พฤฒิบาศ หรือ พราหมณ์พฤฒิบาศ เป็นพราหมณ์จำพวกหนึ่งประกอบพิธีคชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับช้างและม้าในราชสำนักไทย[1] มีศาสตร์เฉพาะในการดูแลช้างและม้า และปัดเป่าเสนียดจัญไรออกไป[2] มีบทบาทในราชสำนักไทยตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย[2] เรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์[3] พวกเขาปฏิบัติบูชาเทพเจ้าเฉพาะกลุ่ม เรียกว่า พระเทวกรรม และพระโกญจนาเนศวร์ ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในสารบบของศาสนาฮินดู ทั้งยังนับถือพระพิฆเนศเป็น "ครูของหมอช้าง"[4][5][6] การมีอยู่ของพราหมณ์พฤฒิบาศถือเป็นร่องรอยของการมีอยู่ของศาสนาพระเทพกรรม อันเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมในอุษาคเนย์[4][5]

ประวัติ

แก้
 
จิตรกรรมฝาผนังรูปพราหมณ์พฤฒิบาศกับช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์จากเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์
 
หอปะกำและเสาตะลุง ภายในเพนียดคล้องช้าง

สันนิษฐานว่าพราหมณ์พฤฒิบาศมีต้นสายมาจากเมืองเขมร[7] ในราชสำนักไทย พราหมณ์พฤฒิบาศนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยเป็นอย่างน้อย ดังปรากฏใน จารึกนครชุม เมื่อ พ.ศ. 1900[2] เดิมนักบวชเหล่านี้นับถือศาสนาหนึ่งต่างหาก เรียกว่า ศาสนาพระเทพกรรม ดังปรากฏใน จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2053[8] พวกเขานับถือพระครูประกรรม, เทพกรรม หรือเทวกรรม (คือผีปะกำ) เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองก่อนการรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธหรือฮินดู[4] ศาสนานี้เคยแพร่หลายในไทยและกัมพูชา ตั้งแต่ประชากรชนชั้นสามัญชนไปจนถึงชนชั้นเจ้านาย ดั่งพบว่าเจ้านายเขมรเข้าบวชเป็นหมอช้าง ปรากฏใน พงศาวดารละแวก กล่าวถึงเจ้าพระยาโยม ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชารามาธิราชาธิบดี ประสูติแต่นักนางแพง ได้ถือบวชเป็นหมอช้าง ความว่า "...เจ้าพระยาโยม ๆ นั้นเชี่ยวชาญชำนาญรู้ตำราช้างไสยสาตร เป็นครูเถ้าถือบวชเป็นหมอช้าง"[9] แต่ในกาลต่อมา ศาสนาพระเทพกรรมถูกกลืนเข้ากับศาสนาฮินดูในไทย และอาจเป็นไปได้ว่าพราหมณ์พฤฒิบาศนี้อาจเป็นหมอปะกำหรือครูช้างที่เข้ารีตเป็นพราหมณ์[5] พราหมณ์พฤฒิบาศจึงถูกเกณฑ์ให้ไปนับถือพระนารายณ์ (คือพระวิษณุ) แทนผีปะกำ[10]

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า พราหมณ์พฤฒิบาศคือหมอผีปะกำ มีประสบการณ์สูงในการจับช้างป่า พูดภาษาผีเกลี้ยกล่อมช้างป่าได้สำเร็จทุกครั้ง จึงได้รับการยกย่องเป็นพราหมณ์ในท้องถิ่น เรียกว่าพราหมณ์พฤฒิบาศ[11][12] แม้จะรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูเข้ามาแล้ว แต่คงพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาผีปะกำ ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นเทวดาเรียกว่า พระเทวกรรม ไว้โดยแทรกความเป็นฮินดูไปด้วย พระครูประกรรมมีรูปลักษณ์เป็นบุรุษล่ำสัน นุ่งผ้าเกไล เปลือยอก สวมสายธุหร่ำเฉียงทางอังสะซ้าย โคนแขนสวมวลัย นับถือเป็นพระของหมอและควาญช้าง[7] หลังรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูแล้วจึงสร้างบุคลาธิษฐานด้วยการหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระคเณศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูมาใช้ กลายเป็นพระเทวกรรม เทพเจ้าแห่งช้าง และพระโกญจนาเนศวร์ เทพผู้ให้กำเนิดช้าง[6][13] ส่วนพระคเณศได้รับการนับถือเป็นครูช้างอย่างน้อยก็ในยุคอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา ดังปรากฏใน โคลงดั้นยวนพ่าย ความว่า "...การช้างพิฆเณศรน้าว ปูนปานท่านนา..." ซึ่งฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้ถอดความหมายไว้ว่า "...รอบรู้วิชาคชกรรมจนเปรียบปานได้กับพระพิฆเนศวร..."[14]

ในราชสำนักไทยยุคอาณาจักรอยุธยา พราหมณ์พฤฒิบาศมีบทบาทสำคัญในการเป็นกรรมวาจาจารย์ในพิธีปฐมกรรมหรือพิธีบวชพราหมณ์แก่พระมหากษัตริย์[15] ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ตีกรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 1964 พระองค์ได้กวาดต้อนพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก[16] และในช่วงเวลาหลังจากนั้น พราหมณ์พฤฒิบาศจากเมืองเขมรที่อพยพเข้ากรุงศรีอยุธยาเริ่มลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ[15] พวกเขามีบทบาทในการคล้องช้างที่เพนียดคล้องช้าง มีการสร้างหอปะกำ และเสาตะลุง ซึ่งสุจิตต์อ้างว่าเป็นธรรมเนียมตกทอดมาจากประเพณีโพนช้างของชาวกูย[11] ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการแบ่งพราหมณ์ออกเป็นสองฝ่าย แบ่งเป็นฝ่ายขาวคือพราหมณ์พิธี คือผู้กระทำพิธีอันสวัสดิมงคล กับฝ่ายดำคือพราหมณ์พฤฒิบาศ คือผู้กำจัดอวมงคลให้สิ้นสูญ[7] โดยสกุลบุณยรัตพันธุ์รับราชการเป็นพฤฒิบาศมาแต่ครั้งกรุงเก่าเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์[17]

ยุครัตนโกสินทร์ พราหมณ์พฤฒิบาศเป็นกรมสังกัดหนึ่งในสองกรมพราหมณ์ เรียกว่า กรมพราหมณ์พฤฒิบาศ แยกกับกรมพราหมณ์พิธี โดยมี พระสิทธิไชยบดี หรือเรียกว่า พระหมอเฒ่า เป็นเจ้ากรม[3][7] โดยมีเจ้านายและขุนนางหลายคนศึกษาวิชาคชศาสตร์จนได้เป็น "หมอเฒ่า" ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์ และเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุลจันทโรจนวงศ์ เป็นต้น[18] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีเชื้อสายพราหมณ์พฤฒิบาศจากพระบุรพชนฝ่ายพระชนนีสายหนึ่งที่สืบสันดานมาจากสกุลบุณยรัตพันธุ์[19] อย่างไรก็ตามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ ทำให้บทบาทของพราหมณ์พฤฒิบาศหายไป[20]

กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพราหมณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง[20] ส่วนพราหมณ์พฤฒิบาศกลับสาบสูญไป หลงเหลือเพียงผู้สืบสันดานเท่านั้น

การแบ่งกลุ่ม

แก้

พราหมณ์พฤฒิบาศมีความเชี่ยวชาญในการดูแลและช่วยกันทำกิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับช้างได้เป็นอย่างดี โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่[21]

  1. พระหมอเฒ่า หรือ หมอเฒ่า เป็นคณาจารย์ของพวกพฤฒิบาศ
  2. พ่อหมอเฒ่า หรือ หมอช้าง เป็นพฤฒิบาศรองลงมา
  3. หัศดาจารย์ หรือ ครูช้าง เป็นครูในการหัดช้าง

พราหมณ์พฤฒิบาศที่ตำแหน่งเป็น พระสิทธิไชยบดี หรือ พระหมอเฒ่า เป็นเพียงผู้รอบรู้กระบวนพิธี รู้ตำราคชลักษณ์ รอบรู้อาถรรพเวท เข้าใจการคชกรรม แต่ไม่มีหน้าที่คชบาล บางคนไม่กล้าเข้าใกล้ช้าง หรือกระโดดหนีช้างด้วยก็มี[7] ด้วยเหตุนี้หน้าที่ด้านการคชบาลจึงตกเป็นของ พ่อหมอเฒ่า หรือ ควาญ ที่เชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์จะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น บำบัดโรคช้าง กำราบนิสัยช้าง พิธีเบิกไพรแก่ช้างป่าคล้องใหม่ กับพิธีบังไพรเพื่อต้อนช้างให้ไปสู่จุดมุ่งหมาย ด้วยบทบาทที่โดดเด่นกว่าเช่นนี้ ทำให้พ่อหมอเฒ่าได้รับการยกย่องนับถือเสียยิ่งกว่าพราหมณ์พฤฒิบาศที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระสิทธิไชยบดีหรือพระหมอเฒ่าเสียอีก[7]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้พระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ศึกษาวิชาคชศาสตร์ เจ้านายที่มีชื่อเสียงด้านนี้มากที่สุด คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงเป็นธุระบำรุงกิจการคชกรรมเป็นอย่างมาก พระองค์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์เพนียดจนสมบูรณ์ พระองค์โปรดการคชกรรมมากจนถึงกับสร้างพระตำหนักขึ้นที่เพนียดและประทับอยู่ที่นั่นบ่อย ๆ จนได้รับพระสมัญญานามว่า "กรมหลวงเฒ่า" และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พวกกรมช้างจึงได้มีการสร้างเทวาลัยเฉลิมพระเกียรติด้านเหนือของเพนียด เรียกว่า ศาลกรมหลวงเฒ่า[18]

หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหลสงเทพพลภักดิ์ ก็ยังมีเจ้านายที่เชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์อีก ได้แก่ หม่อมไกรสร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ซึ่งทั้งหมดดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมช้าง[18] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงมีพระปรีชาสามารถในการรำพัดชาได้อย่างถูกต้อง และโปรดให้มีการคล้องช้างเป็นประจำทุกปี[18]

พิธีกรรม

แก้

พราหมณ์พฤฒิบาศมีหน้าที่ในการฝึกดูแลช้างหลวง เช่น การคล้องช้างป่ามาใช้ในราชการ[2][3] มีหน้าที่ไปรับและกล่อมช้างสำคัญก่อนนำมาเข้าสู่ราชธานี[22] และทำหน้าที่ปัดเป่าเสนียดจัญไรหากมีการเสียชีวิตภายในพระบรมมหาราชวังหรือที่ประทับของเจ้านาย[2][3] พราหมณ์พฤฒิบาศจะเข้าไปประกอบ พิธีกลบบัตรสุมเพลิง เป็นพิธีที่ทำให้พื้นดินบริสุทธิ์ หากมีใครเลือดตกยางออกหรือตายในพระราชฐานชั้นใน ต้องแก้ไขด้วยการให้พราหมณ์พฤฒิบาศปลูกศาลเพียงตา ขุดดินบริเวณที่มีเลือดหรือคนตายกว้างสองศอก ยาวสองศอก และลึกศอกเศษ จากนั้นนำแกลบกลบลงในหลุมสูงหนึ่งศอกแล้วก่อไฟ หยิบเครื่องสังเวยใส่ในกองเพลิงแล้วอ่านโองการ เสร็จแล้วเกลี่ยดินกลบหลุม[23] แล้วนำวิญญาณของผู้ตายออกจากที่เกิดเหตุไปลอยแม่น้ำ[3] ในสมัยอยุธยา มีการแต่ง ตำราคชลักษณ์ ว่าด้วยลักษณะของช้าง ตำราคชกรรม ว่าด้วยการหัดช้างเถื่อน ขี่ช้างเถื่อน มนต์บังคับช้าง และระเบียบพิธีต่าง ๆ[24] นอกจากนี้ยังมี คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง มาใช้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการคชกรรม สุจิตต์สันนิษฐานว่า คงเป็นวรรณกรรมที่ดัดแปลงมาจากพิธีกรรมเข้าทรงผีช้าง[12]

พราหมณ์พฤฒิบาศบูชาพระคเณศ ด้วยนับถือว่าเป็นครูของหมอช้าง จึงมีการสร้างโบสถ์สำหรับปฏิบัติบูชาพระคเณศ เรียกว่า สถานพิฆเนศวร ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ แยกจากโบสถ์ของพวกพราหมณ์พิธีไปต่างหาก[14]

นอกจากนี้ในพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก จะมีพ่อหมอเฒ่าออกมารำพัดชา[7] และในพิธีธนญชัยบาศรับช้างเผือก พราหมณ์พฤฒิบาศจะประกอบอาหาร เรียกว่า ข้าวเภา หรือ ข้าวกระยาสังแวง คลุกด้วยสีเหลือง และสีแดง มาปั้นเป็นก้อน[25] โดยกระทำอยู่ภายใน สถลทิน สร้างเป็นเนินดิน ตั้งเสาโครงเพดานผ้าขาว เพื่อหุงข้าวเภาและปักต้นอ้อย รอรับช้างเผือก

นอกจากด้านคชกรรมแล้ว สตรีที่มีเชื้อสายพราหมณ์พฤฒิบาศที่เข้ารับราชการฝ่ายในบางท่าน เช่น ท้าวสมศักดิ์ (โหมด บุณยรัตพันธุ์) และเจ้าจอมอิ่ม ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม คุรุกุล) ยังมีบทบาทเกี่ยวกับสิ่งศิริมงคลตามคติพราหมณ์โดยไม่จำกัดจำเพาะว่ามีเชื้อพราหมณ์จากสายไหน โดยสตรีฝ่ายในที่สืบเชื้อพราหมณ์นี้จะได้รับหน้าที่อ่านฉันท์โองการแช่งน้ำในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จะต้องนุ่งขาว และสะพายแพรปักสีขาว[26][27] แม้แต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าจะใช้ผ้าต่วนขาวปักดิ้นเงินแทนสีชมพูเป็นกรณีพิเศษ[22]

อ้างอิง

แก้
  1. จินตนา ปิ่นเฉลียว. ศรีจุฬาลักษณ์. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2524, หน้า 137
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "จารึกนครชุม". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 15 กรกฎาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "พราหมณ์พฤฒิบาศ". คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (2 เมษายน 2563). "ศาสนาผีของพระเทพกรรม ที่ระเบียงคด วัดพระแก้วฯ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (12 ตุลาคม 2560). "ครูช้าง พราหมณ์สยาม : พระคเณศกับปกรณัมแบบไทย ๆ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ (5 พฤศจิกายน 2561). "สัมภาษณ์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง: ฮินดู...อีกมุมที่คนไทยไม่รู้จัก". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 อายัณโฆษณ์ (2558). "เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวข้องกับช้าง". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. กรมศิลปากร (2481). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 71 (PDF). พระนคร: กรุงเทพบรรณาคาร. p. 2.
  10. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (16 พฤศจิกายน 2560). "ไม่มีพระพรหมและพระคเณศในพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรี". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. "ชาวกูย จาก 'โขง-ชี-มูล' รับราชการ 'งานช้าง' ในอยุธยา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (26 มิถุนายน 2565). "พระพิฆเนศในอินเดีย ผีช้างจากสุวรรณภูมิ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1592
  14. 14.0 14.1 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (30 สิงหาคม 2565). "หรือว่า 'พระคเณศ' เป็นครูช้างพราหมณ์สยาม? นัยของเรื่องนี้สะท้อนอะไรบ้าง?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. 15.0 15.1 คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ (2520). ปาฐกถา "สิรินธร" ครั้งที่ 2 เรื่อง "อิทธิพลของศาสนาฮินดูต่ออารยธรรมไทย" (PDF). p. 10.
  16. ศิริ สละคต (2525). การคล้องช้างที่เพนียดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (PDF). ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 36.
  17. กรมศิลปากร (2493). สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาค 3 (PDF). พระนคร: พระจันทร์. p. 131.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 ศิริ สละคต (2525). การคล้องช้างที่เพนียดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (PDF). ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 19-21.
  19. พุทธานุวัตร. พระนคร: พระจันทร์. 2513. p. 1.[ลิงก์เสีย]
  20. 20.0 20.1 "บทบาทหน้าที่ของพราหมณ์ต่อราชสำนักสยาม". มูลนิธิโครงการสารานุกรมฉบับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. ศิริ สละคต (2525). การคล้องช้างที่เพนียดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (PDF). ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 10.
  22. 22.0 22.1 "แดงมนตร์ดำ ศักดิ์ระพี พรหมชาติ". โพสต์ทูเดย์. 28 มีนาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. กิเลน ประลองเชิง (2 เมษายน 2562). "กลบบัตรสุมเพลิง". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. ศิริ สละคต (2525). การคล้องช้างที่เพนียดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (PDF). ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 11.
  25. "ข้าวที่ใช้ในพิธีต่าง ๆ". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 10 มิถุนายน 2553. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. จงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้า. บันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2522, หน้า 31
  27. พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (28 เมษายน 2566). พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์ (PDF). วารสารประวัติศาสตร์ มศว. p. 381.

ดูเพิ่ม

แก้