วงศ์ปลาเสือตอ

(เปลี่ยนทางจาก ปลาเสือตอ)
วงศ์ปลาเสือตอ
ปลาเสือตอลายใหญ่ (D. pulcher)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Percoidei
วงศ์ใหญ่: Percoidea
วงศ์: Datnioididae
Fowler, 1931
สกุล: Datnioides
Bleeker, 1853
ชนิด
มีทั้งหมด 5 ชนิด (ดูในเนื้อหา)

วงศ์ปลาเสือตอ (อังกฤษ: Siamese tiger fishes) เป็นปลากระดูกแข็งจัดอยู่ในกลุ่มปลาที่มีก้านครีบ ในอันดับปลากะพง (Perciformes) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Datnioididae และมีเพียงสกุลเดียว คือ Datnioides

ศัพทมูลวิทยา

แก้

Datnioides มาจากคำว่า "Datnia" มาจากภาษากรีกโบราณ คือ εἶδος ‎(eîdos) หมายถึง "รูปแบบ" หรือ "ลักษณะที่เหมือนกัน"[1] ขณะที่ชื่อสามัญในภาษาไทย คือ "ปลาเสือตอ" สันนิษฐานว่าเนื่องมาจากรูปร่างที่มีลวดลายคล้ายกับลายของเสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอน กอรปกับพฤติกรรมที่มักลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ กับตอไม้ใต้น้ำ[2]

ลักษณะ

แก้

เป็นปลาที่ปากยาว จะงอยปากสามารถยืดได้ เป็นปลากินเนื้อ ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งเป็นเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน ก้านครีบเดี่ยวก้านที่ 2 ของครีบก้นยาวกว่าก้านครีบเดี่ยวก้านที่ 1 และ 3 ขอบกระดูกแก้มชิ้นกลางเป็นฟันจักแบบฟันเลื่อยชิ้นเล็ก ๆ เกล็ดเป็นแบบสาก เมื่อลูบแล้วจะรู้สึกหยาบ เกล็ดข้างเส้นข้างลำตัวมีมากกว่า 50 แถว

พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ทั้งในน้ำจืด, น้ำกร่อย และน้ำเค็ม

มีลักษณะโดยรวมคือ มีปากยาว ยืดหดได้ สีลำตัวเป็นสีเหลืองหรือส้ม มีลายพาดตามลำตัว 6–8 เส้น ขนาดเล็กใหญ่และจำนวนต่างไปตามแต่ชนิด และถิ่นที่อยู่อาศัย มีพฤติกรรมชอบลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ใต้น้ำ โดยส่วนหัวทิ่มลงเล็กน้อย กินสัตว์น้ำและแมลงเป็นอาหาร โดยวิธีการฉกงับอย่างรวดเร็ว

เป็นปลาที่มีเนื้อรสชาติอร่อย แต่ปัจจุบันนี้ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการถูกจับเป็นจำนวนมาก และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่ราคาสูงด้วย

เดิมปลาในวงศ์นี้เคยถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ Coiidae และ Lobotidae แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่ามีความแตกต่างกัน จึงแยกออกมาเป็นวงศ์ต่างหาก [2]

การจำแนก

แก้
  • ปลาเสือตอปาปัวนิวกินี (Datnioides campbelli) ขนาดลำตัวโตเต็มที่ประมาณ 36 เซนติเมตร พบในแหล่งน้ำบริเวณชายฝั่งในนิวกินีมีซี่เหงือกน้อยกว่า ปลาชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน และมีแถบลายที่ไม่ชัดเจน มีแถบขนาดเล็กแทรกระหว่าง แถบที่ 3 ขนาดใหญ่กลางลำตัว และแถบที่ 4 สีค่อนไปทางสีเงิน น้ำตาล จนไปถึงเหลืองอ่อน ๆ เกล็ดมีขนาดใหญ่และหยาบ พบได้ในแหล่งน้ำกร่อยปากแม่น้ำ บึงใกล้ชายฝั่งเหนือระดับน้ำขึ้นน้ำลงแถบเกาะปาปัวนิวกีนี ประเทศอินโดนีเซีย
  • ปลาเสือตออินโดนีเซีย (Datnioides microlepis) ขนาดลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาเสือตอลายใหญ่ แต่มีสีสันลำตัวและลายที่ไม่สดใสเท่า พบในอินโดนีเซีย
  • ปลากะพงลาย (Datnioides polota) ขนาดลำตัวประมาณ 30 เซนติเมตร สีลำตัวออกขาวเหลือบเงิน เส้นลายมีขนาดเรียวเล็กที่สุด พบในบริเวณน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ ตั้งแต่อินเดียจนถึงปาปัวนิวกินี
  • ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) มีขนาดลำตัวที่ใหญ่ที่สุด มีลายแถบดำขนาดใหญ่ 5–6 เส้น หรือ 7 เส้น มีสีสันที่สดและสวยที่สุด พบในประเทศไทย, กัมพูชา และเวียดนาม มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ
  • ปลาเสือตอลายเล็ก (Datnioides undecimradiatus) ขนาดลำตัวประมาณ 30 เซนติเมตร สีออกขาว ลายมีเส้นเล็ก เกล็ดมีขนาดใหญ่กว่าปลาเสือตอลายใหญ่ พบเฉพาะในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา

อ้างอิง

แก้
  1. Hamilton, F., 1822 - Edinburgh & London: i-vii + 1-405 An account of the fishes found in the river Ganges and its branches.
  2. 2.0 2.1 สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 133. ISBN 974-00-8738-8

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้