พูดคุย:พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช/พระราชทรัพย์

พระราชทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479[1] ในกลุ่มนี้ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2477[2]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งให้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งบริหารงานโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อดำเนินโครงการพระราชดำริ มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ ในด้านกสิกรรม เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย การส่งเสริมอาชีพ สาธารณูปโภค และการศึกษา โดยโครงการต่างๆ เหล่านั้น มีการชี้แจงข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ โดยหน่วยงานของพระราชวัง[3] และมีการเผยแพร่อย่างมาก ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของไทย[4]

ทรัพย์สินส่วนพระองค์ แก้

ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ หรือทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าฯ ถวาย หรือทรัพย์สินที่ทรงได้มา ไม่ว่าในทางใดและเวลาใด นอกจากที่ทรงได้มาในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ รวมทั้งดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย[1] ทรัพย์สินส่วนนี้ยังคงต้องชำระภาษีอากร[2] โดยมูลนิธิอานันทมหิดลอ้างว่า พระองค์พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ส่วนหนึ่ง แก่โครงการพระราชดำริ มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนการกุศล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์[5]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถือหุ้นบริษัทมหาชนหลายแห่ง ในพระนามาภิไธยของพระองค์เอง ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 มีดังต่อไปนี้

  1. ใน บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) ทรงถือหุ้นจำนวน 197,414,850 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 43.87[6]
  2. ใน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทรงถือหุ้นจำนวน 72,470,861 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 2.21[7]
  3. ใน บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทรงถือหุ้นจำนวน 3,526,567 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 18.56[8]
  4. ใน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ทรงถือหุ้นจำนวน 1,383,770 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.51[9]
  5. ใน บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทรงถือหุ้นจำนวน 69,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.23[10] (ปัจจุบันเทเวศประกันภัยถูกเพิกถอน มิให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์)[11]

ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แก้

ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ อาทิ พระราชวัง[1] ทรัพย์สินส่วนนี้ได้รับการยกเว้นภาษีอากร[2] และอยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง[12]

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แก้

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ที่นอกเหนือจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังกล่าวแล้ว[1] ทรัพย์สินส่วนนี้ได้รับการยกเว้นภาษีอากร[2] โดยนัยนี้จึงถือว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์แต่อย่างใด[13] ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว จะถูกบริหารงานในรูปแบบองค์กรนิติบุคคล ภายใต้ชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล ซึ่งประกอบด้วย[[รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง]] เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค จะอยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง[12]

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ส่วนมากจะได้แก่ที่ดินและหุ้น โดยปัจจุบันมีผู้เช่าที่ดินทั่วประเทศ มากกว่า 3 หมื่นสัญญา[14] โดยแปลงสำคัญๆ ประกอบด้วย ที่ดินโรงแรมโฟร์ซีซันส์ ที่ดินสยามพารากอน ที่ดินเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ดินองค์การสะพานปลา และที่ดินริมถนนพระรามที่ 4 ฝั่งเหนือ จากสวนลุมไนท์บาซาร์จรดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ บริษัทซีบีริชาร์ดเอลลิส บริษัทโบรกเกอร์อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลก เคยประมาณการตัวเลข พื้นที่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ที่ 32,500 ไร่ โดยในบางพื้นที่ มีมูลค่าสูงกว่า 380 ล้านบาทต่อไร่[15] ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ อีกด้วย โดยถ้านับรวมทั้งหมด หุ้นที่สำนักงานทรัพย์สินฯ มีอยู่ทั้งหมด คิดเป็น 7.5% ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[15]

ด้วยเหตุดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงได้รับการจัดอันดับ ให้เป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากนิตยสารฟอร์บ ระหว่างปี พ.ศ. 2551-พ.ศ. 2553[16][17] ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ทรงอยู่ในอันดับที่ 5[18] ต่อมาจึงกลายเป็นประเด็นที่ รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเขียนเป็นบทความ[19] ซึ่งมีบุคคลบางส่วนเห็นว่า เป็นการโจมตีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[ต้องการอ้างอิง] ขณะที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อธิบายแย้งว่า "มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากทรัพย์สินที่นำมาประเมินนั้น เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์"[13]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2477
  3. the Golden Jubilee Network, an online mass-educational project
  4. Channel News Asia, Thais celebrate Queen's birthday as govt investigates monarchy threat, 12 August
  5. มูลนิธิอานันทมหิดล
  6. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) : SAMCO ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกข้อมูลวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555
  7. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) : MINT ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกข้อมูลวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555
  8. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) : TIC ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกข้อมูลวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555
  9. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) : TIC ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกข้อมูลวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555
  10. http://www.deves.co.th/Content/View/50
  11. รายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ถูกเพิกถอน ปี 2518 - ปัจจุบัน
  12. 12.0 12.1 [1], พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479.
  13. 13.0 13.1 บทความพิเศษของนิตยสารฟอร์บ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุด จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
  14. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (www.crownproperty.or.th) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  15. 15.0 15.1 Thai King Strengthens Grip on Stocks as Nation's No. 1 Investor (www.bloomberg.com) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  16. Tatiana Serafin, “The world’s richest royals”, Forbes, 7 July 2010.
  17. Tatiana Serafin, “The world’s richest royals”, Forbes, 17 June 2009.
  18. The World's Richest Royals. No. 5, King Bhumibol Adulyadej (www.forbes.com) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  19. บทบาทแท้ของนายภูมิพล และสถาบันกษัตริย์ไทย นิยายและความจริง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

กลับไปที่หน้า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช/พระราชทรัพย์"