ซัลวาดอร์ ดาลี หรือ ซัลวาดอร์ เฟลีเป คาซินโต ดาลี โดเมเนก (อังกฤษ: Salvador Domingo Felipe Jacinto Dalí Domènech, 1st Marquis of Púbol หรือที่รู้จักกันในชื่อ en:Salvador Dalí) (11 พฤษภาคม ค.ศ. 1904 - 23 มกราคม ค.ศ. 1989) เป็นศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ (Surrealist) ชาวสเปน มีความโดดเด่นในเรื่องความแปลกประหลาดทั้งในด้านผลงานและชีวิตส่วนตัวซึ่งดึงดูดความสนใจของคนทั่วไป ดาลีมีผลงานเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ทั้งในวงการศิลปะทัศนศิลป์ การแสดง กราฟิกดีไซน์ การออกแบบ ภาพถ่าย รวมไปถึงผลงานทางภาพยนตร์

Salvador Dali

ชีวประวัติและผลงาน แก้

ชีวิตช่วงต้น แก้

ซัลวาดอร์ ดาลี เกิดในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1904 ที่เมืองฟิกูเรส (en:Figueres) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่เชิงเขาพิรินิสตรงชายแดนติดกับประเทศฝรั่งเศส ทางตอนเหนือในแคว้นคาตาโลเนีย (Catalonia) ประเทศสเปน เป็นบุตรคนที่ 2 ของ ซาลวาดอร์ ดาลี กูซี (Salvador Dalí Cusi) และ เฟลีปา โดเมเนก เฟร์เรส (Felipa Domenech Ferres) โดยชื่อ ซาลวาดอร์ เฟลีเป คาซินโต นั้นได้รับมาจากพี่ชายของเขาซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเป็นทารก พ่อและแม่ของเขาจึงมอบชื่อของพี่ชายให้เพื่อเป็นการทดแทนพี่ชายที่เสียไป นอกจากนี้เขายังมีน้องสาวอีกหนึ่งคนซึ่งอ่อนกว่าเขา 3 ปีชื่อ อานา มาเรีย (Ana Maria) อีกด้วย เนื่องจากการสูญเสียลูกชายคนโตไปทำให้พ่อแม่ของดาลีมักจะปลูกฝังอยู่เสมอว่าเขาเป็นพี่ชายที่กลับมาเกิดใหม่ทำให้ดาลีเชื่อว่าในร่างของเขามีอีกวิญญาณหนึ่งที่เป็นพี่ชายอยู่ ซึ่งความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณนี้จะส่งผลต่อการทำงานศิลปะของเขาในภายหลังด้วย[1] โดยในวัยเด็กเขาเป็นคนที่มีบุคลิกที่แปลกและสับสนอยู่เสมอ และมักจะต่อต้านในระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆจนดูเหมือนเด็กก้าวร้าว ชอบทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่มีเหตุผล เช่น ผลักเพื่อนที่เดินไปด้วยกันตกจากสะพานสูง ตีหัวน้องสาววัย 3 ขวบ ของตนเอง ทำลายไวโอลินของเพื่อน [2]เป็นต้น

ความสามารถในการวาดภาพของดาลีนั้นปรากฏให้เห็นตั้งแต่อายุได้ 10 ขวบซึ่งพ่อแม่ของเขาก็เห็นความสามารถนี้และให้การสนับสนุนโดยการส่งดาลีไปอยู่กับเพื่อนชื่อ รามอน พิทชอต (Ramon Pichot) ซึ่งเป็นศิลปินในกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์(Impressionism) และเคยร่วมกลุ่มทำงานกับปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) ในการทำงานแบบคิวบิสซึสต์ (Cubist) ในช่วงนี้ผลงานของดาลีมักจะเป็นภาพแบบแลนด์สเคป (Landscape) โดยมีต้นแบบมาจากทิวทัศน์รอบๆบ้านเกิดของเขา ต่อมาในปี ค.ศ. 1917 พิทชอตได้สนับสนุนให้ดาลีเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะที่เมืองฟิกูเรส และยังได้เปิดการแสดงภาพครั้งแรกโดยการสนับสนุนจากพ่อของเขาอีกด้วย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1921 แม่ของดาลีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและในเวลาต่อมาไม่นานนักพ่อของเขาก็แต่งงานใหม่กับน้องสาวของแม่ซึ่งก็คือน้าแท้ๆของดาลี ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้ดาลีเพราะเขาคิดว่าไม่มีใครมาแทนที่แม่ของเขาได้ ทำให้เกิดความห่างเหินขึ้นระหว่างเขากับพ่อประกอบกับดาลีเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มซึ่งต้องการความเป็นอิสระ ต้องการออกแสวงหาประสบการณ์ด้วยตนเองและเพื่อให้ได้ออกห่างจากพ่อเขาจึงได้สมัครเข้าศึกษาที่สถาบันแห่งราชสำนักซานเฟอร์นานโด (Royale Academia de San Fernando) ซึ่งเป็นสถาบันศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดของสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1922 ในระหว่างศึกษาที่สถาบันซานเฟอร์นานโดนี้ดาลีได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวความคิดเกี่ยวกับความฝันของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) หนังสือที่เขียนโดยอังเดร เบรอตอง (Andre Breton) ที่นำมาสู่แนวคิดแบบเซอเรียลลิสต์และงานของศิลปินในกลุ่มดาด้า (Dada) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการทำงานของดาลีเป็นอย่างมาก และในระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้อุปนิสัยต่อต้านกฎระเบียบของดาลีก็รุนแรงมากขึ้นจนเริ่มมีความขัดแย้งกับอาจารย์ผู้สอนมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถูกถอดออกจากสถานภาพความเป็นนักศึกษาในปี ค.ศ. 1926 เนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะทำการสอบทำให้เหล่าคณาจารย์เห็นว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงและไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนทำให้ดาลีถูกไล่ออกในที่สุดซึ่งก็ทำให้พ่อของเขาโกรธมากและยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างเขาและพ่อมากยิ่งขึ้นไปอีกจนถึงขั้นที่พ่อของเขากล่าวว่าไม่อยากจะยุ่งกับเขาอีก ดาลีจึงไม่กลับบ้าน แต่ออกเดินทางไปที่ต่างๆ เช่น ไปพบปิกาสโซ่ และอังเดร เบรอตอง

เริ่มเข้าสู่ยุคเซอเรียลลิสต์ แก้

ในปี ค.ศ. 1929 ดาลีได้เข้าร่วมกับกลุ่มเซอเรียลลิสม์ (Surrealism) และได้เริ่มงานแบบเซอเรียลลิสต์อย่างเต็มตัวโดยเลิกทำงานในแนวทางอื่น งานในช่วงนี้ของเขาเป็นการปลดปล่อยความกดดันภายในจิตใจของตนเองออกมา และในระหว่างนี้เองเขาได้แต่งงานกับกาลา เอลูอาร์ด (Gala Eluard) ซึ่งในเวลาต่อมาจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อดาลีในการสร้างงานศิลปะของเขา และเนื่องจากกาลาเป็นภรรยาเก่าของนักเขียนคนหนึ่งในกลุ่มเซอเรียลลิสม์ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อของเขาไม่พอใจมากเพราะเขาไปข้องเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีสามีแล้วและในที่สุดก็ประกาศอัปเปหิเขาออกจากบ้านและไม่ให้กลับมาพบหน้าครอบครัวอีก ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความขัดแย้งและห่างเหินระหว่างเขากับพ่อมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างงานที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างพ่อและดาลี เช่น

วิลเลี่ยม เทล (en:William Tell, 1930) ตามตำนานนั้นวิลเลียม เทลล์มักจะทดสอบความแม่นยำของหน้าไม้โดยการยิงหน้าไม้ไปที่แอปเปิ้ลที่วางอยู่บนหัวของลูกชาย ซึ่งการกระทำแบบนี้ดาลีมองว่าเป็นการบังคับจิตใจลูกชายอย่างรุนแรงเพราะเด็กที่เป็นลูกย่อมไม่อาจปฏิเสธผู้เป็นพ่อของตนเองได้ และถ้าหากพลาดพลั้งถึงตายพ่อจะรับผิดชอบชีวิตของลูกชายได้อย่างไร ในภาพนั้นแสดงถึงอวัยวะเพศของวิลเลียม เทลล์ซึ่งก็หมายถึงความมีอำนาจ และที่มือของวิลเลียม เทลล์ถือกรรไกรซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเด็ก เพราะมันหมายถึงการกล้อนผม[3] ดาลีมักจะวาดภาพวิลเลียม เทลล์เพื่อแสดงถึงการถูกพ่อบังคับจิตใจอยู่เสมอ

งานของดาลีนั้นจะสะท้อนภาพต่างๆในจิตใจของเขาออกมาโดยจะเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในจิตใต้สำนึกที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก คือ เรื่องระหว่างเขากับพ่อและเรื่องกามราคะ และแสดงออกมาอย่างสุดโต่ง ดังจะเห็นได้จากผลงานของเขา ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก “ความฝันจากจิตไร้สำนึกของฟรอยด์” ดาลีเรียกงานของเขาว่า “สภาวะแห่งจิตวิกลจริต (Paranoiac-critical Method)” [4] เช่นภาพ

การสำเร็จความใคร่อันยิ่งใหญ่ (en:The Great Masturbator, 1929) เป็นการปลดปล่อยความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศของเขาออกมา โดยดาลีใช้ภาพใบหน้าของเขาเองและมีใบหน้าของผู้หญิงมาสำเร็จความใคร่ให้กับผู้ชาย ที่ปากของดาลีมีตั๊กแตนซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหวาดกลัวในสมัยเด็ก และที่ท้องของตั๊กแตนถูกมดกัดกินซึ่งสื่อถึงการคอรัปชันตามความคิดของดาลี[5]

ความทรงจำฝังแน่น (en:The Persistence of Memory,1931) เป็นภาพหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของดาลี แสดงถึงนาฬิกาที่อ่อนเหลว บิดเบี้ยว เป็นการสื่อถึงสิ่งที่กาลเวลาก็ไม่อาจจะลบเลือนมันไปได้ ดาลีได้แรงบัลดาลใจในการเขียนภาพนี้มากจากนาฬิกาผสมผสานกันกับชีสที่อ่อนเหลว และเหตุการณ์ตอนที่กาลาภรรยาของเขาออกมาจากโรงละคร ซึ่งดาลีถือว่าเป็นความทรงจำที่ฝังแน่นและไม่มีทางที่จะลืมมันไปได้[6]

เนื่องจากแนวคิดที่สุดโต่งขึ้นเรื่อยๆของดาลีดูไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้นทำให้สมาชิกในกลุ่มเซอเรียลลิสม์ที่นำโดยอังเดร เบรอตองมองว่างานของดาลีนั้นเกินขอบเขตปรัชญาของกลุ่มไปเสียแล้ว และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์งานของดาลีในแง่ลบมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างมากที่สุดคือแนวคิดทางด้านการเมือง ซึ่งกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์มีหลักการอย่างเปิดเผยอยู่ว่าสนับสนุนแนวคิดแบบคอมมูน (Commune) แต่ดาลีนั้นตรงกันข้ามและเมื่อดาลีวาดภาพ "ปริศนาวิลเลียม เทลล์" ก็ยิ่งเป็นการสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มเซอเรียลลิสม์มากยิ่งขึ้นจนทำให้เขาโดนขับออกจากกลุ่มในที่สุด

ปริศนาวิลเลียม เทลล์ (en:Enigma of William Tell, 1933) ดาลีมักจะวาดภาพวิลเลียม เทลล์ เพื่อแสดงออกถึงการที่ถูกพ่อใช้อำนาจบังคับจิตใจของเขาเสมอและในภาพนี้เขาใช้ใบหน้าของเลนินแทนใบหน้าของวิลเลียม เทลล์ทำให้สมาชิกกลุ่มเซอเรียลลิสม์มองว่าดาลีต้องการสื่อว่าแนวคิดแบบคอมมูนเป็นการบังคับจิตใจของเขา และทำให้ดาลีโดนไล่ออกจากกลุ่มเซอเรียสม์[7]

ประกาศหลักการใหม่ของตนเอง แก้

หลังจากออกจากกลุ่มเซอเรียลลิสม์แล้วดาลีได้เดินทางไปอเมริกาและได้จัดนิทรรศการแสดงภาพเขียนที่ทั้ง 2 ประเทศทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มแพร่กระจายออกไปยิ่งขึ้น ดาลีได้ศึกษาหลักจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อย่างละเอียดและหาข้อมูลทางจิตวิทยาอื่นๆมาเสริมด้วยและได้พัฒนาแนวทางการทำงานของเขาที่เรียกว่า “สภาวะแห่งจิตวิกลจริต” จนสรุปได้ว่า “สภาวะแห่งจิตวิกลจริต” ตามความคิดของดาลีนั้นคือ การสร้างงานศิลปะที่มีภาพต่างๆเกิดขึ้นได้ตามแต่มโนภาพของผู้มอง ซึ่งภาพนั้นอาจมีรูปทรงที่บิดเบี้ยวหรือมีรูปทรงที่แปรปรวนไปตามอารมณ์ได้ รูปทรงอาจไม่เป็นรูปทรงเฉพาะอย่างที่เคยได้สัมผัสกันโดยปกติทั่วไป แต่กระบวนการทางการประมวลผลในการรับภาพเท่านั้นที่จะตัดสินว่าภาพนั้นเป็นภาพอะไร[8] เช่นภาพ คนล่องหน

คนล่องหน (en:The invisible Man, 1929) เป็นภาพที่เป็นตัวอย่างของแนวคิด “สภาวะแห่งจิตวิกลจริต” ที่ชัดเจนที่สุดภาพหนึ่ง โดยดาลีได้ใส่องค์ประกอบมากมายเข้ามาในภาพ เพื่อให้สายตาสามารถรวมองค์ประกอบต่างๆนั้นเข้าแล้วจัดรูปทรงใหม่ได้ตามแต่จะมองเห็นและจินตนาการ โดยเมื่อนำองค์ประกอบต่างๆมารวมกันจะสามารถมองเป็นรูปผู้ชายได้ โดยเมฆสีเหลืองคือผม ส่วนหน้าคือสถาปัตยกรรมที่หักพัง น้ำตกคือส่วนขา นอกจากนี้ภายในภาพยังมีองค์ประกอบที่แสดงออกถึงเรื่องกามราคะด้วย[9]

 
Soft Construction with Boiled Beans (Premonition of Civil War), 1936

แนวคิดแบบ “สภาวะแห่งจิตวิกลจริต” ของดาลีนั้นได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมากจนทำให้เขาได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาในหัวข้อนี้หลายครั้ง และนิตยสารไทม์ (Time Magazine) ก็ได้ให้ความสำคัญกับเขาในฐานะผู้นำศิลปะยุคใหม่และได้นำภาพของเขาขึ้นปกนิตยสารด้วย

ระหว่างที่หนทางในการเป็นศิลปินของดาลีเริ่มเป็นไปด้วยดี ชื่อเสียงเองก็โด่งดังมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1936 ก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองสเปนขึ้น ซึ่งสงครามนี้ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของดาลีเป็นอย่างมากดังที่สะท้อนออกมาในภาพ โครงสร้างอันอ่อนนุ่มกับถั่วต้ม(ลางสังหรณ์ของสงครามกลางเมือง) (en:Soft Construction with Boiled Beans (Premonition of Civil War), 1936) ดาลีเขียนภาพนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอถึงความเลวร้ายของสงครามกลางเมืองสเปน โดยแสดงออกมาในรูปของสัตว์ประหลายขนาดใหญ่ที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นต่อสู้ดึงทึ้งกันเอง ดาลีวาดภาพนี้ก่อนหน้าที่สงครามกลางเมืองสเปนจะเริ่มขึ้น 6 เดือน ราวกับว่าเขาสามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะเขาเองก็ได้สังเกตเห็นถึงความคุกรุ่นของของสงครามที่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่ สงครามกลางเมืองสเปนในครั้งนั้นเกิดจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านสาธารณรัฐสเปนที่ 2 และส่งผลให้ดาลีต้องอพยพหนีภัยสงครามจากบ้านของเขาที่ประเทศสเปนไปกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในปี ค.ศ. 1940 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มเปิดฉากขึ้น และเมื่อเยอรมันส่งทหารบุกฝรั่งเศสดาลีจึงพากาลาลี้ภัยสงครามไปอยู่อเมริกา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แก้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงดาลีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปา ปิอุส ที่ 12 (Pope Pius XII) ที่นครรัฐวาติกัน การเดินทางมาอิตาลีในครั้งนี้ทำให้ดาลีหวนกลับมาระลึกถึงศิลปะคลาสสิค ซึ่งดาลีนั้นเมื่อสมันเด็กเขามีความสนใจในงานของลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) มิเกลันเจโล (Michelangelo) ราฟาเอล (Raphael) ตลอดจนศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ในการเข้าพบพระสันตปาปาในครั้งนี้ทำให้ดาลีเปลี่ยนความคิดในการทำงานโดยกลับมาใส่ใจในเรื่องราวทางศาสนา เรื่องราวในตำนานต่างๆ และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการระเบิดนิวเคลียร์ ทฤษฎีเกี่ยวกับอะตอม ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการทิ้งระเบิดลงเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกา ดังนั้นในช่วงนี้เขาจะวาดภาพที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวทางศาสนาและวิทยาศาสตร์เอาไว้มาก เช่น ภาพลีอา อะตอมมิกา

ลีดา อะตอมมิกา (en:Leda Atomica, 1949) เป็นภาพที่นำเรื่องราวของเทพปกรนัมกรีกมารวมเข้ากับแนวความคิดเรื่องอะตอม เป็นภาพเปลือยของกาลาภรรยาของเขาในท่านั่งตามแบบอย่างของศิลปะเรอเนซองส์ ในภาพจะมีวัตถุต่างๆล่องลอยอยู่รอบๆคล้ายทฤษฎีเกี่ยวกับอะตอม ตำนานเรื่องลีดามีความสำคัญสำหรับดาลีเพราะเขาเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับกาลาก็เปรียบได้กับการที่ซูสและลีดามีความสัมพันธ์กันจนเกิดเป็นฝาแฝด 2 คู่ ในสายตาของดาลี ตัวเขาและกาลาเป็นเสมือนฝาแฝดที่แบ่งปันชีวิตและความทรงจำระหว่างกันและกันจะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้[10]

ผลงานอื่นนอกเหนือจากงานจิตรกรรม แก้

ดาลีเป็นศิลปินที่มีความหลากหลายอยู่ในตัว นอกเหนือจากงานจิตรกรรมแล้วเขายังมีผลงานในด้านอื่นๆอีกมากมาย

ประติมากรรมและวัตถุอื่น ๆ

มีผลงานแนวเซอเรีลลิสต์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือen: Lobster Telephone และ en:Mae West Lips Sofa ในปี 1936 และ 1937

ระหว่างปี 1941 และ 1970 ดาลีได้สร้างชุดเครื่องประดับ 39 ชิ้น เป็นอัญมณีที่มีความซับซ้อน อัญมณีที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ "The Royal Heart" ทำจากทองคำและประดับด้วยทับทิม 46 กระรัต กับเพชร 42 กระรัตและมรกต 4 เม็ด

 
Dali Atomica
 
พิพิธภัณฑ์ดาลี ที่ฟิกูเรส

โรงละครและภาพยนตร์

ในปี ค.ศ. 1944 ดาลีได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับคณะละครบัลเลต์และในปี ค.ศ. 1946 ก็ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบฉากภาพยนตร์เรื่อง สเปลด์บาว (en:Spellbound) ของราชาภาพยนตร์เขย่าขวัญของฮอลลีวูด อัลเฟรด ฮิทซ์คอก (Alfred Hitchcock) อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในภาพยนตร์อนิเมชันของวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เรื่อง เดสติโน (en::en:Destino) อีกด้วย[11]

ภาพถ่าย

ดาลีได้ร่วมงานกับ Man Rayและ Brassaï ในภาพถ่ายชุด en:Dali Atomica ซีรีส์ (1948) ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด Leda Atomica ซึ่งองค์ประกอบในภาพนั้นแทนสิ่งต่างๆคือ ขาตั้งของศิลปิน แมวสามตัว ถังน้ำ และตัวเขาเองที่ลอยอยู่ในอากาศ

สถาปัตยกรรม

ความสำเร็จทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ บ้านของเขาเองที่พอร์ต ยีกัต ( en:Port Lligat) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ของเขาในฟิกูเรส

วรรณกรรม

ดาลีได้เขียนหนังสือเรื่อง ชีวิตลับของซัลวาดอร์ ดาลี (en:The Secret Life of Salvador Dalí) ในปี ค.ศ 1942 ซึ่งเปิดเผยชีวิตในวัยเด็กและอธิบายถึงสิ่งที่หล่อหลอมเป็นแนวคิดในการทำงานของเขา

ในปี ค.ศ. 1939 หนังสือเรื่อง การประกาศอิสรภาพแห่งจินตนาการและสิทธิโดยชอบธรรมของมนุษย์ในการแสดงออกถึงความบ้าคลั่ง (Daclaration of the Man to his Own Madness)

และยังได้ออกหนังสือพิมม์ชื่อ ดาลี นิวส์ ในปี ค.ศ. 1945 อีกด้วย

การออกแบบ

ในปี ค.ศ. 1950 เขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างการออกแบบสิ่งทอและขวดน้ำหอม นอกจากนั้นยังได้ออกแบบเครื่องแต่งกายกับ คริสเตียน ดิออร์ (en:Christian Dior)อีกด้วย และในปี ค.ศ. 1969 เขายังเป็นผู้ออกแบบโลโก้ของอมยิ้ม en:Chupa Chups ซึ่งขายอยู่ในปัจจุบันนี้ [12]

บั้นปลายชีวิต แก้

ดาลีในวัย 70 เริ่มประสบปัญหาด้านสุขภาพ เขายังคงทำงานตามแนวทางของเขาอยู่เสมอแต่พลังในการสร้างสรรค์งานก็เริ่มลดลงแต่ในทางสังคมเขาก็ยังออกงานสังคมตามปกติ โดยเฉพาะการแสดงปาฐกถาเพื่อถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการเขียนภาพของเขาให้มากที่สุด ในปี ค.ศ. 1982 กาลา ภรรยาสุดที่รักของดาลีก็เสียชีวิตซึ่งนำความเสียใจมาสู่ดาลีอย่างที่สุด เขาถึงกับปิดประตูขังตัวเอง อดอาหารไม่ยอมเขียนภาพ ไม่ยอมพูดคุยกับผู้คน ดูราวกับว่าเขาพร้อมจะตายตามเธอไป จนในที่สุดคนสนิทของเขาต้องงัดประตูช่วยเขาออกมา[13]

ในปี ค.ศ. 1983 ดาลีก็วางพู่กัน หยุดการเขียนภาพทั้งหมดหลังจากที่เขียนภาพสุดท้ายในชีวิตของเขาคือภาพ หางนกนางแอ่น (en:The Swallow tail, 1983) และในปีเดียวกันก็มีการจัดแสดงภาพเขียนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาของเขาที่ประเทศสเปน

และแล้วในปี ค.ศ. 1989 วาระสุดท้ายของดาลีก็มาถึง เขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1989 ด้วยวัย 85 ปี นับเป็นการปิดฉากชีวิตของศิลปินเซอเรียลลิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งได้ฝากผลงานไว้มากมาย ทั้งในด้านงานจิตรกรรม และด้านอื่นๆ ตลอดจนแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ให้คนรุ่นหลังต่อไป

การส่งอิทธิพล แก้

ดาลีเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับศิลปินสมัยใหม่เป็นจำนวนมากเช่น en:Damien Hirst, en:Noel Fielding, en:Jeff Koons, และศิลปินแนวเซอเรียลลิสต์ท่านอื่นๆ มีการแสดงออกถึงความคลั่งไคล้หนวดของดาลีซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงและเป็นต้นแบบสำหรับภาพลักษณ์ที่แปลกประหลาด มีการนำเอาบุคลิกของเขามาแสดงในภาพยนตร์โดย Robert Pattinson ในเรื่องen:Little Ashes และ en:Adrien Brody ในเรื่อง en:Midnight in Paris นอกจากนี้ยังมีการแสดงละครล้อเลียนเกี่ยวกับการภาพวาด เรื่อง en:Captain Kangaroo โดยเล่นเป็นตัวละครชื่อ " en:Salvador Silly" ซึ่งแสดงโดย en:Cosmo Allegretti และในเรื่อง en:Sesame Street เป็นตัวละครชื่อ "en:Salvador Dada"

อ้างอิง แก้

  1. หนึ่งธิดา. ดาลี (Dali). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2547: หน้า 34
  2. นิพนธ์ ทวีกาญจน์. ดาลี เหนือจริงทั้งชีวิตและผลงาน. สยามอารยะ. ปีที่ 3, ฉบับที่ 25 (ม.ค. 2538): หน้า 121-126
  3. หนึ่งธิดา. ดาลี (Dali). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2547: หน้า 72-73
  4. หนึ่งธิดา. ดาลี (Dali). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2547: หน้า 77
  5. Swinglehurst, Edmund. Salvador Dali : exploring the irrational. London : Tiger Books International, c1996. page 15
  6. Harris, Nathaniel. The life and works of Dali. UK : Parragon book, 2002. page 20
  7. Swinglehurst, Edmund. Salvador Dali : exploring the irrational. London : Tiger Books International, c1996. page 25
  8. หนึ่งธิดา. ดาลี (Dali). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2547: หน้า 100
  9. Sunday Dalí: The Invisible Man, 1929.
  10. Swinglehurst, Edmund. Salvador Dali : exploring the irrational. London : Tiger Books International, c1996. page 99
  11. หนึ่งธิดา. ดาลี (Dali). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2547: หน้า 111 - 112
  12. Salvador Dalí's Real Masterpiece: The Logo For Chupa Chups Lollipops
  13. นิพนธ์ ทวีกาญจน์. ดาลี เหนือจริงทั้งชีวิตและผลงาน. สยามอารยะ. ปีที่ 3, ฉบับที่ 25 (ม.ค. 2538): หน้า 121-126