พระวิไชยราชา (หนานขัติ แสนศิริพันธุ์)

พระวิไชยราชา (หนานขัติ แสนศิริพันธุ์) หรือ เจ้าหนานขัติ พระวิไชยราชาแห่งนครแพร่ อดีตเสนาคลังจังหวัดแพร่ เป็นบุตรของแสนเสมอใจ ขุนนางเค้าสนามหลวงนครแพร่ กับเจ้าพิมพา (สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย) และเป็นต้นสกุล แสนศิริพันธุ์

พระวิไชยราชา (หนานขัติ แสนศิริพันธุ์)

เจ้าหนานขัติ แสนศิริพันธุ์
พระวิไชยราชานครแพร่
พิราลัยพ.ศ. 2465
ชายาเจ้าคำใย้ แสนศิริพันธุ์
เจ้าคำป้อ แสนศิริพันธุ์
พระบุตร6 คน
ราชวงศ์แสนซ้าย
พระบิดาแสนเสมอใจ
พระมารดาเจ้าพิมพา

ประวัติ แก้

พระวิไชยราชา (หนานขัติ แสนศิริพันธุ์) หรือ เจ้าหนานขัติ แสนศิริพันธุ์ เป็นบุตรของแสนเสมอใจ (แสนศรีซ้าย) ขุนนางเค้าสนามหลวงนครแพร่ กับเจ้าพิมพา (สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ แห่งราชวงศ์แสนซ้าย) มีน้องชาย 1 คน คือเจ้าเทพวงศ์ ผาทอง (ต้นสกุล ผาทอง) เจ้าหนานขัติ ดำรงตำแหน่งเป็น พระวิไชยราชา พระวิไชยราชานครแพร่ และเสนาฝ่ายคลัง ในสมัยเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย ถือศักดินา 1,000 ไร่[1]

บุตร-ธิดา แก้

เจ้าพระวิไชยราชา (หนานขัติ แสนศิริพันธุ์) มีชายา 2 คน คือ

  • เจ้าคำใย้ (บัวคำ) แสนศิริพันธุ์ มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ
  1. เจ้าน้อยทอง สมรสกับเจ้าจันจิรา มหายศปัญญา (ธิดาพระเมืองชัย(เจ้าน้อยชัยลังกา) กับเจ้าคำป้อ มหายศปัญญา) และเจ้าบัวระพา มหายศปัญญา (ธิดาเจ้าหนานชื่น มหายศปัญญา) มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ
    1. เจ้าอุ๊ แสนศิริพันธุ์ (เกิดจากเจ้าจันจิรา)
    2. เจ้าอินป๋อน แสนศิริพันธุ์ (เกิดจากเจ้าบัวระพา)
  2. เจ้าน้อยนุต แสนศิริพันธุ์ สมรสกับนางบัวผัน แสนศิริพันธุ์ ไม่มีบุตร
  3. เจ้าน้อยคำแสน สมรสกับเจ้าบัวจีน อุตรพงศ์ (ธิดาขุนสมรังษี (เจ้าน้อยสม อุตรพงศ์) กับเจ้าสุกันทา อุตรพงศ์) และนางนุ่น แสนศิริพันธุ์ มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ
    1. นางคำแฮ อุตรพงศ์ (แสนศิริพันธุ์)
    2. นางศรีรัตนา คล่องตรวจโรค
  4. เจ้าคำปัน แสนศิริพันธุ์
  • เจ้าคำป้อ แสนศิริพันธุ์ (ธิดาพระญาประเสริฐชนะสงครามราชภักดี ขุนนางนครแพร่) มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ
  1. เจ้าสุคันธา ไชยประวัติ สมรสกับรองอำมาตย์ตรีเผือก (เจ้าเผือก ไชยประวัติ) มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ
    1. คุณหญิงบัวเขียว รังคสิริ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของจังหวัดแพร่ และอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่
    2. นางสาวจันทร์ฟอง ไชยประวัติ
    3. นางจันทรา คนบุญ
  2. เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดแพร่ และอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทย[2] สมรสกับเจ้าน้อย บุตรรัตน์ (ธิดาเจ้าน้อยจุ๋งแก้ว กับแม่นายมา บุตรรัตน์) มีบุตรชาย 1 คน คือ
    1. เจ้าสุนทร แสนศิริพันธุ์

การทำงาน แก้

ด้านการทหาร แก้

  • เจ้าพระวิไชยราชา ได้เป็นแม่ทัพคุมรี้พลจากเมืองนครแพร่ไปสมทบกับทัพหลวงของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก และทำศึกปราบฮ่ออยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
  • เจ้าพระวิไชยราชา ยังเป็นผู้ที่ยืนขนาบเคียงข้างเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ เพื่อนำพาออกไปรับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ยกทัพหลวงมาปราบพวกเงี้ยว และเชื้อเชิญให้เข้าสู่เมืองแพร่ วีรกรรมของพระวิไชยราชา ได้ทำให้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด หวาดระแวงจากส่วนกลางที่มีต่อเมืองแพร่ จนสถานการณ์ดีขึ้น

ด้านการศาสนา แก้

จากประวัติวัดศรีบุญเรืองได้กล่าวถึงพ่อเจ้าพระวิไชยราชา และแม่เจ้าคำป้อ ว่าทั้งสองท่านนี้นอกจากจะเป็นผู้มีประวัติอันดีเด่น กอปรด้วยความซื่อสัตว์สุจริตต่อแผ่นดิน มีจิตใจที่มันคงในการกุศลและมีวิริยะศรัทธาแรงกล้า ที่จะเสริมสร้างความเจริญให้แก่พระบวรพุทธศาสนาได้พยายามทุ่มเทสติปัญญา ความสารถ และกำลังทุนทรัพย์ด้วยความเมตตาจิต เข้ามาช่วยเหลือบำเพ็ญกรณียกิจให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะกุศลทุกวิถีทาง และทุกๆปีที่คุ้มวิชัยราชาของท่านจะบวชเณรให้กับเด็กเมืองแพร่จำนวนมาก เล่ากันว่าในขณะที่พ่อเจ้าพระวิไชยราชาได้ป่วยหนักจนไม่สามารถลุกเดินได้นั้น ท่านยังมีความกังวลต่อการก่อสร้างวัตถุของวัดที่ยังไม่แล้วเสร็จในขณะนั้น ได้สั่งให้คนรับใช้หามท่านทั้งเก้าอี้นอนเพื่อไปดูการก่อสร้างที่วัด พร้อมทั้งเร่งรัดให้ช่างดำเนินการก่อสร้างวิหารให้เสร็จภายในเร็ววัน และหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ท่านถึงได้อสัญกรรมในปีพ.ศ. 2465[3]

เหตุการณ์กบฎเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ แก้

ในปีพ.ศ. 2445 ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองแพร่ โดยพวกไทใหญ่หรือเงี้ยวที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในเมืองแพร่ และทำมาหากินในการขุดพลอย ประเภทพลอยไพลินที่ตำบลบ่อแก้ว อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน ได้ทำการก่อจลาจลในเมืองแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหลวงนครแพร่ถูกกล่าวหาว่าคบกับพวกเงี้ยว เจ้าพิริยเทพวงษ์จึงต้องเสด็จหลีภัยการเมืองไปประทับเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว[4] และได้พำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. 2455 ส่วนเจ้านายองค์อื่นๆถูกถอดยศศักดิ์ ถูกควบคุมลงไปกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ และให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ ร่วมถึงพระวิไชยราชา (เจ้าขัติ แสนศิริพันธุ์) ซึ่งมีส่วนรู้เห็นแต่ไม่ได้รับโทษหนัก เพราะเป็นเจ้านายระดับรองลงมาที่ไม่ได้เป็นเจ้าชั้นใกล้ชิดกับเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เพียงแต่ถูกสยามควบคุมดูความประพฤติ ต่อมาได้ร่วมกับพระวังซ้าย (เจ้าหนานมหาจักร) พระสุริยะ (เจ้าน้อยมหาอินทร์) พระคำลือ ฯลฯ เจ้านายอื่นๆพร้อมกับบุตรหลานรวมจนถึงขุนนางในนครแพร่ พากันบริจาคเงินก้อนใหญ่รายละ 50 – 100 บาท เพื่อสร้างโรงพยาบาลทหารที่นครแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2445 ตามความคิดของคุณหญิงเลี่ยม ภริยาของพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ปราบกบฏเงี้ยว[5]

อ้างอิง แก้

  1. ภูเดช แสนสา. ศักดินาเจ้านายประเทศราชสมัยราชวงศ์ทิพจักร
  2. คุ้มวิชัยราชา[ลิงก์เสีย]
  3. หมู่บ้าน วังฟ่อน คุ้มวิชัยราชา
  4. องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ประวัติเจ้าพิริยเทพวงศ์ (เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่) เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูเมื่อ 7 มิถุนายน 2556
  5. ภูเดช แสนสา กบฏเงี้ยว พ.ศ. ๒๔๔๕” การต่อต้านสยามของประเทศราชล้านนา เริ่มที่เมืองลอง
ก่อนหน้า พระวิไชยราชา (หนานขัติ แสนศิริพันธุ์) ถัดไป
พระวิไชยราชา (น้อยอินทะ)   พระวิไชยราชาแห่งนครแพร่
(? - พ.ศ. 2465)
  รัฐบาลสยามยกเลิกตำแหน่ง

{{ตายปี|2465}