ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน

(เปลี่ยนทางจาก ดัสลีดแดร์ดอยท์เชิน)

ด็อยทช์ลันท์ลีท (เยอรมัน: Deutschlandlied [ˈdɔʏtʃlantˌliːt] ( ฟังเสียง), แปลว่า "เพลงเยอรมนี") หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน (Das Lied der Deutschen , แปลว่า "เพลงแห่งเยอรมัน") สำหรับในต่างประเทศในบางครั้งจะรู้จักกันในชื่อ "เยอรมนีเหนือทุกสรรพสิ่ง" (Deutschland über alles) เป็นเพลงชาติของเยอรมนีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1922[b] สำหรับในประเทศเยอรมนีตะวันออก เพลงชาติของประเทศนี้คือ เอาฟ์แอร์ชตันเดินเอาส์รูอีเนิน (Auferstanden aus Ruinen, แปลว่า "ฟื้นฟูขึ้นจากซากปรักหักพัง")

ด็อยทช์ลันท์ลีท
สำเนาเนื้อร้อง "ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน" ลายมือของฮ็อฟมัน ฟอน ฟัลเลิร์สเลเบิน

เพลงชาติของ เยอรมนี[a]
ชื่ออื่น"ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน"
English: "เพลงแห่งเยอรมัน"
เนื้อร้องเอากุสท์ ไฮน์ริช ฮ็อฟมัน ฟ็อน ฟัลเลิร์สเลเบิน, ค.ศ. 1841
ทำนองโยเซ็ฟ ไฮเดิน, ค.ศ. 1797
รับไปใช้ค.ศ. 1922–1945
รับไปใช้ใหม่ค.ศ. 1952
ก่อนหน้า
ตัวอย่างเสียง
"ด็อยทช์ลันท์ลีท" (เสียงดนตรี ท่อนแรก)
แผ่นเพลง

ทำนองของเพลงนี้ประพันธ์โดยโยเซ็ฟ ไฮเดิน เมื่อปี ค.ศ. 1797 ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่นั้นมาทำนองนี้ก็ถูกใช้เป็นเพลงชาติของจักรวรรดิออสเตรีย ต่อมาในปี ค.ศ. 1841 เอากุสท์ ไฮน์ริช ฮ็อฟมัน ฟ็อน ฟัลเลิร์สเลเบิน นักภาษาศาสตร์และกวีชาวเยอรมัน ได้ประพันธ์บทร้องชื่อ "ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน" ตามทำนองเพลงของไฮเดิน เนื้อเพลงดังกล่าวถือได้ว่ามีลักษณะเนื้อหาเชิงปฏิวัติในขณะนั้น

"ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน" ได้รับเลือกให้ใช้เป็นเพลงชาติเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1922 ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ ในปี ค.ศ. 1952 ประเทศเยอรมนีตะวันตกก็ได้รับเอาเพลงนี้ใช้เป็นเพลงชาติในชื่อ "ด็อยทช์ลันท์ลีท" (Deutschlandlied) โดยขับร้องเฉพาะบทร้องบทที่หนึ่งเท่านั้นในโอกาสที่เป็นทางการ ต่อมาหลังการรวมชาติเยอรมนีในปี ค.ศ. 1991 เพลงนี้ก็ได้กลายเพลงชาติเยอรมนีอย่างสมบูรณ์ โดยใช้เฉพาะบทร้องบทที่ 3 เป็นเนื้อร้องเพลงชาติอย่างเป็นทางการ

ทำนอง แก้

 
โยเซ็ฟ ไฮเดิน

ทำนองของเพลง "ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน" เดิมเป็นบทเพลงที่โยเซฟ ไฮเดิน ประพันธ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1797 เพื่อใส่ทำนองให้กับบทกวีชื่อ "Gott erhalte Franz den Kaiser" ("ขอพระเจ้าทรงพิทักษ์พระจักรพรรดิฟรานซ์") สำหรับใช้เป็นเพลงถวายพระพรเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก หลังการเลิกล้มจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 1806 เพลงดังกล่าวจึงได้กลายมาเป็นเพลงประจำจักรวรรดิออสเตรียและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาจนกระทั่งระบอบราชาธิปไตยในออสเตรียได้สิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ. 1918

ทำนองเพลงดังกล่าวนี้ไม่ใช่แพร่หลายแต่ในออสเตรียและเยอรมนีเท่านั้น ในกลุ่มผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษก็ได้มีการหยิบยืมเอาทำนองเพลงนี้มาแต่เป็นเพลงสดุดี (hymn) ชื่อ "กลอเรียสทิงส์ออฟทีอาร์สโปกเกน" ("Glorious Things of Thee are Spoken") ซึ่งประพันธ์โดย จอห์น นิวตัน (John Newton)[1] และเพลง "นอตอะโลนฟอร์ไมตีเอมไพร์" ("Not Alone for Mighty Empire") ซึ่งแต่งโดย วิลเลียม พี. เมอร์ริลล์ (William P. Merrill)[2] ในบริบทเช่นนี้ทำให้มีการเรียกชื่อทำนองเพลงนี้ว่า "ออสเตรีย" ("Austria") "เพลงสดุดีแบบออสเตรีย" ("Austrian Hymn") หรือ "เพลงสดุดีจักรพรรดิ" ("Emperor's Hymn") [1]

ประวัติเนื้อร้อง แก้

 
ฟัลเลิร์สเลเบิน

เอากุสท์ ไฮน์ริช ฮ็อฟมัน ฟ็อน ฟัลเลิร์สเลเบิน ได้เขียนบทร้องขึ้นบทหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1848 ระหว่างพักผ่อนอยู่ที่เกาะเฮ็ลโกลันท์ (Helgoland) ในทะเลเหนือ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังสหราชอาณาจักร โดยในการตีพิมพ์บทร้องดังกล่าวพร้อมด้วยโน้ตเพลงนั้น แสดงให้เห็นว่าเขามุ่งหมายที่จะให้บทร้องดังกล่าวใช้ขับร้องตามทำนองเพลง "Gott erhalte Franz den Kaiser" ของไฮเดิน เนื้อหาของบทร้องในบาทแรกของเพลงที่ว่า "Deutschland, Deutschland über alles, über alles in der Welt" (เยอรมนี, เยอรมนีเหนือทุกสิ่ง เหนือสิ่งอื่นใดในโลกา) เป็นคำเรียกร้องต่อบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ (ซึ่งขณะนั้นยังแตกเป็นรัฐขนาดเล็กจำนวนหลายรัฐ) ให้รวมกันสร้างเยอรมันที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าอิสรภาพของบรรดารัฐเล็ก ๆ เหล่านั้น และในบทที่ 3 ซึ่งบาทแรกขึ้นต้นว่า "Einigkeit und Recht und Freiheit" (สามัคคี ยุติธรรม เสรีภาพ) เป็นการแสดงความปรารถนาของฮ็อฟมันที่จะเห็นเยอรมนีซึ่งเป็นหนึ่งเดียวและมีเสรีปกครองด้วยหลักนิติรัฐ ไม่ใช่อำนาจปกครองเบ็ดเสร็จของเหล่ากษัตริย์

ในยุคหลังคองเกรสแห่งเวียนนาซึ่งเต็มไปด้วยอิทธิพลของเจ้าชายเมตเตอร์นิคและเหล่าตำรวจลับ บทร้องที่ฮอฟ์มันน์เขียนขึ้นแสดงออกถึงแนวคิดปฏิวัติอย่างชัดแจ้งและมีความหมายโดยนัยถึงเสรีภาพ เนื่องด้วยการเรียกร้องให้รวมเยอรมันนั้นมีการเชื่อมโยงเข้ากับการเรียกร้องเสรีภาพของสื่อและสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า ว่าการแสดงความภักดีต่อชาวเยอรมันต้องเข้ามาแทนที่การภักดีต่ออำนาจของบุคคลเพียงคนเดียวก็เป็นความคิดปฏิวัติที่แฝงอยู่ในตัวด้วย

หนึ่งปีให้หลังจากการเขียนบทร้อง "ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน" ฮอฟ์มันน์ก็ต้องออกจากงานบรรณารักษ์และอาจารย์ในเมืองเบร็สเลา (Breslau) ราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันคือเมืองวรอตสวัฟ (Wrocław) ประเทศโปแลนด์) จากการเขียนบทเพลงดังกล่าวและผลงานแนวปฏิวัติชิ้นอื่น ๆ และต้องหลบซ่อนตัวจนกระทั่งหลังเกิดการปฏิวัติในเยอรมนีใน ค.ศ. 1848 จึงได้รับการอภัยโทษ

เนื้อร้อง แก้

บทร้องต่อไปนี้เป็นผลงานของเอากุสท์ ไฮน์ริช ฮ็อฟมัน ฟ็อน ฟัลเลิร์สเลเบิน เฉพาะบทร้องบทที่ 3 เท่านั้นที่ใช้เป็นเพลงชาติเยอรมนีในปัจจุบัน

ต้นฉบับในภาษาเยอรมัน แปลไทย

1. Deutschland, Deutschland über alles,
Über alles in der Welt,
Wenn es stets zu Schutz und Trutze
Brüderlich zusammenhält.
Von der Maas bis an die Memel,
Von der Etsch bis an den Belt,
Deutschland, Deutschland über alles,
Über alles in der Welt!
Deutschland, Deutschland über alles,
Über alles in der Welt

2. Deutsche Frauen, deutsche Treue,
Deutscher Wein und deutscher Sang
Sollen in der Welt behalten
Ihren alten schönen Klang,
Uns zu edler Tat begeistern
Unser ganzes Leben lang –
Deutsche Frauen, deutsche Treue,
Deutscher Wein und deutscher Sang!
Deutsche Frauen, deutsche Treue,
Deutscher Wein und deutscher Sang!

3. Einigkeit und Recht und Freiheit
Für das deutsche Vaterland!
Danach laßt uns alle streben
Brüderlich mit Herz und Hand!
Einigkeit und Recht und Freiheit
Sind des Glückes Unterpfand –
Blüh' im Glanze dieses Glückes,
Blühe, deutsches Vaterland!
Blüh' im Glanze dieses Glückes,
Blühe, deutsches Vaterland![3]

1. เยอรมนี, เยอรมนี เหนือทุกสรรพสิ่ง
เหนือทุกสรรพสิ่งในโลกา!
ยามถึงคราวเรา อารักษ์ปกปักษ์
เหล่าพี่น้องต่างพร้อมรวมใจ!
จากแม่น้ำเมิซ จรดเมเมิล
จากแม่น้ำเอ็ทช์ จรดช่องแคบเบ็ลท์!
เยอรมนี, เยอรมนี เหนือทุกสรรพสิ่ง
เหนือทุกสรรพสิ่งในโลกา!
เยอรมนี, เยอรมนี เหนือทุกสรรพสิ่ง
เหนือทุกสรรพสิ่งในโลกา!

2. สตรีเยอรมัน ความภักดิ์เยอรมัน
ไวน์เยอรมัน และเพลงเยอรมัน
จะยังคงอยู่เคียงคู่โลกหล้า
เสียงไพเราะเดิมดังกังวาล
ดลใจผองเรากระทำการเกียรติ
ตราบจนกว่า ชีวิตหาไม่
สตรีเยอรมัน ความภักดิ์เยอรมัน
ไวน์เยอรมัน และเพลงเยอรมัน!
สตรีเยอรมัน ความภักดิ์เยอรมัน
ไวน์เยอรมัน และเพลงเยอรมัน!

3. เอกภาพ เที่ยงธรรม เสรีภาพ
เพื่อปิตุภูมิเยอรมัน!
เพื่อสิ่งนี้เราจงร่วมฟันฝ่า
ด้วยดวงใจสองมือฉันน้องพี่!
เอกภาพ เที่ยงธรรม เสรีภาพ
คือปฏิญาณแห่งความรุ่งเรือง!
จงรุ่งเรืองด้วยพรเหล่านี้เถิด
รุ่งเรืองเถิด ปิตุภูมิเยอรมัน!
จงรุ่งเรืองด้วยพรเหล่านี้เถิด
รุ่งเรืองเถิด ปิตุภูมิเยอรมัน!

การปรับใช้ของรัฐ แก้

ทำนองของเพลงนี้ ถูกใช้เป็นทำนองเพลงชาติจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจนกระทั่งล่มสลายในปี ค.ศ. 1918 ประธานาธิบดีเยอรมนีฟรีดริช เอเบิร์ท ประกาศใช้ เพลงเยอรมนี (Deutschlandlied) เป็นเพลงชาติเยอรมนีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1922

ในยุคนาซีเยอรมนี เพลงนี้ถูกเป็นเพลงชาติแต่เพียงเฉพาะบทแรกเท่านั้น และมีการขับร้องเพลง "เพลงฮอสท์ เวสเซิล" ต่อท้ายด้วยอีกเพลงหนึ่งในงานหรือโอกาสสำคัญยิ่งยวดอย่างเช่นมหกรรมโอลิมปิก

หมายเหตุ แก้

  1. เฉพาะท่อนที่สามที่ถูกออกแบบเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการ
  2. สาธารณรัฐไวมาร์ (ค.ศ. 1922–1933), ประเทศเยอรมนีตะวันตก (ค.ศ. 1952–1990) และประเทศเยอรมนี (ตั้งแต่ ค.ศ. 1990)

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Glorious Things of Thee Are Spoken[ลิงก์เสีย]
  2. Not Alone for Mighty Empire[ลิงก์เสีย]
  3.    วิกิซอร์ซในภาษาเยอรมนี มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: Lied der Deutschen

ข้อมูล

  • Geisler, Michael E., บ.ก. (2005). National Symbols, Fractured Identities: Contesting the National Narrative. University Press of New England. ISBN 978-1-58465-437-7.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้