พระอินทมิตรา หรือพระนามเดิมว่า นางเกสร[1] เป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนก และพระมเหสีในพระอินทราชา (เอกสารไทยเรียก เจ้าพระยาแพรก หรือ แกรก) ต่อมาได้เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในเจ้าพระยาญาติ และเป็นพระญาติวงศ์ของท่านแม่นางศรีเสงี่ยม[1] เจ้านายจากอโยธยาที่ประทับในเมืองพระนคร หลังสมเด็จพระราเมศวรเข้ายึดครองเมืองดังกล่าว[2] ซึ่งเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายด้วยกัน และเป็นญาติของพญาศรีราชเดโชไทยทั้งคู่[1]

พระอินทมิตรา
พระมเหสีฝ่ายซ้าย
พระภัสดาพระอินทราชา
เจ้าพระยาญาติ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พระราชสมภพ)
ตรอซ็อกผแอม (อภิเษกสมรส)
พระบิดาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

เจ้าพระยาญาติลอบสังหารพระอินทราชา ขึ้นปกครองเมืองพระนครเอง และได้แต่งตั้งให้นางเกสร พระมเหสีในพระอินทราชา เป็นบาทบริจาริกาในพระองค์ ก่อนสถาปนายกขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในเวลาต่อมา ดังปรากฏเนื้อหาใน พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เอง ความว่า "...ครั้นอยู่มาปีหนึ่งพญาคามยาตแต่งกลอุบาย เอาดาบใส่ในยแงสุราผนึกปลอมเข้าไปกับของทั้งปวง เข้าไปถวายพระอินทราชา ๆ ให้เปิดแงออก ผู้ซึ่งเอาของมาถวายนั้นก็ชักเอาดาบในแงเข้าฟันพระอินทราชาตาย จับพระมเหษีย์หนึ่งพระสนมหนึ่ง พญาคามยาตได้เสวยราชณะเมืองพระนครหลวง..."[1] และกล่าวอีกว่า "...ยกพระสนมไทยชื่อนางเกสร เปนพระมเหษีฝ่ายซ้าย ทรงพระนามพระอินทมิตรา แลพระอินทมิตรานี้ เปนน้องร่วมพระราชบิดากับพระอินทราชา..."[1] และในพงศาวดารยังระบุอีกว่า พระอินทมิตรามีศักดิ์เป็นพระอัยยิกาของเจ้าพระยาธรรมราชา[3]

พระอินทมิตรามีพระชนม์ชีพผ่านมาหลายรัชกาล และมีบทบาทสำคัญในการปราบดาภิเษกของเจ้าพระยาธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชโอรสเลี้ยงและมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดา โดยพระองค์ทรงรับรู้มาว่าพระศรีสุริโยไทยราชา (หรือ สมเด็จพระศรีโสไทย) ที่เพิ่งเสวยราชสมบัตินั้น ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าพระยาธรรมราชาจึงมีแผนลอบปลงพระชนม์ พระอินทมิตราจึงลอบนำความไปกราบบังคมทูล หลังจากนั้นทั้งฝ่ายสมเด็จพระศรีโสไทยและฝ่ายเจ้าพระยาธรรมราชาได้ซ่องสุมผู้คนและสู้รบกันในเวลาต่อมา[3]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 อมรวงศ์วิจิตร, หม่อม. "พงษาวดารเมืองลแวก". ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 4. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. 2458, หน้า 26
  2. Briggs, Lawrence Palmer (1948). "Siamese Attacks on Angkor Before 1430". The Far Eastern Quarterly. 8 (1): 33. JSTOR 2049480.
  3. 3.0 3.1 อมรวงศ์วิจิตร, หม่อม. "พงษาวดารเมืองลแวก". ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 4. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. 2458, หน้า 27-28