อาร์เปอตัง (อาร์เปอตัง: arpetan), อาร์ปีตัง (arpitan), เล็งกวาดูเว (lengoua d’ouè), ปาตูเว (patouès), กากา (gaga), โรมัง (romand)[2] หรือ ฝรั่งเศสพรอว็องส์ (francoprovençâl) เป็นภาษาหรือกลุ่มของภาษาถิ่นภายในกลุ่มภาษาโรมานซ์กอล เดิมใช้พูดกันในภาคตะวันออกตอนกลางของประเทศฝรั่งเศส ภาคตะวันตกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี ภาษาหรือกลุ่มภาษานี้มีความแตกต่างจากภาษาโรมานซ์ถิ่นที่อยู่ใกล้เคียง (กล่าวคือ ล็องก์ดอยล์และเล็งกอด็อกในฝรั่งเศส และโรมานซ์ไรติอาในสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี) แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด

ภาษาอาร์เปอตัง
arpetan, arpitan, patouès, gaga
ออกเสียง[ɑrpəˈtɑ̃]; [ɑrpiˈtɑ̃]; [patuˈe, -tuˈɑ]; [gaˈgɑ]
ประเทศที่มีการพูดฝรั่งเศส, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์
ภูมิภาคฝรั่งเศส: ดู, ฌูว์รา, โซเนลัวร์, โรน, ลัวร์, อาร์แด็ช, โดรม, อีแซร์, ซาวัว, โอต-ซาวัว, แอ็ง
อิตาลี: วัลเลดาออสตา, ปีเยมอนเต, ฟอจจา;
สวิตเซอร์แลนด์: รอม็องดี
จำนวนผู้พูด227,000 คน  (2013)[1]
(150,000 คนในฝรั่งเศส, 70,000 คนในอิตาลี,
7,000 คนในสวิตเซอร์แลนด์)[2]
ตระกูลภาษา
ภาษาถิ่น
ฌูว์รา
โดฟีเน
ลียง
โว
ระบบการเขียนอักษรละติน
สถานภาพทางการ
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน ฝรั่งเศส

 อิตาลี

 สวิตเซอร์แลนด์
รหัสภาษา
ISO 639-3frp
Linguasphere51-AAA-j[4]
แผนที่พื้นที่ภาษาอาร์เปอตัง:
  • สีน้ำเงินเข้ม: ได้รับการคุ้มครอง
  • สีน้ำเงินอ่อน: พื้นที่ทั่วไป
  • สีฟ้า: พื้นที่เปลี่ยนผ่านดั้งเดิม

ภาษาอาร์เปอตังเป็นภาษาที่มีลักษณะกระจัดกระจายอย่างมากโดยประกอบด้วยภาษาท้องถิ่นหลายภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูงและไม่เคยผสานรวมเข้าด้วยกันเมื่อเวลาผ่านไป ผู้พูดภาษาถิ่นหนึ่งมักเข้าใจอีกภาษาถิ่นหนึ่งได้ลำบาก ไม่มีพื้นที่ใดที่พูดภาษานี้ใน "รูปแบบบริสุทธิ์" และไม่มี "ภาษาอ้างอิงมาตรฐาน" ที่จะใช้ระบุเอกลักษณ์ภาษาตามนิยามสมัยใหม่ทั่วไป นี่เป็นที่มาของการที่ผู้พูดภาษาถิ่นต่าง ๆ ใช้ศัพท์หรือชื่อท้องถิ่นเรียกภาษาที่ตนเองพูด เช่น แบร็ส (brêssan), ฟอแร (forésien), ลียง (liyonês), ซาวอย (savoyârd), วัลเลดาออสตา (vâldoten)[5] หรือแม้กระทั่ง ปาตูเว (แปลว่า ภาษาชนบท) ผู้พูดภาษาถิ่นเหล่านี้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาศาสตร์เพิ่งรับรู้ถึงเอกลักษณ์ร่วมแห่งภาษาอาร์เปอตังในสมัยหลังมานี้เท่านั้น

ในขณะที่ผู้พูดภาษาอาร์เปอตังมักเรียกภาษาของตนเองว่า ปาตูเว หรือด้วยชื่อภาษาถิ่นที่แตกต่างกันนั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการบัญญัติศัพท์ ฝรั่งเศสพรอว็องส์ ขึ้นใช้ในแวดวงภาษาศาสตร์ด้วยเห็นว่าภาษานี้มีลักษณะบางอย่างร่วมกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาถิ่นพรอว็องส์ (ควบคู่ไปกับลักษณะเฉพาะของภาษา) ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการเสนอให้เรียกภาษานี้โดยใช้ศัพท์ใหม่ว่า อาร์ปีตัง หรือ อาร์เปอตัง ซึ่งแผลงมาจากคำดั้งเดิมในภาษาที่แปลว่า "ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในที่สูง"[6] และเรียกภูมิภาคที่ใช้ภาษานี้ว่า อาร์ปีตานียา (Arpitania) หรือ อาร์เปอตานียา (Arpetania) การใช้ศัพท์ใหม่เหล่านี้เป็นไปอย่างจำกัดในปัจจุบัน นักวิชาการส่วนใหญ่ยังใช้ศัพท์ดั้งเดิมคือ ฝรั่งเศสพรอว็องส์ เพื่อความต่อเนื่อง แม้ว่าอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ก็ตาม

ในอดีตภาษาอาร์เปอตังใช้พูดกันทั่วทั้งดัชชีซาวอย ในปัจจุบัน ในอิตาลีมีผู้พูดภาษานี้ในหุบเขาอาออสตา ตามหุบเขาต่าง ๆ ของเทือกเขาแอลป์รอบ ๆ ตูริน รวมทั้งในเมืองสองเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปในแคว้นปุลยา (ฟาเอโตและเชลเลดีซันวีโต)[7] ในสวิตเซอร์แลนด์มีผู้พูดในพื้นที่ชนบทของภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศส และในฝรั่งเศส ภาษาอาร์เปอตังเป็นหนึ่งในภาษากลุ่มโรมานซ์กอลสามภาษาของประเทศ (ร่วมกับล็องก์ดอยล์และเล็งกอด็อก) และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นภาษาระดับภูมิภาคภาษาหนึ่ง แต่มีการใช้ภาษานี้เพียงเล็กน้อย

แม้จะนับรวมภาษาถิ่นที่แตกต่างกันทั้งหมดแล้ว แต่จำนวนผู้พูดภาษาอาร์เปอตังก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง[8] ตามรายงานของยูเนสโกนั้น เมื่อถึง ค.ศ. 1995 ภาษาอาร์เปอตังได้รับการจัดเป็นภาษาในภาวะ "เสี่ยงใกล้สูญ" ในอิตาลี และ "ใกล้สูญ" ในสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ส่วนเอ็ทนอล็อกจัดว่าภาษานี้อยู่ในภาวะ "เกือบสูญ"[2] ถึงกระนั้น องค์การต่าง ๆ ก็พยายามรักษาภาษานี้ไว้ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรม การศึกษา การวิจัยทางวิชาการ และการจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเอกสารต่าง ๆ

อ้างอิง แก้

  1. ภาษาอาร์เปอตัง ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
  2. 2.0 2.1 2.2 "Arpitan". Ethnologue (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-15.
  3. Norme in materia di tutela delle minoranze linguistiche storiche, Italian parliament
  4. "f" (PDF). The Linguasphere Register. p. 165. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-04-19. สืบค้นเมื่อ 1 March 2013.
  5. Gasquet-Cyrus, Médéric (2018-02-14), Auzanneau, Michelle; Greco, Luca (บ.ก.), "Frontières linguistiques et glossonymie en zone de transition: le cas du patois de Valjouffrey", Dessiner les frontières, Langages, Lyon: ENS Éditions, ISBN 978-2-84788-983-3, สืบค้นเมื่อ 2020-11-16
  6. Alain Pichard, Nos ancêtres les Arpitans เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 24 Heures, Lausanne, 2 May 2009.
  7. Enrico Allasino, Consuelo Ferrier, Sergio Scamuzzi, Tullio Telmon (2005). "LE LINGUE DEL PIEMONTE" (PDF). IRES. 113: 71 – โดยทาง Gioventura Piemontèisa.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  8. "Paesaggio Linguistico in Svizzera" [Switzerland's Linguistic Landscape]. Ufficio Federale di Statistica (ภาษาอิตาลี). 2000. สืบค้นเมื่อ 2020-02-28.