ตี๋ เหรินเจี๋ย ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ เต๊ก ยิ่นเกี๊ยด ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีน: 狄仁傑; พินอิน: Dí Rénjié; ค.ศ. 630 — 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 704) หรือชื่อรองว่า ไหวฺอิง (จีน: 懷英) เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์อู่โจว ในรัชศกอู่ เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) เป็นข้าราชการหนึ่งในหลาย ๆ คนซึ่งได้รับการสรรเสริญมากที่สุดในรัชศกดังกล่าว และเป็นที่สดุดีว่ามีบทบาทผลักดันให้อู่ เจ๋อเทียนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอันโหดร้ายเป็นระบอบอันเชิดชูคุณธรรม

ตี๋ เหรินเจี๋ย
ภาพวาดตี๋ เหรินเจี๋ย อายุราว ค.ศ. 1921
อัครมหาเสนาบดีอู่โจว
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 630
เสียชีวิต11 พฤศจิกายน 704[1] (70 ปี)
ศาสนาพุทธ

ภูมิหลัง

แก้

ตี๋ เหรินเจี๋ยเกิดในตระกูลขุนนางจากเมืองไท่หยวน เมื่อ ค.ศ. 630 ในรัชศกถังไท่จง

ตี๋ เซี่ยวซู่ (狄孝緒) ผู้เป็นปู่ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักบริหาร (尚書左丞) ส่วน ตี๋ จือซุ่น (狄知遜) บิดา เคยเป็นผู้ว่าราชการเมืองกุ๋ยโจว (夔州) ซึ่งปัจจุบันคือฉงชิ่ง

ในวัยเยาว์ ตี๋ เหรินเจี๋ยนั้นเป็นที่เลื่องลือในความใฝ่รู้ใฝ่เรียน หลังจากสอบได้เป็นจอหงวน เขาได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนัน ครั้งนั้น เพื่อนร่วมงานของเขาได้ร้องเรียนเท็จต่อผู้บังคับบัญชาว่า เขาขาดคุณสมบัติเป็นข้าราชการ ประจวบกับที่ หยัน ลี่เปิ่น (閻立本) เสนาบดีกระทรวงสวัสดิการสาธารณะ ผ่านมาตรวจราชการในท้องที่นั้น และขึ้นพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าว เมื่อหยัน ลี่เปิ่น ได้พบตี๋ เหรินเจี๋ย ก็ประทับใจในบุคลิกลักษณะ และกล่าวว่า

"ขงจื่อนั้นเคยกล่าวว่า 'อันความดีงามของบุคคลใดก็ดี ย่อมชี้วัดได้โดยความผิดพลาดของบุคคลนั้นเอง' ตัวท่านนี้อุปมาดังไข่มุกจากริมสมุทร แลขุมทรัพย์อันกู้ได้มาแต่แดนอาคเนย์ก็มิปาน"[2]

หยัน ลี้เปิ่นได้สนับสนุนให้ตี๋ เหรินเจี๋ยเป็นเจ้าเมืองไคเฟิง ขณะปฏิบัติหน้าที่นั้น ตี๋ เหรินเจี๋ยเป็นที่เลื่องลือในด้านความเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาและราษฎร ครั้งหนึ่ง เจิ้ง ฉงจื้อ (鄭崇質) เพื่อนร่วมงานของเขา ได้รับคำสั่งให้ไปตรวจราชการในที่ห่างไกล ขณะนั้น เขาทราบว่ามารดาผู้ชราของเจิ้ง ฉงจื้อ กำลังเจ็บไข้ ก็รุดไปหาลิ่น เหรินจือ (藺仁基) เลขาธิการสำนักบริหาร เพื่อร้องขอให้ตั้งเขาไปตรวจราชการแทน ลิ่น เหรินจือประทับใจในตี๋ เหรินเจี๋ยเป็นอันมาก

ใน ค.ศ. 676 รัชศกถังเกาจง ตี๋ เหรินเจี๋ยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการศาลสูงสุด (大理丞) ตี๋ เหรินเจี๋ยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และเป็นที่กล่าวขานว่า ระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว เขาได้พิพากษาคดีถึงหนึ่งหมื่นเจ็ดพันราย และไม่มีคู่ความไม่พอใจคำพิพากษาของเขาแม้แต่คนเดียว

ในปีเดียวกันนั้น มีเหตุการณ์ซึ่ง นายพลฉวน ชั่นไฉ (權善才) และพลทหารฟั่น ไหวฺอี้ (范懷義) ทำลายหมู่ต้นไม้มงคลบนสุสานอดีตจักรพรรดิถังไท่จงไปโดยอุบัติเหตุ จักรพรรดิถังเกาจงทราบความแล้วก็โกรธ ให้ประหารชีวิตนายทหารทั้งสอง ตี๋ เหรินเจี๋ยจึงทูลว่า ตามกฎหมายแล้ว นายทหารทั้งคู่มีโทษไม่ถึงชีวิต เพียงไล่ออกเท่านั้น จักรพรรดิถังเกาจงทรงฟังแล้วก็โกรธ มีรับสั่งให้ทหารไล่ตี๋ เหรินเจี๋ยออกไปจากที่เฝ้า แต่ตี๋ เหรินเจี๋ยนั้นยังคงทูลทัดทานไม่ยอมหยุด จนจักรพรรดิถังเกาจงได้สติและเข้าพระราชหฤทัย ให้ไล่นายทหารทั้งสองออกตามกฎหมายแทน หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็โปรดให้ตี๋ เหรินเจี๋ยดำรงตำแหน่งขุนนางทัดทาน (御史)

ราว ๆ ค.ศ. 679 เหวย หงจือ (c=韋弘機) เสนาบดีเกษตราธิการ ได้สร้างพระที่นั่งสามหลังทางด้านตะวันออกของนครลั่วหยาง คือ พระที่นั่งซู่หยู่ (宿羽宮) พระที่นั่งเกาชัน (高山宮) และพระที่นั่งชั่งหยาง (上陽宮) ตี๋ เหรินเจี๋ยทูลว่า เหวย หงจือกำลังนำพาพระจักรพรรดิไปสู่ความสุรุ่ยสุร่ายอันเป็นบ่อเกิดแห่งหายนะ พระจักรพรรดิทรงก็เห็นด้วย ก็ไล่เหวย หงจือออกจากตำแหน่งทันที

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

ตี๋ เหรินเจี๋ย ได้ถูกสร้างเป็นตัวละครเอกในวัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนหลายประการ โดยดัดแปลงให้เป็นนักสืบ เช่น ภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องต่าง ๆ เช่น Detective Dee and the Mystery of the Phantom Flame (ตี๋เหรินเจี๋ย ดาบทะลุคนไฟ) ในปี ค.ศ. 2010 นำแสดงโดย หลิว เต๋อหัว, หลิว เจียหลิง, เติ้ง เชา, เหลียง เจียฮุย, Young Detective Dee Rise of the Sea Dragon (ตี๋เหรินเจี๋ย ผจญกับดักเทพมังกร) ในปี ค.ศ. 2013 อันเป็นภาคต่อ นำแสดงโดย แองเจลาเบบี, คิม บ็อม และซีรีส์ชุด Young Sherlock (ตี๋เหรินเจี๋ย ยอดนักสืบคู่บัลลังก์) นำแสดงโดย หวง จงเจ๋อ, หม่า เทียนยฺหวี่, หลิน ซินหยู, หยวน หง เป็นต้น[3]

อ้างอิง

แก้
  1. "兩千年中西曆轉換". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-10. สืบค้นเมื่อ 2010-09-24.
  2. "Confucius had said, 'You can tell a man's kindness by his failure.' You are a pearl from the coast and a lost treasure of the southeast."
  3. ""ภ.จีนชุด เรื่อง "ตี๋เหรินเจี๋ย ยอดนักสืบคู่บัลลังก์" (YOUNG SHERLOCK)"". ช่อง 7. สืบค้นเมื่อ 2016-09-22.