ปลาเฉี่ยวหิน
ฝูงปลาในทะเล
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Monodactylidae
สกุล: Monodactylus
สปีชีส์: M.  argenteus
ชื่อทวินาม
Monodactylus argenteus
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง
  • Acanthopodus argenteus
  • Centrogaster rhombeus
  • Centropodus rhombeus
  • Chaetodon argenteus (Linnaeus, 1758)
  • Monodactylus rhombeus
  • Psettus argenteus
  • Psettus rhombeus
  • Scomber rhombeus (Forsskål, 1775)

ปลาเฉี่ยวหิน หรือ ปลาเฉี่ยว หรือ ปลาผีเสื้อเงิน หรือ ปลาโสร่งแขก (อังกฤษ: Silver moony) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Monodactylus argenteus อยู่ในวงศ์ปลาเฉี่ยว (Monodactylidae)

มีรูปร่างแบนข้างมาก ลำตัวป้อมสั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ครีบหลังและครีบก้นยื่นยาว ผิวลำตัวสีเงินเหลือบเป็นประกายแวววาว เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด ครีบหลังสีเหลืองมีลายคาดสีดำตามขวางผ่านตาและบริเวณขอบแผ่นปิดเหงือก ปากเล็กและเฉียงขึ้นบน หัวเล็ก ดวงตากลมโต สามารถโตได้ถึง 13 นิ้ว แต่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 8 นิ้ว

มีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตามแนวปะการังใกล้ชายฝั่งในเขตอบอุ่น มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง โดยพบตั้งแต่ทะเลแดง, แอฟริกาตะวันออก, ซามัว ไปจนถึงนิวแคลิโดเนียจนถึงออสเตรเลีย สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืดสนิทได้เป็นอย่างดี

เป็นปลาที่มีความสวยงามอีกชนิดหนึ่ง และความสามารถที่ปรับตัวในน้ำจืดได้ จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยมีชื่อเรียกในวงการปลาสวยงามว่า "บอร์เนียว" หรือ "เทวดาบอร์เนียว" เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายปลาเทวดา[1]

ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในสถานที่เลี้ยง โดยแม่ปลาจะวางไข่ได้ทั้งปี โดยการแบ่งเพศจะไม่สามารถทำได้ จนกว่าจะถึงฤดูผสมพันธุ์ โดยสังเกตคร่าว ๆ ว่า ปลาเพศเมียนั้นจะมีขนาดใหญ่ปลาเพศผู้ และช่องท้องจะอูมกว่า ช่องเพศจะเต่งตึงขณะกำลังตั้งท้อง โดยจะเพาะได้ในบ่อดิน การรวบรวมไข่จะกระทำได้ต่อเมื่อถ่ายน้ำ โดยใช้วัสดุตาข่ายที่มีความละเอียดกรอง[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "??? มีใครเคยเลี้ยงบอร์เนียวเป็น Tankmate อโร ???". Opinion 17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ตุลาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010.
  2. นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ (มีนาคม 2012). ปลาทะเลสวยงาม ที่เพาะพันธุ์ได้ ในประเทศไทย. คอลัมน์ Blue Planet. นิตยสาร Aquarium Biz. ปีที่ 2 ฉบับที่ 21 หน้า 136. ISSN 1906-9243.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้