สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122[1] (อังกฤษ: Franco–Siamese Treaty of 1904; ฝรั่งเศส: Traité français–siamois de 1904) เป็น อนุสัญญา (convention) หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า "สัญญาน้อย" ระหว่าง ราชอาณาจักรสยาม (ต่อมาคือ ประเทศไทย) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ กับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสมัยของประธานาธิบดีเอมีล ฟรังซัวส์ ลูแบ (Émile François Loubet) มีเนื้อหาสำคัญเป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนใกล้เคียงซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้ว กับทั้งยังให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ชาวฝรั่งเศสหรือผู้อยู่ในบังคับฝรั่งเศสด้วย

สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส
ร.ศ. 122
อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122
สำเนาสนธิสัญญาฯ ฉบับภาษาไทย
ประเภทอนุสัญญา
บริบท
วันร่าง11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446
วันลงนาม13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446
ที่ลงนามกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ผู้ลงนามไทย พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
ฝรั่งเศส เตโอฟิล เดกาสเซ
ภาคีไทย ราชอาณาจักรสยาม
ฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3
ภาษาภาษาไทย
ภาษาฝรั่งเศส
ข้อความทั้งหมด
หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 ที่ วิกิซอร์ซ
เจดีย์อิสระภาพ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ภายในป้อมไพรีพินาศ สร้างขึ้นมาบริเวณเขาแหลมสิงห์เพื่อเป็นที่ระลึกในการประกาศอิสระภาพหลังประเทศฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกจากจังหวัดจันทบุรี

การลงนาม

แก้

ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายสยามซึ่งลงลายมือชื่อในสนธิสัญญา คือ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เอกอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายฝรั่งเศส คือ เตโอฟิล เดกาสเซ (Théophile Delcassé) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[2]

การเจรจามีขึ้น ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 (ตรงกับ ค.ศ. 1904 และ พ.ศ. 2446) และลงลายมือชื่อกันในอีกสองวันถัดมา[3]

เนื้อหา

แก้

การกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชา

แก้

เนื้อหาสำคัญของสนธิสัญญานี้ ข้อ 1 เป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาซึ่งสมัยนั้นเป็นรัฐอารักขา (protectorate) ของประเทศฝรั่งเศส โดยให้ใช้สันปันน้ำ (watershed) หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า "ภูเขาปันน้ำ" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขาบรรทัดหรือที่ในภาษากัมพูชาเรียก "พนมดงรัก" (Pnom Dangrek) เป็นเส้นเขตแดน โดยกำหนดว่า[4]

"เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้น ตั้งต้นแต่ปากคลองสดุงโรลูออสข้างฝั่งซ้ายทะเลสาบ เป็นเส้นเขตแดนตรงทิศตะวันออก ไปจนบรรจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่ที่นี้ต่อไป เขตแดนเป็นเส้นตรงทิศเหนือขึ้นไปจนบรรจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบรรทัด) ต่อนั้นไป เขตแดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่ง จนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไปแม่โขง เป็นเขตแดนของกรุงสยามตามความข้อ 1 ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112"

อนึ่ง ข้อ 3 ว่า ในการกำหนดเขตแดนตามข้อ 1 ให้ภาคีทั้งสองฝ่ายตั้ง "คณะกรรมาธิการร่วม" (Joint Commission) หรือที่ในสมัยนั้นเรียก "ข้าหลวงร่วม" ไปร่วมกันปักปันเขตแดนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ 1 นั้นเอง โดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมนี้ ให้รีบดำเนินการภายในสี่เดือนนับแต่สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ[5]

ข้อ 5 ยังระบุว่า เมื่อกระบวนการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายประเทศฝรั่งเศสจะได้สั่งให้ถอนกองทหารของตนที่เข้าประจำการในจังหวัดจันทบุรีโดยอาศัยอำนาจตามสนธิสัญญา ลงวันที่ 2 ตุลาคม ร.ศ. 112 นั้น ออกจากจังหวัดดังกล่าวทันที[6]

การสละอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศลาว

แก้

ในข้อ 4 แห่งสนธิสัญญาดังกล่าว รัฐบาลสยามยังยอมสละอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศลาวให้แก่ประเทศฝรั่งเศส[7] นอกจากนี้ ข้อ 2 แห่งสนธิสัญญา ยังกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศลาวด้วย ว่า[8]

"ฝ่ายเขตแดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง แลเมืองพิชัย กับเมืองน่านนั้น เขตแดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเฮียงที่แยกจากแม่โขง เนื่องไปตามกลางลำน้ำแม่เฮียง จนถึงที่แยกปากน้ำตาง เลยขึ้นไปตามลำน้ำตางจนบรรจบถึงยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขง แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่ภูเขาแดนดิน ตั้งแต่ที่นี้ เขตแดนต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขงแลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนบรรจบถึงปลายน้ำควบแล้ว เขตต่อแดนเนื่องไปตามลำน้ำควบจนบรรจบกับแม่น้ำโขง"

อื่น ๆ

แก้

ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญา ว่า ประเทศสยามให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประเทศฝรั่งเศส โดยกำหนดว่า คนในบังคับฝรั่งเศสมีสิทธิที่จะไม่ขึ้นศาลสยามได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา[9]

ส่วนเนื้อหาอื่น ๆ เป็นการตกลงกันว่า

  • สยามกับฝรั่งเศสจะร่วมมือกันพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสารในบริเวณประเทศลาวและประเทศกัมพูชาซึ่งติดต่อกับประเทศสยาม
  • ประเทศสยามจะอุทิศดินแดนบางส่วนในประเทศให้เป็นที่ตั้งที่ดำเนินงานของฝ่ายฝรั่งเศส[10]
  • กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าเป็นคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศส[11]
  • ทหารไทยที่จะเข้าไปในบริเวณแม่น้ำโขงต้องเป็นผู้ถือสัญชาติไทยเท่านั้น ยกเว้นตำรวจภูธรของไทยที่มีผู้บังคับบัญชาเป็นชาวเดนมาร์ก ถ้าสยามจะใช้คนสัญชาติอื่น ต้องแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบก่อน
  • ในมณฑลบูรพา สยามจะจัดให้มีแต่พลตระเวนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น
  • สยามอนุญาตให้ฝรั่งเศสใช้ที่ดินบริเวณ เชียงคาน หนองคาย เมืองสนัยบุรี ปากแม่น้ำคาน มุกดาหาร เมืองเขมราฐ ปากแม่น้ำมูล ตามรายละเอียดในสนธิสัญญา พ.ศ. 2436
  • ถ้าข้อความทั้งสองภาษามีความขัดแย้งกัน ให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก

การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชา

แก้

แผนที่ตามเอกสารแนบท้ายหมาย 1

แก้

ผลของสนธิสัญญา

แก้

สนธิสัญญานี้มีผลต่อการกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับลาวในปัจจุบัน และเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาบางส่วน โดยเมื่อสยามยกมณฑลบูรพาให้ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2449 ได้มีสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส พ.ศ. 2449 เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างไทย-กับกัมพูชาบริเวณมณฑลบูรพาเดิมใหม่[ต้องการอ้างอิง] และยังได้รับการอ้างถึงในคำพิพากษาศาลโลกในกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารไทย-กัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2505

เชิงอรรถ

แก้
  1. ชื่ออื่นของสนธิสัญญานี้ คือ
    • ชื่ออย่างเป็นทางการ - "อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122" (Convention between France and Siam Modifying the Stipulations of the Treaty of 3 October 1893 Concerning the Territories and the Other Agreements, Signed at Paris on 13 February 1904; Convention entre la France et le Siam Modifiant les Stipulations du Traité du 3 Octobre 1893, Concernant des Territoires et des Autres Arrangements, Signé à Paris le 13 Février 1904)
    • ชื่อที่ใช้ในต้นฉบับภาษาไทย - "หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ซึ่งได้ลงชื่อกันที่กรุงปารีส ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122"
  2. ดู อารัมภบทสนธิสัญญาฯ นี้
  3. ดู ท้ายสนธิสัญญาฯ นี้
  4. ดู ข้อ 1 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
    ทั้งนี้ ข้อความในสนธิสัญญาฉบับภาษาฝรั่งเศสระบุดังนี้

    "La frontière entre le Siam et le Cambodge part, sur la rive gauche du Grand-Lac, de l'embouchure de la rivière Stung-Roluos ; elle suit le parallèle de ce point dans la direction de l'Est jusqu'à la rencontre de la rivière Prék-Kompong- Tiam, puis, remontant vers le Nord, elle se confond avec le méridien de ce point de rencontre jusqu'à la chaîne de montagnes Pnom-Dang-Rek. De là elle suit la ligne de partage des eaux entre les bassins du Nam-Sen et du Mékong, d'une part, et du Nam-Moun d'autre part, et rejoint la chaîne Pnom-Padang dont elle suit la crête vers l'Est jusqu'au Mékong. En amont de ce point, le Mékong reste la frontière du royaume de Siam, conformément à l'article 1er du traité du 3 octobre 1893."

  5. ดู ข้อ 3 วรรค 1 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  6. ดู ข้อ 5 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  7. ดู ข้อ 4 วรรค 1 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  8. ดู ข้อ 2 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้ ทั้งนี้ ข้อความในสนธิสัญญาฉบับภาษาฝรั่งเศสระบุดังนี้

    "Quant à la frontière entre le Luang-Prabang, rive droite, et les provinces de Muang-Phichaï et Muang-Nan, elle part du Mékong à son confluent avec le Xam-Huong et, suivant le thalweg de cette rivière jusqu'à son confluent avec le Nam-Tang, remontant ensuite le cours dudit Nam-Tang, elle atteint la ligne de partage des eaux entre les bassins du Mékong et celui de la Ménam en un point situé près de Pou-Dène-Dinc. A partir de ce point, elle remonte vers le Nord, suivant la ligne de faite entre les deux bassins jusqu'aux sources de la rivière Nam-Kop dont elle suit le cours jusqu'à sa rencontre avec le Mékong."

    <
  9. ดู ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  10. ดู ข้อ 7-9 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  11. ดู ข้อ 10-11 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้

ดูเพิ่ม

แก้