ปันตุน (มลายูและอินโดนีเซีย: pantun / ڤنتون; มลายูปัตตานี: ปาตง) หรือ บันตน เป็นรูปแบบบทกวีมุขปาฐะมลายูที่ใช้ในการกล่าวถึงความคิดและอารมณ์ที่ซับซ้อน[1] โดยทั่วไปประกอบด้วยจำนวนแถวแบบคู่[2] และใช้แผนสัมผัสแบบ ABAB[3] ปันตุน ที่สั้นที่สุดมีเพียงสองแถว ซึ่งรู้จักกันในชื่อภาษามลายูว่า ปันตุนดัวเกอรัต (pantun dua kerat) ส่วน ปันตุน ที่ยาวที่สุดคือ ปันตุนเออนัมเบอลัซเกอรัต (pantun enam belas kerat) โดยมีถึง 16 แถว[4] โครงสร้างของ ปันตุน ประกอบด้วย 2 ส่วนเสมอคือ เปิมบายัง (pembayang) หรือ ซัมปีรัน (sampiran) ที่ไม่มีการเชื่อมโยงเชิงตรรกะหรือการเล่าเรื่องในทันที พบในส่วนครึ่งแรก และ มักซุด (maksud) หรือ อีซี (isi) ที่พบในส่วนครึ่งหลังของ ปันตุน[5][6][7][8][9] อย่างไรก็ตาม บทกวีเชื่อมโยงกันอยู่เสมอด้วยการสัมผัสและการเชื่อมโยงคำแบบอื่น ๆ เช่น การเล่นสำนวนและการซ้ำเสียง[10] นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางอ้อมแต่จำเป็น และข้อความส่วนแรกมักกลายเป็นคำอุปมาสำหรับข้อความส่วนที่สอง[11] ปันตุน รูปแบบที่ได้รับความนิยมที่สุดคือแบบบท 4 บาท (4 แถว)[12] และบท 2 บาท (2 แถว)[13] ซึ่งทั้งสองรูปแบบพบได้มากในวรรณคดีและวัฒนธรรมร่วมสมัยในสมัยใหม่[14]

ปันตุน *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
ปันตุน ภาษาลัมปุง-มลายูที่เขียนด้วยอักษรลัมปุงและยาวี (ลัมปุง ประเทศอินโดนีเซีย)
ประเทศ มาเลเซีย
 อินโดนีเซีย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, ศิลปะการแสดง, แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล, ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
เกณฑ์พิจารณาR.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง01613
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2563 (คณะกรรมการสมัยที่ 15)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

บันทึก ปันตุน แบบแรกสุดสืบได้ถึงสมัยรัฐสุลต่านมะละกาในคริสต์ศตวรรษที่ 15[15] แม้ว่านักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่ามี ปันตุน ที่อาจเก่าแก่พอ ๆ กับภาษามลายูเอง ซึ่งเติบโตและกระจายในสมัยศรีวิชัย ซึ่งเป็นบ่านเกิดของผู้ก่อตั้งมะละกา ปันตุน ในสมัยมะละกาปรากฏในพงศาวดารมลายู วรรณกรรมภาษามลายูที่สำคัญที่สุด[16] และถือเป็นศิลปะชั้นสูงและเป็นส่วนสำคัญของวรรณกรรมมลายูคลาสสิก นอกจากนี้ยังเจริญรุ่งเรืองในฐานะส่วนหนึ่งของการสื่อสารประจำวันของสังคมมลายูดั้งเดิม และทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงออกในเพลงมลายู[17] พิธีกรรม ศิลปะการแสดง และการเล่าเรื่องทุกรูปแบบ[18]

ศัพทมูลวิทยา แก้

ซาอาบารายงานว่า คำว่า pantun คาดว่ามีวิวัฒนการมาจากศัพท์ภาษามลายูว่า sepantun[19] (อักษรยาวี: سڤنتون) หมายถึง 'เหมือนกับ'[20] คำนี้ใช้เพื่อบ่งบอกถึงอุปมาที่เป็นสำนวนสุภาษิตหรืออุปมา[21] ซึ่งเป็นภาพพจน์หนึ่งที่พบได้ทั่วไปใน ปันตุน ดั้งเดิม หรือสุภาษิตจากวรรณกรรมมลายูคลาสสิก[22] ความหมายเก่าของปันตุนในภาษามลายูก็สื่อถึงรูปแบบสุภาษิตที่ใช้การอ้างทางอ้อม[23] ซึ่งมีบทบาทคล้ายกับ ปันตุน ในฐานะบทกวีที่สร้างขึ้นในรูปแบบ ซินดีร์ (sindir; การอ้างทางอ้อม) และ เกียซ (kias; แนวเทียบ)[24]

อีกทฤษฎีหนึ่งเสนอแนะว่า pantun มีที่มาจากศัพท์ penuntun[25] ('ผู้นำทาง')[26] จากอุปสรรคที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม pe(n) และคำกริยา tuntun (อักษรยาวี: تونتون) หรือ 'ชี้นำ'[27] ส่วน Brandstetter เสนอแนะว่าคำนี้มีที่มาจากศัพท์ tun และคำที่มีเสียงคล้ายกันในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนซึ่งมีหลายความหมาย เช่น tuntun ('จัดอย่างดี') ในภาษากาปัมปางัน tonton ('การจัดเตรียมที่มีทักษะ') ในภาษาตากาล็อก tuntun ('เส้นใย') atuntun ('จัดอย่างดี') matuntun ('นำทาง') ในภาษาชวาเก่า และ pantun ('สุภาพ' หรือ 'สมควรได้รับความเคารพ') ในภาษาโตบาบาตัก Winstedt สนับสนุนความเห็นนี้ โดยระบุว่า ในภาษากลุ่มออสโตรนีเซียนหลายภาษา คำที่บอกถึง 'สิ่งที่เรียงกันเป็นแถว' ค่อย ๆ ได้รับความหมายใหม่เป็น 'คำที่จัดเรียงอย่างดี' ในรูปแบบร้อยแก้วหรือในบทกวี[28] อารี เวอลียันโต (Ari Welianto) เสนอแนะว่า pantun มีที่มาจากศัพท์ภาษามีนังกาเบาว่า patuntun ซึ่งแปลว่า "ชี้นำ"[29]

ประวัติ แก้

นักวิชาการบางคนเชื่อว่า ปันตุน มีมาก่อนการรู้หนังสือและอาจเก่าแก่เท่ากับภาษามลายู[30] มูฮัมมัด ฮาจี ซัลเละฮ์ (Muhammad Haji Salleh) เชื่อว่า ปันตุน เติบโตและแพร่ขยายจากศรีวิชัย และส่วนใหญ่น่าจะมาจากรอบเมืองปาเล็มบังหรือมลายู เมื่อสมัยที่ปาเล็มบังยังมีอำนาจ ประชากรจากทั้งสองเมืองรู้จัก ปันตุน ของแต่ละฝ่าย และถึงแม้ทั้งสองจะใช้ภาษาเดียวกัน แต่ทั้งคู่เป็นศัตรูทางการเมือง[31] ถึงกระนั้น เป็นที่รู้กันว่า ปันตุน ได้มาถึงรูปแบบอันประณีตในช่วงเปิดตัวของวรรณกรรมมลายูคลาสสิกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15[32][33] ผลงานวรรณกรรมที่โดดเด่นอย่างพงศาวดารมลายูกับฮีกายัตฮังตัวะฮ์มีตัวอย่างแรกของ ปันตุน[34][35]

การขยายตัวของภาษามลายูผ่านเส้นทางการค้า, ท่าเรือ และการอพยพเป็นเวลาอย่างน้อย 500 ปี ทำให้ ปันตุน กลายเป็นรูปแบบวรรณกรรมเดี่ยวที่มีพลังมากที่สุด[36] ปัจจุบัน บทกวีชนิดนี้เป็นที่รู้จักในภาษามลายูย่อยอย่างน้อย 40 ภาษา และภาษาที่ไม่ใช่ภาษามลายู 35 ภาษาทั้งในคาบสมุทรมลายูกับเกาะหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร[37]

รายละเอียด แก้

โครงสร้างของ ปันตุน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ เปิมบายัง (pembayang) หรือเงาแห่งความหมาย กล่าวถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่สื่อถึงความหมายเชิงวัฒนธรรม พบในส่วนครึ่งแรกของ ปันตุน กับ มักซุด (maksud) แปลว่าความหมาย เป็นเนื้อหาหลักที่ต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจ พบในครึ่งหลังของ ปันตุน

ลักษณะของ ปันตุน ประกอบด้วยข้อความที่เป็นอิสระ จัดวางเป็นวรรคขนานกันเป็นคู่ ๆ แต่ละวรรคประกอบด้วยคำพื้นฐาน 4 คำ ซึ่งอาจเติมหน่วยคำเพิ่ม โดยทั่วไปจึงมี 5–10 พยางค์ สัมผัสสระเป็นแบบ a-b-a-b หรือ a-a-a-a (แบบกลอนหัวเดียว)

ตัวอย่าง ปันตุน ภาษามลายู

Tanam selasih di tengah padang,
Sudah bertangkai diurung semut,
Kita kasih orang tak sayang,
Halai-balai tempurung hanyut.

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Wilkinson 1908, p. 28
  2. Daillie 1988, p. 38
  3. Hirsch 2014, p. 440
  4. Daillie 1988, p. 38
  5. Wright 1908, p. 230
  6. Hirsch 2014, p. 440
  7. "Pantun". ich.unesco.org. United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO). 2020. สืบค้นเมื่อ 20 January 2021.
  8. Milyartini, Rita (2018). "Singing Keroncong and the Values Behind it". Advances in Social Science, Education and Humanities Research. 255 (2018): 137–138. doi:10.2991/icade-18.2019.31. ISBN 978-94-6252-671-6. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.
  9. Chadwick, R.J. (1994). "Unconsummated metaphor in the Minangkabau pantun". School of Oriental & African Studies. 22 (1994): 83–113. doi:10.1080/03062849408729808. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.
  10. Hirsch 2014, p. 440
  11. Hirsch 2014, p. 440
  12. Hirsch 2014, p. 440
  13. Muhammad Haji Salleh 2018, p. 46
  14. Ding 2008, p. 13
  15. Hirsch 2014, p. 440
  16. Winstedt 1969, p. 137
  17. Liaw 2013, p. 442
  18. Ding 2008, p. 6,7 & 13
  19. Za'aba 1962, p. 219
  20. "sepantun". Pusat Rujukan Persuratan Melayu. สืบค้นเมื่อ 17 January 2021.
  21. Wright 1908, p. 230
  22. Za'aba 1962, p. 219
  23. "pantun". Pusat Rujukan Persuratan Melayu. สืบค้นเมื่อ 17 January 2021.
  24. Daillie 1988, p. 79 & 149
  25. Harun Mat Piah 2007, p. 58
  26. "penuntun". Pusat Rujukan Persuratan Melayu. สืบค้นเมื่อ 17 January 2021.
  27. "tuntun". Pusat Rujukan Persuratan Melayu. สืบค้นเมื่อ 17 January 2021.
  28. Liaw 2013, p. 442
  29. Ari Welianto (2020-03-03). "Struktur dan Jenis Pantun". Kompas.com (ภาษาอินโดนีเซีย). สืบค้นเมื่อ 2020-09-19.
  30. Daillie 1988, p. 3
  31. Haji Salleh, Muhammad (2011). "Sailing the Archipelago in a boat of rhymes: Pantun in the Malay World". Wacana Journal. 13 (1): 83. doi:10.17510/wjhi.v13i1.10. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
  32. Hirsch 2014, p. 440
  33. Winstedt 1969, p. 137
  34. Winstedt 1969, p. 137
  35. Kassim Ahmad 1966, pp. 1–3
  36. Muhammad Haji Salleh 2011, p. 78
  37. Muhammad Haji Salleh 2011, p. 78

ข้อมูล แก้

  • Daillie, Francois-Rene (1988). Alam Pantun Melayu: Studies on the Malay pantun. Dewan Bahasa dan Pustaka. ISBN 978-9836203106.
  • Ding, Choo Ming (2008). "The Role of Pantun as Cultural Identity for Nusantara in 21st Century and Beyond". Southeast Asia Journal. 18 (2).
  • Harun Mat Piah (2007). Pantun Melayu : bingkisan permata. Yayasan Karyawan. ISBN 978-9814459884.
  • Hirsch, Edward (2014). A Poet's Glossary. Houghton Mifflin Harcourt. ISBN 978-0151011957.
  • Kassim Ahmad (1966). Characterisation in Hikayat Hang Tuah: A General Survey of Methods of Character-portrayal and Analysis and Interpretation of the Characters of Hang Tuah and Hang Jebat. Kuala Lumpur: Dewan Bahasa dan Pustaka, Kementerian Pelajaran Malaysia.
  • Liaw, Yock Fang (2013). A History of Classical Malay Literature. ISEAS-Yusof Ishak Institute. ISBN 978-9814459884.
  • Matusky, Patricia; Tan, Sooi Beng (2004), The Music of Malaysia: The Classical, Folk and Syncretic Traditions, Routledge, ISBN 978-0754608318
  • Abels, Birgit (2011). Austronesian soundscapes : performing arts in Oceania and Southeast Asia. Amsterdam University Press. ISBN 978-9089640857.
  • Muhammad Haji Salleh (2011). "Sailing the Archipelago in a boat of rhymes: Pantun in the Malay world". Wacana. 13 (1).
  • Muhammad Haji Salleh (2018). Pantun: The poetry of passion. University of Malaya Press. ISBN 9789831009765.
  • Overbeck, Hans Friedrich (1922). "The Malay Pantun". Journal of the Straits Branch of the Royal Asiatic Society. Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society. 85.
  • Sim, Katharine (1987). More than a Pantun: Understanding Malay Verse. Singapore: Times Publishing International.
  • Wilkinson, R. J. (1908). Papers on Malay subjects : Life and Customs. 1. Kuala Lumpur: F.M.S. Govt. Press.
  • Winstedt, Richard Olaf (1969). A history of classical Malay literature. Oxford University Press. ASIN B0006CJ8PU.
  • Wright, Arnold (1908). Twentieth Century Impressions of British Malaya: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources. Lloyd's Greater Britain Publishing Company.
  • Za'aba (1962). Ilmu Mengarang Melayu (Malay Writing Skills). Dewan Bahasa dan Pustaka.
  • Tengku Ritawati (2018). "Pantun in The Text of Nyanyian Lagu Melayu Asli". Harmonia: Journal of Arts Research and Education. Department of Education Drama, Dance and Music, Universitas Islam Riau, Indonesia. 18 (1).
  • รัตติยา สาและ. "ภาษาและวรรณกรรมมลายู." ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, บรรณาธิการ. มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2550, หน้า 85–106.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้