ผีเสื้อหนอนใบกระท้อน

ผีเสื้อหนอนใบกระท้อน หรือ ผีเสื้อยักษ์ (อังกฤษ: Atlas moth; ชื่อวิทยาศาสตร์: Attacus atlas) เป็นผีเสื้อที่อยู่ในวงศ์ Saturniidae จัดเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ระยะที่เป็นตัวหนอนกินใบกระท้อน, ฝรั่ง, ขนุน และใบดาหลา ตัวเมียวางไข่บนใบพืชอาหาร

Atlas moth
Female
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
ชั้น: แมลง
อันดับ: ผีเสื้อ
วงศ์: Saturniidae
สกุล: Attacus
(Linnaeus, 1758)
สปีชีส์: Attacus atlas
ชื่อทวินาม
Attacus atlas
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

ชื่อ แก้

ชื่อสกุลและชื่อชนิดของผีเสื้อหนอนใบกระท้อนนี้ มาจากคำว่า Atlas ที่หมายถึงแอตลาส 1 ในหมู่เทพไททันตามเทพปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นเทพที่มีร่างกายใหญ่โตเหมือนยักษ์และที่ทำหน้าที่แบกโลกไว้นั่นเอง

ลักษณะ แก้

ลักษณะไข่กลมสีน้ำตาล ขนาดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ระยะฟักไข่ประมาณ 7 วัน เมื่อเป็นตัวหนอนมีปุ่มหนามทั่วตัว ลอกคราบ 5 ครั้ง หนอนวัยที่ 1 ขณะฟักออกจากไข่ ตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หนอนวัยที่ 5 ขนาดตัวยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ระยะเวลาที่เป็นตัวหนอนประมาณ 1 เดือน ก่อนเตรียมตัวเข้าดักแด้ โดยการถักรังไหมสีน้ำตาลขนาด 3x6 เซนติเมตร หนอนลอกคราบเป็นดักแด้อยู่ในรังไหม ระยะดักแด้ 1-6 เดือน และลอกออกเป็นตัวเต็มวัยประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงปลายปีและถึงต้นปีถัดไป

และเมื่อยังเป็นดักแด้อยู่นั้น จะมีขนาดใหญ่มากจนกระทั่งในไต้หวันได้มีการนำไปทำเป็นกระเป๋า[1]

เมื่อโตเต็มวัย มีความยาวจากปลายปีกข้างหนึ่งไปถึงข้างหนึ่งได้ประมาณ 1 ฟุต ลำตัวยาว 4-5 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ลำตัวและอกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลแดง ปีกสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลส้มมีลวดลายโดยเฉพาะบริเวณเกือบกึ่งกลางปีก มีลักษณะบางใสรูปคล้ายใบโพ ซึ่งสามารถมองเห็นทะลุได้ซึ่งไม่ทราบถึงสาเหตุถึงการมี แต่มีการสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับหลอกล่อสัตว์นักล่า[1] ซึ่งอายุในการเป็นตัวเต็มวัยจะมีมีเพียงสั้น ๆ ราว 1-2 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากมีปากที่กินอาหารไม่ได้ จึงใช้พลังงานจากที่สะสมไว้เมื่อครั้งเป็นหนอน ซึ่งตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนใบกระท้อนจึงทำเพียงปล่อยฟีโรโมนเพื่อการผสมพันธุ์ วางไข่ และตายลงเท่านั้น [1]

ถิ่นที่อยู่ แก้

พบกระจายได้ทั่วไปในอินเดีย จนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินโดนีเซีย และตอนใต้ของจีน โดยจะพบมากในป่ากระท้อน

ในประเทศไทย แก้

ในประเทศไทยได้กลายเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อมีชายคนหนึ่งพบผีเสื้อชนิดนี้มาเกาะกินใบของต้นขนุนหน้าบ้าน ด้วยลำตัวที่มีขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นผีเสื้อที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งในความจริงแล้วผีเสื้อชนิดนี้ไม่ได้เป็นผีเสื้อที่หายากแต่ประการใด[2]

วงจรชีวิต แก้

วงจรชีวิต
       
ไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Untamed China with Nigel Marven, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 19 มกราคม 2556
  2. หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับที่ 7,030 ประจำวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Attacus atlas ที่วิกิสปีชีส์