สโนว์ไวต์
สโนว์ไวต์ หรือ เจ้าหญิงหิมะขาว (เยอรมัน: Schneewittchen; Schneeweißchen, อังกฤษ: Snow White) เป็นชื่อของเทพนิยายอันโด่งดังในยุโรป และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เทพนิยายเรื่องนี้ตั้งชื่อขึ้นตามตัวเอกของเรื่อง โดยดังเดิมเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ได้รับการเล่าขานกันมาต่าง ๆ กัน แต่เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวต์ที่เรารู้จักกันดีที่สุด มาจากบทประพันธ์ในภาษาเยอรมันของ พี่น้องตระกูลกริมม์ โดยพี่น้องตระกูลกริมม์ได้เพิ่มตัวละครส่วนประกอบที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจยิ่งขึ้น อาทิ กระจกวิเศษ และ คนแคระทั้งเจ็ด เป็นต้น ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1937 ทางดิสนีย์ได้ดัดแปลงเทพนิยายเรื่องนี้ในรูปแบบภาพยนตร์การ์ตูน โดยใช้ชื่อว่า สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด เหตุที่ทางดิสนีย์เลือกใช้ชื่อนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ เรื่องสโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดง โดยในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด เป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อให้แก่คนแคระทั้งเจ็ด
เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวต์ในภาษาอื่น ๆ มีบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น ในบางชาติได้แต่งบทให้คนแคระทั้งเจ็ดเป็นโจร หรือให้ราชินีพูดคุยกับดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ แทนกระจกวิเศษ เป็นต้น ในบทประพันธ์ฉบับอัลบาเนีย รวบรวมโดย โยฮันน์ จอร์จ ฟอน ฮาห์น และตีพิมพ์เป็นภาษากรีก และภาษาอัลบาเนีย เมื่อปี ค.ศ. 1864 สโนว์ไวต์อาศัยอยู่กับมังกร 40 ตัว และสโนว์ไวต์หลับไปเพราะใส่แหวนที่ต้องมนต์สะกด ด้วยเหตุนี้ เรื่องสโนว์ไวต์จึงถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเทพนิยายรหัส 709 ซึ่งเป็นเทพนิยายที่ตัวเอกของเรื่องหลับไปเพราะสวมแหวนทั้งสิ้น ส่วนต้นแบบของเรื่องสโนว์ไวต์ที่แท้จริงนั้นยังไม่สามารถหาของสรุปได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นเทพนิยายที่ถูกแต่งขึ้นในช่วงยุคกลาง (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11-14)
เนื้อเรื่อง
แก้สโนว์ไวต์คือเจ้าหญิงแสนงามผู้ถูกราชินีใจร้ายกลั่นแกล้งให้ทำงานหนักเพราะเกรงว่าสโนว์ไวต์จะงดงามกว่านาง (หลังจากพ่อแม่ที่ตายไป) ทุกวันราชินีจะเฝ้าถามกระจกวิเศษว่าใครงามเลิศในปฐพี และกระจกก็จะตอบกลับว่าพระนางงดงามที่สุด แต่ทว่าสิ่งที่พระนางกลัวที่สุดก็เกิดขึ้นเมื่อสไวต์ได้กลายเป็นหญิงผู้งดงามที่สุดในปฐพี
ด้วยความริษยาราชินีเรียกนายพรานเข้าเฝ้าและบังคับให้เขาฆ่าสโนว์ไวต์ทิ้งแล้วควักเอาหัวใจใส่กล่องมายืนยันพระกับนาง แต่ทว่านายพรานไม่อาจทำร้ายเจ้าหญิงได้ เขาปล่อยเธอไปและนำหัวใจหมูมาให้ราชินีแทน
สโนว์ไวต์วิ่งหนีเข้าไปในป่าทึบ ต้นไม้ทุกต้นดูราวกับมีชีวิต มันยื่นกิ่งออกมาฉุดรั้งสโนว์ไวต์เอาไว้ เธอรู้ตัวอีกทีก็มานอนร้องไห้อยู่กลางป่า ฝูงสัตว์พากันมุงดูเธอราวกับเป็นสิ่งประหลาด บัดนี้ชีวิตของสโนว์ไวต์ไม่ได้มืดมนอีกแล้วเธอร้องเพลงอยู่กับเพื่อนสัตว์ป่าของเธอ พวกมันพาเธอไปขอที่พักแรมในป่า สโนว์ไวต์พบกระท่อมหลังเล็ก เธอจึงถือวิสาสะเข้าไปทำความสะอาดที่นั่นและทำอาหารไว้ เผื่อว่าเจ้าของกระท่อมจะเห็นใจและให้เธอพักด้วย และเผลอหลับไปที่นอกบ้าน คนแคระตัวเล็กๆทั้งเจ็ดคนเดินกลับมาจากทำงานที่เหมืองและพบว่าบ้านตนมีผู้บุกรุกจึงเข้าไปดูว่าเป็นใคร แล้วก็ต้องตะลึงเมื่อเห็นหญิงสาวแสนงามนามสโนว์ไวต์และอนุญาตให้เธออยู่ด้วย
ที่พระราชวังราชินีถามกระจกเพื่อให้แน่ใจว่าตนงดงามที่สุด พระนางถึงกับโกรธจัดเมื่อรู้ว่าสโนว์ไวต์ยังไม่ตายโดยอาศัยอยู่กับพวกคนแคระที่กระท่อมในป่า พระนางวิ่งลงไปที่คุกใต้ดินและปรุงยาพิษเพื่อกำจัดสโนว์ไวต์ด้วยพระองค์เอง แอปเปิ้ลสีแดงสดถูกนำมาเคลือบด้วยยาพิษ ยาพิษที่เมื่อสโนว์ไวต์กินแล้วจะต้องหลับเป็นตายไม่มีสิ่งใดปลุกนางจากนิทราได้เว้นไว้แต่จุมพิตแรกแห่งรักแท้
ราชินีปลอมตัวเป็นหญิงชราแม่ค้าเร่ ทำทีไปขายแอปเปิ้ลให้สโนว์ไวต์ นางใช้มารยาหลอกให้สโนว์ไวต์กินแอปเปิ้ลจนสำเร็จและหลบหนีไป พวกคนแคระกลับมาดูสโนว์ไวต์และแต่ไม่อาจฝังร่างเธอได้ พวกเขาสร้างโลงแก้วบรรจุร่างสโนว์ไวต์เอาไว้และมาเยี่ยมเธอทุกวัน
วันหนึ่งเจ้าชายรูปงามผ่านมาพบสโนว์ไวต์และจุมพิตสโนว์ไวต์และแล้วคำสาปก็สูญสลายไป เจ้าชายพาสโนว์ไวต์ขี่ม้าขาวไปที่ปราสาทของพระองค์แล้วทั้งคู่ก็ครองรักกันอย่างมีความสุข ตลอดกาล
คำวิจารณ์
แก้ในบทประพันธ์ของพี่น้องตระกูลกริมม์ ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 นั้น เรื่องของสโนว์ไวต์ เป็นเรื่องความอิจฉาของแม่ ที่มีต่อลูกสาวของตนเอง และมีรายละเอียดปลีกย่อยบางประการที่แตกต่างจากการตีพิมพ์ในครั้งต่อ ๆ มา ซึ่งมีการเปลี่ยนบทจากแม่แท้ ๆ เป็นแม่เลี้ยงแทน ทั้งนี้คาดว่าน่าจะปรับแต่งเรื่องเพื่อให้เนื้อหาอ่อนลง เพื่อให้เป็นนิทานสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ยังมีการวิจารณ์ว่า การเขียนบทให้สโนว์ไวต์หลับ และตื่นขี้นมาอีกครั้ง เป็นการเปรียบเทียบกับคำสอนของคริสต์ศาสนา เรื่องการฟื้นคืนชีพในยุคสุดท้ายอีกด้วย[1]
สโนว์ไวต์
แก้ในบทประพันธ์ของพี่น้องตระกูลกริมม์ มีตัวเอกชื่อ สโนว์ไวต์ ด้วยกัน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องสโนว์ไวต์ และเรื่องสโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดง แต่ทั้งนี้ตัวเอก ได้แก่ สโนว์ไวต์ในทั้งสองเรื่องนี้ มีบุคคลิก และลักษณะต่าง ๆ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ชื่อเรียกดั้งเดิมในภาษาเยอรมันเอง ก็มีความแตกต่างกัน โดยสโนว์ไวต์(กับคนแคระทั้งเจ็ด) มีชื่อภาษาเยอรมันว่า Schneewittchen เป็นภาษาเยอรมันสำเนียง โลเวอร์ซัคเซน ในขณะที่สโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดงนั้น มีชื่อภาษาเยอรมันว่า Schneeweißchen ซึ่งเป็นสำเนียงทางการ แต่ทั้งสองคำต่างมีความหมายเดียวกัน
ฉบับรัสเซีย
แก้ในรัสเซียเอง ก็มีเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยมีชื่อว่า เรื่องเล่าของเจ้าหญิงกับอัศวินทั้งเจ็ด (The Tale of the Dead Princess and the Seven Knights) ซึ่งรวบรวมโดย อเล็กซานเดอร์ พุสกิน ในปี ค.ศ. 1833 ก็มีเนื้อหาเรื่องราวใกล้เคียงกับเรื่องสโนว์ไวต์ เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครจากคนแคระมาเป็นอัศวินแทน[2][3]
เค้าโครงเรื่อง
แก้มีการสืบค้นว่าเค้าโครงเรื่องสโนว์ไวต์มีที่มาจากเรื่องจริง
มากาเร็ต แห่ง วาลเดก
แก้มีผู้เทียบเรื่องสโนว์ไวต์ กับชีวประวัติของมากาเร็ต แห่งเมืองวาลเดก เด็กหญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1533 - ค.ศ. 1554 เนื่องจากเธอมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง คล้ายคลึงกับสโนว์ไวต์ในเทพนิยาย อาทิ เธอเป็นหญิงสาวที่มีความงาม เป็นที่ต้องตาของคนทั่วไป นอกจากนี้เธอยังมีปัญหากับแม่เลี้ยงของเธออีกด้วย เธอเติบโตในเมืองวาลเดก ซึ่งที่นั่นมีการใช้แรงงานเด็กในการทำเหมือง และจะใช้คำว่า dwarf สำหรับเรียกแรงงานเด็กเหล่านี้ มากาเร็ตย้ายจากวาลเดก ไปยังกรุงบรัสเซลส์ เมื่ออายุได้ 16 ปี แน่นอนว่าเธอเป็นที่ต้องตาของบรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย รวมไปถึง ฟิลิปป์ ที่สอง แห่งสเปน ก็ประสงค์ที่จะแต่งงานกับเธอ แต่ด้วยมากาเร็ตป่วยด้วยโรคบางประการ และเสียชีวิตลงเมื่ออายุ 21 ปี ว่ากันว่า ชีวิตของเธอน่าจะเป็นต้นแบบของเทพนิยายเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องราวของหญิงงามที่เสียชีวิตลงตั้งแต่เยาว์วัย น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับการแต่งเรื่องเล่าได้เป็นอย่างดี[4]
มาเรีย โซเฟีย ฟอน เออเทล
แก้เป็นอีกหนึ่งของบุคคลที่มีตัวตนจริงที่เชื่อว่าเป็นที่มาของสโนว์ไวต์ หญิงสาวคนหนึ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เธอเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของฟิลิป คริสตอฟ ฟอน เออเทล ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเจ้าของปราสาทแห่งหนึ่ง ที่เมืองโลห์อัมมาน แคว้นบาวาเรีย ทางตอนใต้ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ แวดล้อมไปด้วยป่าและภูเขา แม่ของเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่เธอยังเด็ก พ่อของเธอแต่งงานใหม่กับ คลอเดีย เอลิซาเบธ มาเรีย ฟอน ฟินนินเกน, เคาท์เตสแห่งรีเชนสไตน์ แต่ด้วยความที่เธอเป็นเด็กสาวอายุเพียง 14 ปี แต่มีความสวยงาม ทั้งผิวพรรณ, เรือนผม และพวงแก้ม นั่นทำให้แม่เลี้ยงคนใหม่ของเธอเกิดความอิจฉาและปฏิบัติต่อเธออย่างเย็นชา จึงเกิดเป็นความมึนตึงขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง วันหนึ่งเธอนอนป่วยอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับการดูแลจากแม่เลี้ยง เธอจึงวิ่งหนีออกจากบ้าน ข้ามภูเขา 7 ลูกไปจนกระทั่งเจอคนแคระ ซึ่งเชื่อกันว่าที่มาของคนแคระนั้น คือ คนงานที่ทำงานในเหมืองบนภูเขารอบโลห์อัมมาน ซึ่งสภาพของเหมืองเป็นสถานที่แคบและต่ำมาก จึงต้องใช้คนที่มีรูปร่างเล็ก เธอได้ใช้ชีวิตอยู่กับเหล่าคนงานนั้น แม้ว่าในตอนท้ายเธอจะได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ปราสาทจนกระทั่งเสียชีวิตในวัยชรา เมื่ออายุกว่า 70 ก็ตาม แต่ทว่าทั้งชีวิตเธอก็ไม่มีความสุขอีกเลย และเธอก็ไม่ได้แต่งงานเลยตลอดทั้งชีวิต
ปัจจุบัน ปราสาทของเธอยังคงอยู่ที่เมืองโลห์อัมมาน และภายในนั้นก็มีกระจกขนาดใหญ่บานหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่มาของกระจกวิเศษในเรื่อง [5]
อ้างอิง
แก้- Grimm, Jacob and William, edited and translated by Stanley Appelbaum, Selected Folktales/Ausgewählte Märchen: A Dual-Language Book Dover Publications Inc. Mineola, New York. ISBN 0-486-42474-X
- Theodor Ruf: Die Schöne aus dem Glassarg. Schneewittchens märchenhaftes und wirkliches Leben. Würzburg: Königshausen und Neumann, 1994 (absolutely reliable academic work)
- Jones, Steven Swann. The New Comparative Method: Structural and Symbolic Analysis of the allomotifs of "Snow White". Helsinki, 1990. FFC., N 247.
- ↑ Eliade, Myth and Reality (New York) 1968:202, is expanded in N. J. Girardot, "Initiation and Meaning in the Tale of Snow White and the Seven Dwarfs" The Journal of American Folklore 90 No. 357 (July-September 1977:274-300).
- ↑ Pushkin, Alexander: "The Tale of the Dead Princess and the Seven Knights", Raduga Publishers, 1974
- ↑ http://russian-crafts.com/russian-folk-tales/tale-about-dead-princess.html
- ↑ Märchen und Sagen". Journal-DW
- ↑ Sander, Eckhard (1994). Schneewittchen: Marchen oder Wahrheit? : ein lokaler Bezug zum Kellerwald