ซีคมุนท์ ฟร็อยท์
ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (เยอรมัน: Sigmund Freud, ออกเสียง: [ˈziːkmʊnt ˈfʁɔʏ̯t]; 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 — 23 กันยายน ค.ศ. 1939) เป็นประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งจิตวิเคราะห์
ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ | |
---|---|
ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ ถ่ายโดยมัคส์ ฮัลเบอร์ชตัท ค.ศ. 1914 | |
เกิด | ซีกิสมุนท์ ชโลโม ฟร็อยท์ (Sigismund Schlomo Freud) 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 ไฟรแบร์คอินเมเริน มอเรเวีย ออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเช็กเกีย) |
เสียชีวิต | 23 กันยายน ค.ศ. 1939 ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | (83 ปี)
สัญชาติ | ออสเตรีย |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยเวียนนา |
มีชื่อเสียงจาก | จิตวิเคราะห์ |
รางวัล | รางวัลเกอเทอ วุฒิบัณฑิตราชสมาคมแห่งลอนดอน |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | ประสาทวิทยา ปรัชญา จิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา (สำนักคิดจิตวิเคราะห์) จิตบำบัด วรรณกรรม |
สถาบันที่ทำงาน | มหาวิทยาลัยเวียนนา |
มีอิทธิพลต่อ | จอห์น โบลบี วิคทอร์ ฟรังเคิล อันนา ฟร็อยท์ เออร์นิสต์ โจนส์ คาร์ล ยุง เม็ลลานี ไคลน์ ฌัก ลาก็อง ฟริทซ์ เพิลส์ อ็อทโท รังค์ วิลเฮ็ล์ม ไรช์ |
ได้รับอิทธิพลจาก | อาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์ ฟรีดริช นีทเชอ ฌ็อง-มาร์แต็ง ชาร์โก โยเซ็ฟ บร็อยเออร์ |
ลายมือชื่อ | |
บิดามารดาของฟร็อยท์ยากจน แต่ได้ส่งเสียให้ฟร็อยท์ได้รับการศึกษา เขาสนใจกฎหมายเมื่อครั้งเป็นนักเรียน แต่เปลี่ยนไปศึกษาแพทยศาสตร์แทน โดยรับผิดชอบการวิจัยโรคสมองพิการ ภาวะเสียการสื่อความ และจุลประสาทกายวิภาคศาสตร์ เขาเดินหน้าเพื่อพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกและกลไกของการกดเก็บ และตั้งสาขาจิตบำบัดด้วยวาจา โดยตั้งจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีการทางคลินิกเพื่อรักษาจิตพยาธิวิทยาผ่านบทสนทนาและระหว่างผู้รับการรักษากับนักจิตวิเคราะห์[1] แม้จิตวิเคราะห์จะใช้เป็นการปฏิบัติเพื่อการรักษาลดลง[2] แต่ก็ได้บันดาลใจแก่การพัฒนาจิตบำบัดอื่นอีกหลายรูปแบบ ซึ่งบางรูปแบบแตกออกจากแนวคิดและวิธีการดั้งเดิมของฟร็อยท์
ฟร็อยท์ตั้งสมมุติฐานการมีอยู่ของลิบีโด (พลังงานซึ่งให้กับกระบวนการและโครงสร้างทางจิต) พัฒนาเทคนิคเพื่อการรักษา เช่น การใช้ความสัมพันธ์เสรี (ซึ่งผู้เข้ารับการรักษารายงานความคิดของตนโดยไม่มีการสงวน และต้องไม่พยายามเพ่งความสนใจขณะทำเช่นนั้น) ค้นพบการถ่ายโยงความรู้สึก (กระบวนการที่ผู้รับการรักษาย้ายที่ความรู้สึกของตนจากประสบการณ์ภาพในอดีตของชีวิตไปยังนักจิตวิเคราะห์) และตั้งบทบาทศูนย์กลางของมันในกระบวนการวิเคราะห์ และเสนอว่า ฝันช่วยรักษาการหลับ โดยเป็นเครื่องหมายของความปรารถนาที่สมหวัง ที่หาไม่แล้วจะปลุกผู้ฝัน เขายังเป็นนักเขียนบทความที่มีผลงานมากมาย โดยใช้จิตวิเคราะห์ตีความและวิจารณ์วัฒนธรรม
จิตวิเคราะห์ยังทรงอิทธิพลอยู่ในทางจิตเวชศาสตร์[3] และต่อมนุษยศาสตร์โดยรวม แม้ผู้วิจารณ์บางคนจะมองว่าเป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลก[4]และกีดกันทางเพศ[5] การศึกษาเมื่อ ค.ศ. 2008 เสนอว่า จิตวิเคราะห์ถูกลดความสำคัญในสาขาจิตวิทยาในมหาวิทยาลัย[6] แม้ว่าทฤษฎีของฟร็อยท์จะมีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์อยู่ก็ตาม แต่ผลงานของเขาได้รับการตีแผ่ในความคิดเชิงปัญญาและวัฒนธรรมสมัยนิยม
ความคิด
แก้จิตไร้สำนึก
แก้มโนทัศน์จิตไร้สำนึกเป็นศูนย์กลางการบรรยายจิตของฟร็อยท์ ฟร็อยท์เชื่อว่า กวีและนักคิดผิวขาวรู้ถึงการมีอยู่ของจิตไร้สำนึกมานานแล้ว เขามั่นใจว่า จิตไร้สำนึกได้รับการรับรองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในสาขาจิตวิทยา อย่างไรก็ดี มโนทัศน์ดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในงานเขียนของฟร็อยท์ ครั้งแรกถูกเสนอมาเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์การกดเก็บ เพื่ออธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นต่อความคิดซึ่งถูกกดเก็บ ฟร็อยท์ระบุชัดเจนว่า มโนทัศน์จิตไร้สำนึกอาศัยทฤษฎีการกดเก็บ เขาตั้งสมมุติฐานวัฏจักรที่ความคิดถูกกดเก็บ แต่ยังคงอยู่ในจิต โดยนำออกจากความรู้สึกตัวแต่ยังเกิดผลอยู่ แล้วกลับมาปรากฏในความรู้สึกตัวอีกครั้งภายใต้กรณีแวดล้อมบางประการ สมมุติฐานดังกล่าวอาศัยการสืบค้นผู้รับการรักษา traumatic hysteria ซึ่งเปิดเผยผู้รับการรักษาที่พฤติกรรมของผู้ป่วยไม่สามารถอธิบายได้โดยไม่อ้างอิงถึงความคิดที่พวกเขาไม่มีสติ ข้อเท็จจริงนี้ ประกอบกับการสังเกตว่า พฤติกรรมเช่นนั้น มนุษย์อาจชักนำให้เกิดได้โดยการสะกดจิต ซึ่งความคิดจะถูกใส่เข้าไปในจิตของบุคคล แนะนัยว่า แนวคิดเกิดผลอยู่ในผู้รับการรักษาดั้งเดิม แม้ว่าผู้รับการทดลองจะไม่ทราบถึงความคิดนั้นก็ตาม
ฝัน
แก้ฟร็อยท์เชื่อว่า หน้าที่ของฝันคือ การรักษาการหลับโดยแสดงภาพความปรารถนาที่สมหวัง ซึ่งหาไม่แล้วจะปลุกผู้ฝัน[7]
พัฒนาการความต้องการทางเพศ
แก้ฟร็อยท์เชื่อว่าลิบีโดหรือความต้องการทางเพศนี้พัฒนาขึ้นในปัจเจกบุคคลโดยการเปลี่ยนแปลงวัตถุ กระบวนการซึ่งประมวลโดยมโนทัศน์การเปลี่ยนให้เป็นที่ยอมรับ (sublimation) เขาแย้งว่า มนุษย์เกิดมา "วิตถารหลายรูปแบบ" หมายความว่า วัตถุใด ๆ ก็เป็นแหล่งความพึงพอใจได้ เขายังแย้งต่อไปว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น พวกเขาจะติดข้องในวัตถุต่าง ๆ ผ่านขั้นพัฒนาการของเขา ได้แก่ ขั้นปาก ยกตัวอย่างเช่น ความพึงพอใจของทารกในการเลี้ยงดู ขั้นทวารหนัก ยกตัวอย่างเช่น ความพึงพอใจของเด็กเล็กในการถ่ายที่กระโถนของตน แล้วมาสู่ขั้นอวัยวะเพศ ในขั้นอวัยวะเพศนี้ ฟร็อยท์ยืนยันว่า ทารกชายจะติดข้องต่อมารดาของตนเป็นวัตถุทางเพศ (รู้จักในชื่อ ปมเอดิเพิส) ระยะซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการขู่ว่าจะตอน (castration) ซึ่งส่งผลให้เกิด ปมการตอน อันเป็นแผลที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตวัยเยาว์ของเขา[8] ในงานเขียนภายหลังของเขา ฟร็อยท์ได้ตั้งสมมุติฐานถึงสถานการณ์ที่เทียบเท่ากับปมเอดิปุสในทารกหญิง โดยเป็นการติดข้องทางเพศอยู่กับบิดาของตน[9] เรียกว่า "ปมอิเล็กตรา" ในบริบทนี้ แม้ว่าฟร็อยท์จะมิได้เสนอคำดังกล่าวเองก็ตาม พัฒนาการความต้องการทางเพศขั้นแฝงอยู่ก่อนพัฒนาการความต้องการทางเพศขั้นสนใจเพศตรงข้าม เด็กต้องการได้รับความพึงพอใจในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละขั้นเพื่อที่จะก้าวสู่ขั้นพัฒนาการต่อไปอย่างง่ายดาย แต่การได้รับความพึงพอใจน้อยหรือมากเกินไปอาจนำไปสู่การติดข้องในขั้นนั้น และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมถดถอยกลับไปยังขั้นนั้นในชีวิตภายหลังได้[10]
อิด อัตตา และอภิอัตตา
แก้อิด (id) เป็นส่วนของจิตใจที่ไร้สำนึก หุนหันพลันแล่นและเหมือนเด็กซึ่งทำงานอยู่บน "หลักความพึงพอใจ" และเป็นแหล่งที่มาของแรงกระตุ้นและแรงขับพื้นฐาน อิดแสวงความต้องการและความพึงพอใจทันที[10] ส่วนอภิอัตตา (superego) เป็นองค์ประกอบทางศีลธรรมของจิตใจ ซึ่งพิจารณาว่า ไม่มีกรณีแวดล้อมพิเศษใดที่สิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมอาจไม่ถูกต้องต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อัตตา (ego) ที่ปฏิบัติการอย่างเป็นเหตุเป็นผล พยายามรักษาสมดุลระหว่างการแสวงความพึงพอใจของอิดและการเน้นศีลธรรมของอภิอัตตาซึ่งปฏิบัติไม่ได้จริง อัตตาเป็นส่วนของจิตใจที่โดยปกติสะท้อนโดยตรงในการแสดงออกของบุคคลมากที่สุด เมื่อรับภาระหนักเกินไปหรือถูกคุกคามจากหน้าที่ของอัตตา มันจะใช้กลไกป้องกันตนเอง ซึ่งรวมถึงการปฏิเสธ การกดเก็บและการย้ายที่ มโนทัศน์นี้โดยปกติแสดงภาพโดย "แบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง"[11] แบบจำลองนี้แสดงบทบาทของอิด อัตตาและอภิอัตตาตามความคิดเกี่ยวกับ ภาวะรู้สำนึกและไม่รู้สำนึก
ฟร็อยท์เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างอัตตากับอิดว่าเหมือนสารถีกับม้า โดยม้าเป็นพลังงานและแรงขับ ส่วนสารถีคอยชี้นำ[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ Ford & Urban 1965, p. 109
- ↑ Kovel 1991, p. 96.
- ↑ Michels, undated
Sadock and Sadock 2007, p. 190: "Certain basic tenets of Freud's thinking have remained central to psychiatric and psychotherapeutic practice." - ↑ Webster 1995, p. 12.
- ↑ Mitchell 2000, pp. xxix, 303–356.
- ↑ Cohen, 25 November 2007.
- ↑ Rycroft, Charles. A Critical Dictionary of Psychoanalysis. London: Penguin Books, 1995, p.41
- ↑ Freud, S. An Outline of Psychoanalysis (1940), Standard Edition 23, pp. 189–192.
- ↑ Freud S. An Outline of Psychoanalysis, pp. 193–194.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Hothersall, D. 2004. "History of Psychology", 4th ed., Mcgraw-Hill:NY p. 290
- ↑ Heffner, Christopher. "Freud's Structural and Topographical Models of Personality". Psychology 101. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-03. สืบค้นเมื่อ 5 September 2011.
บรรณานุกรม
แก้- Ford, Donald H. & Urban, Hugh B. Systems of Psychotherapy: A Comparative Study. John Wiley & Sons, Inc, 1965.
- Kovel, Joel. A Complete Guide to Therapy: From Psychoanalysis to Behaviour Modification. Penguin Books, 1991 (first published 1976).
- Mitchell, Juliet. Psychoanalysis and Feminism: A Radical Reassessment of Freudian Psychoanalysis. Penguin Books, 2000.
- Sadock, Benjamin J. and Sadock, Virginia A. Kaplan and Sadock's Synopsis of Psychiatry. 10th ed. Lippincott Williams & Wilkins, 2007.
- Webster, Richard. Why Freud Was Wrong: Sin, Science and Psychoanalysis. HarperCollins, 1995.