอดอย่างไม่คาดคิด จะมีภาวะเสียการระลึกรู้อย่างสำคัญ หรืออย่างบริบูรณ์[25]

การรักษา แก้

โดยแนวการปฏิบัติ ไม่มีวิธีรักษาโดยตรงสำหรับผู้มีภาวะนี้ คนไข้อาจจะกระเตื้องขึ้นถ้าแสดงตัวกระตุ้นให้ทางประสาทอื่นที่ไม่ได้เสียหาย การบำบัดบางอย่างอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของภาวะนี้ ในบางกรณี กิจกรรมบำบัดหรือการบำบัดวจีเภท (speech therapy) สามารถทำภาวะนี้ให้ดีขึ้น โดยขึ้นอยู่กับสมุฏฐานของโรค

ในเบื้องต้น คนไข้หลายท่านที่มีภาวะเสียการระลึกรู้บางประเภท อาจจะไม่รู้ถึงระดับขอบเขตของความบกพร่องในการรับรู้หรือการรู้จำของตน ซึ่งอาจเป็นเพราะมีภาวะเสียสำนึกความพิการ (Anosognosia) ที่คนไข้ปราศจากการรับรู้ความบกพร่องนั้น และทำให้คนไข้ปฏิเสธหรือต่อต้านการช่วยเหลือและการรักษา

มีวิธีหลายอย่างที่สามารถช่วยคนไข้ให้รู้ถึงความเสียหายในการรับรู้หรือการรู้จำที่มี เช่น แสดงตัวกระตุ้นเพียงแต่ในทางประสาทที่คนไข้มีปัญหาเท่านั้น เพื่อช่วยเพิ่มความรู้สึกตัวถึงความบกพร่องของตน หรืออีกวิธีหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับกิจกรรมที่คนไข้มีปัญหา คือให้แยกกิจกรรมนั้นเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อชี้ให้คนไข้เห็นว่า มีปัญหาอยู่ที่ส่วนไหน

เมื่อคนไข้ยอมรับว่ามีความบกพร่องทางการรับรู้หรือการรู้จำ จึงอาจแนะนำการรักษาแบบใดแบบหนึ่ง กลวิธีการรักษาที่สามารถช่วยได้นั้นมีหลายอย่าง เช่น กลวิธีการทดแทนโดยใช้ทางประสาทอื่น กลวิธีคำพูด กลวิธีตัวช่วยอย่างอื่น หรือกลวิธีการจัดระเบียบ

กลวิธีการทดแทนโดยใช้ทางประสาทอื่น แก้

กลวิธีทดแทนโดยใช้ทางประสาทอื่น คือการใช้ทางประสาทที่ไม่เสียหายเพื่อทดแทนทางประสาทที่เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาอาจจะใช้ข้อมูลสัมผัสแทนที่ข้อมูลทางตา หรือว่า คนไข้ภาวะบอดใบหน้าอาจใช้ข้อมูลทางหูเพื่อทดแทนข้อมูลทางตา ตัวอย่างเช่น คนไข้ภาวะบอดใบหน้าสามารถรอให้บุคคลเป้าหมายพูด เพื่อที่จะรู้จำบุคคลนั้นได้จากการพูด[5]

กลวิธีคำพูด แก้

กลวิธีคำพูดอาจช่วยผู้มีภาวะเสียการระลึกรู้บางอย่าง คนไข้ภาวะบอดใบหน้าอาจได้ประโยชน์ในการฟังคำพรรณนาถึงเพื่อนๆ และสมาชิกในครอบครัว แล้วรู้จำบุคคลเหล่านั้นด้วยลักษณะต่างๆ ในคำพรรณนานั้น ซึ่งอาจง่ายกว่าการสังเกตลักษณะอื่นๆ เองทางตา[5]

กลวิธีตัวช่วยอย่างอื่น แก้

กลวิธีตัวช่วยอย่างอื่นอาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้มีภาวะไม่รู้สิ่งแวดล้อม (Environmental Agnosia) หรือภาวะบอดใบหน้า ตัวช่วยสำหรับผู้มีภาวะไม่รู้สิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นสีหรือตัวช่วยทางสัมผัส ที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับห้องใหม่ๆ หรือเขตและพื้นที่เพื่อช่วยกระตุ้นความทรงจำ ส่วนตัวช่วยสำหรับคนไข้ภาวะบอดใบหน้ามีลักษณะที่ไม่ทั่วไปเป็นต้นว่า แผลเป็นบนใบหน้าหรือฟันที่คด เพื่อจะช่วยให้รู้จำบุคคลนั้นได้[5]

กลวิธีการจัดระเบียบ แก้

กลวิธีการจัดระเบียบอาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (visual agnosia) ตัวอย่างเช่น จัดระเบียบเสื้อผ้าโดยใช้ที่แขวนที่แตกต่างกันเพื่อเป็นตัวช่วยทางสัมผัส ทำให้ง่ายในการหาเสื้อผ้าบางชนิด เปรียบเทียบกับการอาศัยเพียงแต่ตัวช่วยทางตาเท่านั้น[5]

ประวัติ แก้

ศัพท์ว่า "agnosia" (ภาวะเสียการระลึกรู้) ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยซิกมันด์ ฟรอยด์ ในปี ค.ศ. 1891[26] ว่า

สำหรับความปั่นป่วนในการรู้จำวัตถุต่างๆ ซึ่งฟิงเกลน์เบอร์กได้จัดเป็นประเภท asymbolia (ไม่รู้เครื่องหมาย) ข้าพเจ้าขอเสนอศัพท์ว่า agnosia

ก่อนการเสนอศัพท์นี้ของฟรอยด์ ความคิดเรื่องภาวะเสียการระลึกรู้มาจากเวอร์นิเก (ผู้ค้นพบเขตภาษาเวอร์นิเก ในสมอง) ผู้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะเสียการสื่อความด้านรับ (receptive aphasia) ขึ้นในปี ค.ศ. 1874 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า คนไข้ภาวะเสียการสื่อความด้านรับ ไม่สามารถเข้าใจคำพูดหรือกล่าวตามคำต่างๆ ได้ เวอร์นิเกเชื่อว่า ภาวะเสียการสื่อความด้านรับเกิดจากรอยโรคในส่วน 1/3 ท้ายของ รอยนูนกลีบขมับบน (superior temporal gyrus) และเพราะรอยโรคเหล่านี้ จึงเชื่อว่า คนไข้เหล่านี้มีความหนวกแบบจำกัดสำหรับเสียงบางอย่างและความถี่เสียงบางระดับในคำพูด[9]

หลังจากเวอร์นิเก ในปี ค.ศ. 1877 กุสมอล์ได้พยายามอธิบายเหตุของ ภาวะเสียการระลึกรู้ศัพท์ทางหู (Auditory verbal agnosia) ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะหนวกศัพท์ (word deafness) แต่โดยไม่เหมือนกับคำอธิบายของเวอร์นิเก กุสมอล์เชื่อว่า ภาวะนี้เกิดจากความเสียหายอย่างสำคัญต่อรอยนูนกลีบขมับ "ส่วนแรก" ซีกซ้าย และได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำเนิดของภาวะเสียการอ่าน (Alexia) ซึ่งรู้จักอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะบอดศัพท์ (word blindness) ว่า เกิดจากรอยโรคที่รอยนูนแองกูลาร์ (angular gyrus) และที่ Supramarginal gyrus ซีกซ้าย[9]

ส่วนเฮ็นริค ลิสเซาร์ ได้ให้ความคิดของเขาเกี่ยวกับภาวะเสียการระลึกรู้หลังเวอร์นิเกและกุสมอล์[9] ในปี ค.ศ. 1890 เขาได้ตั้งทฤษฎีขึ้นว่า มี 2 แบบ ที่การรู้จำวัตถุสามารถเกิดความเสียหายได้ คือ มีความเสียหายต่อการประมวลผลเพื่อการรับรู้ในระยะต้น หรือว่า มีความเสียหายต่อตัวแทนของวัตถุ (object representation) นั้น ถ้าตัวแทนวัตถุมีความเสียหาย วัตถุนั้นจะไม่สามารถบันทึกลงในความทรงจำทางตาได้ และดังนั้น บุคคลนั้นก็จะไม่สามารถรู้จำวัตถุนั้นได้[27]

ในสมัยของเวอร์นิเก กุสมอล์ และลิสเซาร์ พวกเขายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเปลือกสมอง แต่ในปัจจุบันนี้ ด้วยเทคนิคการสร้างภาพประสาท (neuroimaging) ต่างๆ เราสามารถที่จะเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับภาวะเสียการระลึกรู้ได้อย่างกว้างขวาง[5]

กรณีศึกษา แก้

ดีเอ็ฟ แก้

คนไข้ชื่อว่าดีเอ็ฟมีความเสียหายในสมองในทางสัญญาณด้านล่างของระบบการเห็น[28] แต่ว่าทางสัญญาณด้านหลังของดีเอ็ฟไม่เป็นอะไร ความเสียหายทางสัญญาณด้านล่างทำให้ดีเอ็ฟเกิดภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา ดีเอ็ฟมีปัญหาในการรู้จำทางตา ไม่สามารถรู้จำวัตถุง่ายๆ และไม่สามารถแยกแยะวัตถุต่างๆ จากกันได้ นอกจากนั้นแล้ว ดีเอ็ฟไม่สามารถบอกทิศทางหรือความกว้างของวัตถุ

แต่ว่า ดีเอ็ฟสามารถสามารถลอกแบบทิศทางของเส้นหนึ่งๆ ได้ เมื่อมีเวลาไม่จำกัด ในอีกการทดสอบหนึ่ง ผู้ทดสอบให้ดีเอ็ฟมองดูสี่เหลี่ยมจัตุรัสและรูปกลมรี แล้วถามว่า วัตถุไหนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและวัตถุไหนเป็นรูปกลมรี ในกรณีที่ดีเอ็ฟสามารถหยิบวัตถุนั้นขึ้นมาได้ เธอก็จะสามารถบอกได้ว่า วัตถุไหนเป็นอะไร แต่ถ้าไม่สามารถ เธอก็ไม่สามารถบอกความแตกต่างของวัตถุเหล่านั้นได้[29]

ดร.พี แก้

โอลิเวอร์ แซคส์ ผู้เป็นนักประสาทวิทยา ได้กล่าวถึงคนไข้ที่น่าสนใจของเขาผู้ชื่อว่า ดร.พี ดร.พีเป็นบุคคลทั่วๆ ไปผู้เป็นครูสอนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย ที่ในปัจจุบันรู้จักกันว่า "ชายผู้สับสนภรรยาของตนว่าเป็นหมวก" เขามีปัญหาในการรู้จำนักศึกษาผู้เข้ามาหาเขา ต่อเมื่อนักศึกษาเหล่านั้นพูด เขาจึงจะสามารถบอกว่านักศึกษาเหล่านั้นเป็นใคร ดร.พีไม่สามารถเห็นภาพโดยองค์รวมและสามารถเพียงแต่สังเกตดูลักษณะเฉพาะอย่างๆ ของรูปภาพ หรือส่วนเล็กๆ ของภาพเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในรูปที่แสดงทิวทัศน์หลายอย่างรวมทั้งทะเลสาบ ภูเขา และป่าไม้ เขาสามารถที่จะสังเกตดูเพียงแค่ภูเขาเท่านั้น หลังจากการนัดเจอกับคุณหมอแซคส์ครั้งหนึ่ง ดร.พีลุกขึ้นและพยายามที่จะยกเอาศีรษะของภรรยาของตนขึ้นเพราะคิดว่า ศีรษะของเธอเป็นหมวกของเขา ดร.พีมีภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาประเภทหนึ่ง แต่โดยเฉพาะเจาะจงก็คือภาวะบอดใบหน้า นอกจากนั้นแล้ว เขายังมีกลุ่มอาการละเลย (neglect syndrome) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นเมื่อให้เขาจินตนาการเดินไปตามทางระเบียง เขาก็จะพรรณนาแต่ด้านขวาของทางเดินเท่านั้นและละเลยด้านซ้าย[30]

ดู แก้

หมายเหตุและอ้างอิง แก้

  1. http://dictionary.webmd.com/terms/agnosia
  2. http://dictionary.reference.com/browse/agnosia
  3. http://brainmind.com/Agnosia.html
  4. Kolb & Whishaw: Fundamentals of Human Neuropsychology, 2003
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 Burns, MS (2004). "Clinical management of agnosia". Top Stroke Rehabil. 11 (1): 1–9. doi:10.1310/N13K-YKYQ-3XX1-NFAV. PMID 14872395. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-28. สืบค้นเมื่อ 2013-10-07.
  6. 6.0 6.1 6.2 "NINDS Agnosia Information Page". National Institute of Neurological Disorders and Stroke. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-08. สืบค้นเมื่อ 28 March 2012.
  7. Zeki, S (1991). "Cerebral akinetopsia (visual motion blindness)". Brain. 114: 811–824.
  8. Riddoch MJ, Humphreys GW (May 2003). "Visual agnosia". Neurol Clin. 21 (2): 501–20. PMID 12916489.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Goldstein, Marvin N. (1974). "Auditory agnosia for speech ("pure word-deafness")". Brain and Language. 1 (2): 195–204. doi:10.1016/0093-934X(74)90034-0. ISSN 0093-934X.
  10. Vignolo, L. A (1982). "Auditory Agnosia". Biological Sciences. 298: 49–57.
  11. Cowey A, Alexander I, Heywood C, Kentridge R (August 2008). "Pupillary responses to coloured and contourless displays in total cerebral achromatopsia". Brain. 131 (Pt 8): 2153–60. doi:10.1093/brain/awn110. PMID 18550620.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. Woodward, T. S; M. J Dixon; K. T Mullen; K. M Christensen; D. N. Bub (1999). "Analysis of errors in color agnosia: A single case study". Neurocase. 5: 95–108.
  13. Van Lancker DR, Cummings JL, Kreiman J, Dobkin BH (June 1988). "Phonagnosia: a dissociation between familiar and unfamiliar voices". Cortex. 24 (2): 195–209. PMID 3416603.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. Cherney LR (2004). "Aphasia, alexia, and oral reading". Top Stroke Rehabil. 11 (1): 22–36. doi:10.1310/VUPX-WDX7-J1EU-00TB. PMID 14872397.
  15. Sakurai, Y (2004). "Varieties of alexia from fusiform, posterior inferior temporal and posterior occipital gyrus". Behavioural Neurology. 15: 35–50.
  16. Magnié MN, Ferreira CT, Giusiano B, Poncet M (January 1999). "Category specificity in object agnosia: preservation of sensorimotor experiences related to objects". Neuropsychologia. 37 (1): 67–74. doi:10.1016/S0028-3932(98)00045-1. PMID 9920472.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. Coslett HB, Saffran E (August 1991). "Simultanagnosia. To see but not two see". Brain. 114 ( Pt 4): 1523–45. doi:10.1093/brain/114.4.1523. PMID 1884165.
  18. Rizzo M, Vecera SP (February 2002). "Psychoanatomical substrates of Bálint's syndrome". J. Neurol. Neurosurg. Psychiatr. 72 (2): 162–78. doi:10.1136/jnnp.72.2.162. PMC 1737727. PMID 11796765.
  19. Reed CL, Caselli RJ, Farah MJ (June 1996). "Tactile agnosia. Underlying impairment and implications for normal tactile object recognition". Brain. 119 (3): 875–88. doi:10.1093/brain/119.3.875. PMID 8673499.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Mendez, Mario F; Cherrier, Monique M (2003). "Agnosia for scenes in topographagnosia". Neuropsychologia. 41 (10): 1387–1395. doi:10.1016/S0028-3932(03)00041-1.
  21. Cogan DG (September 1979). "Visuospatial dysgnosia". AM. J. Ophthalmol. 88 (3 Pt 1): 361–368. PMID 225955.
  22. Greene JD (December 2005). "Apraxia, agnosias, and higher visual function abnormalities". J. Neurol. Neurosurg. Psychiatr. 76 (Suppl 5): v25–34. doi:10.1136/jnnp.2005.081885. PMC 1765708. PMID 16291919.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 Galotti, Kathleen M. (2010). Cognitive psychology : in and out of the laboratory (1st Canadian ed.). Canada: Nelson. ISBN 9780176440657.
  24. Silverman, Jay Friedenberg, Gordon. Cognitive science : an introduction to the study of mind (2nd ed.). Thousand Oaks, Calif.: SAGE. ISBN 9781412977616.
  25. "The New Yorker: From the Archives: Content". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-31. สืบค้นเมื่อ 2010-05-05. mentally blind, or agnosic—able to see but not to decipher what he was seeing.
  26. Freud, Sigmund, Zur Auffassung der Aphasien, Vienna, 1891, p. 80
  27. Vecera, P. S; Gilds, S. K (1998). "What processing is impaired in appreceptive agnosia? Evidence from normal subjects". Journal of Cognitive Neuroscience. 10 (5): 568–580. doi:10.1162/089892998562979. PMID 9802990.
  28. Schenk, T (2006). "An allocentric rather than perceptual deficit in patient D.F". Nature Neuroscience. 11 (9): 1369–1370. doi:10.1038/nn1784.
  29. Milner, D (1998). "Streams and consciousness: visual awareness and the brain". Trends in Cognitive Sciences. 2 (1): 25–30. doi:10.1016/S1364-6613(97)01116-9. PMID 21244959.
  30. Pinel, John P.J. Biopsychology (8th ed.). Boston: Allyn & Bacon. ISBN 0205832563.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้