ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว
ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว หรือ ภาวะเสียการระลึกรู้ความเคลื่อนไหว หรือ ภาวะบอดความเคลื่อนไหว (อังกฤษ: akinetopsia หรือ cerebral akinetopsia หรือ motion blindness) เป็นโรคทางประสาทจิตวิทยาที่มีน้อยมากอย่างหนึ่ง ที่คนไข้ไม่สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวในลานสายตา ถึงแม้ว่าจะสามารถเห็นวัตถุที่อยู่นิ่งๆ ได้โดยไม่มีปัญหาอะไร คือ โลกปรากฏโดยปราศจากความเคลื่อนไหว ความรู้ที่มีเกี่ยวกับภาวะนี้ ได้มาจากกรณีศึกษาในคนไข้ผู้หนึ่งเรียกว่า "แอลเอ็ม" ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลสำหรับผู้มีภาวะนี้
ประเภทของโรค
แก้ภาวะบอดความเคลื่อนไหวรู้จักกันว่าเป็นโรคทางประสาทจิตวิทยา เพราะว่า ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสมอง (โดยทั่วไปคือรอยโรค) เข้าไปรบกวนระบบการทำงานที่ทำเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึก ซึ่งในกรณีนี้ก็คือข้อมูลทางสายตา การประมวลผลความเคลื่อนไหวทางตา เป็นกิจของสมองเฉพาะที่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีความเสียหายต่อการรับรู้ความเคลื่อนไหวทางตาเท่านั้น เหมือนกับปัญหาการรับรู้สีที่เกิดขึ้นโดยลำพังในภาวะเสียการระลึกรู้สี[1]
ลักษณะของโรค
แก้ภาวะบอความเคลื่อนไหวเป็นความไม่สามารถที่จะเห็นความเคลื่อนไหว แม้ว่าจะมีความชัดเจนของการเห็น การตรวจจับแสงกระพริบ การเห็นแบบสองตา และการเห็นสีที่เป็นปกติ ระบบอื่นๆที่ไม่มีปัญหา (คือไม่เป็นเหตุแห่งภาวะบอความเคลื่อนไหว) รวมทั้ง การรับรู้ปริภูมิทางตา การบ่งบอกรูปร่าง การบ่งบอกวัตถุ และการบ่งบอกใบหน้า[2] นอกจากเข้าไปรบกวนการรับรู้ความเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานแล้ว ภาวะบอดความเคลื่อนไหวยังรบกวนการเคลื่อนไหวทางกายที่ประสานกับตา เช่นการเอื้อมมือออกไปหยิบจับวัตถุ[3] และการรับวัตถุ[4] เพราะว่าเมื่อทำกิจการงานทางกาย การรับรู้ความเคลื่อนไหวของตนปรากฏว่ามีความสำคัญ[4]
คนไข้ภาวะนี้ต้องผจญกับปัญหาต่างๆ มากมายในชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหาย ในคนไข้คนหนึ่งที่เรียกว่า แอลเอ็ม (LM) คนไข้พรรณนาการเทน้ำชาหรือกาแฟลงใส่ถ้วยว่าเป็นสิ่งที่ยาก "เพราะว่าน้ำนั้นปรากฏเหมือนกับน้ำแข็ง เหมือนกับธารน้ำแข็ง"[5]
เธอไม่รู้จักว่าควรจะหยุดเทเมื่อไร เพราะไม่สามารถรู้ความเคลื่อนไหวของน้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในถ้วย LM และคนไข้อื่นๆ ยังบ่นด้วยว่า มีปัญหาในการติดตามประเด็นในการสนทนา เพราะว่า ความเคลื่อนไหวของปากและการแสดงออกทางสีหน้า ไม่ปรากฏ[5][6]
LM กล่าวว่า เธอไม่รู้สึกปลอดภัยเมื่อมีคน 2 คนเดินไปมาในห้อง เพราะว่า "คนนี้เดี๋ยวก็ไปอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวก็ไปอยู่ตรงโน้น แต่ฉันไม่เห็นเขาเดินไป"[5] คนไข้ต้องอนุมานความเคลื่อนไหวโดยเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งของวัตถุหรือบุคคล LM และคนไข้อื่นๆ ได้พรรณนาว่า การข้ามถนนและการขับรถก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง[5][6] LM ต้องเริ่มฝึกตนให้ประเมินระยะห่างของวัตถุโดยเสียง
สาเหตุ
แก้รอยโรคในสมอง
แก้ภาวะบอดความเคลื่อนไหวเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลัง คือไม่ได้เกิดแต่กำเนิด ที่เกิดจากรอยโรคในคอร์เทกซ์สายตา และเพราะว่า เซลล์ประสาทของคอร์เทกซ์กลีบขมับกลาง (คือเขตสายตา MT) ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่เคลื่อนไหว ดังนั้น MT จึงเป็นเขตที่ประมวลผลความเคลื่อนไหวในเปลือกสมอง ในกรณีของ LM รอยโรคที่เกิดขึ้นมีในทั้งสองซีกของสมอง และสมมาตรกัน ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีขนาดเล็กพอที่จะไม่ทำลายระบบทางสายตาอย่างอื่นๆ[7]
แต่ว่า รอยโรคในซีกเดียวของสมองบางกรณี ก็เข้าไปทำการรับรู้ความเคลื่อนไหวให้เสียหายเช่นกัน ภาวะบอดความเคลื่อนไหวโดยรอยโรคนั้นมีน้อย เพราะว่า ความเสียหายในสมองกลีบท้ายทอย มักจะทำระบบอื่นๆ เกี่ยวกับการเห็นให้เสียหายด้วย[5] ภาวะนี้มีปรากฏสืบเนื่องมาจาก traumatic brain injury (แผลบาดเจ็บในสมอง ตัวย่อ TBI) ด้วย[6]
การกระตุ้นด้วยแม่เหล็กผ่านกะโหลก
แก้ภาวะบอดความเคลื่อนไหวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดได้โดยลำพังและชั่วคราว โดยเทคนิคการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กผ่านกะโหลก (transcranial magnetic stimulation ตัวย่อ TMS) ที่เขตสายตา MT (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เขตสายตา V5) ในบุคคลปกติ[8] ซึ่งทำที่พื้นผิวขนาด 1 ซม² ของกะโหลกที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของเขตสายตา V5. ด้วยพลัง TMS เป็นระยะเวลา 800 ไมโครวินาทีและตัวกระตุ้นทางตาที่ปรากฏเป็นระยะเวลา 28 มิลลิวินาทีเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 11 องศาต่อวินาที V5 จะระงับการทำงานเป็เวลา 20-30 มิลลิวินาที เทคนิคนี้ได้ผล -20 มิลลิวินาที และ +10 มิลลิวินาที ก่อนและหลังการเริ่มของตัวกระตุ้น ส่วนการเข้าไประงับเขตสายตา V1 ด้วยเทคนิคนี้เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะนี้ 60-70 วินาทีหลังการเริ่มของตัวกระตุ้น การใช้เทคนิคนี้กับ V1 จึงไม่มีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำภาวะบอดความเคลื่อนไหวเท่ากับใช้กับ V5[8]
โรคอัลไซเมอร์
แก้นอกจากปัญหาในด้านการทรงจำแล้ว คนไข้โรคอัลไซเมอร์อาจจะมีภาวะบอดความเคลื่อนไหวในระดับต่างๆ กัน[9] ซึ่งเพิ่มความงุนงงสับสนให้กับคนไข้ แม้ว่า เพแลคและฮอยต์จะได้ทำข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้โรคอัลไซเมอร์กรณีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ทำเป็นจริงเป็นจังในเรื่องนี้[6]
เขตสายตาที่เกี่ยวข้อง
แก้เขตสายตาสองเขตที่เกี่ยวข้องในการประมวลผลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวก็คือ เขตสายตา V5 และ เขตสายตา V1 เขตสองเขตนี้มีหน้าที่ต่างๆ กัน[10] ถ้าแบ่งเขตในสมองออกโดยกิจ เขตโดยกิจ ก็คือ นิวรอนเซตหนึ่งที่มีการกระตุ้นและการเลือกตัวกระตุ้นที่เหมือนกัน คือมีการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นโดยพฤติกรรมแบบเดียวกันนั่นเอง[11] มีเขตที่มีกิจเฉพาะอย่างในคอร์เทกซ์สายตาถึง 30 เขตที่ค้นพบแล้ว[12]
เขตสายตา V5
แก้เขตสายตา V5 หรือที่รู้จักกันว่า เขตสายตา MT อยู่ทางด้านข้างและด้านล่างของสมองกลีบขมับ ใกล้จุดเชื่อมของส่วนที่ยื่นขึ้นของร่องกลีบขมับด้านล่าง (inferior temporal sulcus) และ ร่องกลีบท้ายทอยด้านข้าง (lateral occipital sulcus) เซลล์ประสาททั้งหมดใน V5 เลือกตัวกระตุ้นโดยความเคลื่อนไหว และโดยมากเลือกความเคลื่อนไหวที่มีทิศทางเฉพาะ[1] หลักฐานของกิจเฉพาะของ V5 พบครั้งแรกในไพรเมต[2] รอยโรคหรือการระงับการทำงานของ V5 ทำให้เกิดภาวะบอดความเคลื่อนไหว
เขตสายตา V1
แก้V1 หรือที่รู้จักกันว่าคอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม เป็นส่วนเดียวกับเขตบร็อดแมนน์ 17 ความสามารถในการประมวลข้อมูลทางสายตาของ V1 เป็นที่รู้จักกันดี แต่ว่า ในปัจจุบัน เป็นที่รู้กันว่า V1 ไม่ใช่เป็นทางเข้าทางประสาททางเดียวที่นำไปสู่การรับรู้คือการเห็นในคอร์เทกซ์[8] ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลทางตาที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวสามารถเดินทางไปถึง V5 ได้โดยไม่ต้องผ่าน V1 และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญญาณป้อนกลับจาก V5 ไปสู่ V1 เพื่อเห็นความเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ[8] สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเดินทางไปถึง V1 (60–70 มิลลิวินาที) and V5 (< 30 มิลลิวินาที) รวดเร็วไม่เท่ากัน โดยที่ V5 มีการทำงานที่เป็นอิสระจาก V1[8]
คนไข้ภาวะเห็นทั้งบอดมีความเสียหายใน V1 แต่เพราะว่า V5 ไม่มีความเสียหาย คนไข้ยังสามารถมีความรู้สึกต่อความเคลื่อนไหวทั้งๆ ที่ไม่มีการรับรู้[12](คือว่าคนไข้แจ้งว่าไม่เห็นอะไรแต่กลับมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวนั้น) นั่นก็คือ การระงับการทำงานของ V1 จำกัดการเห็นความเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้ระงับโดยสิ้นเชิง[8]
ทางสัญญาณด้านล่างและด้านหลัง
แก้ทฤษฎีอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการจัดระเบียบของสมองที่เอื้ออำนวยการเห็น ก็คือ สมมุติฐานทางสัญญาณสองทาง ซึ่งประกอบด้วยทางสัญญาณด้านล่างสำหรับการเห็น และทางสัญญาณด้านหลังสำหรับการการกระทำ (เช่นการหยิบจับหรือการคว้าจับ) มีการเสนอว่า เขตสายตา V5 ส่งสัญญาณให้กับทางสัญญาณทั้งสองคือเพื่อการเห็นและเพื่อการกระทำ[3][4]
กรณีศึกษา
แก้คนไข้ของพ็อตเซิล และเร็ดลิช
แก้ในปี ค.ศ. 1911 พ็อตเซิลและเร็ดลิช รายงานถึงคนไข้หญิงวัย 58 ปีผู้หนึ่ง ผู้มีความเสียหายในสมองด้านหลังทั้งสองซีก[1] เธอได้พรรณนาถึงการเคลื่อนไหวเหมือนกับว่า วัตถุอยู่นิ่งๆ แต่ปรากฏในตำแหน่งต่างๆ สืบต่อกัน นอกจากนั้นแล้ว เธอยังสูญเสียลานสายตาไปมาก และมี ภาวะเสียการสื่อความโดยชื่อ (anomic aphasia[13])
คนไข้ของโกลด์สไตน์และเก็ลบ์
แก้ในปี ค.ศ. 1918 โกลด์สไตน์และเก็ลบ์ รายงานถึงชายวัย 24 ปีผู้ประสบกับแผลกระสุนปืนในสมองด้านหลัง[1] คนไข้รายงานว่าไม่มีการรับรู้ความเคลื่อนไหว คือ เขาสามารถกำหนดตำแหน่งใหม่ของวัตถุหนึ่ง เช่นซ้าย ขวา บน ล่างได้ แต่ว่า ไม่เห็น "อะไรๆ ในระหว่าง"[1]
แม้ว่า โกลด์สไตน์และเก็ลบ์ได้เชื่อว่า คนไข้มีความเสียหายในสมองกลีบท้ายทอยซีกซ้ายส่วนข้าง (lateral) และส่วนกลาง (medial) ภายหลังกลับปรากฏว่าสมองกลีบท้ายทอยทั้งสองซีกมีปัญหา เพราะปรากฏความสูญเสียลานสายตาร่วมศูนย์กลาง (คือเป็นวงกลมเริ่มจากศูนย์กลาง) ทั้งสองข้าง คือคนไข้เสียลานสายตาไปมากกว่า 30 องศาและไม่สามารถบ่งชี้วัตถุทางตาโดยชื่อ[1]
คนไข้ชื่อแอลเอ็ม
แก้รายละเอียดที่รู้กันทุกวันนี้เกี่ยวกับภาวะบอดความเคลื่อนไหว มาจากการศึกษาคนไข้ชื่อ แอลเอ็ม (LM) เป็นหญิงวัย 43 ปีที่รับเข้าโรงพยาบาลในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1978 ผู้บ่นถึงอาการปวดศีรษะและอาการรู้สึกหมุน[5] LM ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (thrombosis) ใน superior sagittal sinus (โพรงไซนัสแบ่งซ้ายขวาด้านบน) ซึ่งมีผลให้เกิดรอยโรคในคอร์เทกซ์สายตาด้านหลังที่สมมาตรในสมองทั้งสองข้าง รอยโรคเหล่านี้ถูกยืนยันด้วยภาพสมองโดยโพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟี (PET) และการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) ในปี ค.ศ. 1994[2]
LM มีการรับรู้ความเคลื่อนไหวที่น้อยมาก ซึ่งอาจจะได้รับการรักษาไว้โดยเป็นกิจของ V1 หรือกิจของเขตสายตาในชั้นสูงๆ ขึ้นไป หรือกิจที่ไม่ถูกทำลายใน V5[1][7]
LM ไม่พบวิธีรักษาใดๆ ที่ได้ผล ดังนั้น จึงฝึกที่จะหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่มีตัวกระตุ้นที่เคลื่อนไหวหลายๆ ตัว เช่นโดยไม่มองหรือไม่เพ่งดูตัวกระตุ้นเหล่านั้น เธอได้พัฒนาวิธีการบรรเทาปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ นอกจากนั้นแล้ว เธอยังสามารถประเมินระยะทางของยานพาหนะที่เคลื่อนไหวโดยใช้เสียง เพื่อที่จะข้ามถนนได้[5][7]
LM ถูกทดสอบในในความสามารถ 3 อย่างเทียบกับหญิงวัย 24 ปีผู้มีการเห็นที่ปกติ คือ
การเห็นทางตาอย่างอื่น ๆ นอกจากการเห็นความเคลื่อนไหว
แก้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า LM มีความบกพร่องในการแยกแยะสีไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนนอกของลานสายตา เวลาในการรู้จำวัตถุและศัพท์ทางตา สูงกว่าปกติเล็กน้อยเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความหมายที่สำคัญทางสถิติ เธอมีลานสายตาที่เป็นปกติและไม่มีดวงมืดในลานเห็น (scotoma)
ปัญหาในการเห็นความเคลื่อนไหว
แก้ความรู้สึกของ LM เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับทิศทางของความเคลื่อนไหว (คือแนวนอน หรือแนวตั้ง) ความเร็ว และถ้าเธอเพ่งตรึงอยู่ที่ตรงกลางของทางการเคลื่อนไหว หรือติดตามวัตถุนั้นด้วยตาหรือไม่ แสงสว่างวงกลมถูกใช้เป็นตัวกระตุ้นเป้าหมาย
ในการทดลองหลายงาน LM แจ้งว่า มีความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในแนวนอนที่ความเร็ว 14 องศาต่อวินาที ในจุดลานสายตาหนึ่ง เมื่อกำลังเพ่งตรึงดูที่ตรงกลางของทางการเคลื่อนไหว โดยมีความยากลำบากในการเห็นความเคลื่อนไหวที่มีความเร็วที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้ ถ้าสามารถติดตามแสงทดลองที่กำลังเคลื่อนอยู่ด้วยตา เธอจะมีการเห็นการเคลื่อนไหวแนวนอนบางอย่างจนกระทั่งถึงระดับความเร็ว 18 องศาต่อวินาที
สำหรับการเคลื่อนไหวแนวตั้ง LM สามารถเห็นความเคลื่อนไหวที่มีความเร็วน้อยกว่า 10 องศาต่อวินาที ถ้าเพ่งตรึง (ที่ตรงกลางของทางการเคลื่อนไหว), หรือจนกระทั่งถึงความเร็ว 13 องศาต่อวินาที ถ้าติดตามจุดที่กำลังเคลื่อนไหวด้วยตา เธอพรรณนาประสบการณ์รับรู้ของตัวกระตุ้นที่มีความเร็วสูงกว่า 18 (แนวนอน) และ 13 (แนวตั้ง) องศาต่อวินาทีว่า "จุดแสงหนึ่งซ้ายหรือขวา" หรือ "จุดแสงบนหรือล่าง" และ "บางครั้ง ตำแหน่งต่างๆ ในระหว่างไปตามลำดับ" แต่ไม่เคยเลยว่า เป็นความเคลื่อนไหว[5]
การเคลื่อนไหวในแนวลึก
แก้เพื่อที่จะกำหนดการรับรู้ความเคลื่อนไหวในแนวลึก ผู้ทำการทดลองได้ทำการเคลื่อนลูกบาศก์ไม้สีดำบนโต๊ะ ไปทางคนไข้หรือไปจากคนไข้ ในเขตที่คนไข้เห็นได้ หลังจากการทดลอง 20 ครั้งที่ความเร็ว 3 หรือ 6 องศาต่อวินาที คนไข้ไม่มีความรู้สึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แต่ว่า เธอรู้ว่า วัตถุนั้นได้เปลี่ยนตำแหน่ง รู้ขนาดของลูกบาศก์นั้น และสามารถตัดสินระยะห่างของลูกบาศก์นั้นกับวัตถุอื่นที่อยู่ใกล้ๆ ได้อย่างถูกต้อง[5]
ส่วนในและส่วนนอกของลานสายตา
แก้การตรวจจับความเคลื่อนไหวในส่วนในและส่วนนอกของลานสายตาถูกทดสอบ ภายในลานสายตาด้านใน LM สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวบางอย่างได้ โดยที่ความเคลื่อนไหวในแนวนอนง่ายที่จะแยกแยะกว่าความเคลื่อนไหวในแนวตั้ง ในลานสายตารอบนอก LM ไม่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวในทิศทางใดๆ เลย ความสามารถในการตัดสินความเร็วก็ถูกทดลองด้วย เธอประเมินความเร็วที่สูงกว่า 12 องศาต่อวินาทีต่ำเกินไป[5]
ปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหว และปรากฏการณ์ฟาย
แก้การทดลองด้วยปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหว (motion aftereffect[14]) โดยใช้ลายริ้วในแนวตั้งที่เคลื่อนไปในแนวขวาง และลายก้นหอยที่หมุนไป เธอสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวในลายทั้งสอง แต่แจ้งว่า มีปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหวของลายริ้วในการทดลอง 3 ครั้งใน 10 และไม่รายงานปรากฏการณ์หลังของลายก้นหอยเลยโดยประการทั้งปวง นอกจากนั้นแล้ว เธอก็ไม่แจ้งถึงความเคลื่อนไหวในแนวลึกของลายก้นหอยเลย
ส่วนในการทดลองด้วยปรากฏการณ์ฟาย (phi phenomenon[15]) จุดกลมๆ 2 จุดปรากฏโดยสลับกัน สำหรับคนปกติแล้ว ย่อมปรากฏว่า จุดหนึ่งเคลื่อนที่จากตำหน่งหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง แต่สำหรับ LM แล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร เธอก็ไม่เห็นการเคลื่อนไวใดๆ เลย เธอแจ้งทุกครั้งว่า เป็นจุดแสง 2 จุดที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน[5]
การเคลื่อนมือและตา โดยอาศัยการติดตามด้วยตา
แก้LM สามารถติดตามทิศทางของเส้นลวดที่ยึดไว้กับแผ่นกระดานด้วยนิ้วชี้มือขวา การทดลองทำโดยอาศัยสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น (โดยปิดตา) หรืออาศัยตาอย่างเดียวเท่านั้น (มีกระจกปิดกระดานอยู่) หรือโดยสัมผัสและตา เธอทำได้ดีที่สุดในกรณีสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น และแย่ที่สุดในกรณีตาอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว เธอไม่ได้รับประโยชน์อะไร ๆ จากข้อมูลทางตาในกรณีสัมผัสและตา เธอรายงานว่า ปัญหาอยู่ระหว่างนิ้วกับตา คือ เธอไม่สามารถติตตามนิ้วของเธอด้วยตาได้ ถ้าเธอเคลื่อนนิ้วของเธอเร็วเกินไป[5]
การทดลองอื่นๆ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
คนไข้โรคอัลไซเมอร์ของเพแลคและฮอยต์
แก้ในปี ค.ศ. 2000 ชายวัย 70 ปี ปรากฏอาการของภาวะบอดความเคลื่อนไหว เขาได้หยุดขับรถเมื่อ 2 ปีก่อนเพราะว่าไม่สามารถ "เห็นความเคลื่อนไหวเมื่อขับรถ" ได้[6] ภรรยาของเขาสังเกตเห็นว่า เขาไม่สามารถตัดสินความเร็วหรือระยะห่างของรถอีกคันหนึ่ง เขามีปัญหาในการดูโทรทัศน์ที่มีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวมาก เช่นการกีฬา หรือทีวีโชว์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรม
เขามักจะวิจารให้ภรรยาของตนฟังว่า เขาไม่สามารถเห็นอะไรๆ ที่เกิดขึ้นได้[6] เมื่อวัตถุหนึ่งเริ่มเคลื่อนไหว มันก็จะหายไป แต่ว่า เขาสามารถดูข่าวได้ เพราะว่าไม่มีการเคลื่อนไหวมาก นอกจากนั้นแล้ว เขายังปรากฏอาการของ Balint's syndrome คือ simultanagnosia[16] อย่างอ่อนๆ optic ataxia[17] และ oculomotor apraxia[18][6]
คนไข้ TBI ของเพแลคและฮอยต์
แก้ในปี ค.ศ. 2003 ชายวัย 60 ปีบ่นว่าไม่สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวทางตาที่เกิดขึ้นหลัง traumatic brain injury (แผลบาดเจ็บในสมอง ตัวย่อ TBI) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่เสาไฟต้นสนขนาดใหญ่หักลงมาตีศีรษะของตน[6] เขาได้ให้ตัวอย่างปัญหาของตนในฐานะผู้ล่าสัตว์ คือ เขาไม่สามารถสังเกตเห็นสัตว์ที่ล่า ไม่สามารถติดตามนักล่าคนอื่น และไม่สามารถเห็นสุนัขของตนที่เข้ามาหา แทนที่การเห็นโดยปกติ วัตถุเหล่านี้ปรากฏแก่เขาในตำแหน่งหนึ่ง แล้วก็อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยไม่เห็นการเคลื่อนไหวใดๆ ในระหว่างตำแหน่ง 2 ที่เหล่านั้น เขามีปัญหาในการขับรถและติดตามการสนทนาเป็นกลุ่ม เขาจะหลงตำแหน่งเมื่ออ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นในแนวตั้งหรือในแนวนอน และไม่สามารถจินตนาการภาพ 3 มิติจากแผนผัง 2 มิติ[6]
หมายเหตุและอ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Zeki, Semir (1991) "Cerebral akinetopsia (visual motion blindness): A review". Brain 114, 811-824.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Shipp, S., B.M. de Jong, J. Zihl, R.S.J. Frackowiak, and S. Zeki (1994) "The brain activity related to residual motion vision in a patient with bilateral lesions of V5" Brain 117, 1023-1038.
- ↑ 3.0 3.1 Schenk, Thomas, Norbert Mai, Jochen Ditterich, Josef Zihl (2000) "Can a motion-blind patient reach for moving objects?". European Journal of Neuroscience 12, 3351-3360.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Schenk, Thomas, Amanda Ellison, Nichola Rice, A. David Milner (2005) "The role of V5/MT+ in the control of catching movements: an rTMS study". Neuropsychologia 43, 189-198.
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 Zihl, J, D von Cramon, N Mai (1983) "Selective disturbance of movement vision after bilateral brain damage". Brain 106, 313-340.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Pelak, Victoria S., William F. Hoyt (2005) "Symptoms of akinetopsia associated with traumatic brain injury and Alzheimer's Disease". Neuro-Ophthalmology 29, 137-142.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Zihl, J., ULM Munich (Max Planck Institute of Psychiatry), interviewed by R. Hamrick, Oct. 28, 2009.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Beckers G. and S. Zeki (1995) "The consequences of inactivating areas V1 and V5 on visual motion perception". Brain 118, pp. 49–60 1995.
- ↑ Rizzo, M., and M. Nawrot (1998) "Perception of movement and shape in Alzheimer's Disease" Brain 121, 2259-2270.
- ↑ Zeki, S., J.D.G. Watson, C.J. Lueck, K.J. Friston, C. Kennard, and R.S.J. Frackowiak (1991) "A direct demonstration of functional specialization in human visual cortex" The Journal of Neuroscience 11(3), 641-649.
- ↑ Wandell, Brian A., Serge O. Dumoulin, Alyssa A. Brewer (2007) "Visual field maps in human cortex". Neuron 56, 366-383.
- ↑ 12.0 12.1 LaRock, Eric "Why neural synchrony fails to explain the unity of visual consciousness". Behavior and Philosophy 34, 39-58.
- ↑ ภาวะเสียการสื่อความโดยชื่อ (anomic aphasia) เป็นความผิดปกติอย่างรุนแรงในการระลึกถึงศัพท์หรือชื่อ
- ↑ ปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหว (motion aftereffect) เป็นภาพลวงตาที่ประสบเมื่อมองตัวกระตุ้นที่เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาหนึ่ง (ตั้งแต่เป็นสิบๆ มิลลิวินาที จนถึงเป็นนาทีๆ) ด้วยตาที่อยู่นิ่งๆ และหลังจากนั้นให้เพ่งตรึงที่ตัวกระตุ้นที่อยู่นิ่งๆ ตัวกระตุ้นที่อยู่นิ่งๆ นั้นจะปรากฏว่า เคลื่อนไปในทิศตรงกันข้ามของตัวกระตุ้นแรกที่เคลื่อนไหวจริงๆ ปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหวเชื่อกันว่าเป็นผลของการปรับตัวต่อความเคลื่อนไหว (motion adaptation) ส่วนอีกแบบหนึ่งก็คือ ถ้าดูที่ตรงกลางของลายก้นหอยที่หมุนไปอยู่ ลายก้นหอยอาจจะปรากฏเหมือนกับมีการเคลื่อนไหวโดยออกมาหรือโดยเข้าไปในแนวลึก แล้วเมื่อดูลวดลายอื่นที่อยู่นิ่งๆ ลายนั้นก็ปรากฏว่าเคลื่อนที่ไปในทิศตรงกันข้ามในแนวลึก
- ↑ ปรากฏการณ์ฟาย (phi phenomenon) เป็นภาพลวงตาที่เห็นการเคลื่อนไหวในภาพนิ่งต่างๆ กันที่เห็นต่อๆ กันไปอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ในการดูหนัง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาพนิ่งหลายๆ ภาพที่เห็นต่อๆ กันไป
- ↑ คือ คนไข้สามารถพรรณนาวัตถุเดียว โดยไม่สามารถจะเห็นวัตถุนั้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุหลายๆอย่างที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน (เช่นเห็นต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่า)
- ↑ คือ ไม่สามารถใช้ข้อมูลเกี่ยวกับปริภูมิทางตาเพื่อจะชี้นำการเคลื่อนไหวแขน เช่นไม่สามารถเอื้อมแขนไปหยิบจับวัตถุได้
- ↑ คือ ไม่สามารถที่จะขยับตาได้ตามความต้องการแม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติในกล้ามเนื้อ