ประภาคารแหลมสิงห์

ประภาคารในประเทศไทย

ประภาคารแหลมสิงห์ (อังกฤษ: Laem Sing Lighthouse) เป็นประภาคารควบคุมการเดินเรือบริเวณทางเข้าปากน้ำจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อผ่านเข้าสู่แม่น้ำจันทบุรี[1] เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2449 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

ประภาคารแหลมสิงห์
ประภาคารและอ่าวไทยในเบื้องหลัง
แผนที่
ที่ตั้งปากน้ำจันทบุรี
พิกัด12°28′11.15″N 102°03′28.98″E / 12.4697639°N 102.0580500°E / 12.4697639; 102.0580500
หอคอย
รากฐานคอนกรีต
การก่อสร้างเหล็กโปร่ง
ความสูง6 เมตร (20 ฟุต)
รูปร่างกระโจมเหล็กโปร่ง
เครื่องหมายทาสีขาว
ผู้ดำเนินการ กองทัพเรือไทย
แสงไฟ
เริ่มใช้งาน21 กันยายน พ.ศ. 2449; 117 ปีก่อน (2449-09-21)
พิสัย10 ไมล์ทะเล (19 กิโลเมตร)
ลักษณะวับหมู่ ประกอบด้วยไฟ 3 วับ
สีขาว ทุก ๆ 15 วินาที
สว่าง 0.5 วินาที มืด 1.5 วินาที 2 ครั้ง และสว่าง 0.5 วินาที มืด 10.5 วินาที
รหัสประเทศไทยTHN-118

ประวัติ แก้

ประภาคารแหลมสิงห์หลังปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นแนวคิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2447 หลังจากเสร็จสิ้นการจัดการกระบวนการถอนกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากเมืองจันทบุรี พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกประชุมพ่อค้าชาวไทยจีน ตองซู และกุลาทั้งหมดในพื้นที่แขวงเมืองจันทบุรีเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ามีความสุขสบายดี ไม่ได้รับการรังแกหรือเบียดเบียนแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องการสนับสนุนการค้าขายนั้น ทั้งหมดมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรจะมีการก่อสร้างกระโจมไฟในพื้นที่ปากน้ำบนเขาแหลมสิงห์แทนที่กระโจมไฟเดิม ที่ก่อสร้างจากไม้สักและใช้ตะเกียงน้ำมันจุดชูไว้บนยอดเสา และถ่วงที่ปลายด้านหนึ่งด้วยตุ้มเหล็กสานด้วยหวาย สำหรับเป็นจุดสังเกตของชาวเรือในการผ่านเข้าออกปากน้ำในการสัญจรและการค้าขายทางเรือ ซึ่งใช้งานมานานแล้ว[2]

พระยาศรีสหเทพจึงได้นำข้อมูลดังกล่าวกราบทูลต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนอต่อกระทรวงนครบาลเพื่อให้ประสานงานกรมเจ้าท่าในการสำรวจพื้นที่และจัดทำแบบการก่อสร้างกระโจมไฟในบริเวณปากอ่าวเมืองจันทบุรี และขอให้พระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีได้ดำเนินการกรุยร่องน้ำตั้งแต่ปากน้ำแหลมสิงห์ไปจนถึงเมืองจันทบุรีเพื่อความสะดวกในการเดินทางทางน้ำ โดยในการสำรวจสถานที่สร้างประภาคารที่ปากอ่าวเมืองจันทบุรี กรมเจ้าท่าได้มอบให้กับตันนิกซันเทนเป็นผู้สำรวจ ซึ่งเห็นควรว่าประภาคารควรตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเสาธงมีความเหมาะสมมากที่สุดจากจุดอื่น ๆ[2]

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 มิสเตอร์อาร์ ทอริซัน ที่ปรึกษาราชการกรมเจ้าท่า จึงได้ทูลถวายแบบของรายการก่อสร้าง พร้อมทั้งราคาการก่อสร้างกระโจมไฟ และเรือนพักคนเฝ้ากระโจม (โดยสั่งซื้อวัสดุต่าง ๆ มาจากประเทศอังกฤษ รวมทั้งค่าก่อสร้างและทาสี) ใช้งบประมาณทั้งหมด 16,360 บาท เป็นค่าก่อสร้างกระโจมไฟ ประกอบไปด้วย สามขาเหล็กอย่างดีความสูง 15 ฟิต พร้อมกับโคมไฟชนิดที่ 4 เป็นเงิน 12,960 บาท และค่าใช้จ่ายการก่อสร้างเรือนพักผู้รักษาประภาคาร 1 หลังเป็นเงิน 3,400 บาท เริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 โดยบริษัทแมกกาย แอนด์ แมกอาร์เธอร์ ลิมิเต็ด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง การขนย้ายวัสดุการก่อสร้างและการรับส่งคนงานจากกรุงเทพรับผิดชอบโดยกรมเจ้าท่า โดยใช้เรือกลไฟ "พระยม" เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเมืองจันทบุรี และการขนเครื่องประภาคารขึ้นไปยังยอดเขาอาศัยแรงงานจากการเกณฑ์ราษฎรในพื้นที่นั้น จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 บริษัทรับเหมาได้ดำเนินการทดสอบการจุดไฟบนกระโจมไฟอยู่ 4 คืน เพื่อสังเกตและตรวจสอบความสว่างอยู่ในระดับพอใช้ ส่วนอาคารเรือนพักผู้รักษาประภาคารได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นตามสัญญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2448 ซึ่งกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้มิสเตอร์อาร์ ทอริซัน ที่ปรึกษาราชการกรมเจ้าท่าเดินทางไปรับมอบประภาคาร พร้อมทั้งจัดคนประจำการเพื่อดูแลรักษา[2]

กรมเจ้าท่าได้ประกาศใช้งานประภาคารแหลมสิงห์ ตามรับสั่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลว่า:[2]

"ขอแจ้งความให้บรรดาผู้ที่เดินเรือไปมาในทะเลทราบทั่วกันว่า ประภาคารที่ได้สร้างขึ้นใหม่บนเนินเขาแหลมสิงห์ ปากน้ำเมืองจันทบุรีแห่งหนึ่งนั้นสำเร็จสมบูรณ์ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดจุดโคมตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) เป็นต้นไป ชนิดของโคมนี้เป็นโคมสีขาวมืดได้สว่างได้เป็นแสงวาบ เมื่อสว่างมีแสงอยู่ 25 วินาที และมืด 5 วินาที แลเห็นได้ในระยะทาง 400 เส้น เรือนประภาคารนั้นตั้งอยู่เหนือระดับน้ำเมื่อเวลาน้ำขึ้นประมาณ 42 วา พร้อมกันนั้นได้เปลี่ยนชื่อกระโจมไฟแหลมสิงห์ เป็นประภาคารแหลมสิงห์ ให้อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า"[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โอนประภาคารแหลมสิงห์ไปอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ[2]

ปัจจุบัน ประภาคารแหลมสิงห์อยู่ในระหว่างยื่นขอพิจารณาขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร[2]

โครงสร้าง แก้

 
ประภาคาร (ขวา) เรือนดูแลรักษาการณ์เก่า (กลาง) และสายอากาศวิทยุเก่า (ซ้าย)

ประภาคารแหลมสิงห์ในส่วนของฐาน เป็นคอนกรีตเสริมแรง ตัวประภาคารเป็นกระโจมเหล็กโปร่ง ทาด้วยสีขาว ความสูง 6 เมตร ความสูงของแสงไฟเหนือจากระดับน้ำทะเล 83 เมตร ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี[1]

รายละเอียด แก้

ประภาคารแหลมสิงห์ ตามทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 12 องศา 28 ลิปดา 11.15 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูดที่ 102 องศา 03 ลิปดา 28.98 ฟิลิปดาตะวันออก ลักษณะไฟเป็นไฟวับหมู่ แต่ละหมู่ประกอบด้วยไฟ 3 วับสีขาว สว่างทุก ๆ 15 วินาที โดยจะสว่าง 0.5 วินาที มืด 1.5 วินาที จำนวนสองครั้ง และสว่าง 0.5 วินาที มืด 10.5 วินาทีในครั้งที่สาม[1] ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ[2]

ประภาคารแหลมสิงห์ มีรหัสประจำประภาคารว่า

  • กองทัพเรือไทย (THN): 118[1]
  • ทำเนียบไฟอังกฤษ เล่ม F (Admiralty): F2996[1]
  • สำนักข่าวกรองภูมิสารสนเทศแห่งชาติสหรัฐ (NGA): 20580[3][4]
  • สมาคมวิทยุสมัครเล่นประภาคาร (ARLHS): THA066[5]

การเดินทาง แก้

ประภาคารแหลมสิงห์ ยังเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากอยู่ในภูมิประเทศที่สูง ทำให้เป็นจุดชมวิวอีกจุดที่มีความสวยงาม[6] มองเห็นภูมิประเทศของจังหวัดจันทบุรีและมองเห็นเกาะในบริเวณโดยรอบ[7] สามารถเดินทางไปด้วยการข้ามสะพานตากสินมหาราช (สะพานแหลมสิงห์) จากฝั่งตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ในทิศตะวันออก ไปยังฝั่งตำบลบางกะไชยในทิศตะวันตก จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายกรมหลวงชุมพร ซึ่งจะผ่านป้อมไพรีพินาศและผ่านเข้าสู่เขตของกองทัพเรือและศาลกรมหลวงชุมพรตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง จากนั้นเดินเท้าขึ้นเข้าไปประมาณ 500 เมตรเพื่อไปยังประภาคารแหลมสิงห์

ในบริเวณใกล้เคียงห่างประมาณ 50 เมตรเป็นที่ตั้งของลานชมวิวอีกจุดของเขาแหลมสิงห์ ซึ่งสามารถมองเห็นหินที่มีรูปร่างคล้ายกับสิงโต ในเวลาน้ำขึ้นจะมองเห็นเป็นรูปหัวสิงโต ในเวลาน้ำลงจะเป็นรูปสิงโตหมอบ[7]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2556.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 มายะรังษี, สุมลฑริกาญจณ์. "แสงวาบ วับ...ที่"ประภาคาร"ยอดเขาแหลมสิงห์". www.finearts.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. Bub.112 List of Lights: Radio aids and fog signals 2023 - Western Pacific and Indian Oceans, Including Persian Gulf and Red Sea. National Geospatial-Intelligence Agency. 2023. p. 344.
  4. "Lighthouses of Eastern Thailand". www.ibiblio.org.
  5. "Laem Sing Light - ARLHS THA-066". wlol.arlhs.com.
  6. "จุดชมวิว ณ ประภาคารแหลมสิงห์บนยอดเขา เดินเท้าผ่านป่าสวย - จุดชมวิวแหลมสิงห์ จังหวัด จันทบุรี". theTripPacker - สังคมของคนรักการท่องเที่ยว.
  7. 7.0 7.1 admin (2020-03-05). "ประภาคารแหลมสิงห์ จุดชมวิวที่สวยที่สุด". NavyLand.