เทพนิยาย (อังกฤษ: fairy tale) หมายถึงงานประพันธ์ที่มีตัวละครจากความเชื่อพื้นบ้าน (เช่น ภูต ยักษ์ คนแคระ แม่มด ปีศาจ เทวดา สัตว์พูดได้) กับเรื่องของเวทมนตร์ และเหตุการณ์ที่ดำเนินไปเกินคาดคิด ในยุคสมัยใหม่มักใช้คำนี้ในความหมายถึงเรื่องราวที่มีมนต์เสน่ห์กับความสุขอย่างพิเศษ เช่นในคำว่า "จบแบบเทพนิยาย" (หมายถึง "จบอย่างมีความสุข")[1] แม้ว่าในความจริงแล้ว เทพนิยายไม่ได้จบอย่างมีความสุขเสมอไปทุกเรื่อง นอกจากนี้ คำว่า "เทพนิยาย" ยังอาจใช้ในความหมายว่า เรื่องเหลือเชื่อที่เกินจะเป็นความจริงได้

ภาพวาดของกุสตาฟ ดอเร เกี่ยวกับเทพนิยายเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง

ในวัฒนธรรมที่เชื่อกันว่าปีศาจกับเหล่าแม่มดมีตัวตนจริง ผู้เล่าเรื่องจะเอ่ยถึงเรื่องราวเหมือนกับว่าเป็นประวัติศาสตร์จริง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นนานมาแล้ว บางครั้ง เทพนิยาย ก็หมายรวมถึง ตำนาน ด้วย อย่างไรก็ดี ส่วนที่ไม่เหมือน ตำนาน หรือ มหากาพย์ ก็คือ เทพนิยายจะไม่อ้างอิงถึงสิ่งที่มีจริงในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา สถานที่ บุคคล หรือเหตุการณ์ใด ๆ เหตุการณ์ในเทพนิยายเกิดขึ้นเมื่อ "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว" ที่ไม่สามารถระบุเวลาอย่างแน่ชัดได้[2]

เป็นการยากที่จะสืบหาประวัติความเป็นมาของเทพนิยาย เพราะสิ่งที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันมีแต่เพียงงานเขียนที่เป็นเอกสารเท่านั้น แต่นักเล่านิทานได้สืบทอดเรื่องราวกันมานานหลายศตวรรษแล้ว ซึ่งเทพนิยายอาจเกิดขึ้นมานานพอ ๆ กัน แม้ในช่วงนั้นยังไม่สามารถแยกประเภทได้ชัดเจน คำว่า "เทพนิยาย" บัญญัติขึ้นใช้สำหรับวรรณกรรมประเภทนี้เป็นครั้งแรกโดยมาดามดัลนอย (Madame d'Aulnoy) ปัจจุบันยังคงมีการประพันธ์เทพนิยายและเรื่องราวที่สืบเนื่องจากเทพนิยายอยู่เสมอ

เทพนิยายในยุคก่อนประพันธ์ขึ้นสำหรับผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่พอ ๆ กับเด็ก มีลักษณะใกล้เคียงกับงานประพันธ์แบบ précieuses ในวรรณกรรมฝรั่งเศส พี่น้องตระกูลกริมม์เรียกผลงานของพวกเขาว่าเป็น นิทานสำหรับเด็กและครอบครัว เมื่อเวลาผ่านไป เทพนิยายก็มีความเกี่ยวพันกับเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในการศึกษาวรรณกรรมประเภทนิทานพื้นบ้าน มีการแบ่งประเภทเทพนิยายหลายวิธี ระบบที่น่าสนใจได้แก่ระบบการจัดประเภทของอาร์นี-ทอมป์สัน (Aarne-Thompson) และการวิเคราะห์ของ วลาดิเมียร์ พร็อพพ์ การศึกษาเทพนิยายในแบบอื่นนิยมการแปลความหมายของจุดสำคัญในนิยาย แต่ไม่มีโรงเรียนแห่งไหนตีความเทพนิยายแบบนั้น

ประวัติ แก้

เทพนิยายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานานแล้วก่อนจะมีการบันทึกเป็นตัวอักษร เรื่องราวต่างๆ มักถูกเล่าหรือแสดงท่าทางประกอบมากกว่าจะถูกเขียนลงไป และส่งต่อผ่านกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยเหตุนี้ประวัติความเป็นมาของวรรณกรรมประเภทนี้จึงคลุมเครืออย่างมาก[3] เทพนิยายที่เก่าแก่ที่สุดที่พบว่ามีการจารึกไว้ คือเทพนิยายของอียิปต์โบราณ ประมาณ 1300 ปีก่อนคริสตกาล[4] จากนั้นก็ปรากฏงานเขียนเกี่ยวกับเทพนิยายเรื่อยมา เช่นในงานเขียนเรื่อง The Golden Ass รวมทั้งตำนานของคิวปิดและไซคี (โรมันโบราณ ประมาณ ค.ศ. 100-200)[5] หรือในงานเขียนเรื่อง Panchatantra(หิโตปเทศ) (อินเดีย ค.ศ. 200-300)[5]

อ้างอิง แก้

  1. Merriam-Webster definition of "fairy tale"
  2. แคทเธอรีน โอเรนสไตน์, Little Red Riding Hood Uncloaked: Sex, Morality, and the Evolution of a Fairy Tale, น. 9, ISBN 0-465-04125-6.
  3. Jack Zipes, When Dreams Came True: Classical Fairy Tales and Their Tradition, น. 2. ISBN 0-415-92151-1.
  4. จอห์น แกรนต์ และ จอห์น คลูท, The Encyclopedia of Fantasy, "Fairytale," น. 331. ISBN 0-312-19869-8.
  5. 5.0 5.1 Heidi Anne Heiner, "Fairy Tale Timeline" เก็บถาวร 2010-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้