นโรดม จันทรังสี

นักองค์มจะ (หม่อมเจ้า) นโรดม จันทรังสี (Norodom Chantaraingsey) เป็นเชื้อพระวงศ์และนักการเมืองชาตินิยมในกัมพูชา โดยเริ่มจากเป็นหัวหน้ากองกำลังต่อสู้กับฝรั่งเศส และเป็นผู้นำกองทัพแห่งชาติเขมรในสงครามกลางเมืองกัมพูชา นอกจากนั้น ยังทำธุรกิจและเป็นนักเขียนด้วย เชื่อว่าพระองค์ถูกสังหารระหว่างสู้รบกับเขมรแดงใน พ.ศ. 2518 หรือ พ.ศ. 2519

นักองค์มจะ นโรดม จันทรังสี
เกิดพ.ศ. 2469 (บางแห่งเป็น พ.ศ. 2467)
เสียชีวิตไม่แน่นอนระหว่าง พ.ศ. 2518 - 2520
สัญชาติกัมพูชา
ผลงานเด่นผู้นำทหารระดับสูงของเขมรอิสระ
ผู้บังคับการกองพันเสือของกองทัพแห่งชาติเขมร
ตำแหน่งทหาร
คู่สมรสสีสุวัตถิ์ สมานวรพงษ์

การต่อสู้กับฝรั่งเศส

แก้

นักองค์มจะนโรดม จันทรังสีเป็นพระนัดดาของสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ และเป็นพระญาติกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2469 ในพนมเปญ[1] พระองค์เริ่มเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองกัมพูชา โดยเข้าร่วมกับกองกำลังที่สนับสนุนญี่ปุ่นและต่อต้านฝรั่งเศสของเซิง งอกทัญ หลังสงครามสิ้นสุดและฝรั่งเศสกลับมาปกครองกัมพูชาอีก พระองค์ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้นำเขมรอิสระที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์ ควบคุมกองกำลังที่จังหวัดกำปงสปือและจังหวัดกำปงธม ใน พ.ศ. 2492 พระองค์เข้าร่วมกับคณะกรรมการปลดปล่อยแห่งชาติเขมร โดยเป็นหนึ่งในหัวหน้าฝ่ายทหารระดับสูง แต่ใน พ.ศ. 2494 พระองค์ได้แยกกองกำลังของพระองค์ออกมาที่จังหวัดเสียมราฐพร้อมกับเซิง งอกทัญ

กลุ่มชาวกัมพูชาที่นิยมคอมมิวนิสต์เคยเห็นว่าพระองค์เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะเป็นกษัตริย์แทนสมเด็จพระนโรดม สีหนุ แต่พระองค์กลับระแวงอิทธิพลของเวียดนามในกลุ่มผู้นิยมคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น พระองค์ยังนิยมระบอบสาธารณรัฐมากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช พระองค์เข้าร่วมกับระบอบสังคมของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ แต่เมื่อถูกตั้งข้อสงสัยว่าร่วมมือกับผู้นำเขมรอิสระคนอื่นเพื่อวางแผนรัฐประหารโค่นล้มอำนาจสมเด้จพระนโรดม สีหนุ พระองค์จึงถูกถอดยศทางทหารและทางราชสกุล[2] และถูกจำคุก 3 ปี ระหว่างนี้ พระองค์หันมาเขียนนิยายโรแมนติก,[3] เมื่อพ้นโทษได้ออกไปทำธุรกิจส่วนตัว[4]

กองทัพแห่งชาติเขมร

แก้

เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2513 ลน นลแต่งตั้งให้นักองค์มจะ นโรดม จันทรังสี เป็นผู้บังคับการกองพันที่ 3 หรือที่เรียกว่ากองพันเสือ ซึ่งรับผิดชอบบริเวณจังหวัดกำปงสปือ กองพันของพระองค์เป็นหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกองทัพแห่งชาติเขมรซึ่งเข้าร่วมรบในสงครามกลางเมือง

หลังพนมเปญแตกเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เชื่อว่าพระองค์ยังคงสู้รบอยู่ในบริเวณคีรีรมย์ บางคนกล่าวว่าพระองค์ถูกสังหารในเดือนพฤษภาคมเมื่อพยายามข้ามแดนมายังประเทศไทย[2] แต่บางแหล่งก็กล่าวว่าพระองค์ยังคุมทหาร 2,000 คนรบกับเขมรแดงที่เทือกเขาบรรทัดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 ซึ่งผู้อพยพชาวกัมพูชาในประเทศไทยกล่าวว่ากองกำลังนี้ยังอยู่จนถึง พ.ศ. 2519 – 2520[5] วันที่เสียชีวิตของพระองค์ไม่แน่นอน บ้างกล่าวว่าถูกสังหารเมื่อปลายปี พ.ศ. 2518 ที่พระตะบอง หลังจากไปช่วยพระชายาที่ถูกเขมรแดงจับตัวไปไม่สำเร็จ,[3] บ้างก็ว่าถูกสังหารที่เทือกเขาด็อมเร็ยเมื่อ พ.ศ. 2519[6]

ชีวิตครอบครัว

แก้

พระองค์ทรงเสกสมรสกับพระสีสุวัตถิ์ สมานวรพงษ์ พระธิดาของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ และเป็นพระบิดาที่แท้จริงของพระนราธิปที่หายสาบสูญใน พ.ศ. 2518

อ้างอิง

แก้
  1. Birth date also given as 1924 in some sources.
  2. 2.0 2.1 Savoeun, H.A Biography of Prince Norodom Chantaraingsey, accessed 22-05-08
  3. 3.0 3.1 Corfield, J. and Summers, L. Historical dictionary of Cambodia‎, Scarecrow Press, 2003, pp.286-7
  4. Gayn, M. Cambodia consulting the stars, New York Times magazine, 22-04-73
  5. Corfield, J. A History of the Cambodian Non-Communist Resistance 1975-1983, Monash University, 1991.
  6. All in a Day's Work, Phnom Penh Post, 09-02-07