เซอร์ชาลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน จูเนียร์ (อังกฤษ: Sir Charles Spencer Chaplin, Jr., KBE) หรือรู้จักกันในชื่อ ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin; 16 เมษายน ค.ศ. 1889–25 ธันวาคม ค.ศ. 1977) นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ในยุคต้นถึงยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของฮอลลีวูด อีกทั้งยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งมีผลงานโดดเด่นหลายเรื่องด้วยกัน ตัวละครที่เขาแสดงซึ่งมีผู้จดจำได้มากที่สุดคือ "คนจรจัด" (The Tramp) ซึ่งมักปรากฏตัวในลักษณะคนจรจัดซึ่งสวมเสื้อนอกคับตัว สวมกางเกงและรองเท้าหลวม สวมหมวกดาร์บีหรือหมวกโบว์เลอร์ ถือไม้เท้าซึ่งทำจากไม้ไผ่ และไว้หนวดจุ๋มจิ๋ม แชปลินเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งในยุคภาพยนตร์เงียบ ดังจะเห็นได้จากการที่เขาทั้งแสดง กำกับ เขียนบท อำนวยการสร้าง และรวมไปถึงประพันธ์ดนตรีประกอบในภาพยนตร์ของเขาเอง

ชาร์ลี แชปลิน
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด16 เมษายน ค.ศ. 1889(1889-04-16)
Charles Spencer Chaplin, Jr.
เสียชีวิต25 ธันวาคม ค.ศ. 1977(1977-12-25) (88 ปี)
เวอแว, สวิตเซอร์แลนด์
คู่สมรสMildred Harris
(1918–1920 บุตร 1 คน)
Lita Grey
(1924–1927 บุตร 2 คน)
Paulette Goddard
(1936–1942)
Oona O'Neill
(1943–1977 บุตร 8 คน)
ปีที่แสดง1899–1976[1]
รางวัล
ออสการ์Academy Honorary Award
1929 The Circus
1972 Lifetime Achievement
Best Original Music Score
1972 Limelight

ผลงานบางเรื่องของเขาเช่น The Great Dictator, Monsieur Verdoux ทำให้เขาถูกโจมตีว่าเป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขามีความคิดทางการเมืองที่ขัดกับรัฐบาล นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาถูกสั่งห้ามเข้าอเมริกาอีก [2]

ประวัติ

แก้

ชีวิตวัยเด็ก

แก้

ชาร์ลี แชปลิน เกิดที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1889[3] โดยพ่อของแชปลิน (ชาร์ลี แชปลิน ซีเนียร์) เป็นนักร้องและนักแสดง แม่ชื่อลิลี ฮาร์ลีย์ เป็นนักแสดงและนักร้องโอเปรา แชปลินมีพี่ชายต่างพ่ออีกคนชื่อ ซิดนีย์ (Sydney) พ่อและแม่ของแชปลินหย่ากันตั้งแต่เขายังเล็ก ซึ่งทั้งหมดร่วมผจญชีวิตอันลำบากยากเข็ญมาด้วยกัน วันหนึ่งแม่ของแชปลินซึ่งป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ต้องหยุดแสดงกลางคันเพราะเจ็บคอ ไม่มีเสียง ผู้ชมโห่ฮาไม่พอใจอย่างมาก ผู้จัดการเวทีไม่รู้จะ แก้ปัญหาอย่างไร บังเอิญเหลือบไปเห็นเด็กชายแชปลิน จึงพาออกมาแนะนำตัวต่อผู้ชมแล้วให้แชปลินแสดงแทนแชปลินร้องเพลงและเต้นระบำตามที่แม่หัดให้โดยไม่เคอะเขิน การแสดงของเขาเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอย่างไม่คาดฝัน และนั่นเป็นการแสดงบนเวทีครั้งแรกของเข แต่เป็นครั้งสุดท้ายของแม่

เมื่อแม่ไม่สามารถยึดอาชีพนักแสดงได้ต่อไป ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็ลำบากขึ้น แชปลินและพี่ชายต้องเร่ขายของและทำงานรับจ้างหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ในที่สุดแม่ก็เสียสติ เขาและพี่ชายต้องเข้าพึ่งสถานสงเคราะห์เด็กอนาถา

แม้จะประสบปัญหาทางการเงิน แต่ความฝันของแชปลินก็ยังไม่หมดไป ทุกเย็นเขาจะไปเดินเตร่แถวสำนักจัดหานักแสดง เมื่ออายุ 12 ปี แชปลินได้งานแสดงงานแรกเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ชื่อ บิลลี (Billy) ในละครเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ และได้งานต่อมาในเรื่อง Jim, The Romance of a Cockney และเริ่มเป็นที่รู้จัก แชปลินได้เข้ากลุ่มนักแสดงที่ชื่อ The Eight Lancashire Lads และได้รับความนิยมมากขึ้นจากฝีมือการเต้นแท็ปของเขา ซึ่งเพียงครั้งแรกที่แชปลินได้อวดฝีมือในการแสดง นักวิจารณ์ก็เขียนชมว่า แชปลิน เป็น... "ดาราที่อนาคตจะสุกใสแน่นอน"

 
ในช่วงปี 1912–1913

เข้าสู่วงการแสดง

แก้

แชปลินได้มีโอกาสเดินทางไปอเมริกาโดยร่วมไปกับคณะละครของเฟรด คาร์โน และได้รับการติดต่อให้แสดงภาพยนตร์ของบริษัทคีย์สโตน แชปลินสร้างความชื่นชอบให้แก่ผู้ชมด้วยภาพของตัวตลกที่สวมเสื้อคับ กางเกงหลวม รองเท้าขนาดใหญ่ สวมหมวกใบจิ๋ว ควงไม้เท้า และติดหนวดแปรงสีฟันเหนือริมฝีปากภาพยนตร์ทุกเรื่องของแชปลินทำรายได้อย่างงดงามเป็นที่กล่าวขวัญตามหน้าหนังสือพิมพ์และร้านกาแฟ หลังจากที่ประสบความสำเร็จทางด้านการแสดง แชปลินก็ขอเขียนบทและกำกับการแสดงเอง

 
ตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของแชปลินคือ "คนจรจัด" (The Tramp)

ผลงานเรื่องแรกของเขาคือเรื่อง Caught in the Rain ในเวลา 1 ปี บริษัทคีย์สโตนก็มีหนังที่แชปลินแสดงถึง 35 เรื่อง แต่ละเรื่องทำรายได้สูงทั้งสิ้น ในระหว่างนี้แชปลินมีรายได้อาทิตย์ละ 200 เหรียญ เมื่อสัญญาครบ 1 ปี แชปลินก็ลาออกจากคีย์สโตนเพราะบริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนอาทิตย์ละ 1,000 เหรียญตามที่เขาเรียกร้องได้

แชปลินทำงานกับบริษัท เอสซันเนย์ และมิวชวล ฟิล์ม ตามลำดับ กับบริษัทหลังนี้ เขาได้ค่าจ้างอาทิตย์ละ 20,000 เหรียญและเงินโบนัสอีกปีละ 150,000 เหรียญ ค่าตัวของแชปลินเพิ่มเป็นปีละ 1 ล้าน 2 แสนเหรียญ เมื่อทำสัญญากับบริษัทเฟิสต์ เนชั่นแนล ในเวลานั้นแชปลิน กลายเป็นมหาเศรษฐีย่อย ๆ คนหนึ่ง และกลายเป็นอัจฉริยศิลปินของโลก

ภาพยนตร์ของแชปลิน

แก้

ตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของแชปลินคือ "คนจรจัด" (The Tramp) ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Kid Auto Races at Venice (1914) ส่วนหนังที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือ The Kid (1921) , City Light (1931) , Modern Times (1936) และ The Great Dictator (1940)

ภาพยนตร์เงียบของแชปลิน มิใช่ภาพยนตร์ตลกธรรมดา แต่เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความคิดที่มีต่อสังคมและมนุษย์ โดยเฉพาะความคิดที่มีต่อสังคมในระบบทุนนิยม ดังจะเห็นได้จากผลงานเด่น ๆ เช่น The Gold Rush เป็นเรื่องของยุคคลั่งทองในอเมริกาสะท้อนภาพชีวิตของคนอเมริกันในยุคต้นของระบบทุนนิยมที่สังคมเต็มไปด้วยการแย่งชิงและฉวยโอกาส คนรวยยิ่งรวยขึ้น ในขณะที่คนจนไม่มีโอกาสที่จะยกระดับตัวเอง เรื่อง City Lights ชี้ถึงผลการเติบโตของสังคม เรื่อง Modern Times แสดงถึงชีวิตของคนในสังคมอุตสาหกรรมที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระเบียบเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ได้รับการพัฒนา หนังเปรียบเทียบให้เห็นว่ามนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และระบบการทำงานของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น[4][5]เรื่อง Modern Times เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของแชปลิน(แต่ออกมาในฉากเสียงวิทยุในคุกและฉากที่ตัวเขาเองกำลังร้องเพลง)

ประพันธ์เพลงและดนตรี

แก้

นอกจากบทบาทการแสดงเป็นนตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ในยุคภาพยนตร์เงียบแล้ว แชปลินยังได้แต่งเพลงประกอบในภาพยนตร์ต่างๆ ไว้หลายเพลงด้วยกัน อาทิเพลง This is my song (ในภาพยนตร์ The Countess From Hong Kong), เพลง Smile (ในเรื่อง Modern Times , Sing a song (เรื่อง The Gold Rush), Now that it’s ended, Mandolin Serenade, Without you, The spring song (จากเรื่อง A King in New York) และ Beautiful, Wonderful Eyes (ใน City Lights), Weeping Willows เป็นต้น

ชาร์ลี แชปลินได้รับออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Limelight ในปี 1972

ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

แก้

แชปลินไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก เขาผ่านการหย่าร้างกับนักแสดงดาราสาวถึง 3 คน ได้แก่ มิตเลต ฮารีต (มีบุตร 1 คน), ลิตตา เกลต (มีบุตร 2 คน), พลาเล็ตส์ กล็อตดา จนมาพบกับ อูนา โอนีล ซึ่งเป็นการแต่งงานครั้งที่ 4 ชีวิตครอบครัวของเขาก็มีความสุขอย่างแท้จริง มีบุตรธิดารวมทั้งหมด 8 คน

เอ็ดน่า เพอร์เวียนซ์ นางเอกคู่บุญที่แสดงคู่กับชาร์ลีมากที่สุดถึงสี่สิบเรื่อง เอ็ดน่าเป็นรักแรกของชาร์ลีแต่ก็เป็นรักที่ไม่สมหวังเพราะว่าความเจ้าชู้ของชาร์ลี ทำให้เขาต้องเข้าพิธีวิวาห์กับมิตเลต ฮารีต แต่ยังไงก็ตามชาร์ลีและเอ็ดน่าก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอมา ถึงแม้ว่าเวลาที่ยุคของภาพยนตร์เสียงเข้ามาแทนที่ภาพยนตร์เงียบ ทำให้เอ็ดน่าไม่มีงานแสดงอีกและมีชีวิตค่อนข้างยากลำบาก แต่ชาร์ลีก็มักที่จะให้โอกาสเธอมาร่วมแสดงฉากสมทบเล็กๆ น้อยๆ ในภาพยนตร์เสียงยุคหลังของเขา และช่วยเหลือจุนเจือโดยส่งเงินเบี้ยเลี้ยงให้เธอใช้ทุกเดือนจนกระทั่งเมื่อเธอเสียชีวิตเมื่อปี 1958

บุตรของชาร์ลี แชปลิน ได้แก่ เจอรัลดีน แชปลิน, ซิดนี่ แชปลิน, โจเซฟิน แชปลิน, วิคทอเรีย แชปลิน, ไมเคิล แชปลิน, คริสโตเฟอร์ แชปลิน, ยูจีน แชปลิน, นอร์มัน สเปนเซอร์ แชปลิน, แอนเน็ต เอมิลี่ แชปลิน, เจน แชปลิน

ถูกว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์

แก้
 
The Great Dictator (1940)

ในปี 1940 ชาร์ลี แชปลินสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Great Dictator เป็นภาพยนตร์ล้อเลียนฮิตเลอร์ เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องต่อมาของชาร์ลี แชปลิน ซึ่งสอดแทรกความคิดทางการเมืองของเขาไปด้วย เป็นเรื่องของฮิงเกลผู้นำตลอดกาลแห่งรัฐโทมาเนีย ผู้นำที่บ้าคลั่งอำนาจและสงครามและมีความฝันสูงสุดคือการที่จะได้ครองโลก โดยเดินเรื่องคู่ไปกับ ช่างตัดผมชาวยิว ที่หน้าตาเหมือนกันกับผู้นำฮิงเกล ที่เคยไปออกรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและเมื่อกลับมาก็ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตนับสิบปี จนเมื่อออกมาจากโรงพยาบาล ก็พบว่าบ้านเมืองของเขาภายใต้การปกครองของฮิงเกล ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

แชปลินในขณะนั้นถึงเป็นมหาเศรษฐีแต่ก็มีปัญหาอย่างหนักเรื่องทัศนคติทางการเมือง โดยเฉพาะเขากำลังถูกจับตามองจากรัฐบาลอเมริกาในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ [6] ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ประสบความสำเร็จด้านวิจารณ์และประสบความสำเร็จอย่างดีด้านรายได้ [7]

ในปี 1947 ชาลี แชปลิน ได้สร้าง กำกับ และแสดงภาพยนตร์ขาวดำออกมาเรื่อง Monsieur Verdoux เป็นภาพยนตร์ตลก เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องชาวฝรั่งเศส บทภาพยนตร์อ้างอิงมาจากเรื่องจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าแชปลินเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ อีกทั้งก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้ฉาย แชปลินโดนแกล้งจากฝ่ายเซนเซอร์ของรัฐบาลอเมริกา และจากความผิดหวังกับประเทศสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ทำให้เขาถูกโจมตีว่าเป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขามีความคิดทางการเมืองที่ขัดกับรัฐบาล นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาพร้อมกับครอบครัวต้องถูกสั่งออกจากอเมริกาและห้ามเข้าอเมริกาอีก ในปี 1952[8][9]

 
แจ็ก เลมมอน (ซ้าย) แชปลิน (ขวา) ขึ้นรับรางวัลออสการ์เกียรติยศ ในปี 1972

ช่วงบั้นปลายชีวิต

แก้

ในปี 1972 ชาร์ลี แชปลินกลับมายังสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในรอบ 20 ปี เพื่อมาได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศ (Academy Honorary Award) ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 44 ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ได้ขึ้นรับรางวัลออสการ์ด้วยตนเอง เขากล่าวคำขอบคุณทุกคนที่ยังระลึกถึงเขาได้และเขารู้สึกซาบซึ้งใจมากจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ทุกคนในงานลุกขึ้นตบมือให้เขานานมากจนถึงกับบันทึกไว้ในสถิติของการจัดงานเลยว่าเป็นการสแตนดิ้งโอเวชั่นที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสการ์[10]

ช่วงบั้นปลายชีวิต ชาร์ลี แชปลิน พำนักอยู่กับอูนาและลูก ๆ ที่สวิตเชอร์แลนด์ ในปี 1975 เขาได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้เป็น เซอร์ชาลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน จูเนียร์ (Sir Charles Spencer Chaplin, Jr.)

ถัดมาอีก 2 ปี ในวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 1977 ชาร์ลี แชปปลิน ก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ปิดฉากอัจฉริยนักแสดงดาวตลกระดับโลกผู้เป็นไอดอล ของนักแสดงหลายๆคน ไปด้วยวัย 88 ปี [11]

ในวันที่ 1 มีนาคม 1978 โลงศพของ ชาร์ลี แชปปลิน ถูกขุดและถูกขโมยโดยคนว่างงาน คือ Roman Wardas และ Gantcho Ganev เพื่อเรียกค่าไถ่จากภรรยาของ ชาร์ลี แชปลิน ทั้งคู่ถูกจับจากการร่วมมือครั้งใหญ่ของตำรวจในเดือนพฤษภาคม โลงศพของ ชาร์ลี แชปปลิน ถูกขุดพบในสนามหญ้าใกล้กับหมู่บ้าน Noville และถูกกลับมาฝังใหม่ที่สุสานในเมือง Corsier โดยถูกล้อมรอบด้วยคอนกรีตเสริมใยเหล็ก

อ้างอิง

แก้
  1. "Trivia for A Woman of Paris: A Drama of Fate (1923)". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 22 June 2007.
  2. "ชาลี แชปปลิน ตำนานแห่งเสียงหัวเราะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-23. สืบค้นเมื่อ 2013-11-11.
  3. หัวร่อร่า น้ำตาริน: อนุสติจากชีวิตตลกเอกของโลก – ชาลี แชปลิน โดย ธีรภาพ โลหิตกุล
  4. ชาร์ลี แชปลิน: สุภาพบุรุษพเนจร โดย จิตรลดา อุดมประเสริฐกุล
  5. "Modern Times" บทเรียนเศรษฐศาสตร์ของชาลี แชปลิน[ลิงก์เสีย]
  6. The Great Dictator - อย่าฟังคนบ้า จะพาไปตาย
  7. "The Great Dictator สยบเผด็จการด้วยเสียงหัวเราะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2013-11-11.
  8. หนังตลกที่ตลกไม่ออกของ ชาลี แชปลิน Monsieur Verdoux (1947)
  9. ข้อคิดจาก ตลกระดับโลก ชาร์ลี แชปลิน ในยุคแห่งความเกลียดชังในอเมริกา (ไทย)[ลิงก์เสีย]
  10. รายการ แฟนพันธุ์แท้ 2013 เรื่อง ออสการ์ ครั้งที่ 2 ออกอากาศ 15 มีนาคม 2556
  11. รำลึก 122 ปี "ชาร์ลี แชปลิน" ราชาตลกสุดคลาสสิคผู้ยิ่งใหญ่ ที่อยู่ในใจคนทั้งโลก!![ลิงก์เสีย] ค้นพบเมื่อ 8 กันยายน 2556

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้