ดิเกร์ ฮูลู (มลายู: Dikir Hulu) เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดิเกร์มาจากภาษาอาหรับว่า ดิเกร์อาวัล หรือดิเกร์อาวา ซึ่งหมายถึงการสวดหรือการร้องเพลง คำว่าฮูลู เป็นภาษามลายู หมายถึง ยุคก่อนหรือจุดเริ่มต้นพัฒนามาจากพิธีกรรมประกอบดนตรีเพื่อรักษาผู้ป่วยที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของภูตผี ตั้งแต่สมัยที่ผู้คนในบริเวณนี้ยังนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานหรือศาสนาฮินดู ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชวา ภายหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามจึงได้นำการกล่าวสรรเสริญพระเจ้าในศาสนาอิสลามแทน

พัฒนาการของดิเกร์ ฮูลู แก้

ดิเกร์ ฮูลูเริ่มมาจากเพลงพื้นบ้านที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ในสมัยที่นับถือศาสนาฮินดู-พุทธ และได้พัฒนาเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานเมื่อเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยนำการสวดหรือกล่าวสรรเสริญศาสดาในศาสนาอิสลามเข้าผสมในการประกอบพิธีกรรม แล้วตั้งเป็นวงหรือคณะขึ้น นำดนตรีมาประกอบ นิยมละเล่นในงานแก้บน สะเดาะเคราะห์ งานแต่งงานและงานเข้าสุหนัต เรียกการละเล่นที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ว่าดิเกร์ฮูลู

ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2043-2328 ศาสนาอิสลามได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง จนปัตตานีเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านศาสนาอิสลามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการศึกษาศาสนาในปอเนาะ นักปราชญ์และผู้รู้ศาสนาอิสลาม มองว่าการละเล่นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงเกิดการละเล่นอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า ดิเกร์ปายะซึ่งคล้ายกับดิเกร์ฮูลู แต่ได้ตัดส่วนที่เห็นว่าขัดกับหลักศาสนาอิสลามออกไป คือเริ่มต้นด้วยการร้องสรรเสริญศาสดาในศาสนาอิสลาม ใช้การตบมือแทนเครื่องดนตรี นั่งล้อมเป็นวงกลมโยกตัวตามจังหวะ เนื้อหาของเพลงเกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามแบบอย่างมุสลิมที่ดี ลักษณะคำประพันธ์เป็นแบบปันตุนหรือปาตงเช่นเดียวกับดิเกร์ฮูลู นิยมร้องเล่นในปอเนาะ และละเล่นเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน งานเข้าสุหนัต งานเมาลิด งานวันฮารีรายอ ร้องเล่นในขบวนแห่บนบ้านและเวที ต่อมาดิเกร์ปายะได้ตั้งเป็นวงหรือคณะขึ้นเช่นเดียวกับดิเกร์ฮูลู ต่อมาทั้งดิเกร์ปายะและดิเกร์ฮูลูจึงผสมผสานกัน และมักเรียกว่าดิเกร์ฮูลู

เมื่อกองทัพสยามได้รับชัยชนะในการปราบความขัดแย้งในหัวเมืองปักษ์ใต้และกวาดต้อนผู้คนชาวปัตตานีมากรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 ชาวปัตตานีได้นำการละเล่นที่มีลักษณะอย่างดิเกร์ฮูลู ดิเกร์ปายะติดตามไปด้วย ชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงนิยมเรียกว่า ดิเกร์เรียบ ลิเกเลียบ หรือลิเกกลอง ซึ่งดิเกร์เรียบ ตรงกับดิเกร์ ปายะ ส่วนดิเกร์ฮูลูมักเรียกว่า ลำตัดมลายู

ดิเกร์ฮูลูได้พัฒนาเป็นการละเล่นที่เป็นการแสดง มีขั้นตอนการแสดงที่ชัดเจน ตั้งเป็นวงหรือคณะขึ้น ในปี พ.ศ. 2470-2480 พบว่า มีคณะดิเกร์ฮูลู “มะ กายูบอเกาะ” ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และคณะ “อาแว กือจิ” ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นคณะแรกที่แสดงประชันกัน และได้รับความนิยมอย่างสูง ในช่วงปี พ.ศ. 2481-2485 ดิเกร์ฮูลูได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีคณะดิเกร์ฮูลูที่ถือเป็นต้นแบบแก่นักแสดงในรุ่นหลังทั้งทางด้านท่วงทำนองเพลงร้องแบบปัตตานี (ฆาโระตานิง) และแบบกลันตัน (ฆาโระกลาแต)ดิเกร์ฮูลูได้แพร่ขยายไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ด้วย

ดิเกร์ฮูลูซบเซาลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนหนึ่งที่เกิดจากนโยบายรัฐนิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และกรมศิลปากรได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมการละเล่นพื้นบ้านรวมทั้งได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ทำให้ดิเกร์ฮูลูเกือบจะสูญหายไป ในช่วงปี พ.ศ. 2495-2515 ดิเกร์ฮูลูได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดย เป็นสื่อชาวบ้านให้กับรัฐบาลในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการพัฒนาการเล่นโดยได้นำทำนองเพลงอินเดียมาใช้ร้องในมีท่วงทำนองกลอนสดแบบแยกี เกิดขึ้น และนำเพลงวาวบูแลมาใช้เป็นเพลงสุดท้าย ซึ่งยังเป็นธรรมเนียมจนถึงปัจจุบัน

ขั้นตอนการแสดง แก้

  • การแสดงแบบคู่ ผู้แสดงนั่งล้อมเป็นวงกลม 2 วง การแสดงแบบเดี่ยว ลูกคู่นั่งเรียงแถวหน้ากระดานด้านหน้าเวที
  • ตะโบะ หรือการบรรเลงดนตรีโหมโรง
  • ปาตงเป็นการเริ่มต้นร้องเพลงด้วยทำนองช้า ๆ ทักทายผู้ชม
  • ลาฆูหรือการร้องเพลงโดยนักร้องประจำคณะ หรือที่รับเชิญมา 2 – 3 เพลง
  • จีแจ หรือการเล่นเบ็ดเตล็ด เป็นการพูดคุยให้สนุกสนานตลกโปกฮาเหมือนการแสดงตลก

อ้างอิง แก้