พี่น้องตระกูลกริมม์
พี่น้องตระกูลกริมม์ (อังกฤษ: The Brothers Grimm; เยอรมัน: Die Gebrüder Grimm) ยาค็อบ กริมม์ (ค.ศ. 1785–1863) และวิลเฮล์ม กริมม์ (ค.ศ. 1786–1859) เป็นนักวิชาการชาวเยอรมันซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังจากผลงานการรวบรวมนิทานพื้นบ้านและเทพนิยาย รวมถึงผลงานเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา นับว่าเป็นนักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป ซึ่งทำให้เทพนิยายมากมายแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น รัมเพลสทิลสกิน สโนไวท์ ราพันเซล ซินเดอเรลล่า และ แฮนเซลและเกรเธล
ประวัติ
แก้ยาค็อบ ลุดวิจ กริมม์ และ วิลเฮล์ม คาร์ล กริมม์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1785 และ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1786 ตามลำดับ ที่เมืองฮาเนา ใกล้กับเมืองแฟรงค์เฟิร์ต แคว้นเฮสเซน พวกเขามีพี่น้องทั้งหมด 9 คน แต่มีชีวิตรอดเติบโตมาเพียง 6 คน[1] ชีวิตในวัยเด็กของพวกเขาอยู่ในแถบชนบทอันงดงามร่มรื่น ครอบครัวกริมม์พำนักอยู่ใกล้คฤหาสน์ของเจ้าผู้ครองแคว้นระหว่างช่วงปี 1790-1796 เนื่องจากบิดาของพวกเขาเป็นลูกจ้างของเจ้าชายแห่งเฮสเซน
เมื่อเจค็อบซึ่งเป็นบุตรคนโตอายุได้ 11 ปี บิดาของพวกเขาคือ ฟิลิป วิลเฮล์ม ก็ถึงแก่กรรม ครอบครัวจึงต้องย้ายไปอาศัยในบ้านเล็ก ๆ คับแคบในตัวเมือง[1] สองปีต่อมา ปู่ของพวกเขาก็เสียชีวิต จึงคงเหลือแต่แม่เพียงคนเดียวที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูเด็ก ๆ ยังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่พี่น้องกริมม์มักยกผู้เป็นบิดาไว้ไม่ให้มีความผิด ขณะที่ทรราชฝ่ายหญิงมักมีบทบาทสำคัญในนิทาน เช่นแม่เลี้ยงใจร้ายและพี่สาวทั้งสองในเรื่อง ซินเดอเรลล่า[2] แต่ผู้วิจารณ์คงจะลืมไปว่าพี่น้องกริมม์เป็นแต่เพียงผู้รวบรวมเทพนิยายเท่านั้น ไม่ใช่คนแต่งขึ้นมา
พี่น้องกริมม์ได้รับการศึกษาจาก Friedrichs-Gymnasium ใน Kassel และต่อมาได้เรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยมาร์เบิร์ก และที่นี่ ด้วยแรงบันดาลใจจาก ฟรีดดริค ฟอน ซาวินี (Friedrich von Savigny) ทำให้พี่น้องทั้งสองเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ทั้งคู่เพิ่งมีอายุยี่สิบต้น ๆ ในขณะที่เริ่มศึกษาด้านภาษาศาสตร์ และวางกฎของกริมม์ รวมถึงรวบรวมเรื่องราวเทพนิยายและเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านจากที่ต่าง ๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอย่างมาก อันที่จริงผลงานรวบรวมนิทานปรัมปราเหล่านี้เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของคนทั้งสอง
ปี ค.ศ. 1808 มีบันทึกว่าเจค็อบได้เป็นบรรณารักษ์ในราชสำนักของกษัตริย์แห่ง Westphalia ปี ค.ศ. 1812 พี่น้องกริมม์ได้ตีพิมพ์ผลงานรวบรวมเทพนิยายของพวกเขาเป็นครั้งแรก ชื่อว่า Tales of Children and the Home ซึ่งพวกเขารวบรวมเรื่องราวมาจากชาวบ้านชนบท เรื่องบางส่วนก็ขัดแย้งกับที่มาของเรื่องอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ในวัฒนธรรมอื่นและภาษาอื่น (เช่นงานของ ชาร์ลส์ แปร์โรลต์) พี่น้องกริมม์แบ่งงานกันทำ เจค็อบเน้นที่งานวิจัย ส่วนวิลเฮล์มทำหน้าที่ปะติดปะต่อเรื่องราว นำมาประพันธ์ใหม่ในรูปแบบวรรณกรรมและเขียนบรรยายในลักษณะของนิทานเด็ก พี่น้องทั้งสองยังให้ความสนใจกับนิทานพื้นบ้านและประวัติศาสตร์กำเนิดของวรรณกรรม ปี ค.ศ. 1816 เจค็อบได้เป็นบรรณารักษ์ใน Kassel ส่วนวิลเฮล์มก็ได้งานที่นั่นเช่นกัน ระหว่าง ค.ศ. 1816 - 1818 ทั้งสองได้ตีพิมพ์ตำนานเยอรมันสองชุด และประวัติวรรณกรรมยุคต้นอีกหนึ่งชุด
ขณะที่พี่น้องกริมม์เริ่มสนใจในภาษาเก่าแก่และความสัมพันธ์ของภาษาเหล่านั้นกับภาษาเยอรมัน เจค็อบเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และโครงสร้างของภาษาเยอรมันอย่างละเอียด ในเวลาต่อมา พวกเขาได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างคำต่าง ๆ และเรียกชื่อว่าเป็น กฎของกริมม์ โดยได้รวบรวมข้อมูลดิบไว้เป็นจำนวนมาก ปี ค.ศ. 1830 ทั้งสองได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งใน Göttingen หลังจากมีหน้าที่การงานมั่นคงในเมืองนั้น[3] เจค็อบได้เป็นศาสตราจารย์ และเป็นหัวหน้าบรรณารักษ์ในปี ค.ศ. 1830 ส่วนวิลเฮล์มได้เป็นศาสตราจารย์ในปี ค.ศ. 1835
ปี ค.ศ. 1837 พี่น้องกริมม์ร่วมกับศาสตราจารย์ที่เป็นเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย Göttingen อีก 5 คน ร่วมกันคัดค้านการเพิกถอนรัฐธรรมนูญแห่งรัฐฮันโนเฟอร์ของกษัตริย์ เออร์เนสต์ ออกัสตัส ที่หนึ่ง กลุ่มผู้คัดค้านนี้เป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ Die Göttinger Sieben (The Göttingen Seven) ทั้งหมดถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และมี 3 คนที่ถูกเนรเทศ รวมถึงเจค็อบด้วย เจค็อบหนีไปอาศัยอยู่ใน Kassel ซึ่งอยู่นอกอาณาเขตของกษัตริย์เออร์เนสต์ วิลเฮล์มติดตามไปสมทบภายหลัง โดยพำนักอยู่กับลุดวิจ น้องชายของพวกเขา ในปีต่อมาทั้งสองได้รับเชิญจากษัตริย์แห่งปรัสเซีย เชิญให้ไปพำนักอยู่ในเบอร์ลิน และทั้งสองก็ได้ย้ายไปยังเบอร์ลินนับแต่นั้น[4]
ช่วงปลายชีวิตของพวกเขาอุทิศให้กับการจัดทำพจนานุกรมภาษาเยอรมัน ตีพิมพ์ชุดแรกออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1854 และเป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงเวอร์ชันต่าง ๆ ต่อมา เจค็อบครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตของเขา ส่วนวิลเฮล์มได้แต่งงานกับ เฮนเรียตเต โดโรเธีย ไวลด์ (Henriette Dorothea Wild หรือบางแห่งเรียกว่า Dortchen) เมื่อปี 1825 เธอเป็นบุตรีของเภสัชกรซึ่งเป็นเพื่อนกับครอบครัวกริมม์มาตั้งแต่เด็ก ที่ซึ่งพี่น้องกริมม์ได้ฟังนิทานเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง เป็นครั้งแรก วิลเฮล์มมีบุตร 4 คนโดยเสียชีวิตตั้งแต่เด็กไป 1 คน แต่พี่น้องทั้งสองก็ยังสนิทกันมากแม้หลังจากที่วิลเฮล์มแต่งงานแล้วก็ตาม
วิลเฮล์มเสียชีวิตในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1859 เจค็อบยังคงทำงานรวบรวมพจนานุกรมและโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตในเบอร์ลินเช่นกัน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1863 ร่างของทั้งสองฝังไว้ที่สุสาน St. Matthäus Kirchhof ใน Schöneberg ในเบอร์ลิน พี่น้องตระกูลกริมม์ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้แพร่หลายกว้างขวางในเยอรมนี และได้รับความเคารพยกย่องเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเยอรมนี ซึ่งต่อมาราชอาณาจักรปรัสเซียได้ก่อการปฏิวัติในช่วงปี 1848-1849 และเริ่มต้นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Michaelis-Jena, Ruth (1970), The Brothers Grimm, London: Routledge & Kegan Paul, ISBN 0-7100-6449-7
- ↑ Alister, Ian; Hauke, Christopher, eds. (1998), Contemporary Jungian Analysis, London: Routledge, ISBN 0-415-14166-4
- ↑ "Jakob Ludwig Karl Grimm." Major Authors and Illustrators for Children and Young Adults, 2nd ed., 8 vols. Gale Group, 2002.
- ↑ Die Brueder Grimm Timeline เก็บถาวร 2009-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at DieBruederGrimm.de, เก็บข้อมูลเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2007