นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน

ละครโทรทัศน์สัญชาติญี่ปุ่น

นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน[1] (ญี่ปุ่น: チェンジ; อังกฤษ: Change) เป็นละครโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ฟูจิ โดยออกอากาศที่ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[2] ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม ปีเดียวกัน และออกอากาศในประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี เวลา 20.20 - 21.10 น. โดยเริ่มตอนแรก ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ออกอากาศตอนจบในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2554 ทาง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำซีรีส์นี้นำกลับมาออกอากาศซ้ำอีกครั้ง โดยออกอากาศทุกวันจันทร์ - พุธ เวลา 20.20 - 21.10 น. โดยเริ่มตอนแรก ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน
ประเภทดรามา, การเมือง
แสดงนำทาคุยะ คิมุระ
เอริ ฟุคะสึ
ดนตรีแก่นเรื่องปิดไมส์อเวย์ (มาดอนน่า)
ประเทศแหล่งกำเนิดญี่ปุ่น
ภาษาต้นฉบับญี่ปุ่น
จำนวนตอน10
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้างฮิโรยูกิ โกโต
คาซูยูกิ ชิมิสึ
สถานที่ถ่ายทำโตเกียว
ความยาวตอน54 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ฟูจิ
ออกอากาศ12 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 (2008-05-12) –
14 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 (2008-07-14)

เรื่องย่อ แก้

นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน เป็นเรื่องราวของ เคตะ อะซะกุระ (แสดงโดย: ทาคุยะ คิมุระ) ครูหนุ่มอายุ 35 ประจำชั้นประถม 5 ทายาทนักการเมืองชื่อดังของ พรรคญี่ปุ่นก้าวหน้า (นิฮนเซยู) ผู้ไม่ประสีประสาเรื่องการเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่กลับต้องพลิกผันชีวิตของตนเอง เนื่องจาก มาโคโตะ อะซะกุระ พ่อ และ มาซายะ อะซะกุระ พี่ชาย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกระหว่างเดินทางกลับจากเวียดนาม

โชอิจิ คัมบายาชิ ประธานบริหารพรรค จึงมอบหมายให้ ริกะ มิยามะ (แสดงโดย เอริ ฟุคะสึ) เลขานุการส่วนตัว ลงพื้นที่เพื่อสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขต 12 จังหวัดฟุกุโอกะ โดยพยายามหว่านล้อมให้เคตะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีต่างๆ นานาถึงกระทั่งบอกว่าถ้าเคตะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะให้แม่เคตะลงสมัครแทน เมื่อถึงขั้นนี้เคตะจึงต้องยอมลงรับสมัครเลือกตั้ง และขอสัญญาจากมิยามะว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็จะต้องไม่มายุ่งกับครอบครัวของเขาอีก

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเคตะได้รับความช่วยเหลือจากนักวางแผนการเลือกตั้ง คะทสีโทชิ นิราซาวา (แสดงโดย ฮิโรชิ อะเบะ) เป็นผู้วางแผนกลยุทธ์หาเสียงและปรับภาพลักษณ์ของเคตะ เคตะซึ่งปกติมีผมหยิกต้องแต่งตัวใหม่ให้ดูภูมิฐานเหยียดผมตรง ดูเหมือนนักการเมืองมืออาชีพ คะแนนนิยมของเขาตีตื้นคู่แข่งขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มหน้าตาดีและบารมีของบิดาที่เป็นอดีตผู้แทนในเขตดังกล่าว อย่างไรก็ตามในวันก่อนการเลือกตั้งปรากฏว่ามีข่าวหนังสือพิมพ์โจมตีบิดาของเคตะที่เสียชีวิตว่ารับเงินนอกกฎหมายเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความนิยมของเคตะในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง

ในการกล่าวคำปราศัยครั้งสุดท้ายของเขาทางผู้สนับสนุนบอกให้เคตะปฏิเสธกรณีดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงและตั้งข้อสงสัยฝ่ายตรงข้ามในการปล่อยข่าวเพื่อทำลายคู่แข่งอย่างสกปรก แต่เมื่อเคตะขึ้นเวทีปราศัยท่ามกลางสายตาประชาชนที่สบประมาทว่าเขาเป็นลูกนักการเมืองฉ้อฉลและเขาเองก็เป็นคนอย่างเดียวกันกับบิดา เคตะกล่าวว่า ก่อนหน้าหน้านี้เขาอาจรู้สึกเสียใจที่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่วันนี้เขาไม่เสียใจเลย เพราะอย่างน้อยเขาก็มีโอกาสที่จะได้กล่าวขอโทษแทนบิดาที่ล่วงลับไปแล้วสำหรับการทรยศต่อประชาชนที่ได้ให้ความไว้วางใจไปรับเงินนอกกฎหมาย เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในวัยเด็กที่เขาเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์แล้วไปถามบิดาว่าจริงหรือไม่ บิดาเขาไม่สบสายตาและพูดว่า "การเมืองมันมีค่าใช้จ่ายสูง" เคตะยังกล่าวอีกว่า ในฐานะครูเขาไม่อยากสอนเด็กว่าสิ่งชั่วร้ายเป็นสิ่งที่จำเป็นในโลกใบนี้ คำปราศัยของเขาจากสายตามิยามะและคณะผู้สนับสนุนคือความล้มเหลว

อย่างไรก็ตามนิราซาวาได้ส่งเทปการปราศัยครั้งสุดท้ายของเคตะไปยังสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเพื่อออกอากาศไปทั่วเขตเลือกตั้งในคืนก่อนวันเลือกตั้ง ในสายตาของนิราซาวาการก้มศีรษะขอโทษของเคตะ เป็นการก้มหัวขอโทษของนักการเมืองที่จริงใจที่สุดที่เขาได้เคยพบเห็นมาจากประสบการณ์ของนักวางแผนการเลือกตั้งที่ประสบชัยชนะแล้วนับร้อยครั้งทั่วประเทศญี่ปุ่น ผลการนับคะแนนเลือกตั้งพลิกผันอย่างไม่คาดฝัน สถานีโทรทัศน์ต้องประกาศขออภัยและแก้ไขผลการเลือกตั้งที่รายงานไปก่อนหน้านั้นและประกาศว่า เคตะคือผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของชาวฟูกูโอะกะด้วยคะแนนที่เฉียดฉิว จากนั้นเคตะก็กลายเป็นที่สนใจอย่างยิ่งของสาธารณชน เนื่องจากเป็นคนหนุ่มอายุน้อยมีหน้าตาและบุคลิกภาพดีจึงได้รับฉายา เจ้าชายรัฐสภา จากสื่อมวลชน

หลังจากนั้น อุไค ทาเคฮิโกะ หัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกเปิดโปงเรื่องชู้สาว คัมบายาชิจึงผลักดันคนที่ไม่รู้เรื่องการเมืองมากนักอย่างเคตะ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น เพราะเชื่อว่า เคตะจะบริหารงานไม่เป็น จะเป็นหุ่นเชิดให้ตัวเองได้ และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวงการเมือง ซึ่งกำลังประสบกับวิกฤตศรัทธาของประชาชน (ครั้งหนึ่งแพทย์ประจำตัวนายกรัฐมนตรีพลั้งปากพูดไปว่าอัตราความนิยมของรัฐบาลลดน้อยต่ำไปกว่าภาษีเสียอีก) ด้วยการนี้เองคัมยายาชิจึงเห็นประโยชน์ในตัวเคตะที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันการเมืองและพรรคของเขา คัมบายาชิได้เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้เคตะโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว คัมบายะชิได้เลือกเฟ้นคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทุจริตรับเงินจากบริษัทเอกชนเมื่อหลายสิบปีก่อนร่วมกับบิดาของเคตะมาเป็นคณะรัฐมนตรี เหมือนเป็นระเบิดเวลาที่คัมบายาชิจะหยิบมาใช้เมื่อใดก็ได้ และทำให้ตนเองขึ้นสู่ตำแหน่งได้อย่างชอบธรรม

อย่างไรก็ตามเมื่อเคตะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ หรือแม้แต่ปัญหาเล็กๆ ของชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดียิ่งขึ้น และกระตุ้นเตือนสังคม สร้างสรรค์การเมืองในรูปแบบใหม่อย่างที่ใฝ่ฝัน เคตะทุ่มเททำงานอย่างนักถึงกับอดหลับอดนอนติดต่อกันหลายคืนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียงว่า

ด้วยสองตาที่เหมือนกับท่าน ผมสัญญาว่า ผมจะมองปัญหาที่มีอยู่ในการเมืองขณะนี้ และแก้ไขมันให้ถูกต้อง

ด้วย สองหูที่เหมือนของท่าน ผมสัญญาว่า ผมจะตั้งใจฟังเสียงฟังเสียงจากผู้อ่อนแอในสังคม แม้มันจะแผ่วเบาสักแค่ไหนก็ตาม

ด้วยขาสองข้างที่เหมือนท่าน ผมสัญญาว่า ผมจะเดินเข้าไปในที่ใดก็ตามที่กำลังเกิดปัญหาโดยไม่ลังเล

ด้วยสองมือที่เหมือนพวกท่าน ผมสัญญาว่าจะใช้มันทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและจะชี้นำประเทศไปสู่หนทางที่ควรจะเป็น

ทุก ๆ อย่างของผม ก็เหมือนกับของทุกท่าน

การที่เคตะไม่เป็นหุ่นเชิดตามที่คัมบายะชิวางแผนไว้ ทำให้คัมบายายะชิต้องใช้แผนการที่วางไว้เพื่อทำลายเคตะลง โดยหวังว่าเคตะจะลาออก แต่ระหว่างที่ตอบกระทู้ถามของคัมบายะชิในสภานั้นเคตะหมดสติล้มลงกลางสภาเสียก่อนเพราะตรากตรำทำงานหนักและถูกกดดันจากข้อกระทู้ถาม ระหว่างนี้เคตะได้ผักผ่อนอยู่ที่โรงพยาบาลและได้ตั้งผู้รักษาการแทนไว้ก่อน เมื่อเคตะหายดีแล้วกลับมาทำงานได้จึงประกาศยุบสภา และได้ออกอากาศสดถึงประชาชนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก (ในเรื่องกล่าวว่าไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น) ในคำปราศัยครั้งสุดท้ายก่อนประกาศยุบสภานั้น เคตะเน้นถึงความสำคัญของกระบวนการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมของประชาชน เคตะต้องการกระตุ้นให้ประชาชนมาสนใจการเมือง ไม่นิ่งเฉยหรือเบื่อหน่ายต่อการเมือง

ระหว่างที่เนื้อเรื่องดำเนินไปนั้น เคตะได้พบกับมิยามะเลขาสาวของคัมบายาชิที่เคยเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เธอลาออกจากกระทรวงมาทำงานกับคัมบายาชิด้วยความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักการเมืองเพื่อรับใช้ประชาชน เคตะได้แรงบันดาลใจและพึ่งพามันสมองจากเลขาผู้นี้ตลอดการดำรงตำแหน่งของเขา คัมบายาชิมอบหมายให้เธอติดตามเคตะมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกของเขาที่ฟุกุโอะกะ และมาเป็นเลขาสมาชิกสภาไดเอ็ท (สภาของญี่ปุ่น) จนกระทั่งเป็นเลขาของนายกรัฐมนตรีในที่สุด

เมื่อคัมบายาชิตัดสินใจที่จะนำเคตะลงจากตำแหน่งจึงได้เรียกตัวมิยามะกลับมาทำงานด้วย เธอกลับปฏิบัติตามคำสั่งกลับไปทำงานด้วย แต่ต่อมาภายหลังเมื่อเธอพบว่าคัมบายะชิมิใช่นักการเมืองที่มีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน หวังเพียงประโยชน์ส่วนตนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ใช้วิธีการสกปรกเอาเงินงบลับของคณะรัฐมนตรีไปใช้ในการซื้อเสียงสมาชิกสภาเพื่อให้ต่อต้านร่างกฎหมายที่เคตะเสนอ ซ้ำยังกลับคำพูดที่ให้ไว้กับเคตะ และใส่ร้ายเคตะต่อหน้าสื่อมวลชนว่าเคตะเอาแต่ใจกลายเป็นเผด็จการจนคัมบายะชิต้องออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มิยามะจึงตัดสินใจกลับมาร่วมงานกับเคตะ และในท้ายที่สุดเคตะก็ขอให้เธออยู่เคียงข้างเขาตลอดไป ไม่ใช่แค่ในหน้าที่การงาน

การเชื่อมโยงละครกับสถานการณ์ปัจจุบัน แก้

ในเนื้อเรื่องได้กล่าวถึงการเมืองในประเทศต่างๆ ทั้งในแง่ที่มีวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อการเมืองแบบเก่าๆ ประชาชนขาดความสนใจและการมีส่วนร่วมกับภาคการเมือง และกล่าวถึงการที่คนหน้าใหม่เข้ามาสู่วงการทางการเมืองและลงชิงชัยในตำแหน่งสำคัญๆ อาทิเช่น บารัก โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งเปิดตัวด้วยสโลแกน Change เช่นเดียวกับชื่อเรื่อง ซึ่งมีภาพลักษณ์ในลักษณะเดียวกับตัวละครเอกในเรื่อง คือเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ และต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับการออกอากาศในประเทศไทยครั้งแรกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2552 อยู่ช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศพอดี จนส่งผลให้ผู้ชมชาวไทยวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวละคร เคตะ อะซะกุระ ว่ามีลักษณะบางอย่างคล้ายกับนักการเมืองบางคนในประเทศไทย เช่น มีแนวความคิดที่ก้าวหน้า ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างไม่ถือตัว และทำหน้าที่บริหารงานระดับประเทศโดยไม่ทุจริต[3]

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศผลชื่อภาษาไทย CHANGE: นายกฯ มือใหม่หัวใจประชาชน เก็บถาวร 2009-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ไทยพีบีเอส
  2. キムタク内閣発足!所信表明は「ドラマ通じ政治に関心持って」 (ภาษาญี่ปุ่น). เมษายน 10, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 10, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-04-09.
  3. Change ซีรีส์การเมืองใหม่โดยคนรูปหล่อ (1)/ต่อพงษ์[ลิงก์เสีย]บทวิจารณ์ 10 ตอน จากผู้จัดการออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น แก้