พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)

พระยาศรีสหเทพ (พ.ศ. 2335 – พ.ศ. 2388) มีนามเดิมว่า ทองเพ็ง หรือ เพ็ง เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ สกุลชาวมอญตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อดีตปลัดพระธรรมนูญ และปลัดบาญชีกรมมหาดไทยในรัชกาลที่ 2 อดีตขุนคลังคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบุคคลที่ได้รับสมัญญาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็น ขุนคลังแก้ว[1]

พระยาศรีสหเทพ
(ทองเพ็ง ศรีเพ็ญ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2335
เสียชีวิตพ.ศ. 2388 (53 ปี)
บุพการี
  • นายชำนาญ (ทองขวัญ) (บิดา)
  • ทองขอน (มารดา)
อาชีพขุนนาง

ประวัติ

แก้

พระยาศรีสหเทพ นามเดิม ทองเพ็ง หรือ เพ็ง[2] เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๙ ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ ตรงกับปี พ.ศ. 2335[1] บิดาชื่อ นายชำนาญ (ทองขวัญ) สืบเชื้อสายลงมาจากพระยาแสนจ่ายากร (จรูญ) ขุนนางเชื้อสายมอญซึ่งเป็นบิดาของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) มารดาชื่อ ทองขอน สืบเชื้อสายลงมาจากพระยานครอินทร์ (สมิงนรเดชะ หรือมะซอน) มีพี่น้อง 2 คนชื่อ ทองพิมพ์ เป็นพี่สาว และ เทด เป็นน้องสาว

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงเป็นหลานปู่ในหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของ เจ้าพระยามหาเสนา ต้นสกุลบุนนาค และหลานตาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงษ์ (รามัญวงศ์) พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงมีเชื้อสายแขกเปอร์เซียทางบิดา และมีเชื้อสายมอญทางมารดา

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ[1] เป็นขุนคลังแก้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีบทบาทสำคัญในการทำสัมปทานไม้สักขอน สร้างรายได้เข้าคลังหลวงมากมายมหาศาล

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ศรีเพ็ญ ผู้นำชาวมอญ ซึ่งตั้งบ้านเรื่อนอยู่บริเวณสี่แยกพระยาศรี ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘สี่กั๊กพระยาศรี[3] ได้รวบรวมแรงงานชาวมอญก่อสร้างสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม และอยู่ในละแวกเดียวกัน จึงเรียกสะพานดังกล่าวว่า ‘สะพานมอญ[4]

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราภาพ[5]: (นิ)  เวลา 11.30 น. เมื่อวันอังคารแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ ตรงกับปี พ.ศ. 2388 สิริรวมอายุได้ 53 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องศพเป็นเกียรติยศ[1] อาทิ ทองคำปิดหน้าศพ ซองทองคำมีธูปเทียนดอกไม้ให้ถือศพ ตลอมพอกพันโหมดเทศมีเกี้ยวทองคำสรวมศีรษะศพ เสื้อครุยสำรดทองและผ้าสองปักลายนุ่งศพ ผ้าส่านเทศสีขาวห่อศพ โกศไม้สิบสองลายกุดั่นบั้นด้วยกากรักปิดทองคำปลิว ชั้นแว่นฟ้ารองโกศสองชั้น ฉัตรเบญจาตีพิมพ์ 5 ชั้น 4 คัน ฉัตรกำมะลอ 3 ชั้น 4 คัน ตั้งลอมโกศ มีเครื่องประโคมแตรงอน แตรฝรั่ง จ่าปี่ จ่ากลอง กลองชะนะเขียว 12 คู่ ผ้าไตร 30 ผืน ผ้าไตรขาวเทศ 50 พับ เงินตราปราสาท 500 เฟื้อง พระราชทานพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม และพระราชทานเครื่องศพเสมอด้วยเกียรติยศเจ้าพระยาเสนาบดี[5]: (ไน) 

บรรดาศักดิ์

แก้
  • หมื่นพิพิธอักษร (ทองเพ็ง)[1]
  • หลวงศรีเสนา (ทองเพ็ง)[1]
  • พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)[5]: (โถ) 
  • พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)[1]
  • พระยาเพ็ชรพิไชย (ทองเพ็ง) ศักดินา 5000[5]: (ที) 

ตำแหน่งราชการ

แก้
  • เสมียน[1]
  • ปลัดพระธรรมนูญ กรมมหาดไทย ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
  • ปลัดบาญชี กรมมหาดไทย
  • จางวางกรมล้อมพระราชวัง[5]: (ที) 
  • รั้งตำแหนงสมุหนายก (ชั่วคราว) กรมมหาดไทย รัชกาลที่ 3[5]: (ทู) 
  • เสนาบดีกรมเกษตราธิการ (กรมนา) รัชกาลที่ 3[5]: (นา) 
  • อธิบดีกรมช่างทอง[5]: (นา) 
  • อธิบดีกรมช่างสิบหมู่
  • อธิบดีกรมช่างสนะ
  • ผู้ตรวจตราการสวนกาแฟหลวง
  • ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของเสนาบดี[5]: (นา) 

เครื่องยศขุนนาง

แก้

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้รับพระราชทานเครื่องยศขุนนาง ดังนี้[5]: (ทา)–(ทุ) 

  • พานหมากหลังเจียดเลียมไม้สิบสองทองคำ
  • ถาดหมาก
  • คนโทน้ำมีพานรองทองคำ
  • กระโถนบ้วนน้ำหมากทองคำ
  • โต๊ะเงินคาวหวานคู๋ ๑
  • แคร่คานหาม

ต้นสกุลศรีเพ็ญ

แก้

นามสกุล ศรีเพ็ญ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Sribenya เป็นนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 740 ใน สมุดทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน พระราชทานนามสกุลแก่พระยานิกรกิติการ (กั้ก) ผู้ว่าราชการเมืองแพร่ สกุลพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๙ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2456[6]

มรดก

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, วิจิตร เกิดวิศิษฐ์, อรรถจินดา ดีผดุง และสุเอ็ด คชเสนี. (2526, สิงหาคม). "สกุลศรีเพ็ญ: พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)", รายงานผลการวิจัย เรื่อง บทบาทในด้านสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของชนกลุ่มน้อยในกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี : มอญ [Social, Cultural and Political Roles of the Minority Group in Ratanakosin, History and their Changes in 200 years:The Mon]. (โครงการทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). กรุงเทพฯ: ฝ่ายวิจัย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 65–66.
  2. ศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ), พระยา. (2463). นิพนธของพระยาศรีภูริปรีชา. พระนคร: โรงพิมพ์ไท. ไม่ปรากฏเลขหน้า. "ที่เรือนมารดาในบ้านพระศรีสหเทพ (เพ็ง) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสี่แยกถนนเจริญกรุงแลถนนเฟื่องนคร จึงเรียกว่าสี่กั๊กพระยาศรีมาจนทุกวันนี้"
  3. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, ที่มาของชื่อ สี่กั๊กพระยาศรี เก็บถาวร 26 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทความ-สารคดี, ฉบับที่ 2617 ปีที่ 51 ประจำวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2547
  4. องค์ บรรจุน (14 พฤษภาคม 2006), "สะพานมอญ กรุงเทพฯ", monstudies.com, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013, สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2008
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 ก.ศ.ร. กุหลาบ. (2449). ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง. พระนคร: ม.ป.ท. 454 หน้า.
  6. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๙. (2456, 28 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 30. หน้า 2,094.
  7. ถนนศรีเพ็ญและตระกูลศรีเพ็ญ. (2554, 9 กุมภาพันธ์). คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2567.

หนังสืออ่านเพิ่ม

แก้