พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เอง
พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เอง เป็นพงศาวดารเขมรฉบับที่เก่าแก่ที่สุด[1] พงศาวดารฉบับนี้เรียบเรียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (นักองค์เอง) หรือก่อนนั้น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณนำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อ พ.ศ. 2339 แล้วจึงโปรดให้หลวงพจนาพิจิตร ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธ และนายชํานิโวหาร แปลเป็นภาษาไทย ศานติ ภักดีคำ สันนิษฐานว่า หลวงพจนาพิจิตรดังกล่าว ได้แก่ หลวงพจนาพิจิตร (เมือง) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยากลาโหม[2] โดยออกชื่อว่า พระพงษาวะดาลเขมน ของเจ้ารามาธิบดีถวาย แต่คราวตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2458 นั้น ออกชื่อว่า พงษาวดารเมืองลแวก แต่ปัจจุบันต้นฉบับภาษาเขมรสูญหายไปแล้ว[3]
พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เอง จับความตั้งแต่ มหาศักราช 1268 (จ.ศ. 708 หรือ พ.ศ. 1889) เมื่อสมเด็จพระมหานิภารเสวยราชสมบัติในพระนครศรีโสทรราชธานี (กรุงยโศธรหรือนครธม) จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระศรีโสไทยเสวยราชย์ ณ พระนครหลวง ครั้งนั้นสมเด็จพระศรีโสไทยนั้นมิไว้พระทัยเจ้าพญาธรรมราชาจะให้ฆ่าเสีย เจ้าพญาธรรมราชาก็หนีออกไปซ่องสุมผู้คนยกมารบได้พระนครหลวง สมเด็จพระศรีโสไทยก็หนีเข้ามายังพระนครศรีอยุธยา[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร. งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของเอเชยตะวันออกเฉียงใต้ : กลุ่มประเทศภาคพื้นทวีป. ใน รวมบทความประวัติศาสตร์. ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2537. หน้า 161.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. (2549) "ความนำ". ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12 (น. 44). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ISBN 9749528476.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. "เอกสารกัมพูชากับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา" (PDF).
- ↑ ธิบดี บัวคำศรี. "พงศาวดารกัมพูชาที่แปลชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทยระหว่าง พ.ศ. 2339–2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย (2002)".