ปลากระเบนลาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Myliobatiformes
วงศ์: Dasyatidae
สกุล: Dasyatis
สปีชีส์: D.  laosensis
ชื่อทวินาม
Dasyatis laosensis
Roberts & Karnasuta, 1987
ชื่อพ้อง
  • Amphotistius laosensis (Roberts & Karnasuta, 1987)
  • Dasyatis laoensis Roberts & Karnasuta, 1987

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง (อังกฤษ: Mekong stingray, Mekong freshwater stingray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dasyatis laosensis) ปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)

มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหารได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้ง

พบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่าง

โดยค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1968 โดยยะสุฮิโกะ ทะกิ นักมีนวิทยาชาวญี่ปุ่น โดยเรียกว่า Dasyatis sp. และไม่ได้มีคำอธิบายเพิ่มเติมในทางวิชาการ และตัวอย่างต้นแบบของทะกิได้สูญหายไป จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1987 ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน และจรัลธาดา กรรณสูต นักวิชาการประมงชาวไทยของกรมประมง ได้ร่วมกันอนุกรมวิธานลงในวารสาร Environmental Biology of Fishes โดยชนิดต้นแบบเป็นปลาตัวผู้ขนาดยังไม่โตเต็มที่ความยาว 23 เซนติเมตร (9.1 นิ้ว) จับได้จากแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดเชียงราย[2]

เป็นปลาที่พบน้อย แต่เป็นปลาที่มีรสชาติดี จึงมักถูกจับขึ้นมาทำเป็นอาหาร และมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยมีรายงานการพบที่เป็นปลาเผือกอยู่ 3 ครั้งในช่วงกว่า 13 ปี[3] และจากการศึกษาวงศ์วานวิทยาบนพื้นฐานของไซโตโครมบี เมื่อปี ค.ศ. 1999 พบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้กับปลากระเบนสกุลด้วยกันชนิดอื่นที่พบในอ่าวไทยด้วย[4]

มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "ปลาฝา" หรือ "ฝาไล" [5] [6]

อ้างอิง แก้

  1. Compagno, L.J.V. (2005). Dasyatis laosensis. In: IUCN 2005. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on December 4, 2009.
  2. Roberts, T.R. & J. Karnasuta (1987). "Dasyatis laosensis, a new whiptailed stingray (family Dasyatidae), from the Mekong River of Laos and Thailand". Environmental Biology of Fishes. 20 (3): 161–167. doi:10.1007/BF00004951.
  3. หน้า 102-120, กระเบนน้ำจืดแห่งชาติ. "Wild Ambition" โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 51: กันยายน 2014
  4. Sezaki, K., R.A. Begum, P. Wongrat, M.P. Srivastava, S. SriKantha, K. Kikuchi, H. Ishihara, S. Tanaka, T. Taniuchi and S. Watabe (August 1999). "Molecular phylogeny of Asian freshwater and marine stingrays based on the DNA nucleotide and deduced amino acid sequences of the cytochrome b gene". Fisheries Science. 65 (4): 563–570.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. Roberts, T.R. and J. Karnasuta (1987). Dasyatis Zaosensis, a new whiptailed stingray (family Dasyatidae), from the Mekong River of Laos and Thailand". Environmental Biology of Fishes 20 (3): 161–167. doi:10.1007/BF00004951.
  6. Rainboth, W.J. (1996). Fishes of the Cambodian Mekong. Food and Agriculture Organization of the United Nations. p. 53. ISBN 9251037434.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Dasyatis laosensis ที่วิกิสปีชีส์