บ้านบัวงาม เป็นชุมชนหนึ่งในตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2504 เดิมชื่อ บ้านโนนหมากเดือย แรกเริ่มเป็นหมู่บ้านฝากของชุมชนบ้านหนองสนม ซึ่งขณะนั้นอยู่ในพื้นที่ของตำบลกลาง อำเภอเดชอุดม ต่อมาได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นชุมชนบ้านบัวงาม หมู่ที่ 10 ของตำบลกลาง ภายหลังได้แยกเป็นชุมชนหมู่ที่ 16 (หมู่ที่ 3 และ 14 ในปัจจุบัน) เพิ่มเติมในภายหลัง[2] ในปี พ.ศ. 2522 ชุมชนแถบนี้มีการเจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการอพยพเข้ามาตั้งถื่นฐานของประชาชนจากตอนบนของจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้มีราชกิจจานุเบกษาแบ่งพื้นที่ทางตะวันออกจำนวน 9 หมู่บ้าน 10 ชุมชนของตำบลกลางเพื่อจัดตั้งเป็นตำบลบัวงาม โดยมีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่ชุมชนบ้านบัวงาม[2]

บ้านบัวงาม
หมู่บ้าน
เจดีย์อนุสรณ์สถานพระครูถาวรกิตติคุณ (หลวงปู่มึ้ม ถาวโร) ภายในวัดจันทร์ทุมมาวาส บ้านบัวงาม
เจดีย์อนุสรณ์สถานพระครูถาวรกิตติคุณ (หลวงปู่มึ้ม ถาวโร) ภายในวัดจันทร์ทุมมาวาส บ้านบัวงาม
พิกัด: 14°47′51.4″N 105°13′58.0″E / 14.797611°N 105.232778°E / 14.797611; 105.232778
ประเทศ ไทย
ตำบลบัวงาม
อำเภอเดชอุดม
จังหวัดอุบลราชธานี
ก่อตั้ง1 มกราคม 1961; 63 ปีก่อน (1961-01-01)
ผู้ก่อตั้งลี จันทุมมา
การปกครอง
 • ประเภทหมู่บ้าน
 • ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 — ไม่มีข้อมูล
หมู่ที่ 3 — ไม่มีข้อมูล
หมู่ที่ 14 — ไม่มีข้อมูล
หมู่ที่ 15 — ไม่มีข้อมูล
 • นายกเทศมนตรีธีรพันธ์ ชัยวัฒน์ธนัน
พื้นที่
 • พื้นน้ำ0.02 ตร.ไมล์ (0.05 ตร.กม.)
 • เขตชุมชน1.23 ตร.ไมล์ (3.18 ตร.กม.)
 • เขตรอบนอก5.77 ตร.ไมล์ (14.94 ตร.กม.)
ความสูง500 ฟุต (152.4 เมตร)
ประชากร
 (อันดับ 1 ตำบลบัวงาม)
 • ทั้งหมด4,693 คน
 • ความหนาแน่น3,815.45 คน/ตร.ไมล์ (1,475.79 คน/ตร.กม.)
เขตเวลาUTC-7 (UTC)
รหัสพื้นที่340715
แผนที่
Map

ปัจจุบันชุมชนบ้านบัวงามถือเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในเขตตำบลบัวงาม โดยแบ่งออกเป็น 5 ชุมชนย่อย ได้แก่ ชุมชนหมู่ที่ 1/1, 1/2, 3, 14 และ 15[1][3] มีประชากรทั้งสิ้น 4,693 คน 1,082 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นับถือศาสนาพุทธ และพูดภาษาท้องถิ่น (ภาษาอีสาน)[4]

ประวัติ แก้

เดิมพื้นที่ตำบลบัวงามในปัจจุบันนั้น อยู่ภายใต้การบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลกลาง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยชุมชนแรกเริ่มที่ถูกก่อตั้งขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีอยู่ 2 แห่ง คือ ชุมชนบ้านบัวทอง และชุมชนบ้านหนองสนม ต่อมาในช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2490 เริ่มมีผู้คนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ดอนที่อยู่ทางทิศใต้ของบ้านหนองสนมประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า โนนหมากเดือย ต่อมาในภายหลังได้การตั้งเป็น บ้านโนนหมากเดือย ขึ้นโดยเป็นหมู่บ้านฝากที่อยู่ภายในพื้นที่ของหมู่ที่ 2 บ้านหนองสนม ซึ่งขึ้นกับตำบลกลางในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2504 ชุมชนจึงได้รับการยกฐานะเป็นหมู่บ้านโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องถิ่น และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า บ้านบัวงาม เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างลำห้วยเล็ก ๆ 2 สาย คือห้วยบัวเหนือ และห้วยบัวใต้ ซึ่งไหลมาบรรจบกันก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำโดมใหญ่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกบัว จากนั้นชุมชนดังกล่าวได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจากชุมชนเดิมได้อพยพย้ายออกไปก่อตั้งชุมชนใหม่โดยรอบหลายชุมชน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการแยกพื้นที่ทางตะวันออกของตำบลกลางออกมาเพื่อก่อตั้งเป็นตำบลบัวงาม[2]

ในระยะแรกนั้น การบริหารจัดการต่างๆภายในชุมชนบ้านบัวงามนั้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาตำบลบัวงามทั้งหมด แต่เมื่อมีการยกระดับพื้นที่สุขาภิบาลบัวงามขึ้นเป็นเทศบาลตำบลบัวงาม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดตั้งสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2537 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 36 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2537 ทำให้การบริหารจัดการด้านต่างๆของชุมชนนี้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของเทศบาลตำบลบัวงามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[5]

สภาพภูมิศาสตร์ แก้

ลักษณะที่ตั้ง แก้

ชุมชนบ้านบัวงามตั้งอยู่ทางพื้นที่ตอนกลางของตำบลบัวงาม ห่างจากตัวอำเภอเดชอุดม ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 18.17 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนต่างๆ โดยรอบ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับชุมชนบ้านแสงจันทร์ และชุมชนบ้านดอนชีใน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับชุมชนบ้านหนองสะโน ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับชุมชนบ้านราษฎร์สามัคคี ชุมชนบ้านหนองแวง ชุมชนบ้านโนนแฝก, ชุมชนบ้านโนนสว่าง อำเภอนาจะหลวย, และชุมชนบ้านหนองม่วง อำเภอบุณฑริก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับชุมชนบ้านโคกพัฒนา และชุมชนบ้านนาเลิง

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

สภาพพื้นที่ของตำบลบัวงามส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงอุดมสมบูรณ์ มีป่าละเมาะ มีไม้พลวง ไม้เหียง ขึ้นประปรายเป็นแห่งๆ โดยทั่วไป เหมาะสำหรับการทำนาและการเกษตรอื่นๆ ทำให้ในปัจจุบัน พื้นที่ส่วนมากถูกปรับสภาพให้เป็นพื้นที่ในการทำการเกษตรเกือบทั้งหมด มีแหล่งน้ำที่สำคัญทางการเกษตร คือ ห้วยบัวเหนือ ห้วยบัวใต้ และอ่างเก็บน้ำห้วยบัวเหนือ หรือหนองหลวง[6][7]

สถานที่สำคัญ แก้

สถานศึกษา แก้

บ้านบัวงามมีสถานศึกษาอยู่ทั้งสิ้น 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนบ้านบัวงาม และโรงเรียนบ้านบัวงาม ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

สถาบันและองค์กรทางศาสนา แก้

หน่วยงานราชการ แก้

วัฒนธรรมประเพณี แก้

 
หมอลำคณะแดนดอกบัวรุ่งลำเพลิน หนึ่งในคณะหมอลำของบ้านบัวงามเมื่อปี พ.ศ. 2523

ศิลปะหัตถกรรม แก้

  • ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผ้าฝ้ายจากสีธรรมชาติ โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหม-ฝ้าย บ้านบัวงาม หมู่ที่ 3 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผ้าฝ้ายจากสีธรรมชาติ[8]

งานประเพณี แก้

งานประเพณีต่างๆที่จัดขึ้นภายในบ้านบัวงามนั้น จะเป็นไปตามขนบธรรมเนียมของชาติพันธ์ลาว ที่เรียกว่า ฮีต 12 ที่สำคัญ ได้แก่

งานบุญเดือนสี่ บุญผะเหวด แก้

งานบุญเดือนสี่ หรืองานบุญผะเหวด เป็นงานบุญที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของพระเวสสันดร มีการเทศน์พระเวส หรือเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดก โดยจะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนสี่ตามปฏิทินจันทรคติ เชื่อกันว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตรย[9] ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในชาติถัดไปตามคัมภีร์อนาคตวงศ์[10]

ทั่วไปแล้ว บุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกัน 3 วัน โดยในวันแรกจะเป็นการจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญ จากนั้นในวันที่ 2 จะเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านร่วมทั้งพระสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธี โดยจะมีการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทานฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็น การแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย และในวันที่ 3 จะเป็นงานบุญพิธี โดยในช่วงเช้า ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน และในระหว่างวันจนถึงตอนเย็น มีจะแห่แหนฟ้อนรำเพื่อนำ กัณฑ์หลอน ที่รวบรวมจากชาวบ้านคุ้มต่างๆใน ชุมชน หรือจากหมู่บ้านอื่นๆ ขึ้นบนศาลาเพื่อถวายแด่ภิกษุรูปที่กำลังเทศน์อยู่ ณ เวลานั้น

งานบุญเดือนห้า บุญสงกรานต์ แก้

งานบุญสงกรานต์ของบ้านบัวงามจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีระหว่างวันที่ 13–15 เมษายน ในช่วงเย็น พระสงฆ์จะตีกลองใบใหญ่ในวัดเพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านในหมู่บ้านออกมารวมกันที่วัดและนำพระพุทธรูปลงมาประดิษฐานไว้ในซุ้มบริเวณลานวัด จากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านก็จะมาร่วมกัน จัดน้ำอบ น้ำหอม ธูป เทียน ดอกไม้ แล้วกล่าวคำบูชาอธิษฐาน ขอให้ฟ้าฝนตกในบ้านเมือง อยู่ร่มเย็น แล้วก็สรงน้ำอบน้ำหอมให้แก่พระพุทธรูปทั้งหมดในงานพิธี หลังจากนั้นก็สรงน้ำให้แก่พระสงฆ์ และผู้อาวุโสในชุมชน หลังจากกลับมาถึงบ้าน จะมีการสรงน้ำให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เป็นที่เคารพของสมาชิกในบ้าน

งานบุญเดือนหก บุญบั้งไฟ แก้

งานบุญเดือนสิบสอง บุญกฐิน แก้

เศรษฐกิจ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Noplink.com (2019). "รหัสไปรษณีย์ ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 March 2019. สืบค้นเมื่อ 10 February 2019.
  2. 2.0 2.1 2.2 กระทรวงมหาดไทย (23 August 1979). "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลาย อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี" (PDF). p. 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 1 August 2019. สืบค้นเมื่อ 5 June 2020.
  3. Ch7HD News (4 August 2021). "สั่งปิดวัดจันทร์ทุมาวาส หลังพบพระติดโควิด 19 ชาวบ้านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสัมผัส 64 คน". Bangkok Broadcasting & T.V. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 August 2021. สืบค้นเมื่อ 5 August 2021.
  4. องค์การบริหารส่วนตำบลบัวงาม (2016). "บทที่ 1 บทนา - องค์การบริหารส่วนตำบลบัวงาม" (PDF). สืบค้นเมื่อ 22 August 2017.[ลิงก์เสีย]
  5. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (1999). "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-02-21. สืบค้นเมื่อ 22 August 2017.
  6. องค์การบริหารส่วนตำบลบัวงาม (2016). "บทที่ 1 บทนา - องค์การบริหารส่วนตำบลบัวงาม" (PDF). สืบค้นเมื่อ 22 August 2017.[ลิงก์เสีย]
  7. องค์การบริการส่วนตำบลบัวงาม. "แผนที่องค์การบริหารส่วนตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-07. สืบค้นเมื่อ 22 August 2017.
  8. กิตติภณ เรืองแสน (16 July 2018). "ตามไปดูกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย จากสีธรรมชาติ ที่ บ้านบัวงาม". บ้านเมือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 February 2018. สืบค้นเมื่อ 9 February 2018.
  9. ประเพณีพื้นเมืองอีสาน. มหาสารคาม: วิทยาลัยครูมหาสารคาม. 1979.
  10. ประภาส สุระเสน (2010). พระคัมภีร์อนาคตวงศ์ (PDF). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. p. 1-2. ISBN 974-580-742-7.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)